“ประธานชวน” ยันญัตติ 73 สมาชิกรัฐสภาล่าชื่อยื่นเรื่องตีความแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงมือแล้ว ต้องรอฝ่ายกฎหมายเคาะก่อน ไม่ใช่ส่งไปทุกเรื่อง “วิษณุ” แย้มไม่เห็นด้วยเพราะไม่ขัด รธน. “ประยุทธ์” รีบปัดไม่ก้าวล่วง แต่กำชับห้ามสภาล่มในวันที่ 17-18 พ.ย. “ไพบูลย์-สมชาย” แจ้นแจงเหตุผลไม่ใช่เพื่อเตะถ่วง หวังเคลียร์ข้อข้องใจทำให้ “ส.ว.” โหวตสบายใจ ลั่นจะรับยกมือโหวตวาระ 1 ก่อนแล้วค่อยดันเรื่องญัตติ “พรรคค้าน” เชื่อซื้อเวลา โวยกมือรับหลักการร่างทั้ง 7 ฉบับ
เมื่อวันอังคาร ยังคงมีความต่อเนื่องจากกรณีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 48 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 25 คน เข้าชื่อเสนอญัตติให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 3 ฉบับที่ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
โดยนายชวนกล่าวว่า ได้รับเรื่องที่ยื่นมาแล้ว โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกฎหมายจะเป็นผู้พิจารณา การยื่นสามารถทำได้ ส่วนกระบวนการว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าจะส่งได้ทุกเรื่อง ขึ้นอยู่กับรายละเอียดแต่ละเรื่อง ซึ่งมีทั้งกรณีที่ส่งและไม่ส่งให้ศาล และยังไม่ถึงขั้นส่งผลต่อกระบวนการพิจารณาในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ขอไปก้าวล่วงกระบวนการ เพราะเป็นดุลยพินิจของสมาชิกรัฐสภา ไปสั่งใครไม่ได้ ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความรู้ มีประสบการณ์ และเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นวิถีทางการเมือง ดังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องเคารพกระบวนการ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายภาคหน้า
มีรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ได้กำชับตอนหนึ่งว่า ในการประชุมสภาเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ในวันที่ 17-18 พ.ย. ให้เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง อย่าให้เกิดปัญหาสภาล่ม นอกจากนี้ยังกำชับรัฐมนตรีเรื่องการตอบกระทู้ว่า หากติดภารกิจไม่สามารถไปตอบกระทู้ได้ ก็อย่าปล่อยผ่าน แม้เลยไปแล้วก็ต้องกลับไปตอบทุกกระทู้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ญัตติดังกล่าวยื่นต่อประธานรัฐสภา หากสภาไม่เห็นชอบก็ไม่ต้องส่งให้ศาล หากเห็นชอบก็ส่งตามข้อบังคับที่ 31 ซึ่งเขาอ้างด้วยว่าวิธีดังกล่าวจะไม่ทำให้กระบวนการล่าช้า เพราะสามารถเดินคู่ขนานกันไปได้ ถ้าสภามีการรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาวาระ 2-3 เขาก็จะยื่นแยกไปอีกทาง เขาอ้างเช่นนี้ แต่ข้อเท็จจริงไม่ทราบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสภาโหวตรับไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมิชอบ จะเป็นปัญหาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบก็เดินต่อไม่ได้ แต่ดีกว่าไม่มีใครทำอะไร แล้ววันหนึ่งเกิดมีคนไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และศาลวินิจฉัยว่าไม่ชอบจะทำให้ลำบากกว่านี้
“วิษณุ”ไม่เห็นด้วย!
เมื่อถามว่า ทำให้สะเด็ดน้ำตั้งแต่ต้นดีกว่าใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เขาอ้างว่าอย่างนั้น และขั้นตอนที่เขาอ้างว่าเดินคู่ขนานกันไปก็ไม่ได้ทำให้เสียเวลา แต่ถ้าสภาต้องหยุดการพิจารณา แบบนั้นถือว่าเสียเวลา ต่อให้หยุดไปเพียงวันเดียวก็เสียเวลา อย่างไรก็ตาม ระหว่างการตั้ง กมธ.วิสามัญ ก็ส่งเรื่องให้กับศาลพิจารณาภายใน 1 เดือนก็น่าจะเสร็จ หากศาลบอกไม่มีปัญหา ในชั้นคณะ กมธ.วิสามัญก็เดินต่อไปได้ แต่ถ้าศาลบอกไม่ชอบ ก็หยุดแค่ตรงนั้น ดีกว่าไปถึงขั้นทำประชามติ หมดเงินไป 3,000 ล้านบาทแล้วโมฆะ
ถามย้ำว่าเห็นด้วยกับการยื่นให้ศาลวินิจฉัยครั้งนี้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เพราะไม่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนจะดีกว่าหรือไม่นั้น เขาว่าดีกว่า แต่ก็ไม่รู้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวตอบคำถามที่ว่าเรื่องนี้ต้องพูดคุยกันในพรรคหรือไม่ ว่าเดี๋ยวพูดคุยเอง แต่เวลานี้ยังไม่รู้เหตุผลอะไร สื่อถามนำหน้าตลอด
เมื่อถามว่า ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็แก้สิ ให้เขาไปดูกันก่อน ส่วนจะว่ากันอย่างไรเป็นเรื่องของลูกพรรค ส่วนที่ถูกมองว่า พปชร.กำลังยื้อเวลานั้น ยื้อเวลาอย่างไรไม่รู้ ไม่เข้าใจที่สื่อถาม แต่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) บอกแล้วว่าสามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ จะมาถามทำไม
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า เป็นเรื่องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร.ในฐานะ ส.ส. สามารถยื่นได้ รวมถึง ส.ส.พรรคที่ไปลงชื่อถือเป็นสิทธิ์ส่วนตัว ไม่ต้องเป็นมติพรรค และแม้จะยื่นตีความแต่กระบวนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังไม่หยุด โดยรัฐสภาจะประชุมในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ส่วนใครจะยื่นก็ยื่นไป โดยสามารถทำคู่กันไปได้จนกว่าศาลจะมีคำสั่ง แต่ต้องชี้แจงให้สังคมเข้าใจได้ด้วย ซึ่งในที่ประชุม ครม.รัฐมนตรีของพรรคก็ไม่ทราบเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคเห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่ นายพุทธิพงษ์ตอบว่า การนำเรื่องเข้าสภาและตั้ง กมธ.เดินตามกระบวนการเป็นช่องทางที่ถูกต้อง แต่ยังไม่ได้ฟังเนื้อหารายละเอียดอย่างครบถ้วน ซึ่งกระบวนการนี้ถือว่าดีที่สุดที่ทุกฝ่ายจะพูดคุย ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นอย่างไรต้องไปดูจากที่ประชุมว่าเห็นชอบกับร่างแก้ไขฉบับใด
เมื่อถามย้ำว่า การลงชื่อเพื่อยื่นให้ศาลตีความจะสวนทางกับสิ่งที่นายกฯ บอกว่าต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็วหรือไม่ นายพุทธิพงษ์ย้ำว่า เป็นสิทธิ์ของ ส.ส.และ ส.ว.จะยื่นตีความ ซึ่งต้องดูประธานรัฐสภาหารือกับวิปทั้ง 4 ฝ่ายจะมีข้อตกลงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะนำเข้าหารือในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้หรือไม่ หากเข้าก็ต้องเดินไปตามขั้นตอน
ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (พปชร.) ระบุว่า การยื่นตีความจะไม่มีผลกระทบกับการพิจารณาแก้ไขรับรัฐธรรมนูญในวันที่ 17-18 พ.ย. ไม่ต้องกังวล โดยพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เล่นเกมด้วย เราตรงไปตรงมาว่าอยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามวิถีทางที่เราเสนอมาอย่างต่อเนื่อง และร่างของพรรคร่วมรัฐบาลก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะมีความชัดเจนถึงการแก้มาตรา 256 เพื่อให้ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาโดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 ถือเป็นจุดยืนที่มีความชัดเจน
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. และนายไพบูลย์ได้แถลงถึงเรื่องดังกล่าว โดยนายไพบูลย์กล่าวว่า การเสนอญัตติดังกล่าวมาจากการที่ถูกทักท้วงว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งตนเองได้ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาล ตอนนั้นยังไม่เห็นปัญหา แต่เมื่อตอนนี้มีปัญหาแล้วก็ควรทำให้เกิดความชัดเจนก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสิ้นสุดทั้งกระบวนการ
ลั่นไม่ได้เตะถ่วง
"เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดให้รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่ จึงเป็นปัญหาว่ากระทำได้หรือไม่ ช่องทางการส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาตามมาตรา 210 (2) เป็นการเปิดให้รัฐสภามีส่วนร่วม อยากให้พิจารณารับหลักการร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ไปก่อน แล้วค่อยให้รัฐสภาพิจารณาในเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญ" นายไพบูลย์กล่าว และว่า เราอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นโดยไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น หากเริ่มต้นด้วยความชัดเจนแล้วจะทำให้ทุกอย่างราบรื่น ไม่ได้มีเจตนาเตะถ่วงแต่อย่างใด หากถึงที่สุดแล้วรัฐสภามีมติเสียงข้างมากเห็นด้วยก็จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
นายสมชายกล่าวว่า ส.ว.มีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ตั้ง ส.ส.ร.นั้น ไม่ค่อยสบายใจในข้อกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้เขียนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับใหม่ได้เหมือนรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ยืนยันว่าไม่มุ่งหมายในการยื้อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องนี้ภายหลังได้ผ่านขั้นตอนการรับหลักการในวาระที่ 1 ไปก่อน โดยเมื่อวันที่ 17-18 พ.ย. รัฐสภารับหลักการแล้ว จึงมาพิจารณาว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ต่อไปตามขั้นตอน
“ไม่ได้เติมเชื้อไฟในความขัดแย้ง แต่เป็นการทำให้ถูกต้อง เพราะหากรัฐสภาทำไม่รอบคอบและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระทำโดยมิชอบ ยิ่งจะทำให้เกิดความเสียหาย” นายสมชายระบุ
เมื่อถามว่า การเสนอเช่นนี้จะทำให้รัฐสภาไม่ลงมติในวาระที่ 1 หรือไม่ นายไพบูลย์ยืนยันว่า ในวันที่ 17-18 พ.ย. จะออกเสียงให้เห็นด้วยกับรัฐสภาในการรับหลักการในวาระที่ 1 เป็นการแยกระหว่างการทำหน้าที่ระหว่างสมาชิกรัฐสภาที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับในฐานะนักกฎหมายที่เห็นว่าเมื่อมีปัญหาข้อกฎหมายก็ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
“ไม่ได้รู้สึกว่าจะตั้งธงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ตั้ง ส.ส.ร.ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านจะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา แต่หากไม่มีการยื่นญัตตินี้ไว้ก่อนเชื่อว่าจะมี ส.ว.หลายคนไม่สบายใจและงดออกเสียงในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีการยื่นญัตติดังกล่าวแล้วย่อมทำให้ ส.ว.สบายใจและพร้อมเห็นด้วยในการลงมติรับหลักการในวาระที่ 1” นายไพบูลย์กล่าว
ถามว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 256 (9) กำหนดไว้อยู่แล้วว่าสามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ภายหลังรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นทั้ง 3 วาระ แต่กลับมาเสนอญัตติก่อน นายไพบูลย์กล่าวว่า การส่งเรื่องไปยังศาลมีหลายช่องทาง และการใช้มาตรา 210 (2) เป็นเพียงช่องทางหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่ว่าอย่างไรเรื่องนี้ต้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เสนอตั้งแต่ต้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนและทำให้ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้โดยเร็วที่สุด และหากที่สุดแล้วรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นทั้ง 3 วาระ ก็จะไม่ใช้สิทธิ์ตามมาตรา 256 (9) เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก
มีรายงานว่า ส.ส.พรรค พปชร. 25 คนที่ร่วมลงรายชื่อในท้ายญัตติเพื่อขอให้ประธานรัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น ปรากฏว่าในจำนวนดังกล่าวมี ส.ส. พปชร. 21 คน ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอด้วย
ไฟเขียวเข้าชื่อตีความ
ด้าน น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม.เขต 2 ในฐานะโฆษกพรรค พปชร. แถลงภายหลังการประชุม ส.ส.พรรค ว่ามีวาระเตรียมความพร้อมประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 11-12 พ.ย.นี้ และการประชุมร่วมของรัฐสภาในวันที่ 17-18 พ.ย. ที่จะมีญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าทั้ง 7 ฉบับ ส่วนกรณี ส.ส.พรรคร่วมลงชื่อในญัตติเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ไม่มีเจตนาอื่นใดที่จะทำให้ความขัดแย้ง หรือทำให้ยืดยาวออกไป โดยทุกท่านก็ทราบดีถึงนโยบายของพรรคที่ พล.อ.ประวิตรเน้นย้ำเสมอ ให้เรามีความจงรักภักดี และยึดมั่นในชาติ ศาสน์ พระมหากษัตริย์ และสร้างความปรองดองในชาติ
“นายวิรัชได้ชี้แจงและยืนยันไปแล้วว่า ในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ในกระบวนการพิจารณาผ่านวาระ 1 นั้น จะลงมติแน่นอนทั้ง 7 ร่าง ส่วนที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความตามนั้นก็เป็นการเปิดโอกาสให้ทำได้ แต่ต้องไม่กระทบต่อการทำงานของ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นทางออกหนึ่งให้รัฐสภาได้ และผู้ใหญ่ในพรรคก็ ไม่ได้ห้าม ส.ส.ร่วมลงชื่อ เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ในการดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ใจ ยืนยันว่าไม่มีปัญหาหรือส่งสัญญาณใดๆ ทั้งสิ้น” น.ส.พัชรินทร์กล่าว
น.ส.พัชรินทร์ยืนยันว่า ทุกอย่างที่พรรคทำไปจะต้องทำด้วยความรอบคอบ และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดตามมาในภายหลัง ซึ่งพรรคเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่แตะต้องหมวด 1 และ 2 เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในชาติ และหวังว่าทุกท่านจะร่วมมือร่วมใจกันนำพาชาติไทยผ่านวิกฤติต่างๆ ไปด้วยกัน
ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ย้ำว่าการเข้าชื่อของ ส.ส.พรรค และ ส.ว.ไม่ใช่การยื้อเวลา เพราะกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเป็นไปตามเดิม แต่ที่ต้องทำเพราะ ส.ส. และ ส.ว.เห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อมีข้อสงสัยของการตั้ง ส.ส.ร.ทำได้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งเพื่อทำให้ ส.ว.มั่นใจและร่วมลงมติรับหลักการ เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ อาจมี ส.ว.บางคนไม่สบายใจ และอาจไม่ลงมติ
ส่วนนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะคณะอนุ กมธ.พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายในคณะกรรมการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยต่อการขอเสนอญัตติขอให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับการการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้ขัดหรือหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และก็ได้ลงชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปเองแล้ว จะมาแย้งการกระทำของตนเองได้อย่างไร
"การเสนอในขณะนี้อาจทำให้สมาชิกรัฐสภาไขว้เขวในการลงมติรับหลักการ และทำให้ร่างแก้ไขนั้นตกลงไปได้ และอาจทำให้ประชาชนเห็นว่าเป็นการถ่วงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องกระทำในเวลานี้” นายนิกรกล่าว
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวเรื่องนี้ว่า มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นการซื้อเวลา ไม่อยากให้เกิดการยื่นเรื่องเช่นนี้ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์และนายวิษณุมีความชัดเจนว่า ต้องการให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พรรครัฐบาลต้องยุติเรื่องนี้ แม้การยื่นศาลจะเป็นสิทธิ แต่สถานการณ์แบบนี้ไม่เหมาะสม ส.ว.ที่ยื่นก็เป็นหน้าเก่าๆ อยากเรียนไปยังพรรคพลังประชารัฐว่าการเมืองต้องเดินไปด้วยกันด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"ฝากไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ว่าการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเชื่อว่าได้ไม่เท่าเสีย ถอยดีกว่า แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะสั่งไม่ได้ แต่สามารถไปบอกคนเหล่านี้ได้" นายสมคิดกล่าว
รับหลักการทั้ง 7 ฉบับ
นายสมคิดกล่าวถึงการโหวตรับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ฉบับ ว่าฝ่ายค้านจะรับหลักการทั้ง 7 ฉบับ แต่ทราบมาว่ารัฐบาลจะไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ เพราะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกเรื่อง รวมถึงหมวด 1-2 ด้วย โดยรัฐบาลจะรับหลักการเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า กระบวนการยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญปรากฏมาตลอด โดยเฉพาะท่าทีของ ส.ว. ซึ่งจุดประสงค์ของการยื่นให้ศาลตีความนั้นเท่ากับว่าพยายามใช้กลไกของศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาขยายแดนอำนาจ และจะทำให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายไม่ได้เลย เป็นการเปิดช่องให้ศาลล้วงลูก และจำกัดอำนาจของรัฐสภา การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมองอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากใช้กลไกกฎหมายเพื่อทำลายกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่นนี้เท่ากับการทำรัฐธรรมนูญจะทำได้แค่การรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้นใช่หรือไม่ ก็จะยิ่งทำให้การเปลี่ยนด้วยสันติวิธีเกิดขึ้นได้ยาก
วันเดียวกัน นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีพรรคฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าร่างพระราชบัญญัติประชามติไม่ผ่านการรับฟังความเห็นของประชาชนตาม มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญว่า ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับนี้จัดทำโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ผ่านเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ฝ่ายค้านจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติประกบไปด้วยนั้น สามารถกระทำได้อยู่แล้ว
นายวิษณุกล่าวเช่นกันว่า ฝ่ายค้านมีสิทธิ์เสนอร่างประกบ แต่ถ้าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเกี่ยวกับการเงิน ต้องส่งให้นายกฯ ลงนามรับรอง เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ต้องใช้เงิน ซึ่งไม่รู้ว่าเกี่ยวหรือไม่ ส่วนเนื้อหาที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยนั้นไม่เป็นปัญหา เนื่องจากถ้าเข้าไปในสภาแล้วที่ประชุมสามารถแก้ไขได้ จะเสนอประกบก็ได้ ส่วนที่ฝ่ายค้านมองว่าร่างนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น ไม่รู้ เพราะ กกต.เป็นผู้ร่าง แต่ถ้าไม่ชอบใจสามารถแปรญัตติได้อยู่แล้ว แก้ไขได้ทุกมาตรา และการให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาในคราวเดียวถือเป็นการเร่งเวลาพิจารณา เป็นการพิจารณาม้วนเดียวจบ และจะเร็วขึ้นประมาณ 3 เดือน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านมองว่าเป็นการยืมมือ ส.ว.เพื่อทำให้กฎหมายตกไปตั้งแต่ต้น นายวิษณุกล่าวว่า ไม่จริง จะตกไม่ได้ ร่างกฎหมายใดที่เป็นของรัฐบาล หากตกไปรัฐบาลต้องลาออกหรือยุบสภา แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ แต่เป็นประเพณีปฏิบัติ
เมื่อถามถึงแนวคิด พ.ร.ก.ประชามติ ตั้งคำถามพ่วงไปกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เสนอก่อนหน้านี้ยังมีอยู่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เลิกพูดกันไปแล้ว เพราะคำถามต้องเกิดจากคณะกรรมการสมานฉันท์ เมื่อคณะกรรมการฯ ยังไม่เกิดก็เดินไปไม่ได้ และกรอบเวลาขณะนี้ดูแล้วก็ไม่ทัน
นายชวนกล่าวว่า ปกติจะบรรจุระเบียบวาระตามลำดับที่กฎหมายเข้ามา ซึ่งในวันที่ 11 พ.ย. จะประชุมคณะกรรมการประสานงานของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาหารือกันถึงการบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ โดยทราบว่าฝ่ายค้านจะส่งร่างกฎหมายเข้ามาประกบ ซึ่งหากมีเนื้อหาในลักษณะเดียวกัน ก็สามารถพิจารณาพร้อมกันได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |