9พ.ย.63-ศธ. เดินหน้ามุ่งเป้าขับเคลื่อนให้แต่ละจังหวัดมีแผนจัดการศึกษาตามบริบทของพื้นที่ตนเอง ตอบโจทย์การพัฒนาแต่ละจังหวัด ยึดโยงกับการของบประมาณแต่ละปี "ณัฏฐพล"เผยจากการลงพื้นที่ทำให้เห็นปัญหาชัด ภูเก็ตพึ่งท่องเที่ยว 97% แต่จัดการเรียนการสอนเนื้อหาเหมือนโรงเรียนในอีสานเปี๊ยบ ย้ำต้องเริ่มปีงบฯ 65 เป็นต้นไป
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงแผนการจัดการศึกษาระดับจังหวัด เพราะขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังวางแผนปรับระบบการศึกษาไทยใหม่ทั้งหมด ด้วยการมุ่งเป้าขับเคลื่อนการศึกษาในระดับจังหวัด โดยจะยกระดับรายได้จังหวัดจากการศึกษา ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ ศธ.กำลังวางแนวทางดำเนินการอยู่ โดยเบื้องต้นนายกฯ เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เนื่องจากตนไม่ต้องการให้การพัฒนาการศึกษาเหมือนเป็นการตัดเสื้อโหลให้ทุกคนใส่เหมือนกัน เพราะบริบทของพื้นที่แต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน เช่น จากการลงพื้นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่จังหวัดภูเก็ต ทำให้ตนพบว่าภูเก็ตพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถึงร้อยละ 97 แต่ขณะที่การเรียนการสอนของโรงเรียนภายใน จังหวัดภูเก็ตกับโรงเรียนในภาคอีสานก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันสอนเนื้อหาเดียวกัน เป็นต้น ดังนั้นต่อจากนี้ไประบบการศึกษาในพื้นที่จะต้องเปลี่ยนใหม่เน้นการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ของจังหวัดตามภาคธุรกิจในพื้นที่ ซึ่งแผนการดำเนินการในเรื่องนี้จะถูกเชื่อมโยงไปถึงการวางแผนการจัดทำคำของบประมาณปี 2565 ด้วย สำหรับแผนยกระดับจังหวัดด้วยการศึกษานั้นจะเป็นแผนงานที่ผสมผสานการศึกษาทั้งหมด ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงอาชีวศึกษา
“เรากำลังไล่ยกระดับการศึกษาให้ได้ทุกจังหวัด ซึ่งเบื้องต้นจะมีการนำร่องตัวอย่างการขับเคลื่อนการศึกษาระดับจังหวัดก่อน โดยผมกำลังดูโรงเรียนในพื้นที่ระหว่างโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสงครามกับภูเก็ต เพื่อวางแผนปักธงนำร่องการขับเคลื่อนให้ทุกคนเห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าการยกระดับรายได้จังหวัดด้วยการศึกษามีแนวทางอย่างไรบ้าง อีกทั้งเราจะต้องใช้อาชีวศึกษาเป็นผู้นำขับเคลื่อนหลัก และโรงเรียนทำหน้าที่เป็นตัวป้อนผู้เรียนเข้าสู่สายอาชีพ หรือหากโรงเรียนไหนต้องการจะแยกตัวเองเพื่อเป็นการเรียนเฉพาะสายสามัญโดยตรงก็สามารถคัดแยกโรงเรียนได้ "
นายณัฏฐพลกล่าวอีกว่า ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่แผนที่จะควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการวางฐานมัธยมศึกษากับอาชีวะด้วย อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนตามแผนงานนี้จะแบ่งผู้บริหารระดับ 11 ศธ.เป็นผู้นำทำงานร่วมกับศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และทีมงานของตนเอง