12 พ.ย.2563 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงาน สัมมนาภาคธุรกิจไทยในวิถียั่งยืน ที่จัดขึ้นในหัวข้อ “วิถียั่งยืน ชุบชีวิตธุรกิจ-สังคม” ว่าการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี) ซึ่งเน้นไปที่ขยะพลาสติก ขยะอาหารและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส.อ.ท. ได้เริ่มจับมือกับทาง กระทรวงอุตสาหกรรมในการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยร่วมส่งเสริมให้โรงงานสมาชิกเข้าร่วมเป็นโรงงานนำร่องในการใช้มาตรฐานเซอร์คูลาร์ อีโคโนมี โดยสนับสนุน เช่น การส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และพัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (อีโค อินดัสเทรียล ทาวน์)
โดยมีเป้าหมายการจัดการวัตถุดิบและของเสียของโรงงาน ส่งเสริมมีการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว แก้ไขปัญหาขยะพลาสติกโดยมีเป้าหมาย ให้พลาสติกทั้งหมดกลับมารีไซเคิลได้ 100% ในปี 2570 ขณะนี้ มีโมเดลการจัดการขยะพลาสตกิ 2 แห่ง คือ โมเดลเมืองที่เขตคลองเตย กรุงเทพฯ และโมเดลระยอง ชุมชวังหว้า นอกจากนี้จะพยายามผลักดันให้สินค้าที่ผลิตออกมาได้บาร์โค้ดกรีนโปรดักส์ จากสถาบันรหัสสากล(GS1) เพื่อที่ผู้บริโภคสามารถเช็คได้ว่าสินค้าดังกล่าว เป็นกรีน สามารถรีไซเคิลได้ แนวทางลักษณะนี้จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นและซื้อของมากขึ้น ส่วนค่าธรรมเนียมการขอบาร์โค้ดกำหนดไว้หลายระดับ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี จะขึ้นทะเบียนราคาถูกมาก หรืออาจเจาะลึกไม่เก็บค่าธรรมเนียมให้บางส่วนด้วย เช่น สินค้าชุมชน ที่ขณะนี้พยายามให้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าไปช่วย
“จะเกิดผลดีกับโรงงานอุตสาหกรรม คือ ลดของเสีย การลดต้นทุนในกระบวนการผลิต สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างชุมชนและโรงงาน ชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพสิ่งแวดล้อมของเมืองดีขึ้น และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ดีขึ้น โดยรัฐจะต้องสนับสนุนสิทธิประโยชน์ ให้กับผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ส.อ.ท. จะส่งเสริมการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นสินค้าของไทย ให้สามารถเข้าร่วมกับนโยบายจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของ หน่วยงานภาครัฐได้ ตามมติของคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 63 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจากผู้ประกอบการตามที่ได้ขึ้นบัญชีรายการพัสดุไว้กับกรมควบคุมมลพิษ”นายสุพันธุ์ กล่าว
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสมาคมเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็ก ประเทศไทย และประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนวิถีเศรษฐกิจยั่งยืนต้องเริ่มจากการตระหนักรู้ เพราะถ้าองค์กร ผู้นำ พนักงานไม่เกิดการตระหนักรู้ก็จะไม่เกิดการเริ่มต้นโครงการแก้ไข รักษาสิ่งแวดล้อม โดยสามารถเริ่มต้นสร้างความยั่งยืนได้ง่ายๆ จากหน่วยเล็ก ๆ ก่อน คือ ที่บ้าน ขยายต่อไปยังองค์กร ประเทศของตัวเองและโลก อีกส่วนคือการสร้างโอกาสความเสมอภาค เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
“ที่ผ่านมาผมได้ไปพูดเรื่องวิถียั่งยืนในหลายเวทีสำคัญๆของโลก ซึ่งหลายๆเวที บอกว่าแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ได้ด้วยภาคเอกชน ซึ่งตอนแรกผมไม่เชื่อ แต่ท้ายสุดต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนต้องถูกแก้ด้วยภาคเอกชนจริงๆ เพราะเป็นองค์กรที่มีความต่อเนื่อง มากกว่ารัฐบาลที่มีการเมือง การเลือกตั้ง มีการปรับเปลี่ยนนโยบายไปตามรัฐบาลในแต่ละสมัย”นายศุภชัย กล่าว
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการจะทำให้เกิดธุรกิจไทยในวิถียั่งยืนนั้น การสื่อสารกันในชุมชนสำคัญมาก ทุกคนต้องมีส่วนร่วม มองผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของธุรกิจ โดยจะต้องมาหาว่าจะทำอย่างไรให้สินค้ามีมูลค่าและน่าสนใจ โดยเร็ว ๆ นี้จะมีการจัดงาน “การพัฒนาสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดสากล” ร่วมกับหอการค้าญี่ปุ่น ในวันที่ 17 พ.ย. 63 เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการยกระดับสินค้า สร้างแรงจูงใจ สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างเรื่องราวที่น่าสนใจ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |