พอ โจ ไบเดน ได้เป็น “ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ” และจะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 20 มกราคมปีหน้า สิ่งที่คนไทยควรจะต้องพินิจพิเคราะห์ก็คือสหรัฐจะเปลี่ยนนโยบายต่อภูมิภาคนี้อย่างไร
และจะมีผลต่อประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างไร
บางคนเชื่อว่านโยบายเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในมิติต่างๆ ระหว่างไทยกับสหรัฐ รวมทั้งระหว่างสหรัฐ จีน และอินเดีย จะเปลี่ยนแปลงในรูปแบบหรือลีลาท่าที
แต่ในเนื้อหาสาระแล้วจะไม่เปลี่ยนแปลงในหลักการ
นั่นหมายความว่าสหรัฐยังต้องเดินหน้า “ปิดล้อม” และ “จำกัดการขยายอิทธิพล” ของจีนต่อไป
สไตล์ของไบเดนอาจจะไม่ “โฉ่งฉ่าง” เหมือนทรัมป์
จะชกสไตล์ “มวยมีเชิง” ไม่ใช่ “มวยวัด”
แต่ผู้นำสหรัฐคนใหม่ก็จะต้องแสดงให้คนอเมริกันและชาวโลกเห็นว่าเขาไม่ได้ “หน่อมแน้ม” เหมือนกับที่ทรัมป์กล่าวหาเขา
ทรัมป์เคยหาเสียงด้วยการประกาศว่าถ้าไบเดนเป็นประธานาธิบดี อเมริกาจะถูกจีนยึด
ความหมายของทรัมป์ก็คือ ไบเดนจะไม่ “กร้าว” ต่อจีนเหมือนเขา
นโยบายของไบเดนและพรรคเดโมแครตไม่ได้ “อ่อนข้อ” ต่อจีน ยังคงต้องการสกัดการขยายอิทธิพลของจีนทั่วโลก แต่จะทำด้วยมาตรการทางการทูต, การเมือง และด้านความมั่นคงที่กดดันต่อเนื่อง
ในหลายๆ โอกาสไบเดนอาจจะไม่ออกข่าว ไม่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อต่อรองและกดดันจีนเหมือนทรัมป์
แต่ไบเดนจะใช้ “การทูต” เพื่อต่อรองและกดดันจีนที่อาจจะให้ผลมากกว่าทรัมป์ด้วยซ้ำไป
นักวิเคราะห์บางสำนักเชื่อว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังคงจะยังเกิดขึ้นต่อไปอย่างน้อยก็ในระยะสั้น 1-2 ปีข้างหน้า
จนกว่าอเมริกากับจีนจะหาทางออกร่วมกันที่สองยักษ์ใหญ่เห็นว่าเป็นหนทางที่ดีกว่าการทำสงครามการค้าด้วยการขึ้นภาษีต่อสินค้ากันและกันจนเกิดความเสียหายทั้งคู่
นี่เป็นอีกด้านหนึ่งที่ไทยเราจะต้องศึกษาค้นคว้าเพื่อวางยุทธศาสตร์ของเราเองให้สามารถตั้งรับสมการที่เปลี่ยนไประหว่างสองประเทศนี้
ไบเดนจะกลับมาใช้การค้าเพื่อกู้สถานภาพของอเมริกาในเวทีระหว่างประเทศ
บางคนเชื่อว่าอเมริกาจะหาทางกลับมาร่วม TPP (Trans-Pacific Partnership) ที่ยุคบารัค โอบามา (ที่ไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี)
แต่อีกหลายสำนักเชื่อว่าสหรัฐอาจจะหาทางเปิดเวทีการค้าใหม่ๆ ที่จะสร้างกฎกติกาที่จะเอื้อต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในของเขาอันเกิดจากผลกระทบเพราะโควิด-19
นั่นย่อมแปลว่าเวทีการค้าใหม่ๆ ที่ว่านี้จะต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาที่สหรัฐเป็นคนเขียนขึ้น เป็นกรรมการคุมกติกา และเป็นผู้เล่นด้วย
จีนจะยอมไบเดนแค่ไหนก็อยู่ที่ว่าปักกิ่งเห็นว่าตนจะยื่นหมูยื่นแมวกับวอชิงตันได้มากน้อยเพียงใด
ทรัมป์ใช้นโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" (America First)
นั่นคือการทบทวนข้อตกลงเดิมๆ ต่อรองด้วยเงื่อนไขใหม่
หรือไม่ก็ถอนอเมริกาออกจากข้อตกลงการค้า ตลอดจนข้อตกลงความเป็นพันธมิตร และสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ
อ้างว่าข้อตกลงเหล่านี้ “ไม่มีความเป็นธรรมต่อสหรัฐ”
แต่ไบเดนให้คำมั่นว่าหากเขาชนะเลือกตั้งจะให้อเมริกากลับเข้าร่วมความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ในวันแรกที่เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ
ทรัมป์เคยแสดงความสนิทสนมกับผู้นำประเทศที่มีระบอบการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียหรือเกาหลีเหนือ และดูหมิ่นชาติพันธมิตร แต่ไบเดนประกาศว่าจะฟื้นฟูความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และกลับเข้าร่วมความเป็นพันธมิตรกับนานาชาติ
และจะพาสหรัฐกลับไปร่วมมือกับ WHO หรือองค์การอนามัยโลก
อีกทั้งยังจะสวมบทบาทผู้นำโลกในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
ที่ชัดเจนคือไบเดนต้องการ “กอบกู้ความเป็นผู้นำของสหรัฐ” ในเวทีโลกอีกครั้ง
เพราะ 4 ปีที่ผ่านมาไบเดนบอกว่า ชื่อเสียงของสหรัฐในหมู่ชาติพันธมิตรได้ตกต่ำลงไปอย่างน่าเป็นห่วง
พญาอินทรีจะผงาดขึ้นอีกครั้ง แต่มังกรยักษ์ก็ไม่ใช่ว่าจะยอมสยบง่ายๆ
สงครามเย็นรอบใหม่จะมาในรูปไหนเป็นเรื่องที่ไทยเราจะต้องเกาะติด, วิเคราะห์และปรับยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกรอบ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |