ฤดูกาลเกิดฝุ่นใกล้เข้ามาทุกที มลพิษอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นปัญหาที่คนกรุงเทพฯ และชาวบ้านภาคเหนือตอนบนต้องเผชิญซ้ำซากในช่วงสิ้นปีต่อเนื่องจนถึงหน้าแล้ง หมอกควันห่มคลุมกระทบต่อสุขภาพ โดยแหล่งกำเนิดใหญ่ๆ ของฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้ ทั้งมาจากธรรมชาติ โดยลมพายุ ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่าที่ควบคุมได้ยาก
แต่อีกส่วนสำคัญเป็นฝุ่นพิษจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษจากท่อไอเสีย โรงงานอุตสาหกรรมจากขบวนการผลิต ภาคเกษตร ขยะมูลฝอยและของเสีย พบมากในเมืองใหญ่ และนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จากข้อมูลการจัดอันดับของ www.airvisual.com รายงานคุณภาพอากาศทั่วโลกและจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษแบบเรียลไทม์ เมื่อต้นเดือนมกราคม 2563 พบว่า กรุงเทพฯ อยู่ลำดับที่ 4 โดยมีค่าฝุ่นอยู่ที่ 180 US AQI และจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในลำดับที่ 26 ค่าฝุ่นอยู่ที่ 129 US AQI
แม้ช่วงล็อคดาวน์วิกฤตโควิด-19 ทำให้มลพิษฝุ่นลดลง แต่เมื่อทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติ ฝุ่นพิษกลับมาหนาแน่นเหมือนเดิม การหาทางออกแก้วิกฤตฝุ่นนั้น หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดค้นแนวทางป้องกันและรับมือฝุ่นหนึ่งในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่น่าสนใจ ล่าสุด มีเซนเซอร์วัดฝุ่นแบบเรียลไทม์ ที่จะช่วยให้เราวางแผนการใช้ชีวิตนอกบ้านได้อย่างปลอดภัย เพราะอากาศพิษมีผลต่อสุขภาพ
เทคโนโลยีนี้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าพัฒนาเซนเซอร์วัดฝุ่น PM 2.5 ภายใต้โครงการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM 2.5 (Sensor For All) ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 มีการขับเคลื่อนพร้อมกับเครือข่ายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การเคหะแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เดินหน้าติดตั้ง Sensor For All มากกว่า 500 จุด ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมนำข้อมูลมาศึกษาวิจัย เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
สำหรับ Sensor For All หน้าจอแสดงผล 3 ข้อมูลหลัก ได้แก่ Real-time PM 2.5, AQI Calculated by US Standard และ Real-time PM10 เพื่อให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ได้ทราบค่าของฝุ่น เครื่องนี้ใช้กำลังไฟเพียง 1 แอมป์ แต่มีข้อจำกัดไม่ควรติดตั้งในที่โล่งแจ้ง หากโดนฝนอาจทำให้ข้อมูลสับสน ระยะเวลาการใช้งาน 3-5 ปี
ทั้งนี้ โครงการ Sensor for All ปีแรกได้พัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 และทดลองติดตั้งในพื้นที่โดยรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 2 พัฒนาระบบการส่งและแสดงผลข้อมูล ตลอดจนขยายการตรวจวัดปริมาณฝุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้ความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน และปีที่ 3 นี้ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนพิ่มขึ้นเพื่อพัฒนาให้ได้ประสิทธิภาพและคุณภาพที่สามารถใช้ติดตั้งได้ทั่วประเทศ พร้อมจัดเก็บข้อมูลให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล หัวหน้าโครงการ Sensor For All เผยว่า การจัดทำเครื่องเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM 2.5 สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือเรื่องคุณภาพ ที่ต้องมีความถูกต้องและแม่นยำ ทีมใช้เวลาในการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการติดตั้งในปริมาณที่เพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในการสอบเทียบเชิงคุณภาพ แต่ที่สำคัญคือการบูรณาการระหว่างงานวิจัย นักพัฒนาและนวัตกรรม เข้าสู่ปีที่ 3 ได้ ร่วมพัฒนากับทาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟฝ. )ที่จะติดตั้งในพื้นที่ชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงไฟฟ้า ส่วนทาง GISTDA เข้ามาพัฒนาระบบการตรวจค่าฝุ่นด้วยดาวเทียม ซึ่งมีประโยชน์มากในการเก็บข้อมูล อนาคตเราจะสามารถคาดการณ์จุดจะเกิดฝุ่นหนาแน่นหรือจะพัดพาไปในทิศทางใด ตั้งเป้าหมายติดตั้ง 500 จุดทั่วประเทศ พื้นที่ประเมินจากปริมาณฝุ่นมากหรือน้อย นำเครื่องเซ็นเซอร์ติดตั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการ
ด้าน ดร.พัชราวดี สุวรรณธาดา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า เครื่องมือที่สำคัญในการรับมือ PM 2.5 คือ ข้อมูล พื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด 50 เขต ทยอยติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่า PM 2.5 และผู้คนเริ่มตื่นตัวจากการได้รับข้อมูลใน 1-2 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการรับข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นที่สามารถบอกข้อมูลของฝุ่นได้สะดวก อดีตจะทราบค่าฝุ่นได้ต้องมีการเก็บตัวอย่าง เพื่อทำรายงานเป็นข้อมูล อาจจะไม่ทันใจ
“ ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป เราสามารถรายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ เพื่อใช้ในการจัดการชีวิต การเดินทาง หรือทำกิจกรรมต่างๆ การตรวจวัดค่าฝุ่นจากระบบเซนเซอร์ที่หลายกลุ่ม หลายองค์สร้างขึ้นอาจจะต้องตรวจสอบและพัฒนาเรื่องของความแม่นยำ แม้กระทั่งการใช้ข้อมูลดาวเทียมร่วมพัฒนา มีข้อได้เปรียบตรวจได้กว้างทั่วทุกพื้นที่ แต่จะต้องเปรียบเทียบกับข้อมูลภาคพื้นดินด้วย หากการตรวจวัดแม่นยำจะสามารถช่วยป้องกันประชาชนในพื้นที่ได้ “ ดร.พัชราวดี กล่าว
ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ GISTDA กล่าวว่า ข้อมูลดาวเทียมในการนำมาพัฒนาเพื่อตรวจค่าฝุ่น PM 2.5 นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย ส่วนใหญ่แล้วเราจะใช้ในการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ แหล่งน้ำ ฯลฯ ซึ่งมีการนำหลักการกระเจิงของแสงเข้ามาใช้ ทำให้ได้ภาพฝุ่นในบริเวณกว้างและต่อเนื่อง บอกจุดกำเนิดและทิศทางที่ฝุ่นว่าเกิดจากในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือเกิดจากลมที่พัดพามาจากต่างประเทศ ปัจจุบันเราจะทราบค่าฝุ่นในแนวระนาบ ซึ่งความร่วมมือกับจุฬาฯ ทำให้เราตรวจสอบค่าฝุ่นในแนวดิ่งที่เกิดจากฝุ่นลอยขึ้นไปในอากาศชั้นบน พัดไปตามกระแสลมชั้นบน ก่อนจะลงมาบนพื้นระนาบ อาจจะเป็นข้อสังเกตได้ว่า บางพื้นที่ทำไมไม่มีฝุ่น หรือทำไมบางพื้นที่มีฝุ่นหนาแน่น เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์
ด้าน วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟฝ. กล่าวว่า การติดตั้งเซ็นเซอร์จากทางจุฬาฯ ขยายครอบคลุมไปทั่วชุมชน และในโครงการห้องเรียนสีเขียว จำนวน 200 จุด เพื่อดำเนินการจัดเก็บข้อมูล หรือรายงานผลค่าฝุ่น PM 2.5 ให้คนในชุมชนได้ทราบ และพัฒนาต่อไปในอนาคต ผู้ที่สนใจสามารถสนับสนุนโครงการระดมทุน Sensor for All ปีที่ 3 เพื่อสนับสนุนการผลิตและติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนา Online Platform ควบคู่ไปกับการสร้างสื่อการเรียนรู้ผ่านหนังสือ ยุทธการดับฝุ่น และบอร์ดเกม Just Dust เพื่อขยายผลสู่การจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประเทศ โดยบริจาคสมทบทุนได้ที่บัญชี กองทุนนวัตกรรมวิศวฯ จุฬาฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจามจุรี สแควร์ เลขที่ 405-4-13788-7 ซึ่งสามารถนำยอดบริจาคนี้ ไปหักภาษีได้ 2 เท่าอีกด้วย
หากสนใจข้อมูลการตรวจวัดฝุ่นศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ChulaEngineering หรือ ตรวจสอบปริมาณค่าฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 ในจุดที่ติดตั้งได้ที่เว็บไซต์ http://sensorforall.eng.chula.ac.th
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |