ฝรั่งเศสและอดีตอาณานิคมในแอฟริกา


เพิ่มเพื่อน    

(ภาพความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสและอดีตอาณานิคมในแอฟริกา จาก blog.mediapart.fr)

    เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เมืองนีซ ตอนใต้ของฝรั่งเศส บริเวณศาสนาสถานของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เกิดขึ้นไม่นานหลังประธานาธิบดี “เอ็มมานูเอล มาครง” พูดถึงศาสนาอิสลามว่ากำลังอยู่ในวิกฤติทั่วทั้งโลก ก่อนนั้นก็เพิ่งเกิดเหตุครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ในกรุงปารีสถูกฆ่าตัดคอ เพราะไปนำภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดามุฮัมหมัดจากนิตยสารรายสัปดาห์ชาลีเอ็บโดมาสอนในชั้นเรียน
    พนักงานของนิตยสารดังกล่าวถูกสองผู้ก่อการร้ายกราดยิงเสียชีวิตไป 12 คน เมื่อมกราคม ค.ศ 2015 เพราะตีพิมพ์ภาพล้อเลียนศาสดามุฮัมหมัดอยู่เนืองๆ จากนั้นมีเหตุก่อการร้ายต่อเนื่องอีกหลายครั้ง โดย 2 ครั้งใหญ่คือการโจมตีกรุงปารีสในคืนเดียวกันหลายจุดเมื่อพฤศจิกายน ค.ศ.2015 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 130 คน และเหตุรถบรรทุกพุ่งชนผู้คนบนถนนเลียบชายหาดเมืองนีซในวันชาติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคม ค.ศ.2016 เสียชีวิตไปอีกเกือบร้อย คนร้ายมาจากตูนิเซีย เช่นเดียวกับมือมีดที่สังหาร 3 ศพเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
    หลายเหตุการณ์รุนแรง ผู้ก่อเหตุมาจากประเทศในแอฟริกาเหนือ อดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส ผมได้อ่านบทความทางอินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่งเมื่อสองสามวันที่ผ่านมาเกี่ยวกับฝรั่งเศสและอดีตอาณานิคมของพวกเขา พบบทความที่น่าสนใจจากบางเว็บไซต์ ขออนุญาตแปลบางส่วนนำเสนอท่านผู้อ่าน
    บทความชื่อ “14 African countries forced by France to pay colonial tax for the benefits of slavery and colonization” ใน siliconafrica.comโดย “Mawuna Koutonin” เขียนไว้เมื่อ 6 ปีก่อน นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างแอฟริกาและฝรั่งเศส
    ทราบหรือไม่ว่าชาติแอฟริกันยังคงจ่ายภาษีอาณานิคมให้กับฝรั่งเศสหลังได้รับเอกราชจนกระทั่งบัดนี้
    ในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2008 อดีตประธานาธิบดีฌัก ชีรัก กล่าวไว้ว่า “ไม่มีแอฟริกา ฝรั่งเศสจะหล่นลงไปอยู่ในกลุ่มประเทศโลกที่สาม” ขณะที่อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสอีกคนคือ ฟรังซัวส์ มิตเตอรองด์ ได้ทำนายไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ปี ค.ศ.1957 ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่า “หากไม่มีแอฟริกา ฝรั่งเศสจะไม่มีประวัติศาสตร์ของตัวเองในคริสต์ศตวรรษที่ 21”
    ในขณะที่เขียนบทความนี้ (เมื่อ 6 ปีก่อน) ภายใต้ข้อตกลงที่ทำไว้กับฝรั่งเศส 14 ชาติแอฟริกายังคงต้องนำเงินสำรองระหว่างประเทศ 85 เปอร์เซ็นต์ใส่ไว้ในธนาคารกลางฝรั่งเศส ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศส จนถึงบัดนี้ 14 ชาติแอฟริกายังต้องจ่ายสิ่งที่เรียกว่าหนี้อาณานิคมให้กับฝรั่งเศส ผู้นำแอฟริกันคนใดปฏิเสธจะมีอันเป็นไปหรือไม่ก็ถูกทำรัฐประหาร
    ระบบปีศาจนี้ถูกประณามโดยสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ฝรั่งเศสก็ยังไม่ยอมลดละผลประโยชน์จากระบบอาณานิคมซึ่งมีเงินประมาณ 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐจากชาติแอฟริกาอยู่ในคลังจากการจ่ายสะสมเข้าไปปีแล้วปีเล่า
    ความจริง 11 ประการที่ทำให้ความเป็นเมืองขึ้นยังคงมีอยู่ต่อไปหลังคริสต์ทศวรรรษที่ 1950
    (1) บรรดาประเทศที่ประกาศเอกราชจากฝรั่งเศสต้องจ่ายค่าก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่สร้างขึ้นโดยฝรั่งเศสในช่วงการเป็นอาณานิคมคืนให้กับฝรั่งเศส
    (2) ฝรั่งเศสถือครองเงินทุนสำรองของ 14 ชาติไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1961 ชาติแอฟริกันเหล่านี้ต้องนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 65 เปอร์เซ็นต์ใส่ไว้ในชื่อบัญชี “Operation Account” ของธนาคารชาติแอฟริกัน 2 ธนาคาร เรียกว่า CFA Bank ซึ่ง CFA ย่อมาจาก Communauté Financière Africaine (African Financial Community) และอีก 20 เปอร์เซ็นต์สำหรับหนี้ที่ก่อไว้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารทั้งสองไม่สามารถออกนโยบายใดๆ ได้ อีกทั้งไม่ทราบว่ามีเงินอยู่ในนั้นเท่าไหร่ เพราะถูกควบคุมโดยคลังของฝรั่งเศส มีการนำเงินใน 2 ธนาคารนี้ไปลงทุน แต่ไม่มีการแจ้งผลกำไร มีเพียงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝรั่งเศสไม่กี่คนที่ทราบเกี่ยวกับผลการลงทุน แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยรายละเอียดต่อทั้ง 2 ธนาคาร และธนาคารกลางของแต่ละประเทศ คาดกันว่าขณะนี้น่าจะมีเงินอยู่ในบัญชีดังกล่าวราวๆ 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยฝรั่งเศสอนุญาตให้แต่ละประเทศเข้าถึงเงินก้อนนี้เพียง 15 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปี หากต้องการมากกว่านั้นก็ต้องกู้จาก 65 เปอร์เซ็นต์นั้นในอัตราดอกเบี้ยทั่วไป ผู้อนุมัติคือคลังฝรั่งเศส โดยจะกู้ได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประเทศในปีก่อนหน้านั้น หากกู้เกินเพดาน ฝรั่งเศสก็มีสิทธิ์ยับยั้ง
    (3) หากมีการพบทรัพยากรธรรมชาติขึ้นในดินแดนอดีตอาณานิคม ฝรั่งเศสมีสิทธิ์เป็นชาติแรกในการเป็นผู้ซื้อ และเมื่อฝรั่งเศสบอกว่า “ฉันไม่สนใจ” ชาติเหล่านี้ก็มีสิทธิ์มองหาคู่ค้ารายอื่น

(การทดสอบระเบิดปรมาณูในแอลจีเรีย ภาพจาก africaleader.com)

    (4) ในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ฝรั่งเศสมีสิทธิ์เป็นชาติแรก แม้ว่าประเทศเหล่านี้สามารถหาคู่ค้าที่ให้ผลประโยชน์สูงกว่าก็ตาม ด้วยเหตุนี้ทำให้ในชาติอดีตอาณานิคมฝรั่งเศส ทรัพย์สินการลงทุนหลักๆ เป็นของชาวฝรั่งเศสที่เข้าไปตั้งรกราก ตัวอย่างเช่น ในประเทศโกตดิวัวร์ บริษัทฝรั่งเศสเป็นเจ้าของและควบคุมระบบสาธารณูปโภคหลักทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ การขนส่ง ท่าเรือ และธนาคารใหญ่ นอกจากนี้ในด้านการค้า การก่อสร้าง และการเกษตร ก็ไม่ต่างกัน
    (5) ในข้อตกลงทางด้านกลาโหม ชาติแอฟริกันเหล่านี้ต้องส่งนายทหารระดับสูงไปฝึกที่ฝรั่งเศสหรือหน่วยฝึกของฝรั่งเศสในต่างแดน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือฝรั่งเศสได้ฝึกผู้ทรยศชาติมาตุภูมินับร้อยนับพัน และเลี้ยงดูทหารพวกนี้อย่างดีเพื่อเอาไว้ใช้เมื่อคราวจำเป็น เช่น ในการช่วยทำรัฐประหาร
    (6) ภายใต้ข้อตกลงด้านกลาโหม ฝรั่งเศสมีสิทธิทางกฎหมายในการนำกำลังทหารเข้าแทรกแซงกิจการภายในอดีตประเทศอาณานิคมเหล่านี้ รวมถึงการคงกองกำลังทหารไว้อย่างถาวร จากเหตุการพยายามรัฐประหารและสงครามกลางเมืองในโกตดิวัวร์ ชุมชนธุรกิจของฝรั่งเศสสูญเงินไปหลายล้านเหรียญฯ เมื่อการโค่นล้มประธานาธิบดีโลรองต์ จีบากโบ ผู้ยืนอยู่ตรงข้ามฝรั่งเศสทำได้สำเร็จ ฝรั่งเศสเรียกร้องเงินชดเชยจากรัฐบาลใหม่ที่พวกเขาสนับสนุน ด้านอลาสซาเน วาตารา ประธานาธิบดีคนใหม่ จ่ายคืนให้ถึง 2 เท่า
    (7) ผูกมัดให้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการและภาษาในการเรียนการสอน เรียกการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมของฝรั่งเศสในชาติแอฟริกาว่า “ฟรังโกโฟนี” ดำเนินการโดยองค์กรต่างๆ ที่ควบคุมดูแลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
    (8) ผูกมัดให้ใช้สกุลเงินอาณานิคมฝรั่งเศสที่เรียกว่า “ฟรังก์เซฟา” (Franc CFA) ช่วงที่เริ่มมีการใช้เงินยูโรในยุโรป ประเทศต่างๆ ในยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มประเทศนอร์ดิก พบความจริงนี้เข้าก็ประหลาดใจ แนะนำให้ฝรั่งเศสเลิกล้มระบบ แต่ไม่เป็นผล
    (9) ผูกมัดให้ชาติแอฟริกาส่งรายงานงบดุลและทุนสำรองประจำปี นอกจากนี้ในการประชุมประธานธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอดีตอาณานิคมฝรั่งเศส และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของชาติเหล่านี้ที่มีขึ้นทุกๆ 2 ปี ถูกจัดขึ้นโดยธนาคารกลางฝรั่งเศสและกระทรวงการคลังฝรั่งเศส
    (10) อดีตประเทศอาณานิคมแอฟริกาของฝรั่งเศสไม่สามารถหาพันธมิตรทางทหารได้หากว่าฝรั่งเศสไม่อนุมัติ ทั้งที่กลุ่มประเทศเหล่านี้แทบไม่มีพันธมิตรทางทหารอยู่แล้ว ยกเว้นอดีตชาติอาณานิคมด้วยกัน
    (11) ผูกมัดให้เป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสหากเกิดสงครามใหญ่หรือวิกฤติระดับโลก
    บทความ Africa and France : An unfulfilled dream of independence? จากเว็บไซต์ dw.com ของเยอรมนี โดย Silja Frohlich เขียนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีว่าชาติแอฟริกาที่เป็นอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสกำลังฉลอง 60 ปีหลังได้รับเอกราช แต่อิทธิพลของฝรั่งเศสยังแผ่ปกคลุมอยู่ทั่ว ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่แอฟริกาจะต้องตัดสายสะดือออกจากฝรั่งเศส
    “60 ปีแล้ว ทว่าแม้แต่ตำราเรียนยังต้องถูกกำหนดโดยฝรั่งเศส” นาตาลี แยมบ์ ที่ปรึกษาพรรคเสรีภาพและประชาธิปไตยแห่งโกตดิวัวร์กล่าวไว้ นอกจากนี้ยังเธอบอกว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือฝรั่งเศสยังกำหนดระบบการเมืองไว้ด้วย “ก่อนที่ฝรั่งเศสจะยอมมอบเอกราชให้ พวกเขาได้ตัดสินใจเลิกระบบรัฐสภาในบางประเทศ และกำหนดระบบประธานาธิบดีขึ้นมาแทน เพื่อว่าอำนาจในดินแดนอดีตอาณานิคมจะอยู่ในมือคนคนเดียว และการบงการผ่านคนคนเดียวย่อมง่ายกว่า”
    เอียน เทย์เลอร์ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองแอฟริกาจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ในสกอตแลนด์ กล่าวว่า ตอนเริ่มต้นยุคทศวรรษที่ 1980 นักการเมืองฝรั่งเศสต่างประกาศที่จะหยุดการมีอิทธิพลในแอฟริกา แต่ไม่กี่ปีต่อมาพวกเขาก็ตระหนักว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจและการเมืองในดินแดนเหล่านี้ยังคงสำคัญอยู่มาก
    พอล เมลลี นักวิชาการจากกลุ่ม Chatham House ของอังกฤษ บอกว่า ในปี ค.ศ.1962 ประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกล ของฝรั่งเศส มอบภารกิจให้ฌัก ฟุกการ์ ที่ปรึกษาของเขา ให้สร้างสายสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายผู้นำฝรั่งเศสกับกลุ่มชนชั้นสูงในอดีตอาณานิคม สุดท้ายฟุกการ์กลับมาพร้อมหลายข้อตกลงที่ทำกับประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะฝรั่งเศสจะมอบการปกป้องทางทหารให้เพื่อแลกกับเงินก้อนโต พวกผู้นำแอฟริการับรองสิทธิ์บริษัทฝรั่งเศสในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเพชร แร่ธาตุ ยูเรเนียม ก๊าซ และน้ำมัน ทำให้มีบริษัทฝรั่งเศสในแอฟริกาถึง 1,100 บริษัท 2,100 สาขา ฝรั่งเศสมีกองกำลังทหารอยู่ในแอฟริกาอยู่มากพอสมควร หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สระบุในปี 2007 ว่าครึ่งหนึ่งของกองกำลังสันติภาพฝรั่งเศสที่มีอยู่ราว 12,000 นายประจำการในแอฟริกา
    นาตาลี แยมบ์ กล่าวถึงข้อตกลงเมื่อไม่นานมานี้ระหว่างฝรั่งเศสและสมาชิก 8 ชาติในกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตก ในการแทนที่ค่าเงินฟรังก์เซฟาด้วยค่าเงินใหม่ที่ชื่อว่า Eco (มาจาก ECOWAS : Economic Commumity of West African States) สำหรับ Eco เป็นนโยบายที่พูดถึงมานานแล้วแต่ไม่เคยเกิดขึ้น พวกเขาบอกว่าจะเปลี่ยนระบบ แต่ที่แท้ก็แค่เปลี่ยนชื่อ และหากจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดมันต้องเป็นการริเริ่มจากรัฐบาลของแอฟริกา ไม่ใช่ประกาศ กำหนด และวางแผนโดยฝรั่งเศส
    อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวทำให้ต่อจากนี้ธนาคารกลางของชาติจากแอฟริกาตะวันตกไม่ต้องนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเข้าสู่ธนาคารกลางฝรั่งเศสอีกแล้ว แต่จะต้องรักษาอัตราแลกเปลี่ยนกับยูโรไว้คงที่เพื่อป้องกันภาวะเงินเฟ้อ แม้ไม่ต้องนำเงินจากแอฟริกามาป้อนให้ฝรั่งเศสเหมือนแต่ก่อน แต่บรรดาชาติแอฟริกาจะยังไม่มีอิสรภาพในนโยบายทางการเงินต่อไป ก่อนนี้ชาติแอฟริกาจะต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศ 65 เปอร์เซ็นต์ใส่เข้าไปในคลังที่ฝรั่งเศสดูแล
    เอียน เทย์เลอร์ กล่าวว่า ดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่รัฐบาลของชาติแอฟริกาเหล่านี้ไม่ทราบจำนวนเงินของตนในคลังฝรั่งเศสว่ามีอยู่เท่าใด โดยฝรั่งเศสเองก็บอกว่าเงินดังกล่าวเป็นความช่วยเหลือและพัฒนาแก่ชาติเหล่านี้ ทั้งที่พวกเขาเป็นเจ้าของเงิน เท่ากับว่าอำนาจและอิทธิพลของฝรั่งเศสยังมีอยู่เต็มเปี่ยม
    “ฟรังก์เซฟาต้องหมดไป ช่างเป็นการล่าอาณานิคมใหม่ที่น่าขัน ทั้งที่ควรหมดไปตั้งแต่ 60 ที่แล้ว ขั้นแรกต้องฆ่าฟรังก์เซฟาเพื่อเดินหน้าไปสู่อิสรภาพที่แท้จริงของชาติแอฟริกาอดีตอาณานิคมฝรั่งเศส คงถึงเวลาแล้วที่ชนชั้นสูงของแอฟริกาจะประกาศว่าแอฟริกาต้องมาก่อน”
    อย่างไรก็ตาม หากจะให้ฟันธงว่าชาติใดเจ็บปวดกับการถูกฝรั่งเศสล่าเมืองขึ้นมากที่สุด คงหนีไม่พ้นแอลจีเรีย บทความชื่อ France’s colonial-era crimes ‘unforgotten’ in Algeria จากเว็บไซต์ aa.com.tr โดย Abbas Maymoudi เขียนไว้เมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว เปิดด้วย “แอลจีเรียกล่าวหาฝรั่งเศสว่าทำลายล้างอัตลักษณ์ ปล้นสะดม ทรมาน ฆาตกรรม และทดสอบนิวเคลียร์ระหว่างยุคอาณานิคม”
    ฝรั่งเศสยึดครองแอลจีเรียเป็นเวลา 132 ปี ตั้งแต่ ค.ศ.1830 ถึง 1962 ในระหว่างเส้นทางสู่เอกราช มีชาวแอลจีเรียนมากกว่า 1.5 ล้านคนสังเวยชีวิต
    การเข้าไปของฝรั่งเศสถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวแอลจีเรียน แต่สุดท้ายก็เกินจะทานไหว ระหว่างปี 1880-1881 ฝรั่งเศสได้ศีรษะผู้ต่อต้านไป 37 ศีรษะ ปัจจุบันกะโหลกศีรษะทั้งหมดถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ Museum of Mankind ในกรุงปารีส แอลจีเรียทำเรื่องขอคืนตั้งแต่ปี 2011 แต่ฝรั่งเศสปฏิเสธ นอกจากนี้หอจดหมายเหตุของแอลจีเรียก็ได้ของานศิลปะ หนังสือ แผนที่คืนจากฝรั่งเศส ซึ่งก็ถูกปฏิเสธเช่นเดียวกัน
    วันที่ 8 พฤษภาคม 1945 เป็นวันที่ชาวแอลจีเรียนจดจำได้ดี ผู้คนมหาศาลลงสู่ท้องถนนเฉลิมฉลองชัยชนะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรมีต่อนาซีเยอรมันและการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 (ไม่นับกรณีญี่ปุ่น) และพ่วงการเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส สุดท้ายการฉลองชัยกลายเป็นการนองเลือด ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึงประมาณ 45,000 คน
    ตลอดการอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสมีชาวแอลจีเรียเสียชีวิตไปกว่า 1.5 ล้านคน แอลจีเรียกล่าวหาฝรั่งเศสว่าใช้พลเรือนเป็นโล่ระหว่างการต่อสู้กับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติ (ALN) มีบางแหล่งข้อมูลในปี 2017 ได้แก่ เอ็นจีโอกลุ่ม Algerian League for the Defense of Human Rights ได้ประเมินจำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสไว้ถึงประมาณ 10 ล้านคน
    วันที่ 17 ตุลาคม 1961 ชาวแอลจีเรียนเดินขบวนประท้วงฝรั่งเศสในกรุงปารีสเพื่อเรียกร้องเอกราช ตำรวจฝรั่งเศสมอบห่ากระสุนให้แทน ผู้ประท้วงเสียชีวิต 345 คน
    ยังมีประเด็นการทดสอบระเบิดปรมาณู ฝ่ายฝรั่งเศสยอมรับว่ามีการทดสอบในทะเลทรายซาฮารา ดินแดนของแอลจีเรีย 17 ครั้ง ระหว่างปี 1960-1966 ฝ่ายแอลจีเรียบอกตัวเลขมากกว่านั้นที่ 57 ครั้ง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในเวลาต่อมาประมาณ 42,000 คนจากผลของสารกัมมันภาพตรังสี อีกทั้งทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหายเป็นวงกว้าง
    ผมไปอ่านเรื่องนี้ต่อใน dw.com บทความชื่อ Algeria: 60 years on, French nuclear tests leave bitter fallout ระบุว่า การทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1960 การทดสอบใช้รหัส “หนูทะเลทรายสีน้ำเงิน” เกิดความผิดพลาด แทนที่จะจำกัดพื้นที่อยู่ใต้ดิน ฝุ่นรังสีนิวเคลียร์กลับกระจายขึ้นสู่ท้องฟ้า วิ่งหนีกันจ้าละหวั่น รวมทั้งรัฐมนตรีจากฝรั่งเศสที่เดินทางไปเป็นสักขีพยาน
    ชาวแอลจีเรียนจำนวนมากเรียกร้องค่าเสียหายไปยังรัฐบาลฝรั่งเศส จนถึงบัดนี้ได้รับการเยียวยาไปแล้ว 1 คน
    ประเทศอดีตอาณานิคมฝรั่งเศสในแอฟริกาส่วนมากอยู่ทางด้านเหนือและตะวันตกของทวีป ประกอบไปด้วย แอลจีเรีย ตูนิเซีย โมร็อกโก (แบ่งครึ่งกับสเปน) มาลี บูร์กินาฟาโซ มอริทาเนีย เซเนกัล กินี โกตดิวัวร์ โตโก เบนิน แคเมอรูน กาบอง คองโก ไนเจอร์ ชาด แอฟริกากลาง จิบูตี คอโมรอส และมาดากัสการ์ ประเทศเหล่านี้ค่อยๆ ทยอยได้รับเอกราชระหว่างปี ค.ศ.1956 ถึง 1977
    การยื้อสภาพประเทศอาณานิคมไว้อย่างเนิ่นนานแม้จบสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้วหลายปี นักวิเคราะห์บางคนมองว่าเพราะฝรั่งเศสต้องการลบความอับอายที่ในช่วงต้นของสงครามถูกนาซีเยอรมันยึดได้ภายในเวลาเพียง 6 สัปดาห์.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"