"บิ๊กตู่" ส่งสารแสดงความยินดี "โจ ไบเดน" พร้อมกระชับความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกว่า 200 ปี เผยเตรียมรับมือนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงแล้ว "จุรินทร์" จับตาสหรัฐฯ กลับเข้า CPTPP หรือไม่
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่นายโจ ไบเดน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ว่า ได้ส่งสารแสดงความยินดีกับนายไบเดน โดยกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 200 ปี และคาดว่าจะกระชับความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น มีสายสัมพันธ์และมิตรไมตรีแบบในอดีตเสมอมา
นายกฯ กล่าวถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับไทยว่า ได้สั่งเตรียมการไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว โดยกระทรวงการต่างประเทศจะต้องดำเนินการหลายเรื่องด้วยกัน ในการที่จะมีการหารือกันกับรัฐบาลใหม่ของสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันเราต้องเตรียมความพร้อมของเราไว้ด้วยหลายๆ เรื่อง แม้กระทั่งจะมีนโยบายต่างๆ ที่มันเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม เราก็ต้องปรับตัวให้สร้างสมดุลในภูมิภาคของเราให้ได้ คงไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยแต่รวมถึงอาเซียนด้วย ก็หวังเป็นเป็นอย่างยิ่งว่าความสัมพันธ์ที่ดีเหล่านั้นจะสืบสานกันต่อไปในอนาคต
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ถึงแม้เราจะไม่มีการไปเยี่ยมเยือนในต่างประเทศ หรือต่างประเทศมาเยือนเรามากนักเพราะติดปัญหาโควิด-19 แต่ได้มีการพูดคุยกับผู้นำประเทศต่างๆ ทั้งทางโทรศัพท์และการประชุมทางไกลบ้าง และในสัปดาห์หน้าจะประชุมอาเซียนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. โดยมีเวียดนามเป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมในปีนี้ คงจะได้ข้อสรุปหลายอย่างด้วยกันในการดำเนินการครั้งนี้ และรอการลงนามและเห็นชอบร่วมกันในเรื่องอาร์เซปที่น่าจะสำเร็จในปีนี้ เพราะเราได้เริ่มต้นจากการประชุมครั้งที่แล้ว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า อย่าเพิ่งรีบวิพากษ์วิจารณ์อะไรตอนนี้ แต่เมื่อพิจารณาตามนโยบายหาเสียงของนายโจ ไบเดน ในช่วงที่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งเน้น 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.นโยบายด้านภาษี และ 2.นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ทั้งนี้ ในส่วนของนโยบายภาษีและการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มองว่าเป็นข้อดีที่ไทยจะได้ประโยชน์ตรงนี้ โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะส่งผลให้นักลงทุนมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศในภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ก็ต้องขอรอดูความชัดเจนของนโยบายของนายโจ ไบเดนอีกครั้ง
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการติดตามนโยบายของนายไบเดนมาอย่างต่อเนื่อง พบว่านโยบายมีความแตกต่างกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ในบางเรื่อง โดยคาดว่านายไบเดนจะให้ความสำคัญกับการเจรจาทางการค้าในรูปแบบพหุภาคีมากขึ้น เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) และสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือ สหรัฐฯ จะกลับเข้ามาเจรจาความตกลงที่ก้าวหน้าและครอบคลุมทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือไม่ หรืออาจทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ มากขึ้น รวมถึงอาจนำเอาเงื่อนไข เช่น สิ่งแวดล้อม แรงงาน สิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญาเข้ามาเป็นเงื่อนไขทางการค้า และนำมาเจรจาต่อรองทางการค้ามากขึ้น
ทั้งนี้ ในเรื่องการเข้าร่วม CPTPP คณะอนุกรรมาธิการที่ศึกษาเรื่องนี้มีข้อสรุปไปแล้วว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมปรับปรุง แก้ไขในประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อกังวล ทั้งเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช สิทธิบัตรยาให้มีความพร้อมก่อน ซึ่งได้ให้ความเห็นไปแล้วว่าไทยต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ส่วนประเด็นแรงงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญานั้น ไม่กังวลเพราะผู้ผลิตสินค้าไทยมีการปรับตัว โดยผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่สหรัฐฯ กำหนดได้อยู่แล้ว
ส่วนเรื่องที่จะยังคงอยู่ต่อไปแม้นายไบเดนจะได้เป็นประธานาธิบดี คือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่อาจผ่อนปรนมากขึ้น รวมทั้งนโยบายอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ น่าจะยังอยู่ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศอินโด-แปซิฟิก และน่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ หรือการใช้เงื่อนไขการให้ฝ่ายเดียวทางการค้า หรือสิทธิพิเศษทางการค้าของสหรัฐฯ น่าจะยังคงอยู่ เช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) หรือการใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดี/ซีวีดี) และการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) แต่ขั้นตอนและรูปแบบอาจมีความผ่อนปรนมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบายการค้าของสหรัฐฯ กรณีที่นายไบเดนได้เป็นประธานาธิบดีจะลดความแข็งกร้าวลง ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถเจรจาทางการค้าแบบฉันมิตรกับสหรัฐฯ ได้มากขึ้น รวมทั้งไทยอาจพิจารณาเข้าร่วมเอฟทีเอใหม่ที่มีสหรัฐฯ ร่วมอยู่ด้วย ส่วนสงครามการค้าจะยังคงอยู่ แต่ไทยมีโอกาสส่งสินค้าทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ และทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีนได้ อีกทั้งไทยอาจจะได้รับนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนประเด็นที่สหรัฐฯ จะให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีและกฎระเบียบทางการค้ามากขึ้นนั้น จะทำให้กลไกของ WTO เดินหน้าต่อได้
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องส่งเสริมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะมุ่งไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และยังรวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่จะเน้นในเรื่องของ BCG (Bio, Circular, Green) ที่จะต้องมุ่งอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |