สหภาพฯขสมก.เล็งฟ้องศาลปกครองค้านใช้รถเมล์ขวางม็อบ


เพิ่มเพื่อน    

12 พ.ย.63-นายบุญมา ป๋งมา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เป็นประธานการแถลงข่าวคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการนำรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไปปิดถนน เพื่อขวางทางไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล หรือสถานที่ต่างๆ ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศตามสถานการณ์ในแต่ละครั้ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ประชาชนหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดว่า ขสมก. ร่วมกับฝ่ายการเมือง วางตัวไม่เป็นกลาง ทำให้เสียภาพลักษณ์ตามมา

นายบุญมา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทุกครั้ง สภาพแรงงาน ขสมก. ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว และได้ทำหนังสือถึง ผอ.ขสมก. และ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม แล้วถึงเจตนาการไม่เห็นด้วย เนื่องจาก ขสมก. เป็นรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์ในการรับขนคนโดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ดังกล่าว และจะทำให้ประชาชนหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดว่า ขสมก. เข้าร่วมกับฝ่ายการเมือง วางตัวไม่เป็นกลาง ทำให้เสียภาพลักษณ์ผิดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง

ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาตำรวจได้ขอสนับสนุนการนำรถเมล์ไปสกัดผู้ชุมนุมทั้งหมด 3 ครั้งรวม 121 คัน แบ่งเป็นวันที่ 14 ต.ค.63 จำนวน 22 คัน, วันที่ 25 ต.ค.63 จำนวน 44 คัน และ วันที่ 8 พ.ย.63 จำนวน 55 คัน ซึ่งทั้ง 3 ครั้ง ทำให้รถเมล์ได้รับความเสียหายทั้งหมด 6 คัน แบ่งเป็นวันที่ 14 ต.ค. จำนวน 1 คัน, วันที่ 25 ต.ค. จำนวน 2 คัน และ วันที่ 8 พ.ย. จำนวน 3 คัน เพราะกระจกบังลมหน้าแตกเสียหาย สีถลอก และที่ปัดน้ำฝนชำรุด ส่งผลทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถที่ได้รับความเสียหายจำนวนมาก เพราะรถเมล์มีอายุใช้งานมากกว่า 30 ปี อะไหล่นำมาซ่อมเริ่มหายากและใช้เวลาในการนำเข้าจากต่างประเทศ 

นายบุญมา กล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย เพราะปัจจุบัน ขสมก. ต้องจ่ายค่าเหมาซ่อมราคา 1,401 บาทต่อคันต่อวัน ค่าจีพีเอส 30 บาทต่อคันต่อวัน ค่าการบริการเดินรถด้านสังคม (PSO) ที่รัฐบาลสนับสนุนในการเดินรถ กม.ละ 38 บาทต่อคัน ค่าจ้างพนักงาน 800 บาทต่อวัน รวมทั้งค่าเสียหายที่จะได้จากค่าโฆษณา ทั้งนี้ช่วงที่นำรถเมล์มาสกัดผู้ชุมนุมยังพบว่า ขสมก. เสียโอกาสในการเดินรถ ทำให้สูญเสียรายได้รวม 363,000 บาท คือวันที่ 14 ต.ค. รถ 22 คัน มีรายได้ 66,000 บาท หรือเฉลี่ยคันละ 3,000 บาท, วันที่ 25 ต.ค. รถ 44 คัน มีรายได้ 132,000 บาท และ วันที่ 8 พ.ย. รถ 55 คัน มีรายได้ 165,000 บาท 

สำหรับกรณีที่รถเมล์ได้รับความเสียหายจากการนำไปสกัดผู้ชุมนุมนั้น ยืนยันว่าตำรวจจะต้องเป็นผู้ที่จ่ายค้าซ่อมรถเมล์ที่ได้รับความเสียหาย ไม่ใช่ว่าถ้าต้องการให้ซ่อม ขสมก. ต้องไปฟ้องผู้ชุมนุมเรียกค่าเสียหายเอง โดยมองว่าตำรวจเป็นผู้ขอความร่วมมือให้สนับสนุนรถเมล์ทั้งหมด และหนังสือที่ขอความร่วมมือตำรวจจะต้องดูแลทรัพย์สินของ ขสมก. เพราะฉะนั้นตำรวจจะเป็นต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหาย

นอกจากนี้จะนำรายละเอียดเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. เพื่อให้ดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณีโดยเร็วที่สุด เนื่องจากการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจะต้องเป็น ขสมก. เป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น แต่หากบอร์ด ขสมก. ไม่ดำเนินการ หรือเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ จะเดินหน้าฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้เอาผิดกับคณะกรรมการบอร์ดทั้งหมดด้วย

“ถ้าอนาคตตำรวจขอความร่วมมือจาก ขสมก. สนับสนุนรถเมล์เพื่อไปสกัดผู้ชุมนุมอีก จะเดินหน้าไปยื่นศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้คุ้มครองไม่ให้นำรถเมล์ไปใช้ในกรณีดังกล่าวอีก ขณะนี้กำลังพิจารณา รวบรวมข้อมูลว่าสามารถกระทำได้ตามข้อกฎหมายอย่างไรบ้าง และยืนยันว่า ขสมก. มีความเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเมื่อเกิดกรณีแบบนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยของพนักงาน ขสมก. ที่ปัจจุบัน ขสมก. จะมีความถนัดเรื่องการให้บริการ แต่ไม่มีความรู้เรื่องการป้องกันตนเองหรือวิธีการรับมือเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม ทำให้มีความเสี่ยงมาก” นายบุญมากล่าว 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"