การที่ ส.ว. และ ส.ส.บางส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และไอลอว์ที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเห็นว่าเจตนาของมาตรานี้คือ การให้แก้ไขรายมาตรา ไม่ใช่การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ถูกจับตามองอย่างมาก
ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า การที่ ส.ว.และ ส.ส.ยื่นต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการจงใจยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป
ขณะที่ ส.ว.และ ส.ส.บางส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นการเตะถ่วง แต่ชี้แจงว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคือหนทางที่ปลอดภัยที่สุด
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล แม้จะไม่เห็นด้วยกับการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะมั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่มองว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญมีข้อดีคือ ป้องกันหากภายภาคหน้ามีใครจะไปยื่นอีก
นอกจากนี้ยังสร้างความมั่นใจในแง่ที่ว่า หากต้องมีการทำประชามติ ซึ่งต้องใช้งบประมาณประมาณ 3,000 ล้านบาท จะได้ไม่เสี่ยงโมฆะ จนทำให้สิ้นเปล่า
อย่างไรก็ดี การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยครั้งนี้ นอกจากการยื้อเวลาแล้ว เหตุผลในการต้องการจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมีมากกว่านั้น
เพราะโดยหลักแล้ว การรับหลักการญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไปก่อนในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมานั้นมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะบรรทัดฐานการแก้ไขรัฐธรรมนูญสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
โดยครั้งนั้นมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ณ ขณะนั้นที่มีหลายญัตติ อาทิ การแก้ไขที่มา ส.ว.มิชอบ ปรากฏว่าหลังจากนั้นมีผู้ไปยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวน ส.ส.และ ส.ว.ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติ และลงมติในวาระต่างๆ
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูล ส.ส.และ ส.ว.เป็นร้อยราย และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอดถอน และบางรายถูกส่งให้อัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลในคดีอาญา อาทิ กรณีเสียบบัตรแทนกัน การสลับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น หากมีการรับหลักการไปก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เท่ากับว่า บรรดา ส.ส. และ ส.ว.ที่ลงมติรับหลักการไปจะอยู่ในความเสี่ยงทันที
เหตุผลข้อนี้จะถูกพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.นำมาอ้างในการไม่กล้ายกมือรับหลักการในวาระที่ 1 หรือไม่ ก็ต้องจับตา
นั่นแสดงว่า การยื่นครั้งนี้ไม่ใช่เพราะไม่มั่นใจว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่มั่นใจว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญแน่ เพียงแต่ต้องการคำตอบอื่นจากศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยเฉพาะเรื่องของการให้มี ส.ส.ร.ที่มีความกังวลกันว่าไม่มีกฎหมายใดรองรับ และอาจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะการให้มี ส.ส.ร.ไม่ต่างอะไรกับการให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
จุดประสงค์เหมือนต้องการคำตอบที่แน่ชัดว่า ส.ส.ร.จะมีได้หรือไม่ เพราะแม้จะมีการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาเอาไว้แล้ว แต่มันไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมาย และไม่สามารถการันตีความปลอดภัยเท่ากับ “ศาลรัฐธรรมนูญ”
และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่า จะต้องมีการยื่นญัตติใหม่ เพราะของเก่ามิชอบแล้ว แต่หากผลออกมาว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูคำวินิจฉัยแบบละเอียดของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร และนั่นทำให้เห็นภาพชัดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นจะแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหน
เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และเป็นคำมั่นสัญญากับพรรคร่วมรัฐบาล ที่แน่นอนว่าคงไม่มีการบิดพลิ้ว ซึ่งมีการแก้ไขแน่
แต่อาจจะให้แค่เพียงหลักใหญ่ๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลมากนัก อย่างเช่น มาตรา 256 ที่บัญญัติเรื่องขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการให้ง่ายขึ้น
ทว่า มาตราอื่นๆ ที่มีการเสนอเข้ามาจำนวนมาก อาจจะไม่ถึงฝั่งฝัน โดยเฉพาะเรื่อง ส.ว. หรือการจะรื้อทำใหม่ ซึ่งเป็นเป้าหมายของฝ่ายค้าน
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นประกาศิตสำคัญ ที่ไม่ต่างอะไรกับการตีกรอบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะทำได้มากน้อยแค่ไหน
คำวินิจฉัยจะถูกใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิเสธการแก้ไขในมาตราสำคัญๆ
และนั่นอาจคือเป้าหมายหลักที่ต้องการให้มีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |