ทรัมป์ดิ้นหนักให้นับใหม่ เหมือนกรณี Bush-Gore


เพิ่มเพื่อน    

           พอ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะไม่ยอมรับผลการนับคะแนนของหลายรัฐที่ โจ ไบเดน นำอยู่ ก็มีคนเปรียบเทียบกับกรณี Bush vs Gore 2000 ที่รัฐฟลอริดา

                แต่อดีตรองประธานาธิบดีอัล กอร์ เองออกมายืนยันว่า “ไม่เหมือนกันเลย”

                กรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ปี 2000 หรือ 20 ปีก่อนนั้นเป็นเรื่องสร้างความเกรียวกราวจนกลายเป็นบทสำคัญของประวัติศาสตร์การเมือง

                อัล กอร์ บอกว่า ครั้งนี้ โจ ไบเดน มีเส้นทางสู่ทำเนียบขาวมากกว่าเขาตอนปี 2000 หลายเท่า

                “ผมเห็นจำนวนคนที่เข้าคิวยาวเหยียดเพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้แล้วชื่นชมว่าพวกเขาล้วนเป็นวีรบุรุษ วีรสตรีของประเทศทั้งสิ้น” อดีตรองประธานาธิบดีบอก

                คราวนั้น อัล กอร์ ชนะคะแนนดิบ หรือ popular votes ต่อจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แต่ต้องเจอกับปัญหาเรื่องคะแนนของ “คณะผู้เลือกตั้ง” หรือ Electoral College ที่รัฐฟลอริดา

                ขณะนั้นรัฐนี้มีเสียง Electoral College 25 เสียง และเมื่อนับคะแนนรัฐต่างๆ หมดแล้วก็ต้องตัดสินกันที่รัฐนี้

                วันที่ 8 ธันวาคม 2000 ศาลสูงของรัฐฟลอริดามีมติ 4-3 สั่งให้มีการนับใหม่ 61,000 บัตรเลือกตั้งที่เรียกว่า Undervotes

                ที่ต้องนับใหม่ เพราะมีข้อร้องเรียนว่าเครื่องนับคะแนนไม่ได้นับบัตรเลือกตั้งชุดนี้

                ทีมของบุชขอให้ศาลสูงสุดของประเทศสั่งระงับการนับใหม่

                เกิดการถกแถลงกันในองค์คณะผู้พิพากษาว่า การนับด้วยเครื่องที่ใช้ punch cards ซึ่งมีข้อบกพร่อง ทำให้บัตรเลือกตั้งหลายพันใบที่ผ่านกระบวนการนับของเครื่องมีความบกพร่อง เพราะผู้ลงคะแนนเสียงไม่สามารถใช้เครื่องได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

                ศาลสูงของรัฐอนุญาตให้นับคะแนนใหม่หมดทั้งรัฐ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกบัตรที่กาอย่างถูกต้องจะได้รับการนับอย่างแม่นยำ

                แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อวิธีการนับด้วยเครื่องที่ใช้วิธีการ punch cards ของแต่ละเขตเลือกตั้งในรัฐฟลอริดาไม่เหมือนกัน

                เรื่องไปถึงศาลสูงระดับชาติ ซึ่งมีมติว่าการที่ไม่มีวิธีการนับบัตรเลือกตั้งที่ใช้มาตรฐานเดียวกันนั้นเป็นการละเมิดมาตราว่าด้วย “การคุ้มครองปกป้องที่เสมอภาคกัน” (Equal Protection Clause) ของรัฐธรรมนูญ

                ศาลสูงสุดระดับชาติมีมติสั่งห้ามการนับคะแนนใหม่

                เพราะมีเส้นตายวันที่ 12 ธันวาคมของปีนั้น หากจะนับใหม่ต้องใช้ “วิธีการเดียวกันหมด” ในทุกเขตเลือกตั้ง

                ศาลสูงตัดสินว่าไม่มีเวลาและวิธีการแบบเดียวกันเพียงพอที่จะนับใหม่ได้

                จึงวินิจฉัยให้ระงับการนับใหม่

                ทำให้บุชได้คะแนน Electoral College ทั้งประเทศ 271-269 ไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด

                กลายเป็นเรื่องราวที่ยังกล่าวขวัญกันจนถึงทุกวันนี้

                ทรัมป์กำลังจะอ้างถึงกรณีนี้มาเรียกร้องให้มีการ “นับคะแนนใหม่” ในหลายๆ รัฐ โดยหวังว่าจะสามารถทำให้เขาพลิกมาชนะได้

                แต่ความเป็นไปได้ไม่สูงนัก เพราะยังไม่ปรากฏมีหลักฐานการโกงคะแนน หรือ “บัตรผี” ที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด

                การ “นับคะแนนใหม่” เกิดขึ้นได้โดยกฎของรัฐต่างๆ ที่มีกติกาของตนเองอยู่แล้ว

                เช่น หากผู้ที่นำอยู่ได้คะแนนมากกว่าคู่แข่งน้อยกว่า 1% หรือ 0.5% ก็จะมีการนับใหม่โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

                แต่การที่ทรัมป์จะให้มีการนับใหม่ เพราะเห็นว่าตัวเองแพ้ และอ้างว่าคะแนนที่มาหลังวันเลือกตั้งต้องไม่นับนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้มากนัก

                สาเหตุที่การนับคะแนนในหลายรัฐช้า ก็เพราะจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ครั้งนี้สูงเป็นประวัติการณ์

                หากนับเสร็จแล้วอาจจะสูงถึง 150 ล้าน จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 240 ล้านคน

                สถิติของสหรัฐว่าด้วยเปอร์เซ็นต์คนมาใช้สิทธิ์นั้นมักจะอยู่ที่ 60% โดยเฉลี่ย

                แต่ครั้งนี้น่าจะพุ่งไปเกิน 65%

                ดูจากคะแนนดิบที่ไบเดนและทรัมป์ได้ก็สูงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 75 และ 70 ล้านตามลำดับ

                อธิบายได้ว่าเพราะทั้งรีพับลิกันและเดโมแครตต่างก็มีความตื่นตัวที่จะให้คนของตนได้รับชัยชนะ ซึ่งเป็นผลจากความแตกต่างที่ขยายตัวหนักขึ้น เพราะความเห็นแย้งกันทางการเมือง

                ทรัมป์จะพยายามดิ้นอย่างไร คะแนนที่นับถึงวันนี้ก็ชี้ชัดแล้วว่าประธานาธิบดีคนที่ 46  ของสหรัฐไม่น่าจะเป็นใคร นอกจาก “ลุงโจ ไบเดน” แล้ว!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"