อานนท์ประนีประนอม อ้าง‘ในหลวง’ตรัสเป็นทางออกสังคมเพื่อสองฝ่ายไม่สูญเสีย


เพิ่มเพื่อน    

 

“ผบ.ทบ.” ตอกย้ำปัจจัยรัฐประหารยังติดลบ แต่เตือนกลุ่มผู้ชุมนุมมีพวกอยากสร้างความรุนแรงแฝงอยู่ ลั่นเขตพระราชฐานห้ามบุกรุก กลุ่มป้องสถาบันประกาศจุดยืนโต้กลับกลุ่มราษฎรแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน หากยังจาบจ้วงเหมือนม็อบวันอาทิตย์ รุมสวด “ราษฎรสาส์น” มิบังควร “นิพิฏฐ์” แนะให้เผาทิ้งกลางสนามหลวงเพราะเป็นเสนียดจัญไร อึ้ง! ทนายอานนท์มาแปลกบอกให้ประนีประนอมเหมือนที่ในหลวงตรัส

    เมื่อวันจันทร์ยังคงมีความต่อเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน ทั้งในส่วนของกลุ่มมวลชนศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศ.ป.ป.ส.) และกลุ่มราษฎร โดยในเวลา  09.50 น.ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายกฤตย์ เยี่ยมเมธากร เลขาธิการเครือข่ายประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (คปส.) พร้อมสมาชิกยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ชัตดาวน์ประเทศแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้
    “การชัตดาวน์จะเป็นวิธีอะไรก็ตาม แต่รัฐบาล ทหาร นักการเมืองต้องออกมา เรื่องนี้เราได้คุยกับทางกลุ่ม ศ.ป.ป.ส.และเครือข่ายอื่นระดับจังหวัดและภาคให้ได้รับทราบแล้ว ทั้งนี้จุดยืนของเราคือห้ามปฏิรูปสถาบัน ส่วนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเราไม่ขัดข้องและเห็นด้วย เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา” นายกฤตย์กล่าว ต่อมาคณะของนายกฤตย์ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ณรงค์พันธ์  จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เพื่อให้กำลังใจผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกนาย โดยปฏิเสธตอบคำถามถึงการชัตดาวน์ประเทศว่าเป็นการให้ทำรัฐประหารหรือไม่
    ทั้งนี้ในขณะที่นายกฤตย์ยื่นหนังสือ ได้มีชายสวมเสื้อเหลืองมายืนตรงกลางพร้อมกับป้ายที่เขียนข้อความ “การรัฐประหารคือกบฏ” ซึ่งชายคนดังกล่าวเป็นคนเดียวกับที่ไปปรากฏตัวในการชุมนุมของ  พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 22 ต.ค.จนเกือบเกิดเหตุวุ่นวายมาแล้ว ทั้งนี้ภายหลังยื่นหนังสือเสร็จทุกคนก็แยกย้ายกลับด้วยความเรียบร้อย
    ด้าน พล.อ.ณรงค์พันธ์ปฏิเสธตอบคำถามกรณีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่เป็นเงื่อนไขให้บางฝ่ายออกมาเรียกร้องให้กองทัพทำรัฐประหาร โดยขอให้ผู้สื่อข่าวสนใจข่าวภารกิจงานด้านการทหาร และเมื่อถามย้ำว่าโอกาสการรัฐประหารยังเป็นศูนย์อีกหรือไม่นั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า "ติดลบ"
    เมื่อถามว่าสถานการณ์การเมืองขณะนี้ยังไม่มีทางออก พล.อ.ณรงค์พันธ์ตอบว่ามี ซึ่งได้ย้ำไว้เสมอว่าการเมืองก็ต้องแก้ด้วยการเมือง หากทุกคนมีสติและมองกระจกให้รอบด้านว่าควรจะทำอะไร
ถามอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งให้ดูแลอะไรบ้าง พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า ก็ได้รับคำสั่งว่าให้ดูแลตามแนวชายแดน โดยเฉพาะการป้องกันเรื่องโควิด ก็รับคำสั่งมาตามภารกิจหน้าที่ ซึ่งบทบาททหารก็เป็นไปตามที่ได้ระบุไว้ทั้งเรื่องงานชายแดน การดูแลประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน
สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎรเมื่อวันที่ 8 พ.ย.นั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่ไปไม่ได้ไปในลักษณะควบคุมฝูงชน เพราะอยู่นอกเครื่องแบบ อยู่ด้านหลังแนวตำรวจ และในฐานะของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งสถานการณ์เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่มุ่งไปสู่สำนักพระราชวัง ศาลหลักเมือง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วัดพระแก้ว ซึ่งไม่มีใครรับประกันว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าหลุดจากแนวตำรวจไป ทหารก็ต้องป้องกัน ที่ผ่านมามีการคุยกันว่าจะชุมนุมด้วยความสงบสันติ แม้มีการกระทำผิดพระราชบัญญัติการชุมนุม แต่ตำรวจประนีประนอมไม่ได้ดำเนินคดีทั้งหมด ใครที่ทำผิดกฎหมายก็จะดำเนินการเฉพาะรายบุคคล
มีกลุ่มสร้างความรุนแรง
“มีกลุ่มที่ต้องการสร้างความรุนแรง หากเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยไป พวกที่ต้องการสร้างความรุนแรง ก็เข้าไปได้ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้สกรีนคน ซึ่งเราก็เห็นแล้วในคลิปว่าเขาเตรียมสิ่งของที่มีลักษณะคล้ายกับประทัดที่มีไฟจุด ขว้างข้ามรถบัส ผมถามว่าหากปล่อยไป จะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาหากปาเข้าไปในศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว เกิดความเสียหายใครจะออกมายืนรับผิดชอบ แล้วความรู้สึกของคนทั้งประเทศจะเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราต้องช่วยกัน ในส่วนของเจ้าหน้าที่เขาพร้อมอยู่แล้ว เพราะอุทิศตนและยอมรับอยู่แล้ว แต่อย่าไปเอาประเด็นนั้นมาเป็นความขัดแย้ง ขอให้มองว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อส่วนรวมและประเทศชาติจะเกิดอะไรขึ้น หากตำรวจไม่ทำตรงนั้น เพียงแต่ว่าสุดท้ายแล้วถือเป็นเรื่องดีที่สุดท้ายแล้วสามารถเจรจากันได้ว่าทำได้แค่ไหน”
    เมื่อถามว่าจะยอมรับได้ขนาดไหน หากมีการบุกรุกพื้นที่เขตพระราชฐานในโอกาสหน้า พล.อ.ณรงค์พันธ์กล่าวว่า เขตพระราชฐานมีลักษณะคล้ายกับบ้าน เราไม่ต้องการให้ใครมาบุกรุก ทุกคนก็รักบ้านตัวเองและครอบครัวตัวเอง สิ่งที่พยายามก็คืออย่าให้เกิดความรุนแรง เพราะสถานการณ์ตอนนี้เรากำลังดีขึ้น จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ประเทศไทยทำได้ดี
ขณะที่ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวถึงกรณีการฉีดน้ำสกัดผู้ชุมนุมในคืนวันที่ 8 พ.ย.ว่าเป็นไปตามแผนการสกัดกั้นผู้ชุมนุมที่ได้รื้อลวดหนาม สิ่งกีดขวาง เพื่อที่จะเข้าไปยังพื้นที่ด้านใน ซึ่งก่อนหน้าจะฉีดน้ำได้ประกาศแจ้งเตือนให้หยุดการกระทำ แต่เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่หยุดตำรวจจึงได้ฉีดน้ำ เพื่อป้องกันเหตุร้ายและป้องกันทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย  โดยเป็นการฉีดในแนวสูง ไม่ได้ฉีดปะทะแนวตัวผู้ชุมนุมโดยตรง และน้ำที่นำมาฉีดนั้นเป็นน้ำเปล่าธรรมดาไม่ได้ผสมสารเคมีใดๆ
    ส่วนกรณีที่พบพลุควันในพื้นที่สนามหลวงฝั่งตำรวจนั้น พล.ต.ต.ปิยะระบุว่า ต้องตรวจสอบว่าเป็นพลุควันในลักษณะใด ต้องตรวจสอบอีกครั้งว่าจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด และพลุดอกไม้เพลิง ซึ่งการชุมนุมพบว่ามีตำรวจได้รับบาดเจ็บหัวแตกเย็บ 3 เข็ม จากการขว้างปาแก้วและขวดจากฝั่งกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนความเสียหายจากการรื้อรั้วเหล็ก แผงกั้นที่ท้องสนามหลวงนั้น ตอนนี้ต้องให้กรุงเทพมหานครสำรวจความเสียหายแล้วมาแจ้งความดำเนินคดี ส่วนตู้ไปรษณีย์สีแดงที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำมานั้น ตอนนี้ได้นำไปเก็บไว้ที่ สน.ชนะสงคราม เพื่อนำไปประกอบการสอบสวน ส่วนจะดำเนินคดีกับผู้ที่เขียนจดหมายหรือไม่ต้องดูเนื้อหาในจดหมายว่าเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ขณะที่กลุ่ม คปส.ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ให้ชัตดาวน์ประเทศนั้นจะเข้าข่ายความผิดมาตรา 116 หรือไม่นั้น ตำรวจต้องตรวจสอบพฤติกรรมและเนื้อหาของการยื่นหนังสือ
    วันเดียวกันในช่วงเย็น ที่ลานพ่อขุนรามคำแหง มหาวิทยาลัยรามคำแหง กลุ่มภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ ทยอยเดินทางมาร่วมชุมนุม มีการตั้งเวทีปราศรัยทางวิชาการเกี่ยวกับคุณูปการของสถาบันที่มีต่อประเทศและประชาชนชาวไทย ก่อนแถลงจุดยืนว่า  หลังจากวันนี้เป็นต้นไปจะดำเนินกิจกรรมโต้กลับกลุ่มที่จาบจ้วงสถาบันอย่างเข้มข้น หากจำเป็นต้องปิดถนนเผชิญหน้ากับกลุ่มคณะราษฎรก็จะทำ รวมทั้งเคลื่อนไหวรณรงค์ให้ความรู้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่
         นายทินกร ปลอดภัย ศิษย์เก่ารามคำแหง กล่าวว่า ระดับความรุนแรงในกระบวนการตอบโต้ของภาคีเครือข่ายขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการแสดงออกของกลุ่มคณะราษฎร หรือกลุ่มแนวร่วมอื่นๆ หากชุมนุมทางการเมืองโดยสันติวิธีตามกฎหมายก็จะไม่ยุ่ง แต่หากมีการแสดงพฤติกรรมละเมิดจาบจ้วงสถาบันอย่างเหตุการณ์ล่าสุดในวันที่ 8 พ.ย. พวกตนก็พร้อมลงถนนอยู่หน้าแนวตำรวจทหารเผชิญหน้ากับกลุ่มบุคคลดังกล่าวทันที ขอยืนยันว่าพวกตนมีหน้าที่ปกป้องสถาบัน ไม่ได้มีแนวคิดหรือต้องการให้รัฐประหารหรือชัตดาวน์ประเทศไทย
    นายจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศ.ป.ป.ส.ชี้แจงกรณีกลุ่มยื่นจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์เพื่อเรียกร้องให้รัฐประหารชัตดาวน์ประเทศว่าไม่เป็นความจริง
ฉีดน้ำตามสากล
    นายสมชาย แสวงการ ประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค  วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง ประเด็นกระบวนการและขั้นตอนการควบคุมฝูงชน การออกหมายเรียกและหมายจับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม โดยมีตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาลเข้าชี้แจง โดย  พ.ต.ท.ชวลิต หรุ่นศิริ รองผู้กำกับการ กองกำกับการควบคุมฝูงชน 2 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ยอมรับว่าในการใช้น้ำสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ตำรวจฉีดน้ำแรงดันสูงที่มีส่วนผสมของสารเคมี 2 ชนิด คือ สารเคมีสีฟ้า หรือสารเมทิลไวโอเลตทูบี ชนิดเดียวกับยาม่วงป้ายปาก มีการใช้อัตราส่วนผสม น้ำ 97% สาร 3% ส่วนสารชนิดที่ 2 คือ แก๊สน้ำตา ใช้เพียงครั้งเดียวเพื่อยุติการชุมนุม โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุม เนื่องจากเป็นการผสมสารอย่างเจือจาง ยืนยันว่าดำเนินการโดยใช้หลักสากล ตามกฎหมาย และเป็นไปตามสถานการณ์
    ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการชุมนุมของคณะราษฎร ที่พยายามยกขบวนไปยังหน้าพระบรมมหาราชวังเพื่อจะยื่นจดหมายถึงพระมหากษัตริย์หรือราษฎรสาส์นว่า เป็นการกระทำที่มิบังควร จาบจ้วงสถาบัน ที่สำคัญเนื้อหาจดหมายมีลักษณะหยาบคาย  ก้าวร้าว ย่ำยีหัวใจพี่น้องคนไทยทุกคน
“แกนนำคณะราษฎรเวลาอยู่ในม็อบใช้วาจาก้าวร้าว ด่าทอ จาบจ้วงสถาบัน แต่พอไปออกรายการทีวีกลับทำตัวน่ารักน่าเอ็นดู ใสซื่อบริสุทธิ์อย่างชนิดพระเอกนางเอกต้องยอม” นายธนกรระบุ
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "ผู้ชุมนุมทำกิจกรรมที่ไม่บังควร การเขียนจดหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ ข้อความในจดหมาย และลักษณะการทำกิจกรรมมีลักษณะท้าทาย ก้าวร้าว และหยาบคาย ในขณะที่รัฐบาลก็หน่อมแน้ม เป็นใบ้ ไม่ชี้แจงตามสมควร ปล่อยให้ทุกอย่างพุ่งตรงสู่สถาบันโดยไม่ยับยั้งแก้ไข เหมือนกับรัฐบาลกำลังกลายเป็นแนวร่วมผู้บ่อนเซาะสถาบันไปโดยปริยาย
ตู้ไปรษณีย์ที่ใส่จดหมายถึงในหลวงยกไปไหนล่ะ อย่าริบังอาจส่งไปในวัง มันเป็นเสนียดจัญไร ถ้าถามว่าเอาไปไหน ก็เอาไปเผาที่สนามหลวง แล้วจะบอกถึงทนายอานนท์ว่า สักวันหนึ่งน้องทนายคงได้เขียนจดหมายถึงในหลวงแน่ แต่คงเป็นจดหมายขอพระราชทานอภัยโทษมากกว่า” นายนิพิฏฐ์ระบุ
    นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กว่า "จดหมายที่ได้อ่าน? หยาบคายต่ำช้ามาก? นี่หรือคนที่มีการศึกษาทำกัน? นี่หรือ?อนาคตของประเทศ? นี่มันกุ๊ยชัดๆ?  จาบจ้วง? ยโสโอหัง? ราษฎรสาส์น มันคือหลักฐานทางกฎหมายฟ้องตัวเอง"
ส่วนนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีการชุมชุมของกลุ่มคณะราษฎรเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันว่า "การปฏิรูปต้องไม่ใช่การทำลาย แต่มันต้องปรับปรุง แต่การกระทำที่แสดงออกมาต่างๆ โดยตลอดดังเห็นในภาพ และวาจาที่ปรากฏ คือการทำลาย อย่างน้อยที่สุดก็คือทำร้ายความรู้สึก ความรัก ความศรัทธาของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงขอเรียกร้องให้ ผบ.ตร. อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อัยการสูงสุด ผู้พิพากษา ตุลาการในศาลยุติธรรม ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ตรงไปตรงมา อย่าได้เกรงกลัวและละเว้นไม่ได้โดยเด็ดขาด"
       นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวเช่นกันว่า  เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โดยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 วันที่ 7 มีนาคม 2562 คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ในหน้าที่ 19 ซึ่งการกระทำของแกนนำกลุ่มราษฎร 63  ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน มิใช่เป็นการกระทำเพื่อปฏิรูปสถาบันอย่างที่กล่าวอ้าง
อานนท์อ้างในหลวง
    ด้านนายอานนท์ นำภา แกนนำม็อบคณะราษฎร 63 โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ทหารเขาก็เดาว่าม็อบจะยืมมือทหารฉีกรัฐธรรมนูญ เขาจึงไม่รัฐประหาร เพราะถ้าทำนี่ฉิบหายกันหมดทุกองคาพยพ ที่สำคัญเขารู้ว่ามีคนเตรียมรัฐธรรมนูญอีกฉบับไว้ประกาศทันทีที่รัฐประหารแล้ว ทางออกของสังคมจึงเป็นการประนีประนอมอย่างที่ในหลวงตรัส เพียงแต่จะอย่างไร เมื่อไรเท่านั้น ซึ่งยังเห็นความพยายามของทั้งสองฝ่ายที่จะไม่ให้เกิดความสูญเสียอยู่ ขอให้ทั้งสองฝ่ายหนักแน่นจุดนี้ แล้วหาทางออกไปด้วยกัน"
    วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าว 4 แกนนำผู้ชุมนุมขอลี้ภัยทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาว่า ยังไม่ทราบ แต่เห็นเขียนในโซเชียลซึ่งไม่รู้ใครเขียน ดังนั้นจึงยังไม่ทราบ แต่การจะลี้ภัยนั้นต้องมีเหตุผลในการขอลี้ภัย ซึ่งขณะนี้ยังไม่รู้รายละเอียดว่าเป็นอย่างไร
    ผู้สื่อข่าวถามว่าจากนี้ไปนายกฯ จะใช้วิธีใดแก้ไขปัญหาและสร้างความปรองดอง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่เคยต้องไปชี้นำว่าจะต้องแก้ไขกันอย่างไร แต่เชื่อว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออกอยู่แล้ว ถ้าหากทุกคนจริงใจและมาช่วยกันคิดและทำในสิ่งที่มีความเป็นไปได้ และเป็นไปตามขั้นตอน กลไก และกฎหมายที่มีอยู่
    “เราก็แก้ไขกันด้วยกฎหมาย เพราะเราอยู่กันด้วยกฎหมาย ทุกประเทศถ้าไม่มีกฎหมายก็อยู่กันไม่ได้ ประชาธิปไตยก็ต้องมีกฎหมายเป็นหลัก เพื่อที่จะทำให้ไม่เกิดผลกระทบซึ่งกันและกัน เราต้องดำเนินการโดยหลักของความถูกต้อง บนหลักของกฎหมาย กติกาของบ้านเมือง แล้วต้องเป็นวิธีปฏิบัติที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยอมรับได้ อย่าลืมว่าเรามีประชากรเกือบ 70 ล้านคน ผมเองก็สนับสนุนทุกทางที่ใครจะเสนอหนทางออกให้กับประเทศไทยในหลากหลายความคิด ผมยืนยันว่าผมรับฟังทุกฝ่าย แล้วยังคิดว่าการร่วมพูดคุยยังเป็นทางออกที่ดีที่สุดให้กับทุกปัญหาเสมอไป ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่อยากพูดกับพวกเรา ซึ่งต้องช่วยกันทำให้บ้านเมืองของเราเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่กำลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ” นายกฯ กล่าว
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตัดสินใจของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ว่าจะตัดสินใจใช้รูปแบบใด ส่วนที่ ส.ส.พรรคออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงขัดแย้งกับนายชวนนั้น ได้เตือน ส.ส.ไปแล้ว ซึ่งต้องขออภัย และหากได้พบก็จะเข้าไปกราบขอโทษอย่างเป็นทางการ.
    

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"