10 พ.ย.63 - ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ ส.ว. และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แถลงถึงกรณีการเสนอญัตติเพื่อให้รัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 3 ฉบับ ที่ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยนายไพบูลย์ กล่าวว่า การเสนอญัตติดังกล่าวมาจากการที่ถูกทักท้วงว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งตนเองได้ร่วมลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของวิปรัฐบาล ตอนนั้นยังไม่เห็นปัญหา แต่เมื่อตอนนี้มีปัญหาแล้วก็ควรทำให้เกิดความชัดเจนก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสิ้นสุดทั้งกระบวนการ
"เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดให้รัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่ จึงเป็นปัญหาว่ากระทำได้หรือไม่ ช่องทางการส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาตามมาตรา210 (2) เป็นการเปิดให้รัฐสภามีส่วนร่วม อยากให้มีการพิจารณารับหลักการร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ไปก่อน แล้วค่อยให้รัฐสภาพิจารณาในเรื่องการส่งศาลรัฐธรรมนูญ" นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า เราอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นโดยไม่มีปัญหาใดๆทั้งสิ้น หากเริ่มต้นด้วยความชัดเจนแล้วจะทำให้ทุกอย่างราบรื่น ไม่ได้มีเจตนาจะถ่วงแต่อย่างใด หากถึงที่สุดแล้วรัฐสภามีมติเสียงข้างมากเห็นด้วยก็จะเป็นการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ขณะที่ นายสมชาย กล่าวว่า ส.ว.มีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้มีการตั้งส.ส.ร.นั้น ไม่ค่อยสบายใจในข้อกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้เขียนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับใหม่ได้เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
“ยืนยันว่าไม่มีความมุ่งหมายในการยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเรื่องนี้ภายหลังได้ผ่านขั้นตอนการรับหลักการในวาระที่ 1 ไปก่อน โดยเมื่อวันที่ 17-18 พ.ย. รัฐสภารับหลักการแล้ว จึงมาพิจารณาว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ต่อไปตามขั้นตอน" นายสมชาย กล่าว
เมื่อถามว่าการเสนอเช่นนี้จะทำให้รัฐสภาไม่ลงมติในวาระที 1 หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ยืนยันว่าในวันที่ 17-18 พ.ย.ส่วนตัวจะออกเสียงให้เห็นด้วยกับรัฐสภาในการรับหลักการในวาระที่ 1 เป็นการแยกระหว่างการทำหน้าที่ระหว่างสมาชิกรัฐสภาที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับในฐานะนักกฎหมายที่เห็นว่าเมื่อมีปัญหาข้อกฎหมายก็ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะตั้งธงใดๆทั้งสิ้น และส่วนตัวเชื่อว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ตั้งส.ส.ร.ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านจะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา หากไม่มีการยื่นญัตตินี้ไว้ก่อนเชื่อว่าจะมีส.ว.หลายคนไม่สบายใจและงดออกเสียงในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีการยื่นญัตติดังกล่วแล้วย่อมทำให้ส.ว.สบายและพร้อมจะเห็นด้วยและจะลงมติรับหลักการในวาระที่ 1
ถามต่อว่า การเสนอญัตติดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งอีกหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่ได้เติมเชื้อไฟในความขัดแย้ง แต่เป็นการทำให้ถูกต้อง เพราะหากรัฐสภาทำไม่รอบคอบและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระทำโดยมิชอบ ยิ่งจะทำให้เกิดความเสียหาย
ถามด้วยว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (9) กำหนดไว้อยู่แล้วว่าสามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ภายหลังรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น ทั้ง 3 วาระ แต่กลับมาเสนอญัตติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน ทั้งที่รัฐสภายังไม่ได้มีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า การส่งเรื่องไปยังศาลมีหลายช่องทาง และการใช้มาตรา 210 (2) เป็นเพียงช่องทางหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่ว่าอย่างไรเรื่องนี้จะต้องมีการส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการเสนอตั้งแต่ต้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนและทำให้ถูกต้องและช่วยให้การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้โดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม หากที่สุดแล้วรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นทั้งสามวาระ ส่วนตัวก็จะไม่ใช้สิทธิตามมาตรา 256 (9) เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |