โพลชี้ประชาชนส่วนใหญ่อยากเปลี่ยนนายก อบจ. ไม่เลือกผู้สมัครสังกัดพรรค วิชามารเริ่มแล้ว! กรีดทำลายป้ายหาเสียงที่อำนาจเจริญ "ศรีสุวรรณ" ร้อง กกต.สอบ "ทอน-ปิยบุตร-ช่อ" เลียนแบบพรรค เอาผิดพร้อมตัดสิทธิ์ผู้สมัครกลุ่มก้าวหน้า
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชนเรื่อง “การตัดสินใจเลือกนายก อบจ.” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-5 พ.ย.2563 รวมทั้งสิ้น 1,312 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภา อบจ. ในวันที่ 20 ธ.ค.2563 โดยพบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.03 ระบุว่าไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียง ขณะที่ร้อยละ 15.09 ไม่ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียง และร้อยละ 4.88 ไม่แน่ใจว่าจะไปหรือไม่ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจได้เวลาเลือกนายก อบจ. เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2563 พบว่าผู้ที่ระบุว่าไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียง และไม่แน่ใจว่าจะไปหรือไม่ มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่าไม่ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ส่วนประเด็นสถานการณ์การเมืองระดับประเทศในปัจจุบัน กับการมีผลต่อการตัดสินใจเลือกนายก อบจ. พบว่า ผู้ที่ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงและไม่แน่ใจว่าจะไป ร้อยละ 20.20 ระบุว่ามีผลมากต่อการตัดสินใจ เพราะจากสถานการณ์ทางการเมืองตอนนี้ทำให้สามารถตัดสินใจได้ง่ายว่าจะเลือกคนไหน ขณะที่บางส่วนระบุว่า จะไม่เลือกบุคคลที่มาจากฝ่ายรัฐบาล ขณะที่ร้อยละ 17.68 ระบุว่า ค่อนข้างมีผลต่อการตัดสินใจ เพราะต้องดูก่อนว่าบุคคลที่จะเลือกมีส่วนเกี่ยวข้องกับใครที่อยู่ในประเด็นสถานการณ์การเมืองตอนนี้หรือไม่ ซึ่งบางส่วนระบุว่าจะเลือกบุคคลที่สังกัดพรรคที่ตนเองชื่นชอบ, ร้อยละ 9.43 ระบุว่าไม่ค่อยมีผลต่อการตัดสินใจ, ร้อยละ 52.06 ระบุว่าไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลย เพราะการชุมนุมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งนายก อบจ.
สำหรับการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. ที่สังกัดพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเดียวกัน พบว่าผู้ที่ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงและไม่แน่ใจว่าจะไปส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.06 ระบุว่าไม่เลือกที่สังกัดพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเดียวกัน เพราะดูที่ตัวบุคคล นโยบาย ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานการทำงานที่ผ่านมา และบางส่วนระบุว่าชอบแบบไม่สังกัดพรรค ขณะที่ร้อยละ 28.19 ระบุว่าเลือกที่สังกัดพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองเดียวกัน เพราะง่ายต่อการทำงาน การดำเนินงานหรือการเสนองบต่างๆ ไม่มีความขัดแย้ง และร้อยละ 19.75 ระบุว่ายังไม่แน่ใจว่าจะเลือกอย่างไร
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความต้องการของประชาชนต่อการเปลี่ยนนายก อบจ.ในเขตจังหวัด พบว่า ผู้ที่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงและไม่แน่ใจว่าจะไป ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.31 ระบุว่าอยากเปลี่ยนนายก อบจ. รองลงมาร้อยละ 32.40 ระบุว่าไม่อยากเปลี่ยนนายก อบจ., ร้อยละ 19.30 ระบุว่ายังไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.99 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจได้เวลาเลือกนายก อบจ. เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2563 พบว่าผู้ที่ระบุว่าไม่อยากเปลี่ยนนายก อบจ.มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า อยากเปลี่ยนนายก อบจ. และยังไม่แน่ใจ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ที่ร่วมกันตั้งคณะก้าวหน้าขึ้นมา โดยมีการกำหนดตำแหน่งประธาน กรรมการ และเลขาธิการ โดยมีภาพเครื่องหมายของคณะเช่นเดียวกันกับพรรคการเมือง และดำเนินกิจกรรมต่างๆ เฉกเช่นเดียวกับพรรคการเมือง เช่น การจัดประชุมเปิดตัวผู้สมัคร และส่งคนสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกและสมาชิก อบจ.กว่า 40 จังหวัดนั้น พฤติการณ์หรือการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปดำเนินกิจการเช่นเดียวกับพรรคการเมือง จึงอาจเข้าข่ายมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 111 นอกจากนี้ ผู้สมัครนายก อบจ.และ ส.อบจ.ทั่วประเทศในนามกลุ่มก้าวหน้า ใช้สัญลักษณ์หรือโลโก้กลุ่มก้าวหน้าในสื่อหาเสียงต่างๆ และให้ทั้งสามไปร่วมปราศรัยเดินรณรงค์หาเสียง อาจเข้าข่ายสมคบกันกับบุคคลทั้งสามด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในวันที่ 9 พ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. สมาคมจะนำความพร้อมพยานหลักฐานไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ดำเนินการไต่สวนสอบสวนคณะผู้ก่อตั้งคณะก้าวหน้าทั้งหมด รวมทั้งผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ.ทั่วประเทศในนามคณะก้าวหน้า ว่าเข้าข่ายสมคบกันในการดำเนินกิจการเช่นเดียวกันกับพรรคการเมืองหรือไม่อย่างไร หากพบว่าผิด กกต.ต้องดำเนินการเอาโทษทางกฎหมายและเพิกถอนสิทธิในการสมัคร อบจ.ต่อไป
วันเดียวกัน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ยังเดินทางไปช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครนายก อบจ.ฉะเชิงเทราของกลุ่มก้าวหน้า ในพื้นที่ อ.พนมสารคาม
น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะเปิดตัวแคมเปญการเลือกตั้งท้องถิ่น พร้อมเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.ทั้ง 26 จังหวัด ในนามของพรรคเพื่อไทยในวันจันทร์ที่ 9 พ.ย. เวลา 10.30 น. ถือเป็นครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยจะส่งผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นในนามพรรค ซึ่งจะใช้ความรู้ความสามารถที่มี คิดใหม่ ทำใหม่ ใช้นโยบายมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ ขยายโอกาสสู่ท้องถิ่น
ที่ จ.อำนาจเจริญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภา อบจ. เริ่มส่อเค้าสู้กันดุเดือด โดยพบว่าป้ายหาเสียงของนางวันเพ็ญ ตั้งสกุล ผู้สมัครนายก อบจ.อำนาจเจริญ หมายเลข 3 กลุ่มภูมิใจไทอำนาจ ถูกกรีดเสียหายบางส่วน ในพื้นที่ตำบลคึมใหญ่ และตำบลนาผือ อำเภอเมืองฯ รวมถูกทำลายทั้งหมด 7 ป้าย ซึ่งผู้สมัครหมายเลข 3 ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอำนาจเจริญไว้เป็นหลักฐานแล้ว ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวโทรศัพท์ไปสอบถามนางวันเพ็ญ แต่นางวันเพ็ญปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ โดยระบุว่าอยู่ระหว่างการหาเสียงที่ต่างอำเภอ ไม่สะดวกที่จะให้ข่าวใดๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |