อีอีซีแกร่งเมินวิกฤติโควิด-19 ยอดขอออกบัตรส่งเสริมพุ่งไทย-เทศแห่ลงทุน


เพิ่มเพื่อน    

      การที่ประเทศไทยไม่เคยหันหลังแล้วปิดประเทศ โดยบอกว่าไม่รับนักลงทุนจากต่างชาติ เป็นเรื่องชัดเจนที่ทุกคนรู้  รวมถึงความมั่นคงแน่นอนในเรื่องของการสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มีต่อเนื่องมาอย่างยาวนานไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้นก็ตาม ประการถัดมาคือบรรดาโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าอยู่ โดยเฉพาะอีอีซีนั้นมีภาพชัดเจนอยู่แล้ว และทั้งเรื่องของการพัฒนาระบบคมนาคม การส่งเสริมหรือสนับสนุนด้านต่างๆ เป็นภาพที่ต่างชาติเห็นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

 

        ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น มาซ้ำเติมเป็นเหมือนฝันร้ายให้กับเศรษฐกิจของโลก เพราะก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของโรคดังกล่าวนั้น  ก็มีความไม่สงบขึ้นในพื้นที่ต่างๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่มีอาวุธเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงสงครามการกีดกันทางการค้า (เทรดวอร์) ที่ทำให้เกิดความวุ่นวายพอสมควร  เพราะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ 2 ยักษ์ใหญ่ที่เป็นมหาอำนาจของโลกอย่าสหรัฐอเมริกาและจีนนั้นทะเลาะกันเอง ส่งผลกระทบมายังกลุ่มประเทศเล็กๆ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องทำการค้าร่วม หรือมีการส่งออกระหว่างกัน และตั้งฐานการผลิตนั้นประเทศนั้นๆ

        แต่ดูเหมือนว่าปัญหาของเทรดวอร์นั้นก็ยังไม่มีผลสรุปที่ชัดเจน ไวรัสโควิดก็เข้ามาซ้ำเติมอีกดอก ทำให้ตอนนี้แม้ใครจะทะเลาะกับใคร ใครจะถูกหรือใครจะผิดก็ไม่สามารถนำไปเป็นข้อต่อรองเพื่อไม่ให้ติดไวรัสได้ เห็นได้ชัดเจนว่าจากสถานการณ์ดังกล่าวหลายประเทศจึงต้องหันกลับมามองตัวเองกันมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการผลักดันประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะจีนที่เป็นประเทศต้นเรื่องของโควิด และสหรัฐที่เริ่มสงครามการค้าครั้งนี้ก่อน เพราะทั้งสองประเทศนี้ได้รับผลกระทบจากโควิดไปเต็มๆ

        การเข้ามาของไวรัสทำให้ประเทศน้อยใหญ่ต้องรับมืออย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่นอกจากจะได้รับผลกระทบของเทรดวอร์แล้ว ก็ยังได้รับผลกระทบจากโควิดไปเต็มๆ เพราะตอนนั้นทุกอย่างหยุดชะงักยิ่งกว่าเกิดสงครามกลางเมือง หรือน้ำท่วมใหญ่ การส่งออกนั้นสถานการณ์ร่วงลงมาอย่างน่าใจหาย ภาคการผลิต การลงทุน หรือการจับจ่ายใช้สอยติดลบกันไปตามๆ กัน นอกจากนั้นคนยังหวาดกลัว วิตกกังวลจนเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตไปอีกด้วย

        ซึ่งเหตุการณ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมทำงานอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางการแพทย์ หรือแม้แต่ตัวประชาชนคนไทยเอง จึงทำให้ในปัจจุบันการติดเชื้อในประเทศนั้นลดน้อยถอยลงไปจนเป็นศูนย์มานานหลายเดือนแล้ว และรับคำชื่นชมจากหลายประเทศทั่วโลกว่าไทยนั้นมีศักยภาพในการจัดการโควิด-19 ได้ดีมากๆ จนควรจะนำมาเป็นแบบอย่าง

        และเมื่อไวรัสไม่สามารถทำร้ายประเทศไทยได้เนิ่นนานไปกว่านี้ กิจกรรมอื่นๆ ก็ต้องดำเนินต่อไป หลายธุรกิจเริ่มฟื้นตัว การจับจ่ายใช้สอยของคนในสังคมเริ่มเพิ่มมากขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศกันเองเริ่มเห็นภาพชัดเจน แต่...แม้ว่าคนไทยจะเริ่มออกมาใช้ชีวิตมีกิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้นแล้ว แต่สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ตอนนี้ก็คือภาคเอกชนและการลงทุนที่มาจากทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากกำลังซื้อในโลกนั้นลดลง เอกชนหลายฝ่ายจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนที่จะลงทุนอะไรใหม่ๆ ไป

        เมื่อพูดถึงเรื่องนี้จึงได้ย้อนกลับมามองดูพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ประเทศไทยเองหวังให้เป็นพื้นที่ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ ใช้เป็นเครื่องมือที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงดูดนักลงทุน แต่เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้ จะเกิดผลกระทบมากน้อยเพียงใด คนที่จะตอบได้ดีที่สุดคือคนที่ทำงานใกล้ชิดกับทั้งนักลงทุน และรู้ถึงศักยภาพพื้นที่แห่งนี้เป็นอย่างดี นางลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสายงานการลงทุนและการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ผู้ที่เริ่มทำงานกับอีอีซีมาตั้งแต่เริ่ม จึงเป็นผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้อย่างดีที่สุด

       

ลงทุนอีอีซียังเพิ่ม

        ที่ผ่านมาเมื่อมาดูตัวเลขของการขอออกบัตรส่งเสริม ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่จะเป็นขั้นตอน เมื่อเอกชนมีการลงทุนจริงนั้นจะเห็นได้ว่าตัวเลขในปีนี้ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอยู่ สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนที่ตั้งใจมาลงทุนในประเทศไทย ที่ได้ขอส่งเสริมการลงทุนและผ่านการอนุมัติจากบอร์ดบีโอไอไปแล้ว ก็ได้มาขอออกบัตรเพื่อลงทุนจริง ซึ่งสิ่งนี้ยืนยันได้ว่านักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติไม่ได้หนีไปไหน ภาพนี้เห็นได้ชัดมาก

        แต่เมื่อหลายคนจะอ้างถึงตัวเลขการขอส่งเสริมที่ลดลงนั้น ด้านนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเห็นความชัดเจนกันทั่วโลกว่ามีการลดลงเช่นเดียวกัน เพราะสถานการณ์โควิดกระทบเศรษฐกิจ กำลังที่จะขยายการลงทุนของนักลงทุนไม่ว่าจะธุรกิจใดยังถูกกระทบทั้งสิ้น และความไม่แน่นอนว่าโควิดนั้นจะจบเมื่อไหร่ ยังไง ประกอบกับการที่การติดต่อสื่อสารกันทำได้เพียงวิดีโอคอลเท่านั้น ทำให้การตัดสินใจสุดท้ายนั้นเป็นไปได้ยาก

การเมืองไม่กระทบ

      นางลัษมณ กล่าวว่า ปัจจัยทางด้านการเมืองในปัจจุบันนั้น เมื่อมองจากทฤษฎีการตัดสินใจลงทุน ความมั่นคงทางการเมืองเป็นหนึ่งในเรื่องที่อาจจะทำให้เกิดผลกระทบ และเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะใช้ตัดสินใจด้วยได้ แต่ต้องเข้าใจว่าประเทศที่รู้จักไทยดีอย่างญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ ที่อยู่เมืองไทยมาอย่างยาวนาน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันตลอด  จะเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงยุคสมัยต่างๆ แต่ประเทศไทยมีความมั่นคงแน่นอน ในเรื่องของนโยบายเศรษฐกิจภาพใหญ่

        นั่นคือ การที่ประเทศไทยไม่เคยหันหลังแล้วปิดประเทศ โดยบอกว่าไม่รับนักลงทุนจากต่างชาติ เป็นเรื่องชัดเจนที่ทุกคนรู้ รวมถึงความมั่นคงแน่นอนในเรื่องของการสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มีต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้นก็ตาม ประการถัดมาคือบรรดาโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าอยู่โดยเฉพาะอีอีซีนั้นมีภาพชัดเจนอยู่แล้ว และทั้งเรื่องของการพัฒนาระบบคมนาคม การส่งเสริมหรือสนับสนุนด้านต่างๆ เป็นภาพที่ต่างชาติเห็นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

      วันนี้อีอีซีมีสถานะและกฎหมายเป็นของตัวเอง มีภารกิจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ต้องเดินหน้า และหยุดไม่ได้ และไม่ใช่เรื่องที่แก้กันง่ายๆ เหมือนนโยบายระดับอื่น ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่เข้าใจและเห็นจุดมุ่งมั่นของพื้นที่อีอีซี แต่สิ่งที่นักลงทุนมักจะถามกันเข้ามา คืออีอีซีที่เป็นโครงการใหม่นั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งก็ได้ให้คำตอบอยู่ตลอดเวลาว่าอีอีซีได้เดินหน้าอย่างจริงจัง โดยได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 2 ปีแรก และยังดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานในการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน

3 เทรนด์ลงทุน

      นางลัษมณกล่าวว่า เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดขึ้นมานั้น สิ่งที่เราประเมินศักยภาพและสถานะของพื้นที่แล้วนั้น ผลที่ได้คือความสนใจในการลงทุน ที่สถานการณ์นี้ทำให้เห็นแนวโน้มของการลงทุนแบ่งออกเป็น 3 ภาคใหญ่ๆ ได้แก่    

        1.การใช้ดิจิทัลถูกเร่งตัวอย่างมากในระบบการทำงาน การทำธุรกิจ และการใช้ชีวิต ซึ่งส่วนนี้มีผลทำให้ในภาคอุตสาหกรรม หรือการผลิตต่างๆ มีการใช้ระบบออโตเมชั่นเร็วมากขึ้น เพราะว่าการใช้ระบบนี้จะไม่ถูกกระทบด้วยคน แม้จะเกิดโรคระบาด บริษัทต่างๆ เริ่มนำระบบนี้มาใช้มากขึ้น และนำมาใช้ในทุกๆ เรื่อง จึงทำให้เห็นว่าแนวโน้มความสนใจ หรือเทรนด์ด้านดิจิทัลมาแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้เองก็ยังเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ สามารถผนวกได้กับทุกอุตสาหกรรม

        2.ประเทศไทยทำได้ดีมากกับการดูแลเรื่องสถานการณ์โควิด ทั่วโลกตื่นตัวเรื่องสุขภาพมาก เป็นที่กล่าวถึงไปทั่วโลก ในขณะที่ประเทศไทยเองทำได้ดีมากในเรื่องนี้ มีความเข้มแข็งในเรื่องของการแพทย์และสาธารณสุข จึงได้เห็นความสนใจของนักลงทุนที่เข้ามาและสอบถามถึงเรื่องการลงทุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ทั้งหมดนี้ จึงมองว่าเป็นเรื่องที่สองที่จะเห็นศักยภาพของประเทศ

        และเรื่องนี้เองก็ครอบคลุมไปกับทุกภาคอุตสาหกรรม ที่ไม่ใช่เพียงแค่การรักษา แต่มีกระบวนการตั้งแต่การป้องกัน ที่ต้องใช้ปัจจัยทางภาคการเกษตร ที่นำวัตถุดิบเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านอาหาร ทั้งอาหารเพื่อสุขภาพ และสมุนไพร รวมถึงด้านอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ในอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี ซึ่งครอบคลุมมาถึงอุตสาหกรรมแพทย์และยา ที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้อย่างครบวงจรและทุกอุตสาหกรรม

        3.โลจิสติกส์ ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด ประเทศจีนเป็นประเทศแรกที่โดนผลกระทบ ถูกล็อกดาวน์และไม่มีพนักงานสามารถไปทำงานได้ในพื้นที่ท่าเรือ หรืองานอื่นๆ เรือขนสินค้าที่ไปไม่สามารถกลับมาได้ ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการในประเทศไทยประตัวได้อย่างรวดเร็ว คือการปรับโหมดการส่งของเป็นทางถนน โดยใช้เส้นทาง R12 และ  R9 ผ่านประเทศเพื่อนบ้านเข้าไปทางใต้ของจีนและสามารถขายสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในระยะหลังที่จีนเริ่มกลับมาเป็นปกติ แต่ประเทศเพื่อนบ้านมีการปิดประเทศนั้น ผู้ขายของไทยก็สามารถเปลี่ยนโหมดการขนส่งไปเป็นทางอากาศได้อย่างต่อเนื่อง  

        ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีความเข้มแข็งอย่างมาก และยิ่งมีพื้นที่อีอีซีเข้ามาก็จะสามารถตอบโจทย์ในเรื่องการคมนาคมขนส่งที่ครบครัน และเชื่อมต่อเป็นอย่างดี จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งเพื่อที่จะดึงดูดการลงทุน และสามารถเป็นศูนย์กลางของการกระจายสินค้าและการขนส่งได้

 

อีอีซีเดินหน้าเต็มที่

      นางลัษมณ กล่าวว่า ปัจจุบันอาจจะมองได้ว่าการลงทุนในพื้นที่อีอีซีนั้นไม่ขยับตัว แต่ในมุมมองของคนทำงานนั้นทุกอย่างกำลังเดินหน้าต่อไปอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานเองที่ปัจจุบันได้มีการลงนามสัญญากับหลายฝ่ายไปแล้ว หน้าที่ของภาครัฐเองตอนนี้ก็จะต้องไปเคลียร์พื้นที่ให้สามารถดำเนินการโครงการได้ ในขณะที่ภาคเอกชนที่มีสัญญาก่อสร้างเองก็ต้องเร่งที่จะวางแผนและลงรายละเอียดในงานต่างๆ ให้ครบถ้วนก่อนที่จะลงมือดำเนินการได้ ซึ่งจะสามารถเห็นภาคการลงเสาเข็มได้อย่างจริงจังแล้วก็ต้องช่วงหลังของปี 2564 ไป

        ถ้ามองว่าตอนนี้จะต้องเพิ่มเติมอะไรในการกระตุ้นหรือจูงใจ ส่วนตัวแล้วมองว่าตอนนี้เอกชนหลายรายรออย่างมากที่จะเข้ามาในประเทศให้ได้ เพราะต้องเข้าใจว่าประเด็นของการลงทุนใหม่ๆ ถ้านักลงทุนไม่เข้ามาเห็นพื้นที่จริงๆ ก็อาจจะเป็นผลต่อการตัดสินใจขั้นสุดท้าย ซึ่งช่วงนี้ได้แต่พูดคุยเท่านั้น ซึ่งก็ต้องรอมาตรการจากภาครัฐในระยะต่อไปที่จะอนุญาตให้นักลงทุนสามารถเข้ามาในประเทศในระยะที่สั้นหน่อยเพื่อจะเจรจาธุรกิจได้

        ตอนนี้มีการปรับตัวทั้งคู่ ทั้งอีอีซีและบีโอไอ ที่ตอนนี้มีการปรับนโยบายให้สนับสนุนการลงทุนเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น  การพูดคุยกับนักลงทุนก็จำเป็นต้องคุยในเรื่องของการสนับสนุน หรือการลงทุนเป็นภาพรวมมากขึ้น ไม่ได้เจาะเป็นเพียงลงทุนอะไร จะได้อะไรเท่านั้น แต่จะบูรณาการร่วมกันในทุกมิติ ซึ่งได้กำหนดกลุ่มที่ใช้นำไปหารือกับนักลงทุน อาทิ การลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นไบโอ เซอร์คูลาร์ กรีน หรือบีซีจี ที่ดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือการลงทุนในกลุ่มไบโอโพลิส กลุ่มฟู้ดอินโนโพลิส และอาริโพลิสที่เป็นการลงทุนเกี่ยวกับท่าอากาศยานทั้งหมดแบบครบวงจร

        จะเป็นตัวช่วยส่งเสริมและกระตุ้นความสนใจของนักลงทุนมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเดินหน้าอย่างมุ่งมั่นหลังจากนี้คือการพัฒนาบุคลากรที่จะมารองรับการทำงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ทักษะระดับสูง เนื่องจากเป็นแนวโน้มความต้องการของนักลงทุนต่างประเทศ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"