'ติ๊ก-เจษฎาภรณ์'ดาวดวงที่ 189 ประทับรอยมือรอยเท้าลานดาราหอภาพยนตร์ 28 พ.ย.นี้


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ชวนร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีประทับรอยมือรอยเท้าของ"ติ๊ก" - เจษฎาภรณ์ ผลดี พระเอกตลอดกาล ในวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายนนี้ โดยเจษฎาภรณ์ ผลดี จะเดินทางมาประทับรอยมือรอยเท้า เป็นดาวดวงที่ 189 บนลานดาราของหอภาพยนตร์ โอกาสนี้ พระเอกชื่อดังจะบอกเล่าประสบการณ์การทำงานในวงการภาพยนตร์ในฐานะหนึ่งในดาราชายคนสำคัญแห่งยุค ผู้ที่กาลเวลาแทบไม่อาจทำลายทั้งรูปลักษณ์และความนิยมลงไปได้ แม้จะเข้าสู่วงการมานานมากกว่า 20 ปี  เริ่มกิจกรรมตั้งแต่เวลา 13.00 น.   ฉายภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง (110 นาที) จากนั้นเวลา 15.00 น. เจษฎาภรณ์ ผลดี ถึงหอภาพยนตร์บอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานด้านภาพยนตร์แก่ผู้ชมและสื่อมวลชน ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา ชั้น 6 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ ก่อนถึงช่วงเวลาสำคัญเวลา 16.00 น.   พิธีพิมพ์รอยมือรอยเท้าของ เจษฎาภรณ์ ผลดี ณ ลานดารา ชวนไปร่วมกิจกรรมไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ  สามารถสำรองที่นั่งได้ที่ www.fapot.or.th หรือสอบถามข้อมูลเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ 02 482 2013 – 5 ต่อ 1305

            สำหรับประวัติและเส้นทางการแสดงของพระเอก ติ๊ก - เจษฎาภรณ์ ผลดี เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2520  ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนโยธินบูรณะ และระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

          ด้วยรูปร่างหน้าตาและหน่วยก้านที่โดดเด่น เจษฎาภรณ์เริ่มงานถ่ายแบบและเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาสินค้า ตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัย จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึงเมื่อ นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับโฆษณาที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น ได้เลือกเจษฎาภรณ์มารับนักเลงดังในตำนาน แดง ไบเล่ ในผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก  2499 อันธพาลครองเมือง

       เมื่ออกฉายใน พ.ศ.2540  2499 อันธพาลครองเมือง ได้ชื่อว่าเป็นหนังคุณภาพที่พลิกฟื้นวงการภาพยนตร์จากความเงียบเหงาซ้ำซากในช่วงหลายปีก่อนหน้าให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งยังทำเงินไปกว่า 70 ล้านบาท ซึ่งมหาศาลมากในช่วงเวลานั้น ความโด่งดังของหนังได้กลายปรากฏการณ์สำคัญของสังคมที่ปลุกให้ผู้คนเริ่มมีศรัทธากับหนังไทยมากขึ้น โดยมีบทบาท แดง ไบเล่ ของเจษฎาภรณ์ เป็นภาพจำอันโดดเด่น  เส้นทางสายภาพยนตร์ของเขาจึงเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยสมัยใหม่อย่างแท้จริง

       หลังจากแจ้งเกิดอย่างรวดเร็วจากผลงานเรื่องแรก ปลายปีนั้น เจษฎาภรณ์มีผลงานเรื่องที่ 2 คือ คนป่วนสายฟ้า ตามด้วยบทรับเชิญในหนังผีวัยรุ่น 303 กลัว/กล้า/อาฆาต ซึ่งออกฉายในปีถัดมา ก่อนที่เขาจะได้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่องสำคัญคือ สตรีเหล็ก ซึ่งอ้างอิงจากเหตุการณ์จริงเกี่ยวกับทีมวอลเลย์บอลจากเมืองลำปางที่สมาชิกส่วนใหญ่ในทีมเป็นกะเทย เมื่อออกฉายในปี 2543 ภาพยนตร์ทำรายได้ไปเกือบ 100 ล้านบาท เป็นหนังดังที่คนชื่นชอบและได้รับเชิญไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์มากมาย รวมถึงเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อีกหลายประเทศ

      หลังจากนั้น เจษฎาภรณ์ได้กลายเป็นพระเอกหนุ่มแห่งทศวรรษ ผู้ไม่เพียงแต่จะได้รับความนิยม ในฐานะ “พี่ติ๊ก” ของแฟน ๆ ทั่วประเทศ หากแต่ยังพิสูจน์ตัวเองด้วยฝีมือการแสดงในผลงานภาพยนตร์ที่โดดเด่นมากมาย เช่น สตางค์ (2543) หนังดรามารวมดาราชั้นนำของไทย ผลงานการกำกับของ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล, คู่แท้ปาฏิหาริย์ (2546) ในบทหนุ่มรูปหล่อแสนดีที่ทั้งสะกดหัวใจและเรียกน้ำตาจากผู้ชม, คนเห็นผี 2 (2547) หนังผีที่ร่วมทุนสร้างระหว่างไทยกับฮ่องกง กำกับโดยสองพี่น้อง แดนนี-ออกไซด์ แปง,  ปืนใหญ่จอมสลัด (2551) หนังแฟนตาซีฟอร์มยักษ์อ้างอิงประวัติศาตร์ท้องถิ่นภาคใต้ ซึ่งได้กลับมาร่วมงานกับ นนทรีย์ นิมิบุตร อีกครั้ง, รักฉันอย่าคิดถึงฉัน (2555) หนังโรแมนติกสยองขวัญ ที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีทั้งในไทยและต่างชาติ และล่าสุดคือบทเจ้านายจอมเฮี้ยบใน ยอดมนุษย์เงินเดือน (2555) หนังตลก-ดรามา ว่าด้วยความอัดอั้นของพนักงานออฟฟิศในเมืองกรุง

         ควบคู่ไปกับงานแสดงทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์  เจษฎาภรณ์ยังเป็นที่จดจำในบทบาทพิธีกรรายการผจญภัยและท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติที่เขาทำด้วยหัวใจและความมุ่งมั่นมายาวนาน จากการซึมซับความรักและห่วงใยในทรัพยากรป่าเขาตั้งแต่วัยเด็กที่คอยติดตามคุณพ่อผู้ทำงานกรมชลประทานไปยังแหล่งน้ำและสถานที่ธรรมชาติ ส่งผลให้เขาได้รับการชื่นชมและรางวัลด้านนี้มากมาย รวมถึงได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"