พอช.-ขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้จัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2563 ภาคใต้’ ที่ชุมพร “ที่ดินของทุกคน ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็ง” Land for all : Strength communities”


เพิ่มเพื่อน    

 

ชุมพร/ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้จัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2563’ ‘บ้านมั่นคง : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม” ที่ตำบลหงษ์เจริญ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและพัฒนาคุณภาพชีวิตรอบด้าน

 

องค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT) กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ World Habitat Day’ เริ่มตั้งแต่ปี 2528 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก

 

ในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย UN – HABITAT มีคำขวัญว่า “Housing for all A better urban future” หรือ “ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม” ขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดมหกรรม ‘บ้านมั่นคง  : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม’ ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ทั่วภูมิภาค  ภาคกลางและตะวันตกที่จังหวัดสุพรรณบุรี    ภาคตะวันออกที่ จ.ปราจีนบุรี  กรุงเทพฯ  ภาคเหนือที่ จ.น่าน  ภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น  และภาคใต้ที่ จ.ชุมพร 

 

 

โดยในวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2563  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้ 14 จังหวัดร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก  “ที่ดินของทุกคน ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็ง” Land for all : Strength communities” ที่แปลงที่ดิน ส.ป.ก.เลขที่ 83 ตำบลหงษ์เจริญ อำเภอท่าแซะ  จังหวัดชุมพร  โดยมีนายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร  นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการ พอช.  นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ผู้แทนหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคใต้ 14 จังหวัดเข้าร่วมงานประมาณ 600 คน

แปลงที่ดิน ส.ป.ก.เลขที่ 83 ตำบลหงษ์เจริญ มีเนื้อที่ประมาณ 6,281 ไร่ เดิมเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ส.ป.ก.ได้นำมาจัดสรรให้เกษตรกร ต่อมามีบริษัทเอกชนเข้ามากว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านและเข้าครอบครองปลูกปาล์มน้ำมัน ในปี 2559  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) จึงยึดที่ดินนำมาจัดสรรและแจกให้เกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน จำนวน 105 ครอบครัวๆ ละ 5 ไร่ โดยเกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.ได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญ จำกัด’ ขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน  โดย พอช.สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท

 

 

การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่แปลงที่ดิน ส.ปก. ตำบลหงษ์เจริญ มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงให้ความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท การออกแบบการใช้ที่ดินแบบมีส่วนร่วมโดยชุมชน การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนทุกมิติ สร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชนและภาคีพัฒนาเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็ง หนุนเสริมการทำงาน พัฒนากลไกให้เกิดความเข้มแข็งระดับชุมชน  ตำบล จังหวัด และภาค รวมทั้งเพื่อพัฒนานโยบายเรื่องการใช้ที่ดินที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจัดการตนเอง

นายปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ(พอช.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นโจทย์ของแผ่นดิน เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งภาคประชาชนทั้งในเมืองและชนบทได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามาก่อนหน้านี้แล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีแผนงานในการแก้ไขปัญหา เพราะในประเทศไทยมีครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 21 ล้านครัวเรือน แต่มีปัญหาที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงหรือไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองรวมทั้งหมดประมาณ 5,870,000 ครัวเรือน 

 

นายปฏิภาณ  จุมผา

 

“รัฐบาลมีแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยระยะ 20 ปี พ.ศ.2560 ถึง 2579  โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน มีเป้าหมายภายในปี 2579 ให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยกันถ้วนทั่ว”  รอง ผอ.พอช.กล่าว

นายปฏิภาณกล่าวต่อไปว่า การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยนี้จะต้องแก้ไขปัญหากันทั้งตำบล ทั้งเมือง และแก้ไขปัญหาทุกมิติ โดยมีระบบการสำรวจและจัดเก็บข้อมูล โดยชุมชนท้องถิ่นต้องเป็นเจ้าภาพ เป็นเจ้าของเรื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง สร้างความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสภาองค์กรชุมชนตำบลควรจะเป็นกลไกกลางในการเชื่อมต่อกับหน่วยงานและภาคีต่างๆ  แนวทางนี้จะทำให้การแก้ไขปัญหาโดยมีพี่น้องประชาชนเป็นกำลังสำคัญ ใช้เรื่องบ้านเป็นเครื่องมือ นำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาทุกปัญหา ทุกมิติ ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เป็นกลไกของรัฐ แต่เป็นเครื่องมือของประชาชน ร่วมทำงานกับชาวบ้านและหน่วยงานภาคีต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ร่วมกัน

 

นายสุริยน พัชรครุกานนท์

 

นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า สหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญ จำกัด  ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของประชาชนที่สามารถแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินที่มีการขับเคลื่อนงานพัฒนาในทุกมิติ  ทั้งการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน  การทำแผนที่ทำมือหรือผังตำบล  การออมทรัพย์  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  การสร้างเศรษฐกิจและทุนชุมชน โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีภาคส่วนต่างๆ ทั้งระดับหน่วยงานรัฐ  เอกชน ขบวนองค์กรชุมชน ท้องที่ ท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม เพื่อให้พี่น้องทุกคนมีที่ดินทำกิน มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี   และมีโอกาสทางเศรษฐกิจ  สร้างรายได้  สร้างอาชีพ ให้มั่นคง ยั่งยืน  เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต

 

นายธีระ  อนันตเสรีวิทยา

 

นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร  กล่าวว่า การจัดการที่ดิน ส.ป.ก. ตำบลหงษ์เจริญ เป็นแปลงที่ดินยึดคืนตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในปี 2559  มีเนื้อที่ 6,281 ไร่เศษ ซึ่งสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญ จำกัด ได้ยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน  และจัดสรรให้เกษตรกรแล้ว 105 ราย เนื้อที่แปลงละ 5 ไร่  ส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 โดยจังหวัดชุมพรจะส่งเสริมการประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร  การทำการเกษตรอินทรีย์ พืชหลักที่จะทำการเพาะปลูก คือ  พืชผัก กล้วยหอมทอง กาแฟ และการทำเกษตรแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการให้ความรู้แก่เกษตรกรในด้านการพัฒนาอาชีพ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอแก่การเลี้ยงชีพ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ไม่ละทิ้งที่ดินที่หน่วยงานภาครัฐจัดให้

นายเดชา รักษ์เพชร ประธานสหกรณ์การเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินหงษ์เจริญ จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ฯ ได้ดำเนินการมากว่า 1 ปี   ปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ของรัฐได้เข้ามาสนับสนุนการก่อสร้างถนน   น้ำสำหรับการเกษตร  และสร้างบ้านเฟสแรกจำนวน 53 หลัง  โดย อบต.หงษ์เจริญ สนับสนุนเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าจำนวน 3 เครื่อง  และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานท้องที่  ท้องถิ่น  เช่น  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขณะที่สมาชิกสหกรณ์จะมีการรวมกลุ่มประกอบอาชีพ  เพื่อให้มีรายได้เพิ่ม  และมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

นายนิยม  สังข์เอียด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหงส์เจริญ  กล่าวว่า อบต.หงษ์เจริญ ได้มีการสนับสนุนเครื่องจักรในการปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างบ้าน  รวมทั้งสนับสนุนเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าจำนวน 3 ชุดเพื่อใช้ในชุมชน  คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์จำนวน 30,000 บาทให้กับสหกรณ์ฯ เพื่อเป็นแบบอย่างและเป็นศูนย์เรียนรู้ให้พื้นที่อื่นๆ   ส่วนแผนงานต่อไปจะมีการดำเนินการด้านสาธารณูปโภค คือ  ประปาขนาดใหญ่  รวมถึงศูนย์เด็กเล็ก  สนามกีฬา และในอนาคตจะเข้ามาสร้างอาคารสำนักงาน อบต. ในพื้นที่แปลง ส.ป.ก. หงส์เจริญ  เพื่อจะประสานงานใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน

 

 

ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. สนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างบ้านตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบท’ จำนวน 105 ครอบครัวๆ ละ 40,000 บาท (ส่วนที่เหลือเจ้าของบ้านจะต้องสมทบการก่อสร้างเอง) เริ่มก่อสร้างบ้านตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ขณะนี้มีชาวบ้านเข้าไปปลูกสร้างบ้านและเข้าอยู่อาศัยประมาณ 50 ครอบครัว ส่วนที่เหลือเข้าไปใช้ประโยชน์และและทำกินแล้ว เช่น ปลูกพืชผักสวนครัว กล้วย มะละกอ ฯลฯ และมีแผนที่จะปลูกข้าวไร่เพื่อเป็นแหล่งอาหาร โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร สนับสนุนด้านความรู้ทางการเกษตร

นอกจากการสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัยของ พอช. จำนวน 105 ครอบครัวๆ ละ 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,200,000 บาทแล้ว พอช.ยังสนับสนุนงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ด้านกายภาพ จำนวน 300,000 บาท งบพัฒนาด้านเศรษฐกิจ จำนวน 165,000 บาท และงบพัฒนากระบวนการและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน จำนวน 175,000 บาท รวมงบประมาณทั้งหมด 4,840,000 บาท ขณะที่ชาวชุมชนได้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และกองทุนที่อยู่อาศัย โดยการออมเงินเป็นรายเดือนปัจจุบันมีเงินออมทรัพย์และเงินกองทุนเพื่อที่อยูอาศัยจำนวน 132,250 บาท

ส่วนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดภาคใต้โดย พอช.และภาคีเครือข่าย มีดังนี้ 1.โครงการบ้านมั่นคงภาคใต้ ได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุนพัฒนาตั้งแต่ปี 2546-2563 ครอบคลุม 14 จังหวัด จำนวน 90 เมือง 393 ชุมชน 27,465 ครัวเรือน งบประมาณ รวม 1,378 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้านมั่นคงเมือง 83 เมือง 381 ชุมชน 26,121 ครัวเรือน  งบประมาณรวม 1,322 ล้านบาท   2.โครงการบ้านมั่นคงชนบท (ซ่อมสร้างบ้านเรือนที่ทรุดโทรม มีฐานะยากจน) จำนวน 7 เมือง 12 ชุมชน 1,344 ครัวเรือน งบประมาณ 55 ล้านบาท

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"