แม้ความเคลื่อนไหวการเมืองนอกรัฐสภาของ ม็อบสามนิ้ว ช่วงหลังจะพบว่าประเด็นการเคลื่อนไหว แกนนำ-แนวร่วม พูดเรื่องความต้องการให้มีการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ลดน้อยลงจากเดิม เห็นได้จากการชุมนุมหลายครั้งในช่วงหลังๆ ที่ไปเน้นเรื่องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากนายกรัฐมนตรี และให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็พบว่าท่าทีของแกนนำม็อบสามนิ้วก็ยังคงยืนยันในข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไข รธน. โดยเฉพาะการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ระยะหลังประเด็นดังกล่าว โทนการเคลื่อนไหวจะไม่ถูกนำไปพูดถึงมากนักในการนัดชุมนุมช่วงหลังก็ตาม
ไทม์ไลน์สำคัญของเรื่องการแก้ไข รธน. จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้านี้ ที่ต้องติดตามกันว่าเรื่องนี้จะทำให้อุณหภูมิการเคลื่อนไหวของม็อบสามนิ้วกลับมาร้อนแรงอีกรอบหรือไม่
เพราะพบว่า แรงต้าน-การขวางลำการแก้ไข รธน.จากฝ่ายสมาชิกวุฒิสภา-สภาสูงยังปรากฏให้เห็นอยู่ แม้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะประกาศสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ออกตัวว่าเป็นเรื่องของรัฐสภาจะดำเนินการ
แต่เป็นข้ออ้างที่มีเสียงโต้แย้งทางการเมืองตามมาว่า สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน 250 คน ล้วนมาจากการเลือก-เคาะของแกนนำ คสช.ที่อยู่ในรัฐบาลเวลานี้ทั้งหมด โดย ส.ว.หลายคนก็มีความสัมพันธ์อันดีกับฝ่ายรัฐบาลและแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่หากพลเอกประยุทธ์และแกนนำรัฐบาลอย่าง บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ประสานไปยังแกนนำสภาสูงให้ ส.ว.ช่วยกันออกเสียงเห็นชอบให้มีการแก้ไข รธน. ก็น่าจะทำให้ มีเสียง ส.ว.โหวตเห็นชอบเกิน 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงได้ หากบิ๊กตู่-บิ๊กป้อมจะทำ เพื่อพิสูจน์ความจริงใจในการแก้ไข รธน. และเพื่อเป็นการลดกระแสร้อนแรงของม็อบสามนิ้วให้เบาลง
ทว่า ดูเหมือนก่อนถึงวันประชุมร่วมรัฐสภาสัปดาห์หน้า ท่าทีการต้านการแก้ไข รธน.ไม่ได้เกิดจากแค่ฝ่าย ส.ว.เท่านั้น แม้แต่กับฝ่าย ส.ส.รัฐบาล พลังประชารัฐ ก็ดูจะเอาด้วย
อันเป็นความเคลื่อนไหวที่ปรากฏให้เห็นก่อนถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้า 17-18 พ.ย. เมื่อกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาและ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเข้าชื่อร่วมกันเสนอญัตติต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอมติเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยไว้ว่า คณะ ส.ว.ประมาณ 40 คน ได้เข้าชื่อเพื่อยื่นถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างแก้ไขที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล 2.ร่างแก้ไขที่เสนอโดย ส.ส.ฝ่ายค้าน และ 3.ร่างแก้ไขที่เสนอโดยกลุ่มภาคประชาชน นำโดยไอลอว์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อาจทำให้มีประเด็นทางกฎหมายว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญ 2560 มาจากการทำประชามติของประชาชน จึงมีข้อสงสัยว่าในการแก้ไขจะต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ โดยยืนยันว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการประวิงเวลา
การเข้าชื่อกันเสนอญัตติดังกล่าว ที่ทำในรูปแบบของ สมาชิกรัฐสภา กลุ่ม ส.ส.พลังประชารัฐและ ส.ว.ที่ร่วมกันเคลื่อนไหวรอบนี้ ยกเหตุผลมาว่า เนื่องจากร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 3 ร่างข้างต้นมีหลักการและเหตุผลให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ซึ่งการแก้ไข รธน.ที่จะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เห็นว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น ตามหลักกฎหมายมหาชน "ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ" หมายความว่าหากไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจไว้จะกระทำมิได้ รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภามีอำนาจเฉพาะที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 คือ ให้มีแต่อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น
"ดังนั้น การกระทำใดๆ เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 จึงกราบเรียนประธานรัฐสภาโปรดพิจารณาบรรจุญัตตินี้เป็นญัตติด่วนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา"
ทั้งนี้ สมาชิกรัฐสภาที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนในการเสนอญัตติดังกล่าวมีทั้งสิ้นจำนวน 73 คน แบ่งเป็น ส.ว. 48 คน ประกอบด้วย 1.นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. 2.นายออน กาจกระโทก ส.ว. 3.นางดวงพร รอดพยาธิ์ 4.นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา 5.นางจินตนา ชัยยวรรณาการ 6.นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม 7.นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน 8.พ.ต.อ.ยุทธกร วงเวียน 9.นายพิทักษ์ ไชยเจริญ 10.นางจิรดา สงฆ์ประชา ส.ว. 11.นายกิตติ วะสีนนท์ ส.ว. 12.นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ ส.ว. 13.นายสวัสดิ์ สมัครพงศ์ ส.ว. 14.ว่าที่ร้อยตรีเชิดศักดิ์ จำปาเทศ 15.นายธานี สุโชดายน 16.นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. 17.พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ส.ว. 18.พล.อ.บุญธรรม โอริส ส.ว. เป็นต้น
ขณะที่ ส.ส.จำนวน 25 คน มาจากพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด ประกอบด้วย 1.นายสมพงษ์ โสภณ ส.ส.ระยอง 2.นายธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ ส.ส.กาญจนบุรี 3.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส 4.นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย 5.นายยงยุทธ สุวรรณบุตร ส.ส.สมุทรปราการ 6.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 7.นายสาธิต อุ๋ยตระกูล ส.ส.เพชรบุรี 8.นายประสิทธิ์ มะหะหมัด ส.ส.กทม. 9.นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา 10.พันตำรวจโท ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี 11.นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.สมุทรปราการ 12.นายฐาปกรณ์ กุdลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ 13.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นต้น โดยจะพบว่าในกลุ่ม ส.ส.พลังประชารัฐ บางคนก็เป็นกรรมการบริหารพรรค และเป็นวิปรัฐบาลด้วย
ส่องสถานการณ์ต่อจากนี้ การแก้ไข รธน.คงกลับมาเป็นประเด็นสร้างความร้อนแรงให้กับการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาอีกครั้ง บนการตัดเหลี่ยมเฉือนคมระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายคัดค้านการแก้ไข รธน. ที่สู้กันด้วยข้อกฎหมาย-เสียงโหวตในรัฐสภาและมวลชนนอกรัฐสภา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |