9 พ.ย.63 - นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 และอดีตกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กล่าวถึงข้อเสนอตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ เพื่อหาทางออกจากวิกฤติประเทศ ว่า ต้องชื่นชมนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่ได้ประสานงานกับสถาบันพระปกเกล้าให้ดำเนินการออกแบบแนวทางการทำงานของคณะกรรมการปรองดองและพยายามผลักดันให้เกิดเวทีพูดคุยเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง แต่ความปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากผู้มีอำนาจไม่มีความจริงใจและยังหาทางซื้อเวลาเพื่อสืบทอดอำนาจของตัวเองเหมือนที่ผ่านมา หนำซ้ำยังส่งลิ่วล้อดิสเครดิตสร้างความเสียหายให้แก่ประธานรัฐสภา ซึ่งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานฯ ซึ่งผมเป็นกรรมการฯชุดนี้ด้วย ได้ทำการศึกษาไว้อย่างครบถ้วนและได้ส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ให้รัฐบาลแล้วแต่กลับไม่มีการดำเนินการ จึงถือว่าพล.อ.ประยุทธ์ หักหลังสปช.หักหลังแกนนำผู้ชุมนุมและหักหลังประชาชน แล้วจะมีหลักประกันอะไรว่ารัฐบาลจะรับดำเนินการตามข้อเสนอและจะไม่ถูกหักหลังซ้ำรอยอีก
อดีตกรรมการปรองดองฯ กล่าวต่อว่า จากแนวทางของคณะกรรมการปรองดองชุดดังกล่าวฯ ได้ทำตามหลักวิชาการอย่างถูกต้องโดยได้รับฟังความคิดเห็นโดยตรงเพื่อรับฟังปัญหาจากแกนนำผู้ชุมนุมและพรรคการเมืองรวมทั้งภาคประชาชนทุกฝ่าย ซึ่งก็ยินยอมพร้อมใจที่จะร่วมกันสร้างความปรองดองโดยไม่มีการบังคับ และยังได้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงและสร้างความเข้าใจร่วมต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ผู้นำรัฐบาลไม่ได้ความเชื่อมั่นว่ามีความตั้งใจจริงหรือเจตจำนงทางการเมืองที่จะสร้างความปรองดองในชาติคือมีจิตใจคับแคบ การสร้างความปรองดองจึงล้มเหลวในที่สุด ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองปะทุขึ้นมาอีกครั้งความสงบไม่ได้จบลงที่ลุงตู่อย่างที่โฆษณาชวนเชื่อ และยังขยายลุกลามไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เกิดความแตกแยกร้าวลึกถึงเด็กเยาวชนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
นายอดุลย์ กล่าวด้วยว่า มีประเด็นละเอียดอ่อนและสำคัญที่ควรต้องแก้ไขทันทีคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องไม่พูดหรืออ้างในทำนองให้คนเข้าใจว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นแบ็คให้ตนเอง ทั้งนี้หลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ The King Can Do No Wrong หรือ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ ตามที่นายกฯ ทูลเกล้าขึ้นไป ดังนั้น คนที่ต้องรับผิดชอบคือนายก ฯ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยึดมั่นหลักการนี้และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการออกหน้าและรับผิดชอบ ไม่ใช่ทำในสิ่งที่ดูเหมือนกันตรงกันข้ามอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการทำให้ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลขัดแย้งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชนที่เห็นต่างกันขัดแย้งกัน ที่สำคัญคือพล.อ.ประยุทธ์ต้องแก้ปัญหาในทางการเมืองโดยเร็วที่สุด เพื่อมิให้สถานการณ์ลุกลามมากไปกว่านี้
“หากพล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ในตำแหน่งนายกฯต่อไปความแตกแยกทางสังคมก็จะขยายออกไปไม่จบสิ้น การถอดสลักตัวแรกพล.อ.ประยุทธ์ ต้องยอมเสียสละลาออกจากตำแหน่งนายกฯแล้วปล่อยสภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯคนใหม่ตามกลไกรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้วิกฤติชาติโดยเร่งด่วน คือ การสร้างความปรองดอง ปัญหาเศรษฐกิจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และแก้ขบวนการทุจริตโดยอาศัยกฎหมายเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่ ที่กระทบด้านความเป็นอยู่พื้นฐานของประชาชน”นายอดุลย์ กล่าวย้ำ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |