ซื้อใจรากหญ้า รบ.งัดแพ็กเกจ ปล่อยกู้-แก้หนี้


เพิ่มเพื่อน    


    ปากกัดตีนถีบชีวิตคนไทย โพลชี้ความสุขลดฮวบ ต้องรัดเข็มขัดทุกทาง ขณะที่ "บิ๊กตู่" ซื้อใจรากหญ้าอัดฉีดเงินกู้ใช้จ่ายเฉพาะหน้ายื้อชีวิตยุคโควิด ด้าน ธปท.รับลูกช่วยลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น มีผล 1 เม.ย.64
    เมื่อวันอาทิตย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ต่อกรณีอยู่อย่างไร? ให้มีความสุขในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง จำนวนทั้งสิ้น 1,374 คน ระหว่างวันที่ 1-6 พฤศจิกายน 2563 พบว่า จากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน มีผลให้ความสุขของประชาชนลดลง 62.66%, ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขคือ มีรายได้เพียงพอ  79.85%, วิธีสร้างความสุขคือ ต้องลด/ควบคุมค่าใช้จ่าย 70.80%, มาตรการรัฐที่ช่วยให้มีความสุขมากขึ้นคือ ลดค่าสาธารณูปโภค  63.81%
    วันเดียวกัน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนผู้ที่ต้องการเข้าถึงเงินกู้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีสินทรัพย์และรายได้ที่มั่นคง ยิ่งในสภาวะที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ความจำเป็นที่ต้องกู้มาใช้ในสิ่งจำเป็นอาจมีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ติดตามความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอเรื่องการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย ได้แก่ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง
    น.ส.รัชดากล่าวต่อว่า รัฐบาลยังมอบหมายให้ธนาคารออมสิน เป็นอีกหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือประชาชนรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยทางธนาคารได้ออกสินเชื่อเสริมพลังฐานราก รอบ 2 ที่กู้ได้สูงสุดได้ไม่เกินรายละ 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน (Flat Rate) ระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ไม่เกิน 3 ปี ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน อีกทั้งยังปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือไม่ต้องชำระเงินงวดใน 6 เดือนแรก 
    ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระหนี้ สร้างความเป็นธรรมในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชน และลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน
    นายอนุชากล่าวต่อว่า เกณฑ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติที่สาคัญในระบบการเงินของไทยใน 3 เรื่อง คือ 1. การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้บนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริงเท่านั้น ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ 2.การกําหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3% เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% ผู้ให้บริการทางการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 11% โดยต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย 3.การกําหนดลําดับการตัดชําระหนี้โดยให้ตัดค่างวดที่ค้างชําระนานที่สุดเป็นลําดับแรก เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน
      "ประกาศการกำหนดเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64 ยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 เป็นต้นไป สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 เม.ย.64 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถนำหลักการตามประกาศฉบับใหม่มาใช้พิจารณายกเว้นหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามสมควร โดยเฉพาะใน ปัจจุบันที่ลูกหนี้จำนวนมากกำลังเดือดร้อนจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213" นายอนุชาระบุ 
    นายอนุชากล่าวต่อว่า เกณฑ์การคิดคำนวณการผิดนัดชำระหนี้ ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยทั้ง 3 เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เฉพาะในส่วนของจำนวนเงินที่ผิดนัดชำระจริงเท่านั้น ไม่ใช่เงินคงค้างทั้งหมด หรือเรื่องอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่กำหนดให้บวกได้ไม่เกิน 3% ของอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา หรือเรื่องที่กำหนดให้เมื่อลูกหนี้นำเงินไปชำระแล้วให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปตัดในส่วนของค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก 
    "ทั้ง 3 เรื่องนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแนวปฏิบัติเรื่องการชำระหนี้ของประเทศไทย โดยจะช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นกับลูกหนี้ และช่วยให้ลูกหนี้ที่ไม่ตั้งใจจะผิดนัดชำระ ให้สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ลดจำนวนการฟ้องร้องดำเนินคดี อีกทั้งจะช่วยลดโอกาสการเกิดหนี้เสียของระบบการเงินโดยรวมของไทยอีกด้วย" นายอนุชาระบุ 
    นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ตนและนายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.เขต 2 จ.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นกระทู้ถามนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ในเรื่องการแก้ไขปัญหาดอกเบี้ยบัตรเครดิตและการทบทวนเรื่องพิจารณาเครดิตบูโร เนื่องจากปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด-19 หรือมาตรการเศรษฐกิจก็ดี การคำนวณดอกเบี้ยหรือเครดิตบูโรนั้น ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้เท่าที่ควร จึงเสนอกระทู้ถามเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว
    "จึงขอเรียนถามว่า กระทรวงการคลังจะมีนโยบายและมาตรการในการแก้ไขปัญหา โดยขอให้ทบทวนกฎ กติกา เกี่ยวกับการจัดการหนี้สินที่เป็นเครดิตบูโร เกี่ยวกับการจัดลำดับเครดิตบูโร หนี้เสีย ประวัติการชำระหนี้ การปลดล็อกระยะเวลาเครดิตบูโรให้สั้นลง รวมถึงการยืดหยุ่นเครดิตบูโรให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น จะได้หรือไม่" นายสามารถระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"