"ชวน" เผยบรรจุญัตติไพบูลย์ส่งศาลวินิจฉัย 3 ร่างรธน.เข้าสภาหลัง 18 พ.ย. "วิษณุ" ชี้ยื่นตีความก่อนดีกว่าทำหลังประชามติ ยัน "อุ๊ หฤทัย" นำไทยภักดีบุกสภา ประกาศต้านแก้ รธน. หวั่นแตะหมวดกษัตริย์ "จตุพร" ฟันธง 17-18 พ.ย. จุดชี้ประวัติศาสตร์การเมืองอีกหน้าหนึ่ง
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้าในการบรรจุญัตติของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ขอให้รัฐสภามีมติส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 3 ฉบับไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่ามิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ว่าเมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้หารือกับที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ว่าต้องการประชุมไปตามปกติหรือไม่ หากต้องการ จะต้องบรรจุระเบียบวาระไปตามเรื่องที่เข้ามาตามลำดับ เช่น เรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นต้น แต่เนื่องจากที่ประชุม 3 ฝ่ายเห็นตรงกันว่าให้นำเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ และย้ำกันว่า วันที่ 17-18 พ.ย. จะบรรจุเฉพาะเรื่องที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนญัตติของนายไพบูลย์ และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จะบรรจุหลังวันที่ 18 พ.ย.
นายชวนกล่าวถึงขั้นตอนการลงลงมติรับหรือไม่รับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้ง 7 ฉบับว่า ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องได้รับความเห็นชอบด้วยเสียงสมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 3 หรือจำนวนขั้นต่ำ 84 เสียง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความรวดเร็วทางเจ้าหน้าที่รัฐสภาจะดูในขั้นตอนนับคะแนนด้วยการกำหนดสิทธิพิเศษเพื่อให้เห็นว่าจำนวนของ ส.ว.ว่ามีจำนวนเท่าใด หากนับรวมกันหมดจะนับยาก
ต่อมาเวลา 10.00 น. น.ส.หฤทัย ม่วงบุญศรี ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยภักดี พร้อมนายศาสตรา โตอ่อน นักวิชาการอิสระ ได้นำมวลชนจำนวนหนึ่งมาแสดงพลังบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เพื่ออ่านแถลงการณ์และจุดยืนในการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ข้อ ดังนี้ 1.เรียกร้องให้มีการยุติกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เนื่องจากมีข้อมูลปรากฏว่าผู้สนับสนุนให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีกลุ่มทุนต่างชาติอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะกระทบต่ออธิปไตยของคนไทย ทั้งๆ ที่คนไทยมากกว่า 16 ล้านคนลงประชามติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ และทำให้ประเทศเกิดความอ่อนแอจนเกิดการแทรกแซงในที่สุด ดังนั้น เราจะไม่ยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเด็ดขาด
2.การพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นกระชากหน้ากากนักการเมืองออกมา เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่นักการเมืองไม่เคยนำเสนอต่อประชาชนแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยกเลิก ส.ว. ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในฐานะเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เลือกบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเพื่อเข้าไปทำหน้าที่ปราบการทุจริต ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นไปเพื่อเกิดการทุจริต และ 3.หากเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกรงว่าจะมีการพยายามแก้ไขเนื้อหาในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยที่จะถูกล่วงละเมิดไม่ได้
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะ ส.ส.ซีกรัฐบาล และ ส.ว.บางส่วนยื่นตีความว่าการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขัดรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้พูดยาก เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของ ส.ส.ไม่ใช่ของรัฐบาล หาก ส.ส.และ ส.ว.สงสัยจะยื่นตีความนั้น ได้พูดในหลักการแล้ว อย่าทำให้กระบวนการสะดุด และเท่าที่ดูไม่สะดุดก็ทำไป เพราะเขาถือว่าไม่ทำตอนนี้ก็ทำในอนาคตต่อไปแล้วอาจจะสายเกินแก้ หรือจะมีความเสียหาย เช่นทำประชามติแล้วจะยิ่งแย่กว่านี้ เดาเอาว่าเขาอาจเจตนาดี เพราะไม่วันใดวันหนึ่งต้องส่งอยู่แล้ว ซึ่งการส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลามากกว่า เพราะเป็นภาคบังคับ ถ้าออกเสียงประชามติเสร็จแล้ว รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ระบุว่าหากมีสมาชิกรัฐสภาสงสัย มีสิทธิ์เข้าชื่อให้ศาลวินิจฉัยภายใน 30 วัน หากส่งตอนนี้อาจจะประหยัดเวลา 1 เดือนนั้นไป ถึงตอนนั้นอาจจะไม่ต้องส่งก็ได้
"ดังนั้นหากมีอะไรตอนนี้ยังแก้ไขได้ทัน เป็นการกันไว้ดีกว่าแก้ ภายใต้ข้อแม้ไม่ให้สะดุด เพราะดูแล้วมันไม่สะดุดอะไร เพราะวันที่ 17-18 พ.ย. มีการโหวตวาระหนึ่ง หากผ่านก็ตั้งคณะกรรมาธิการใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และหากในเวลาดังกล่าวเขาส่งศาลรัฐธรรมนูญสำเร็จเรื่องก็ไปอยู่ในศาล หากศาลบอกไม่ขัดก็หมดเรื่อง กระบวนการก็เดินหน้า โดยไปรอกระบวนการทำประชามติ แต่ต้องรอ พ.ร.บ.ประชามติมาใช้บังคับ ซึ่งคาดว่าเป็นเดือน ก.พ.ปีหน้า และยืนยันหากศาลรับเรื่องไว้กระบวนการในรัฐสภาก็ไม่หยุด" นายวิษณุระบุ
เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่รัฐบาลผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ อย่างน้อยก็ฉบับร่างของพรรคร่วมรัฐบาล แต่ไม่กล้าพูดถึงฉบับอื่น อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่ศาลจะไม่รับคำร้อง เพราะเขายื่นตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 31 ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นความขัดแย้ง เป็นเรื่องสงสัยในอำนาจหน้าที่ของสภา มีเยอะแยะไปที่ศาลไม่รับ ที่ผ่านมารัฐบาลเคยส่งไปหารือก็ไม่รับ ในสมัยที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ศาลบอกว่าเรื่องยังไม่เกิด ศาลไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมาย อยากทราบให้ไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกา
เมื่อถามย้ำว่า หากศาลไม่รับแล้วเกิดอุบัติเหตุจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในภายหลังหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ถ้ากติกาศาลรับไม่ได้ เขาก็รับไม่ได้ เหมือนมีเรื่องกันแต่ยังไม่เกิดเหตุ ศาลก็ไม่รับ แต่พอมีเรื่องภายหลังก็โทษไม่ได้ เพราะกติกาเป็นเช่นนั้น จึงต้องดูว่าศาลจะรับหรือไม่
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทุกคนจะมาร่วมกันพาประเทศไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ ทุกฝ่ายก็พยายามทำกันอยู่แล้ว ยืนยันเรามีเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วมรัฐบาล หรือแม้กระทั่งพรรคร่วมฝ่ายค้าน ขออย่างเดียวอย่าตั้งแง่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าตั้งเงื่อนไขว่าจะได้ตามที่ตัวเองต้องการทุกข้อ อยากเห็นทุกฝ่ายต้องมีความพอดีที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แท้จริง ไม่ใช่กำหนดวันเวลาเพื่อมาตั้งเงื่อนไขเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย และขอให้เชื่อมั่นได้เลยว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน ไม่ใช่อะไรก็มาคิดเป็นประเด็นการเมืองแล้วบอกว่ารัฐบาลดึงเวลา แต่หากถึงเวลาแล้วไม่แก้รัฐธรรมนูญตอนนั้นค่อยมาต่อว่ารัฐบาล
ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ peace talk ตอนหนึ่งว่า ประธานรัฐสภาได้นัดหมายการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ แปลความว่าสัปดาห์หน้าก็จะรู้ว่าหมู่หรือจ่า เพราะสุดท้ายแล้วจะเป็นการพิสูจน์ธาตุแท้ของนักการเมืองและผู้มีอำนาจ ว่าถึงที่สุดแล้วได้ปฏิบัติตามสัจวาจาที่ได้ให้ไว้กับประชาชนหรือไม่ ซึ่งวันที่ 17-18 พ.ย. จะเป็นจุดชี้ประวัติศาสตร์ทางการเมืองอีกหน้าหนึ่ง
ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ราชเทวี เครือข่าย People GO Network และเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) ร่วมกันจัดงานเสวนาหัวข้อ "รัฐธรรมนูญประชาราษฎร์ : ความฝันอันสูงสุด" โดยมีตัวแทนภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมเสวนาปัญหาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560 และข้อเสนอต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่
วงเสวนากลุ่มแรก ประกอบด้วยตัวแทนกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเกษตรกร โดยนายประสิทธิ์ชัย หนูนวล เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาการวางโครงสร้างยึดกุมเศรษฐกิจและทรัพยากร, การออกแบบกลไกรองรับการใช้อำนาจยึดกุม และจงใจออกแบบเพื่อสืบทอดอำนาจ ในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา มีการยึดกุมทรัพยากรไปใช้กับกลุ่มทุนหรือคนในโครงสร้างอำนาจ กลไกรัฐธรรมนูญ กฎหมายออกมายึดกุม เกิดความเหลื่อมล้ำสูง ถ้าทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์ต่อประชาชน กลไกร่างและเนื้อหาต้องมาจากประชาชน หัวใจสำคัญคือกลไกจัดการทรัพยากรต้องถูกจัดการโดยท้องถิ่น ส่วนกลางไม่มากำหนด
วงเสวนาที่สอง มีการนำเสนอจาก น.ส.พรรณอุมา สีหะจันทร์ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ชี้ปัญหารัฐธรรมนูญที่เน้นให้สงเคราะห์ผู้ยากไร้ ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สิทธิประชาชนถ้วนหน้าเสมอภาคกัน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียม สำหรับ ชัญญา รัตนธาดา กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) และ น.ส.กรกนก คำตา กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก เสนอสอดคล้องกันให้รัฐธรรมนูญคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศ
วงเสวนาสุดท้าย น.ส.ปุณยนุช ตวงชัยปิติ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เสนอให้รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม ไม่ยกเว้นสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนนายเรืองฤทธิ์ โพธิพรม กลุ่ม We Watch เสนอรัฐธรรมนูญใหม่ควรมีหลักการ 1.ส่งเสริมให้เกิดรัฐบาลเข้มแข็งตรวจสอบได้ 2.พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมือง 3.การเลือกตั้งสะท้อนเจตนารมณ์ประชาชน 4.องค์กรอิสระมีอำนาจเฉพาะเรื่องชัดเจน และมาจากประชาชน 5.ส่งเสริมการขยายสิทธิเลือกตั้ง และ 6.การเลือกตั้งโปร่งใส มีส่วนร่วมของประชาชน กกต.อิสระและเป็นกลาง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |