13 พ.ย.63 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและอดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส โพสต์ข้อความกล่าวหา นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาและผู้บริหารระดับสูงของศาลฎีกา มีพฤติการณ์บรรยายโจมตีการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาและประชาชน, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า อยู่เบื้องหลัง พร้อมเรียกร้องให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) พิจารณาลงโทษนายสิทธิศักดิ์และผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากกลุ่มที่ใช้ชื่อว่ากลุ่มผู้พิพากษานิรนาม ซึ่งมีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์
นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา โพสต์คำชี้แจงกรณีดังกล่าวลงในไลน์กลุ่มของผู้พิพากษา ระบุว่า ขอชี้แจงประเด็นการกล่าวหาว่า ผมอภิปรายกล่าวหาโจมตีนักเรียนนักศึกษาที่มาชุมนุม ดังนี้
1.เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 63 เป็นการอภิปรายในหลักสูตรผู้พิพากษาศาลฎีกาหัวข้อ “การใช้ดุลพินิจของศาลฎีกากับผลกระทบต่อสังคม” โดยมีผม ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปกติ และนายสมโภช โตรักษา เป็นวิทยากรหลักสูตรนี้ ผมและวิทยากรอภิปรายมาเป็นเวลาร่วม 4 ปี ไม่เคยมีปัญหาใดๆ มาก่อน
2.ผมเปิดประเด็นว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ สังคมมีความขัดแย้ง มีการจับกุมคุมขังแกนนำหลายคน เพื่อไปสู่คำถามวิทยากรผู้ร่วมอภิปรายว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้สังคมเชื่อมั่นในบทบาทความเป็นกลางของศาลยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเรื่องการปล่อยชั่วคราว โดยผมยกตัวอย่างว่า เวลานี้ ศาลชั้นต้นหลายแห่งได้ยกคำร้องผัดฟ้องฝากขังของตำรวจ เพราะไม่มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัวตามคำร้อง หรือศาลสูงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแกนนำผู้ชุมนุม แม้แต่คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังชมศาลออกสื่อว่า ศาลได้ดูแลคุ้มครองสิทธิของผู้ชุมนุมเป็นอย่างดี
2.ในการอภิปราย ผมตั้งประเด็นเพื่อให้วิทยากรให้ความรู้กฏหมายและคดีต่างประเทศว่า หากมีการชุมชนในที่สาธารณะ กฎหมายและวิธีการในต่างประเทศจะมีวิธีการรับมือดำเนินการกับผู้ชุมนุมอย่างไรบ้าง ซึ่งวิทยากรได้ให้ความรู้ว่า เช่น ในบางประเทศการชุมนุมบางลักษณะใน 20 นาทีแรกจะชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นอาจเป็นการชุมนุมเกินความจำเป็น หรือการชุมนุมที่ผู้ชุมนุมออกมาแสดงจุดยืนข้อเรียกร้องตามปกติวิสัย สามารถกระทำได้ ถือเป็นเสรีภาพทางการเมืองอย่างหนึ่งของประชาชน เว้นแต่มีการกระทำในลักษณะก่อภัยเป็นอาญาร้ายแรงทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง ทั้งนี้ โดยพิจารณาจากวัตถุการชุมนุมเป็นหลัก การอภิปรายตลอด 3 ชั่วโมง ล้วนตั้งอยู่บนหลักการตามหัวข้อวิชา วิสันชนากันอย่างสร้างสรรค์โดยอิงหลักทฎษฎีกฎหมายและคดีตัวอย่างของต่างประเทศ นำไปสู่การพัฒนาความรู้ประสบการณ์ที่แตกต่าง เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาในการสั่งคดีในทุกขั้นตอน ไม่ได้มีเจตนามุ่งหมาย กล่าวหาใส่ความผู้ชุมนุมหรือผู้หนึ่งผู้ใดแต่อย่างใดทั้งสิ้น
3.ผมได้บอกเล่าสู่ให้วิทยากรและผู้เข้ารับการอบรมทราบว่า การที่ศาลสูงโดยเฉพาะศาลฎีกาจัดตั้งแผนกคดีต่างๆ ขึ้นในศาลฎีกา เพื่อต้องการให้ผู้พิพากษาที่มีความรู้ความชำนาญกฎหมายเฉพาะทาง สามารถเข้าสู่แผนกคดีที่ตนถนัดเพื่อชี้ขาดตัดสินคดีให้มีความถูกต้อง แม่นยำยุติธรรม ประชาชนจะได้มีความเชื่อมั่น ในการชี้ขาดคดีของศาลฎีกา เช่น แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีจงใจไม่ยื่นหรือยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จ การตัดสินคดีของศาลฎีกา จึงเท่ากับเป็นการวางมาตรฐานบรรทัดของสังคม เป็นต้น
4 ผมนำเสนอตัวอย่างนโยบายอดีตประธานศาลฎีกาท่านไสลเกษฯ เรื่องการปล่อยชั่วคราวสำหรับผู้ต้องขังที่ไม่รู้สิทธิและยากจน ที่มีท่านเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกาในขณะนั้นเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนฯ ว่า เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างยิ่งอย่างไรบ้าง รวมถึงจุดเด่นของนโยบาย 5 ส.ของท่านประธานศาลฎีกาปัจจุบัน เพื่อให้วิทยากรรู้และเข้าใจบทบาทของศาลยุติธรรมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังด้วยความห่วงใย
5.ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2563 ขณะที่ผมดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ผมมีจุดยืนและนโยบายชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและเยาวชน โดยการประชุมหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมทุกหน่วยงานในกรุงเทพฯ ผมบรรยายว่า ตำรวจไม่ควรมีการออกหมายจับเด็กหรือเยาวชนที่มาชุมชน ควรใช้วิธีการเชิญตัวตามกฎหมายหรือออกหมายเรียกโดยเฉพาะอย่าง ผมได้ประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ไปยังศาลเยาวชนฯ ทั่วประเทศว่า หากตำรวจมาขอออกหมายจับเด็กฯ เพราะเหตุเกิดจากการชุมนุมที่เห็นต่าง ให้หลีกเลี่ยงการออกหมายจับ ควรให้ตำรวจใช้วิธีการเชิญตัวหรือออกหมายเรียกแทน หากมีการฟ้องเป็นคดี ควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องเรียกหลักประกัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้ปกครองของเด็กหรือเยาวชน เพราะเด็กหรือเยาวชนอาจกระทำไปโดยความเชื่อโดยสุจริต ไม่ใช่อาชญากร เด็กฯมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่หลบหนี ต้องคุ้มครองสิทธิเด็กตามกฎหมายก่อน
6. ดังนั้น จึงยืนยันและขอรับรองว่า การอภิปรายของผมและวิทยากรทุกคน มีเจตนาอภิปรายเชิงสร้างสรรค์ ท่านประธานศาลฎีกามิได้รู้เห็นและไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการอภิปรายใดๆ ทั้งสิ้น การอภิปรายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้ผู้พิพากษาศาลฎีกาเข้าใจบทบาทศาลยุติธรรมและศาลฎีกากับการใช้ดุลพินิจในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ศาลยุติธรรมมีความเป็นธรรม เป็นกลางและยังเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้อย่างแท้จริงครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |