'บิ๊กตู่-ม็อบราษฎร'หาทางลงไม่เจอ  พ้นเก้าอี้ไม่จบหากยัง'ทะลุเพดาน'


เพิ่มเพื่อน    

สถานการณ์วันนี้มันยังอึนๆ เพราะรัฐบาลก็หาออกไม่เจอ ม็อบก็หาทางลงไม่ได้ โอกาสจะอยู่ในสภาวะแบบนี้ไปเรื่อยๆ มีสูง ซึ่งมันก็ย่อมไม่ส่งผลดีต่อประเทศในภายภาคหน้า.

 

    1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มวลชนในแฟลชม็อบของกลุ่มราษฎรตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดเริ่มจะบางตา ไม่เหมือนช่วงระดมพลขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมใหม่ๆ 
    ถือเป็นธรรมชาติของม็อบที่ช่วงแรกจะได้รับความสนใจ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปเรื่อยๆ หากยังไม่สามารถกดดันรัฐบาลได้ หรือมีจุดร่วมที่ดึงดูดมวลชนมากกว่าเก่า มันจะถึงช่วงขาลง 
    คล้ายคลึงกับตอน กปปส.ชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่แม้จะมีเงื่อนไขเรื่องของการออกนิรโทษกรรมสุดซอย แต่ไม่สามารถเผด็จศึกได้ ต้องชุมนุมยืดเยื้อยาวนานเป็นปีๆ กว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 
    ขณะที่กลุ่มราษฎรจัดแฟลชม็อบกดดันตามจุดต่างๆ มาถึงวันนี้ย่างเข้าสู่เดือนที่ 4 เข้าไปแล้ว มันย่อมต้องมีอาการเหนื่อยล้าให้เห็น
    การแกงเจ้าหน้าที่ การประกาศทำบิ๊กเซอร์ไพรส์แบบเบิ้มๆ มันเริ่มจะกลายเป็นมุกเฝือ ที่ประชาชนชักไม่ตื่นเต้นอะไรมากเหมือนในช่วงแรกๆ 
    ยิ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์และฝ่ายความมั่นคงเล่นบท “จ่าเฉย” หลีกเลี่ยงการปะทะ ไม่ยี่หระต่อการยั่วยุ มันเลยทำให้สถานการณ์ดูทรงๆ เหมือนประชาชนเริ่มจะปรับตัวเข้ากับม็อบได้ 
    การชุมนุมแบบเบิ้มๆ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มันก็ตอกย้ำให้เห็นว่ายุทธศาสตร์แฟลชม็อบดาวกระจายเริ่มไม่ได้ผล ต้องวนกลับมาสู่จุดสัญลักษณ์อีกครั้ง 
    แฟลชม็อบจุดเดียวในพื้นที่สัญลักษณ์ มันย่อมสร้างแรงจูงใจให้คนมาร่วม โดยเฉพาะในแง่ปริมาณ ความหนาแน่น ให้กลับมาอยู่ในจุดสนใจของสังคมอีกครั้ง 
    ขณะเดียวกัน บรรดาแกนนำคนสำคัญที่ก่อนหน้านี้ถูกฝากขัง ไม่ว่าจะเป็น นายอานนท์ นำภา, “เพนกวิน” นายพริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์ ระยอง” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่ ดาวดิน” นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำที่เรียกแขกได้ ต่างได้รับการปล่อยตัวออกมาหมดแล้ว 
    เวทีที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ว่าเซอร์ไพรส์แบบเบิ้มๆ น่าจะหมายถึงการกลับมาขึ้นเวทีของแกนนำหลักแบบพร้อมหน้าพร้อมตา ถือเป็นการปลุกอารมณ์ร่วมมวลชนให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง 
    แต่มันจะมีอะไรเซอร์ไพรส์มากกว่าหนังที่เคยฉายมาแล้วหรือไม่ ต้องติดตาม หรือจะฮึกเหิมในช่วงแรกแล้วแยกย้ายตอนประชาชนกำลังของขึ้น  
    หากเป็นแบบหลัง มันจะไม่ต่างอะไรกับการจุดชุมนุมเพื่อรักษากระแสเท่านั้น และยังสะท้อนให้เห็นว่าม็อบก็เริ่มจะมุกตันๆ เหมือนกัน 
    แม้เมื่อกลางสัปดาห์ กลุ่มราษฎรจะออกมาแถลงยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบัน แต่หากสังเกตดีๆ แกนนำจะเน้นน้ำหนักไปที่การให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกมากกว่าการพูดถึงข้อ 3 
    ในภาวะที่ม็อบเองก็เดินมาไกล เดิมพันสูง หากแพ้มีแค่คุกกับลี้ภัย มันจึงถอยไม่ได้ หาบันไดลงไม่เจอ     
    การปฏิเสธการเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นเจ้าภาพ เป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมายอยู่แล้ว เพราะหากถลำตัวเข้าร่วม ไม่ต่างอะไรกับการถอยให้กับรัฐบาล ในเชิงสัญลักษณ์ถือว่า “แพ้” 
    ต้องเล่นบทกำข้อเรียกร้อง 3 ข้อเอาไว้แน่นๆ ไว้ก่อน 
    ขณะที่นายชวน ด้วยพรรษาการเมืองที่สูง เห็นความขัดแย้งทางการเมืองมามาก ก็คงไม่ได้เซอร์ไพรส์อะไรกับการถูกปฏิเสธ และยังเดินหน้าปลุกปั้นคณะกรรมการสมานฉันท์ต่อ 
    อย่างน้อยๆ ซีนนี้ แค่เทียบเชิญอดีตนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายอานันท์ ปันยารชุน, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้วได้รับการขานรับ หรือการจะไปปรึกษาหารือกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี รวมถึงอดีตประธานรัฐสภา มันก็แสดงให้เห็นบารมีนายชวน เพราะไม่ใช่ใครที่เทียบเชิญระดับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแล้วจะได้รับการขานรับทุกคน แต่นายชวนทำได้ 
    สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากความเคลื่อนไหวของม็อบ สปอตไลต์จับไปที่นายชวนทุกวัน ความโดดเด่นของนายชวนมันเลยไปกระตุกต่อมความหวาดระแวงของใครบางคน โดยเฉพาะการที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ ออกมากวนน้ำให้ขุ่น โดยการวิพากษ์วิจารณ์ประธานรัฐสภาว่าจะไปเทียบเชิญแต่คนที่ล้าสมัย และใช้คำรุนแรงถึงขั้น “ดองเค็ม”  
    นายสิระอาจจะเป็น ส.ส.ประเภทหน่วยกล้าตาย แต่การทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง ทั้งๆ ที่สังคมกำลังคาดหวังหาทางออกประเทศ ย่อมมีนัยสำคัญ ไม่ได้คิดเองเออเองออกมาวิพากษ์โดยไม่ดูตาม้าตาเรือ แต่ต้องได้รับไฟเขียวจากใครให้ออกมา 
    มันก็สอดคล้องกับข่าวซุบซิบกันในพรรคพลังประชารัฐ ว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาทุ่มสุดตัวเพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ 7 ฝ่าย ขณะที่นายชวนเดินหน้าเต็มพิกัด อาจเป็นการหวังดีประสงค์ร้าย 
    ด้วยยี่ห้อพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต มันจึงกลายเป็นการสร้างความหวาดระแวง ว่าพรรคสีฟ้าจะผลักดันนายชวนขึ้นมาเสียบแทนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เลยต้องส่งนายสิระออกมาดิสเครดิต 
     แต่ระดับนายชวนไม่ได้ใส่ใจกับ ส.ส.รุ่นหลัง แสดงความตั้งใจแน่วแน่ ประกาศเดินหน้าเต็มที่ อย่างน้อยก็เพื่อในอนาคต 
    “ควรเอาคนประเภทใด มองปัญหาอย่างไร แต่ไม่ถึงขั้นไปเป็นประธานเอง เราตั้งใจเอาคนที่มีความตั้งใจที่จะเห็นการปรองดอง แต่ใครที่ยื่นคำขาดมาก็เป็นเรื่องเขาไป และเราก็จะทำงานในส่วนของเราไป ผมบอกเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าไปแล้วว่าให้แยกระหว่างเรื่องการชุมนุมกับเรื่องอนาคต" 
    แม้ไม่ได้ผลวันนี้ แต่ก็เป็น “ทางออกหนึ่ง” หากวันข้างหน้าเจอทางตัน เพราะต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ขณะนี้แม้จะไม่ถึงขั้นวิกฤติไปอยู่ในจุดของการเผชิญหน้า แต่คู่ขัดแย้งสำคัญคือ “รัฐบาล” กับ “ม็อบราษฎร” ยังหา “ตรงกลาง” กันไม่เจอ  
    ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ภูเก็ต ที่ผ่านมา โดยเฉพาะมวลชนที่เกาะสมุยที่แห่มาให้กำลังใจแบบล้นทะลัก อย่างน้อยก็ยังอุ่นใจว่ามีประชาชนอีกส่วนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้ ไม่ยอมตามแรงกดดันของม็อบราษฎรง่ายๆ 
    สถานการณ์วันนี้มันยังอึนๆ เพราะรัฐบาลก็หาออกไม่เจอ ม็อบก็หาทางลงไม่ได้ โอกาสจะอยู่ในสภาวะแบบนี้ไปเรื่อยๆ มีสูง ซึ่งมันก็ย่อมไม่ส่งผลดีต่อประเทศในภายภาคหน้า  
    มันเลยทำให้คดีพักบ้านหลวง ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์สิ้นสุดลงหรือไม่ ในวันที่ 2 ธันวาคม ได้รับการจับตามากขึ้นว่าจะเป็นการต่อบันไดลงให้กับ “บิ๊กตู่” แบบเนียนๆ หรือไม่ หากคำวินิจฉัยออกมาเป็นลบ 
    เพื่อเป็นการหาทางออกให้ม็อบ กับหาทางลงให้กับ “บิ๊กตู่” แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นหรือไม่ 
    แล้วก็มีคนจับเอาไปโยงกับคำพูดแปลกๆ ของ “บิ๊กตู่” ที่กล่าวในช่วงท้ายตอนหนึ่งภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 63 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ในลักษณะว่าเบื่อการใช้อำนาจแล้ว 
    “ผมไม่เคยคิดว่าต้องมายืนตรงนี้ นี่อยู่มา 6 ปีแล้ว แต่ยังยืนอยู่ได้ยังไงเนี่ย หวังทุกคนคงเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจกัน คงไปยาก ผมก็หวังอย่างยิ่งว่าถ้าวันหน้ามีคนที่เก่งกว่าผม ดีกว่า ซื่อสัตย์กว่าผม ซื่อสัตย์เหมือนผม ทำงานเหล่านี้ต่อไป” 
    แต่นั่นเป็นเพียงการคาดการณ์ เพราะการที่ “บิ๊กตู่” ต้องหลุดจากตำแหน่ง ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าทุกอย่างจะจบ โดยเฉพาะข้อเสนอของม็อบราษฎรที่ทะลุเพดานให้มีการปฏิรูปสถาบัน 
    นอกจากนี้หาก “บิ๊กตู่” ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นของการพักบ้านหลวง มันจะกระทบกันไปเป็นลูกโซ่ในอีกหลายราย เรื่องอาจจะบานปลายไปกันใหญ่ ดังนั้นมันไม่ได้จบแค่ “บิ๊กตู่” ลาออก. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"