‘ผ้าไตรจีวร’จนถึงผ้าคลุมเก้าอี้ผืนใหม่ในงานกฐิน ทำจากขวดพลาสติกชนิดใสเหลือใช้ เป็นเครื่องบริวารกฐินสามัคคีปีนี้ ที่ "ดอยคำ" เป็นเจ้าภาพนำไปถวายวัดของชุมชนจำนวน 4 แห่ง ภาคเหนือ วัดทุ่งจำลอง อ.ฝาง ใกล้โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่, วัดป่าห้า (เบญจพัฒนมงคล) อ.แม่จัน ใกล้โรงงานหลวงฯ ที่ 2 (แม่จัน) จ.เชียงราย ส่วนภาคอีสาน วัดนางอย ใกล้โรงงานหลวงฯ ที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร และวัดซับสมบูรณ์ ใกล้โรงงานหลวงฯ ที่ 4 (ละหานทราย) จ.บุรีรัมย์ ด้วยจุดมุ่งหมายสืบสานประเพณีงานบุญใหญ่ตามหลักพระพุทธศาสนา พร้อมกับ "เพาะเมล็ดพันธุ์รักษ์สิ่งแวดล้อม" สู่หัวใจชาวบ้าน พนักงานดอยคำ และเยาวชนคนรุ่นใหม่
ขบวนกฐินดอยคำแห่รอบอุโบสถวัดทุ่งจำลอง ถวายผ้าไตรจีวรแปรรูปจากขวดพลาสติกใส
เครื่องบริวารกฐินที่ทำจากขวดพลาสติกชนิดใสเหลือใช้เหล่านี้ เป็นผลจากความร่วมมือระหว่าง "ดอยคำ" ที่จับมือกับชุมชนรอบโรงงาน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อม วัดจากแดง จ.สมุทรปราการ นำขยะพลาสติกภายในหมู่บ้านที่ผ่านการคัดแยกอย่างถูกต้อง เข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นวัตถุดิบโพลีเอสเตอร์ในการผลิตเป็นผืนผ้า ปั่นเป็นเส้นใยสำเร็จรูป แล้วถักทอเป็นผืนผ้า ตัดเย็บเป็นจีวรสำหรับพระภิกษุสงฆ์สามเณร ซึ่งผ้าจีวร 1 ผืนใช้ขวดพลาสติกใส(PET) รีไซเคิล 15 ขวด ขณะที่ผ้าไตรจีวร 1 ชุด ใช้ขวดพลาสติกใส 60 ขวด กฐินดอยคำประจำปี 2563 และผ้าป่าสามัคคี สามารถลดการทิ้งขวดพลาสติกไป 720 ขวด หรือขยะพลาสติกกว่า 22 กิโลกรัม
ดอยคำ ร่วมกับชุมชน วัด ใกล้โรงงานหลวงฯ และ GC ขับเคลื่อนกฐินสีเขียว ลดขยะในชุมชน
พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวหลังพิธีการทอดกฐินที่วัดทุ่งจำลอง จ.เชียงใหม่ ว่า กิจกรรมกฐินสามัคคี ดอยคำจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในวัด มีการพัฒนาอย่างถูกต้องเหมาะสมผ่านกองทุนกฐินดอยคำภายใต้โครงการ ”วัดของเรา วัดของชุมชน” ปีนี้ดอยคำขับเคลื่อนกฐินสีเขียว ภายใต้โครงการดอยคำเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต่อยอดสู่ชุมชน ทุกวัดจะถวายจีวรที่นำขวดพลาสติกใสมาแปรรูป ทั้งยังได้จัดนิทรรศการให้ความรู้กิจกรรมรับบริจาคขวดพลาสติกใสที่วัด ซึ่งชุมชนให้ความสนใจ กฐินสีเขียวสร้างความตระหนักรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เข้ากับยุคสมัย และส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน นำเอาทรัพยากรธรรมชาติกลับมาหมุนเวียนใช้ สร้างขยะให้น้อยที่สุด ถือเป็นโมเดลจัดกิจกรรมกฐินเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนต่างๆ นำไปต่อยอดและขยายผลได้
รมร ธนะโสภณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายสังคมและพัฒนา
ด้าน รมร ธนะโสภณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายสังคมและพัฒนา กล่าวว่า ดอยคำเป็นธุรกิจสีเขียว เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่บริษัทและสังคม มีโครงการสร้างโลกสีเขียวกับกิจกรรม ”แกะ ล้าง เก็บ” สานต่อแนวพระราชดำริรัชกาลที่ 9 เรื่องการใช้ประโยชน์จากขยะ ลดปริมาณของเสีย โดยชวนพนักงานดอยคำและลูกค้าดอยคำ นำกล่องยูเอชที ดอยคำ และกล่องชนิดอื่นๆ มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น พาเลท ที่รองแก้ว กระถางตอนไหลสตอว์เบอร์รี เก้าอี้ ได้ทั้งสิ้น 42,100 กล่อง ข้อมูลนี้ถึงเดือน ก.ย.2563 จากนั้นขยับมาทำโครงการ ”ดอยคำเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่อยอดสู่ชุมชน” สร้างความร่วมมือระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน และโรงงาน เริ่มด้วยกิจกรรม ”เก็บขวดแยก แลกชุดกีฬา” ที่บ้านยาง จ.เชียงราย ผ่านกิจกรรมกีฬาซึ่งใกล้ตัวเยาวชน ทุกสัปดาห์กลุ่มเยาวชนบ้านยางจะสะสมและรวบรวมขวดพลาสติกมาให้เรา เพื่อส่งต่อพีทีที โกลบอล เคมิคอล แปรรูปเป็นชุดกีฬา เก็บได้แล้ว 234 กิโลกรัม เทียบเป็นขวดทั้งสิ้น 7,722 ขวด นอกจากลดขยะ ยังพัฒนาศักยภาพเยาวชน ส่งเสริมกีฬาเยาวชน มีชุดกีฬาใช้แข่งขันแล้ว 200 ชุด จากนั้นขยายผลสู่กิจกรรมกฐินดอยคำ
“ ดอยคำมีความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขวดพลาสติกเพื่อใช้ประโยชน์ให้แก่วัด เช่น ผ้าจีวร ผ้าคลุมเก้าอี้ อิฐบล็อก อย่างกฐินที่วัดป่าห้า ใช้อิฐบล็อกรีไซเคิลปรับปรุงถนนภายในวัด ด้านวัดทุ่งจำลอง เจ้าอาวาสวัดสนใจใช้อิฐบล็อกปรับปรุงพื้นที่ให้สวยงาม ขณะที่วัดทางอีสานเตรียมใช้ผลิตภัณฑ์หลังคาจากขวดพลาสติกใส ภาพรวมส่วนใหญ่ชุมชนรอบโรงงานหลวงฯ ลงมือคัดแยกขยะในชุมชน รู้ว่าขยะมีมูลค่า นำกลับมาใช้ใหม่ได้ กิจกรรมต่างๆ ปลูกฝังความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในใจคน และจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันต่อเนื่อง“ รมร กล่าว
วัดป่าห้า 1 ใน 4 วัดใกล้โรงงานหลวงฯ นำอิฐบล็อกรีไซเคิลปูถนนภายในวัด
กฐินสีเขียวมิติใหม่สืบสานบุญประเพณีคราวนี้ จะเกิดขึ้นได้เพราะได้รับความร่วมมือด้านผลิตภัณฑ์ Upcycling จากบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC กสิณา สำแดงเดช ผู้บริหาร GC เล่าถึงการสนับสนุนชุดผ้าไตรจีวรว่า สำหรับวัดทุ่งจำลอง วัดป่าห้า และวัดซับสมบูรณ์ ผ้าไตรจีวรที่ถวาย มีที่มาจากโครงการขุดทองจากกองขยะ นำขวดพลาสติกใสมาแปรรูปเป็นผ้าจีวรพระสงฆ์ โดยการถักทอด้วยเส้นใยรีไซเคิล โพลีเอสเตอร์ ผสมกับเส้นใยคอตตอน และเส้นใยรีไซเคิล โพลีเอสเตอร์ ซิงค์ มีคุณสมบัติพิเศษช่วยลดกลิ่นอับด้วยคุณสมบัติแอนตีแบคทีเรีย ทำให้ผ้าที่ใช้นุ่งห่มสบาย ไม่ร้อน ไม่อับชื้น ซักแห้งไว ไม่ยับง่าย ซึ่งชุดผ้าไตรจีวร 1 ชุด เท่ากับขวดพลาสติก 15 ขวด
ผ้าคลุมเก้าอี้ผืนใหม่จากขวดพลาสติก PET ใช้ในงานกฐินดอยคำปีนี้
ส่วนผ้าคลุมเก้าอี้ ผู้บริหาร GC บอกผลิตด้วยผ้ารีไซเคิล 100% โพลีเอสเตอร์ พร้อมคุณสมบัติกันน้ำซึม ผ้าคลุมเก้าอี้ 1 ผืน เท่ากับ 13 ขวด ส่วนคอนกรีตปูพื้น ผสมเศษฝาขวดน้ำพลาสติก 50% มีความแข็งแรงทนทาน อีกผลิตภัณฑ์เป็นเสื่อ PDM ทำจากพลาสติกไพลีโพรพิลีน รีไซเคิล 80% และสารปกป้องแสงยูวี ใช้กลางแจ้งได้ เนื้อไม่กรอบ สีคงทน ใช้งานได้นานหลายปี สำหรับชุดกีฬาเป็นผ้ารีไซเคิล 100% โพลีเอสเตอร์ 1 ชุดเท่ากับ 24 ขวด
“ การสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน แน่นอนว่าต้องเริ่มต้นจากตัวเอง รู้คุณค่าขยะ คัดแยก และนำไปพัฒนา การทำโครงการร่วมกับดอยคำ จะควบคู่กับให้ความรู้เยาวชนในชุมชนต่างๆ ว่า ใช้ถูกต้อง ทิ้งถูกที่ ต่อยอดถูกทาง ซึ่งสร้างภาพจำใหม่ ขยะไม่ใช่ขยะ ขยะพลาสติกกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่“ กสิณากล่าว และย้ำกฐินสีเขียวเป็นการให้ความสนใจกับการจัดการขยะภายในชุมชน เป็นจุดเล็กๆ ที่หลายชุมชนอาจจะมองข้าม
แน่นอนว่า จุดเริ่มต้นกฐินสีเขียวมาจากดอยคำ แต่ถ้าไม่มีความร่วมมือจากชุมชน ก็คงไม่ได้ดูแลสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมาย และนี่คือพลังแห่งความสำเร็จของบริษัทและหน่วยงานภาคีในกิจกรรมกฐินสามัคคีนี้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |