‘บิ๊กตู่’ประกาศไม่ห่วงตำแหน่ง


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" ลั่นไม่ห่วงตำแหน่ง แต่ห่วงฐานะประเทศ   หวั่นตีกันเองต่างชาติย้ายฐานผลิต ยอมรับกลัวติดคุกเหมือนกันเพราะทุกคนต้องอยู่ใต้กฎหมาย กำชับ "กอ.รมน." สร้างความเชื่อมั่นพิทักษ์รักษาเทิดทูนสถาบัน ดูแลทุกข์สุข ปชช. เผย มส.กำลังพิจารณาโทษพระร่วมม็อบ ผุด "หมู่บ้านเสื้อแดงรักษาพระองค์" กลุ่ม 3 นิ้วเปิดเพจใหม่นัดชุมนุม 14 พ.ย. กดดันรัฐสภาแก้ไข รธน. ฝ่ายค้านไล่บี้สถาบันพระปกเกล้าหาทางสมานฉันท์ เลขาฯ พระปกเกล้าเสนอ 2 รูปแบบให้สภาเคาะ แนะทำงานระยะยาวป้องกันความขัดแย้ง  

     เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ห้องแกรนด์ดิแอทธินีโฮเทลแบงค็อก ถนนวิทยุ กทม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดงานสัมมนาและกล่าวปาฐกถา ในงานสัมมนา "ภาคธุรกิจไทย ในวิถียั่งยืน" ว่าวันนี้โลกของเราไม่ใช่โลกใบเก่า แต่เป็นโลกใบใหม่ เวลาตนไปคุยกับเอกอัครราชทูตหลายประเทศหลายปีที่ผ่านมา เขาก็พอใจประเทศไทย เขามีความสุขอยู่ประเทศไทย ตนไม่ได้บอกคนนั้นถูกคนนั้นผิดแล้วตนถูก ก็ต้องฟังกันทุกคน แล้วมาใคร่ครวญดูว่าสิ่งที่ทำมาแล้วดีหรือยัง ถ้าไม่ดีแล้วจะทำอย่างไร เราต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่มีใครได้มากได้น้อย เรื่องทุจริตต่างๆ ถ้าเห็นก็แจ้งกันมา ช่วงที่ผ่านมามีเยอะพอควร ก็ลงโทษกันไป สิ่งเหล่านี้เป็นคนละบริบท ถ้าเอามาพันกันทั้งหมดทุกอย่างมันก็ไม่ดีหมด ก็เป็นอยู่อย่างนี้
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐบาลต้องมองในภาพรวม ทำอย่างไรให้คน 70 ล้านคนมีความสุขอย่างยั่งยืนและพอเพียง แต่ความต้องการของมนุษย์ไม่มีวันเพียงพอ ซึ่งต้องนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ พระองค์ท่านทรงทำไว้หมดแล้ว อยู่ที่ว่าเราจะนำมาปฏิบัติได้อย่างไร อยู่ที่จิตใจประชาชนทุกคน ไม่อย่างนั้นขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้ หลักการและเหตุผลจะทำอะไรต้องดู อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ อะไรที่ไม่ควรทำ ต้องทำอย่างนี้เสมอ เพราะมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รัฐบาลกำลังเร่งรัดการพัฒนาให้เป็นไปตามโลกปัจจุบัน
    "เรื่องความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ มันเป็นมานานแล้ว แต่วันนี้ต้องมาดูว่ามีอะไรดีขึ้นบ้าง หากเรามองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงคงไปไม่ได้หรอก ท่านต้องเปรียบเทียบในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา หรือแต่ในรัฐบาลมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง หลายคนไม่รู้เลย วันนี้ต้องพิจารณามีกี่โครงการเกิดขึ้นแล้วบ้าง วันนี้มีรถไฟฟ้ากี่สาย มีรถไฟรางคู่กี่กิโลเมตร มีท่าเรือ มีอีอีซี สิ่งเหล่านี้แม้ใช้เวลาก่อสร้างยาวนาน แต่อย่างน้อย 5 ปีข้างหน้ามีผลผลิตออกมาแน่นอน ถ้าเราอดทน เราไม่เคยมีโครงการขนาดใหญ่ในประเทศไทยเลยที่โชติช่วงชัชวาล มีไหม เราจะกินบุญเก่าอยู่อย่างนี้เหรอ ต้องหาอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาทำ แต่ก็ต้องระวังการทุจริต"
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมไม่อยากให้ต่างประเทศมองว่าเราเชื่อมั่นไม่ได้ เราต้องการให้เขาย้ายฐานการผลิตมาไทย แต่มีปัญหากันอยู่ทุกวัน เขาจะมาไหม นี่คือสิ่งที่ผมเป็นห่วง ผมไม่ได้ห่วงที่ตัวผมเรื่องตำแหน่งอะไรทั้งสิ้น แต่ผมห่วงฐานะประเทศไทยจะไปอยู่ตรงไหน และถ้าเขาไม่มา ย้ายฐานผลิตไปที่อื่นกันหมดจะทำอย่างไร เรื่องสิทธิประโยชน์ก็จำเป็นต้อง รับฟังความคิดเห็นของเราว่าจะให้มากน้อยแค่ไหน มากเกินไปก็กลายเป็นเอื้อประโยชน์ ให้น้อยเกินไปเขาก็ไม่มา
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า การที่มองว่าประเทศนั้นเขาทำได้ เพราะเขามีอำนาจถึงทำได้ แต่ตนมีอำนาจก็เหมือนไม่มี ตนไม่ต้องการอำนาจ แต่ต้องการความเข้าใจ ความร่วมมือ ที่พูดทุกวันหลายคนบอกว่าพูดเยอะ ซึ่งต้องการอธิบายให้ฟัง ต้องพูดตรงนี้ ไม่ได้พูดเพื่อให้อยู่ไปนานๆ ตนจะอยู่ถึงอายุ 100 ปีหรืออย่างไร หลายเรื่องเอามาพันกันจนมีปัญหา แต่มันไม่ใช่ สิ่งดีๆ เรามีเยอะ ตนไม่ใช้ศัตรูของสื่อใดๆ ทั้งสิ้น
ผมก็กลัวติดคุกเหมือนกัน
    "ทุกขั้นตอนมีรายละเอียดและกฎกติกา ผมก็กลัวติดคุกเหมือนกัน หรือใครไม่กลัวบ้าง ไม่มีหรอก ยกเว้นบางคนไม่กลัวก็มี ก็แล้วแต่ เพราะกฎหมายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันได้ในสังคม นั่นคือกฎหมายและความเท่าเทียม เพราะทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ไม่ว่าจะผมหรือใคร ส่วนที่ว่าใครจะ บอกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ไปฟ้องร้องหรือฟื้นคดีขึ้นมา ถือเป็นช่องทางตามประชาธิปไตยอยู่แล้ว อย่ามองทุกอย่างเป็นปัญหาไปหมด ปัญหาบางอย่างมีไว้ให้แก้ มีไว้ให้ฟันฝ่า เป็นบทเรียน ประวัติศาสตร์มีไว้ให้เป็นบทเรียน เอามาศึกษาอะไรไม่ดีอย่าไปทำอีก บางประเทศที่เขาไม่ทะเลาะกันเพราะเขาเคยเผชิญหน้าแบบนี้มาแล้ว อย่างเช่นเรื่องของสงครามโลก สงครามเหนือใต้ตายเป็นล้านคน เขาไม่ต้องการให้เกิดอีก ผมก็หวังว่ามันจะไม่มีอยู่แล้ว แต่เราชอบรบกันด้วยความคิด รบกันด้วยโซเชียล ก็ต้องระมัดระวัง ขอให้เรียนรู้ว่าอะไรคืออะไร"
    นายกฯ กล่าวด้วยว่า "เราทำงานด้วยคณะทำงาน ผมไม่ใช่ซูเปอร์แมนที่จะทำคนเดียว เศรษฐกิจก็มีคนคิด หลายคนมีทั้งฝ่ายกฎหมายฝ่ายทำงาน ผมต้องฟังทุกฝ่ายกฎระเบียบ สิ่งสำคัญคือเราต้องสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีแบบแผนด้วยหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ไม่ใช่สอนให้คนจน แต่ให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามฐานะของตัวเอง มีเหตุผลเพียงพอต่อการใช้จ่าย"
    วันเดียวกัน ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ครั้งที่ 1/2563 (บอร์ด กอ.รมน.) โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าทำข่าว ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีได้เชิญ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พร้อมด้วย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม, พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.), พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าหารือภายในห้องรับรองประมาณ 10 นาที
    จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้รับฟังการบรรยายนิทรรศการของ กอ.รมน. ในการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน ก่อนที่จะเข้าฟังการแถลงแผนความมั่นคงและมอบนโยบายในการสรุปผลการปฏิบัติงานและแถลงผลการปฏิบัติงานประจำปีของ กอ.รมน. ทั้งนี้ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการ ได้มีเด็กนักเรียนมอบผักและไข่ไก่ให้กับนายกฯ พร้อมให้กำลังใจว่า "นายกฯ สู้ๆ" ซึ่งนายกฯ ก็ขอบคุณและขอให้เด็กๆ ตั้งใจเรียน
กอ.รมน.เสริมสร้างความมั่นคง
    ขณะที่นายกฯ ในฐานะ ผอ.กอ.รมน. กล่าวมอบนโยบายพร้อมขอบคุณส่วนราชการที่ได้แก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง พร้อมเน้นย้ำว่า กอ.รมน.ต้องเป็นองค์กรหลักเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และยกระดับคุณภาพชีวิต อาชีพ และรายได้ที่ยั่งยืน ที่สำคัญ กอ.รมน.จะต้องเป็นหน่วยงานในการเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักชาติ ให้ชาวไทยได้ตระหนักและพิทักษ์รักษา เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดี ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ขณะเดียวกัน กอ.รมน.ต้องเป็นหน่วยงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามด้านต่างๆ จัดการข้อมูลที่เป็นเท็จทางสื่อออนไลน์และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านความมั่นคงแบบองค์รวม
     พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเลขาธิการ สมช. รายงานในที่ประชุม ครม.ว่าม็อบแผ่วลง ว่า จะไปรู้หรือ เพราะ สมช.เป็นผู้ประเมิน  
    ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลงหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ๆ และไม่ได้มีการส่งคนไปเจรจา เมื่อถามว่า การที่ม็อบแผ่วลงน่าจะเป็นสัญญาณดีของรัฐบาลใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ดีๆ  
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีพระสงฆ์และสามเณรไปร่วมชุมนุมทางการเมือง จนกระทั่งที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) แสดงความกังวลว่า เป็นเรื่องของมติ มส.ที่วางไว้อยู่แล้วว่าเรื่องพระไม่เข้าไปปราศรัยในทางการเมือง ฉะนั้นหากมีอะไรผิดให้พระสังฆาธิการคือผู้ปกครอง ผู้บังคับบัญชา หรือครู ตักเตือนหรือดูแลความรับผิดชอบ หากพบว่าผิดก็อาจจะให้สละสมณเพศได้ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ปฏิบัติมานานแล้ว และที่ผ่านมาก็นำไปใช้ในการเลือกตั้ง ซึ่งมาคราวนี้ก็นำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติเดียวกัน เช่นเดียวกับ ครม. ข้าราชการทั้งหลาย ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และปฏิบัติตามมติ ครม. ซึ่งมติ ครม.ไม่ใช่กฎหมาย แต่ก็ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งของพระสงฆ์ก็มีลักษณะเดียวกัน
    เมื่อถามว่า แต่ที่ผ่านมาในอดีตก็มีพระสงฆ์ สามเณร เคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาแล้ว แต่ไม่ถูกลงโทษ นายวิษณุ กล่าวว่า ครั้งจากการเคลื่อนไหวในอดีตนั้น จึงเป็นที่มาของมติ มส.ที่ใช้ในปัจจุบันนี้ ส่วนพระเณรชื่อสามนิ้ว จะบอกว่าผิดพระธรรมวินัยก็ไม่ใช่ หรือจะบอกว่าผิดมติ มส.ก็ไม่ใช่ และ มส.ก็ไม่เคยนึกเรื่องนี้ แต่อาจเป็นโลกวัชชะ ที่ประชาชนรู้สึกติเตียน ซึ่งไม่ได้ถือเป็นวินัยสงฆ์ ดังนั้นไม่ควรจะทำ
    ส่วนกรณีที่กลุ่มคณะราษฎรวิพากษ์วิจารณ์การทำกิจกรรมทางศาสนาอิสลาม เชิดชูสถาบันของจุฬาราชมนตรี นายวิษณุกล่าวว่า  เป็นสิทธิ์ที่ชาวมุสลิมจะดำเนินกิจกรรม ทางจุฬาราชมนตรีท่านได้อธิบายแล้วว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งกิจกรรมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่น
    นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล มส. กล่าวถึงกรณีมีพระสงฆ์และสามเณรร่วมชุมนุมทางการเมืองว่า ทาง มส.ได้มีการหยิบยกประเด็นนี้มาหารือกันอย่างเร่งด่วน และทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ก็ได้ติดตามสอบถามกับทางพนักงานสอบสวนว่ามีพระสงฆ์ที่เป็นพระจริงหรือไม่ ก็ต้องมีการตรวจสอบว่ามีการผิดวินัยสงฆ์หรือไม่ อย่างไรก็ต้องดำเนินการกันตามครรลองของสงฆ์
     ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามกฎระเบียบแล้วพระสงฆ์ไม่สามารถไปร่วมชุมนุมทางการเมืองได้ใช่หรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า ใช่  ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองไม่ได้อยู่แล้ว และถือเป็นมติของ มส.แต่เดิมที่ทราบกันอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และจริงๆ แล้วเราก็ไม่อยากให้ศาสนาของพวกเราที่เป็นเสาหลักไปยุ่งเกี่ยวกับด้านการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหน และประชาชนก็คงไม่อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในสังคมของเรา ตนได้บอกให้ พศ.ไปดูเรื่องนี้ และดำเนินการร่วมกับมหาเถรสมาคม เพื่อดำเนินการให้พระสงฆ์อยู่ในระเบียบวินัยของสงฆ์
หมู่บ้านเสื้อแดงรักษาพระองค์
    "ตามวินัยสงฆ์ก็ต้องให้เจ้าอาวาสหรือผู้ปกครองคณะสงฆ์ทำการตรวจสอบว่าผิดวินัยสงฆ์หรือไม่ ถ้าผิดก็คงต้องมีการว่ากล่าวตักเตือน หรือกรณีที่เจ้าอาวาสว่ากล่าวตักเตือนแล้วยังไม่เชื่อ ก็อาจจะมีมาตรการดำเนินการกัน ส่วนโทษจะถึงขนาดต้องสึกจากความเป็นพระสงฆ์หรือไม่นั้น ถ้าเขาไม่ปฏิบัติตามก็ต้องดำเนินการ เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องของศาสนา ให้ทางสงฆ์ดำเนินการในส่วนนี้ดีกว่า ทั้งนี้ การดำเนินการจะใช้บรรทัดฐานเดียวกันทั้งหมดกับพระสงฆ์ที่ไปชุมนุมกับกลุ่มเสื้อเหลืองหรือกลุ่มอื่นๆ ด้วย” นายอนุชากล่าว
    นายอานนท์ แสนน่าน อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทย ประธานเครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นเรารักประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนเองและครอบครัวปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระบรมราชินี ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 อย่างใกล้ชิด สมเด็จพระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินมาถึง ตนก็ได้กราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจากหมู่บ้านเสื้อแดง พระพุทธเจ้าข้า พระราชินีท่านก็ได้หันพระพักตร์ พร้อมมีพระราชปฏิสันถาร ตรัสว่า "...ขอบคุณมากค่ะ ขอบคุณมากนะ..." และยื่นพระหัตถ์มาตบไหล่ขวาของตน  หลังจากนั้นสมเด็จพระบรมราชินีก็ได้กราบทูลในหลวงว่า "ประธานมาจากหมู่บ้านเสื้อแดงรักษาพระองค์"
     ทันใดนั้นในหลวงก็ได้หันพระพักตร์มาทางตน พร้อมกับยื่นพระหัตถ์ซ้ายมาตบไหล่ขวา และตรัสว่า "...ยังไงก็ได้ ถ้าเรารักประเทศชาติ ทำให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อประชาชน ต่อพี่น้องคนไทย ต่อความมั่นคง รักษาความมั่นคงของประเทศชาติไว้
     ตอนนั้นตนเองก็ได้พูดพร้อมกราบบังคมทูลว่า "...ข้าพระพุทธเจ้าขอเป็นหมู่บ้านเสื้อแดงรักษาพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า..."  ในหลวงท่านตรัสว่า "... ทำในสิ่งที่ดี ทำในสิ่งที่ถูก อะไรที่มันผิดๆ ก็ไม่ต้องทำ ดูแลประเทศไทย..." และสมเด็จพระบรมราชินีก็ตรัสอีกว่า "...ขอบคุณนะคะ..."
    "ผมและประธานหมู่บ้านเสื้อแดงภาคอีสานและภาคเหนือ พร้อมรับสนองพระราชดำรัสที่ในหลวงรับสั่งเอาไว้ และขอเป็น หมู่บ้านเสื้อแดงรักษาพระองค์ ซึ่งผมและคณะหมู่บ้านเสื้อแดงรักษาพระองค์ต่างรู้สึกซาบซึ้งและปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างมาก ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ผมและประธานภูมิภาค ประธานแต่ละจังหวัด จะขอเป็นข้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ตลอดไป" นายอานนท์กล่าว
    ที่ สน.ดุสิต นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ในฐานะตัวแทนของภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้นำหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอและข้อความที่เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เดินทางเข้าพบ ร.ต.ท.นที นิลเปี่ยม รอง สว.(สอบสวน) สน.ดุสิต เพื่อแจ้ง ความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนายกฤตย์ เยี่ยมเมธากร เลขาธิการกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ คปส. ในความผิดรวม 4 ข้อหา คือ 1.ก่อให้ผู้อื่นด้วยการยุยงส่งเสริมให้เป็นกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113  ประกอบมาตรา 84 2.ยุยงทหารหรือตำรวจให้ละเลยไม่กระทำการตามหน้าที่ หรือให้ก่อการกำเริบ ตาม ป.อาญา มาตรา 115 3.ทำให้ปรากฏต่อประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่ในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 116 (1) และ 4.ในความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา จากกรณีนายกฤตย์แสดงออกต่อสาธารณะสนับสนุนให้ทำการรัฐประหาร
     นายวิญญัติเปิดเผยว่า ข้อมูลที่ส่งมอบให้พนักงานสอบสวน เป็นพฤติกรรมที่อยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 8-9 พ.ย.63 ซึ่งนายกฤตย์  มีการกระทำผิดหลายครั้งหลายสถานที่ จึงขอให้ตำรวจรับคดี เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว หลังจากนี้จะดำเนินการพิจารณาตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
    เพจเฟซบุ๊ก Mob Fest  เพจใหม่ของกลุ่มผู้ชุมนุมโพสต์ข้อความ ระบุว่า MOB FEST #แก้ได้ถ้าแก้รัฐธรรมนูญ การรวมตัวครั้งสำคัญของภาคีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนกว่า 20 เครือข่าย ผู้เชื่อใน 3 ข้อเรียกร้องหลัก และปรารถนาจะเห็นชัยชนะของประชาชน MOB FEST ขอเปิดพื้นที่ชุมนุมในวันที่ 14 พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลาบ่าย 2 โมง เพื่อเก็บตกทุกประเด็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญ จากชายขอบสู่เมืองหลวง จากทางเท้าไปจนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์? พร้อมร่วมกันจับตามองวาระรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนในการประชุมสภาสมัยสามัญที่กำลังจะมาถึง
    "มาเถิดราษฎรทั้งหลาย มาฟังเนื้อหาปราศรัยอันหลากหลายแบบแน่นๆ แทรกด้วยศิลปะเพื่อประชาชนแบบเน้นๆ ร่วมกดดันและส่งเสียงถึงรัฐสภาและอำนาจบริหารไปด้วยกัน!"
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. ระบุว่า การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ย. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน ทางตำรวจจะเน้นเรื่องการดูแลความปลอดภัย ซึ่งได้หารือกับผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแล้วว่าจะมีการใช้ตำรวจควบคุมฝูงชนหญิงมากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นการตั้งเพื่อรับมือความรุนแรง ซึ่งทางตำรวจก็เข้าใจว่าเด็กก็มีสิทธิในการแสดงออกทางความคิดทางการเมือง แต่ก็ต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมายด้วย ซึ่งตำรวจก็พร้อมรับมืออยู่แล้ว ยืนยันการดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย
     ส่วนกรณีที่มีการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.ต.ต.ยิ่งยศชี้แจงว่า น้ำที่ใช้เป็นน้ำเปล่า ไม่ผสมสารเคมี ซึ่งการก่อนการฉีดน้ำมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนไม่ให้เข้าใกล้พระบรมมหาราชวัง เนื่องจากผิดกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการชี้แจงต่อกรรมาธิการการตำรวจของวุฒิสภาแล้ว โดยวันพรุ่งนี้จะไปชี้แจงต่อกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ส่วนกรณีที่พบพลุควันในพื้นที่สนามหลวงฝั่งตำรวจในการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ขณะนี้อยู่ระหว่างใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการติดตามผู้กระทำผิดอยู่ ซึ่งพอจะมีเบาะแสอยู่บ้างแล้ว ซึ่งเหตุนี้เข้าข่ายความผิดหลายอย่าง ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลผู้กระทำความผิดและดำเนินคดีอยู่
     สำหรับการดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุมตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคมถึงปัจจุบัน มีการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดแล้วจำนวน 89 คน ส่วนใหญ่เป็นความผิดตามมาตรา 116 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ซึ่งทั้งหมดก็ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อไป
ชง 2 รูปแบบสมานฉันท์
    ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ ได้ติดต่อกับอดีตนายกฯ ที่เหลือ เช่น นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่ ว่าตนคุยกับอดีตนายกฯ ที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งได้คุยหมดแล้ว ยกเว้น พล.อ.สุจินดา คราประยูร เพราะท่านป่วย จึงไม่ได้คุย และเท่าที่มี เวลา ได้ติดต่อประสานงานพูดคุยกับคนที่ทำงานด้านนี้ เพราะคิดว่าเฉพาะหน้าเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องแก้ไป แต่ในระยะยาวต้องป้องกันความขัดแย้ง ความขัดแย้งทางการเมืองต้องมีตลอดไป ซึ่งไม่ได้แปลกอะไร แต่ประชาชนขัดแย้งกันเอง ถ้าย้อนหลังไปดูจะมีบางช่วงที่เกิดขึ้นจริงๆ เกิดจากการกระทำ ส่วนใหญ่คือฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้กระทำให้เกิดความขัดแย้ง ชนิดที่คนหนึ่งเข้าจังหวัดนั้นไม่ได้ จังหวัดนี้ไม่ได้ ซึ่งต้องศึกษาว่าจะป้องกันอย่างไร เพราะเรื่องอดีตบางเรื่องสามารถนำมาศึกษาเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นได้
     ต่อมา เวลา 14.00 น. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณารายงานประจำปี 2562 ของสถาบันพระปกเกล้า มีนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นผู้รายงาน โดยมี ส.ส.หลายคนอภิปรายเรียกร้องให้สถาบันพระปกเกล้าออกมาชี้แจงความชัดเจนถึงแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศ อาทิ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า มีคนฝากคำถามมามากมาย สถาบันพระปกเกล้าจะออกหลักสูตรการต้านรัฐประหารได้หรือไม่ ถ้าเป็นไปได้อยากให้สถาบันพระปกเกล้าช่วยตอบคำถามว่าได้เสนอโมเดลอะไรในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม เพื่อตอบโจทย์ให้ประชาชนที่เสียภาษีได้รับทราบ  
     นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งขณะนี้ อยากให้สถาบันพระปกเกล้าเล่าให้ฟังว่ามีวิธีสมานฉันท์อย่างไร ถ้าพูดข้างนอกไม่ได้ ก็ให้มาพูดในสภา สถานการณ์ขณะนี้สถาบันพระปกเกล้าที่เป็นหลักของประชาธิปไตยควรออกชี้นำ เป็นหลักในการแก้ปัญหา ไม่ให้ปัญหาไปกันใหญ่ ทุกวันนี้ตำรวจบ้าจี้ ใช้วิธีไปอายัดตัวแบบเก่าแก่เด็กๆ ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้าต้องออกมายืนยันให้สังคมรับรู้ว่า วิธีการเหล่านี้ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ทำเป็นนิ่งเฉย
     ขณะที่นายวุฒิสาร ตันไชย ชี้แจงว่า ในส่วนของโมเดลการสร้างความปรองดองนั้น ทางสถาบันพระปกเกล้าได้หารือผู้ทรงคุณวุฒิ และได้เสนอรูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์ 2 รูปแบบให้สภารับทราบคือ 1.คณะกรรมการ 7 ฝ่าย ที่ควรตั้งทันที เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังจะเกิดขึ้น 2.โมเดลคณะกรรมการที่ปลอดจากฝ่ายการเมือง อาจเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีประสบการณ์การแก้ปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาหนึ่งชุด มาทำงานระยะยาว เพื่อออกแบบระบบป้องกันและความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการขัดแย้งในอนาคตข้างหน้า ทั้ง 2 แบบนี้มีบทเรียนที่เราเคยทำงานศึกษาวิจัยอยู่ ขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะเลือกรูปแบบอย่างไร  
    ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้กำชับให้ พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เตือน ส.ส.ที่ไปแสดงความเห็นก้าวล่วงนายชวน หลีกภัย ว่าตนได้บอกไปแล้ว เมื่อถามถึงข่าวจะลงโทษด้วยการตัดเงินเดือนหรือไม่ พล.อ.ประวิตรไม่ตอบคำถาม แต่ได้เดินขึ้นไปยังห้องทำงานตึกบัญชาการทันที
    ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเรื่องการพูดคุยกับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ 25 คน ให้ถอนชื่อจากการเข้าชื่อยื่นตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมส่ายหัวและเดินออกจากที่แถลงข่าวทันที
    นายอนุชา นาคาศัย ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์กำชับให้ดูแล ส.ส.ของพรรค ถึงการ แสดงความเห็นทางการเมือง ทั้งนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.และน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์  ส.ส.ราชบุรี พาดพิงนายชวน หลีกภัย ว่า เป็นเรื่องภายในพรรค ไม่มีอะไร ได้พูดคุยกันแล้ว
    เมื่อถามว่า จะใช้วิธีการลงโทษโดยตัดเงินในส่วนของพรรค ตามที่มีข่าวหรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า คิดว่าคงไม่ถึงขั้นนั้น.  

   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"