ปัจจัยที่ทำให้ยุคโควิด-19 ยาวนาน 10 ปี


เพิ่มเพื่อน    

ภาพ : เชื้อโรคโควิด-19 แพร่ผ่านรองเท้าน้อยมาก

เครดิต : https://www.who.int/images/default-source/health-topics/coronavirus/myth-busters/mythbusters---shoes.tmb-1920v.png?sfvrsn=cc08f8dd_1

 

        ความเห็นต่างทั้งระดับปัจเจกกับระดับรัฐ ความรู้ความเข้าใจต่อโรค การพัฒนาวัคซีนกับยา เหล่านี้เป็นปัจจัยชี้วัดว่ายุคโควิด-19 จะกินเวลายาวนานเพียงไร จะถึง 10 ปีหรือเกินกว่านั้นหรือไม่

 

       

        เกือบครบปีแล้วนับจากจีนแจ้งองค์การอนามัยโลกอย่างเป็นทางการ พบการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่โรคโควิด-19 ในภาพรวมระดับโลกสถานการณ์แย่กว่าเดิม บางประเทศระบาดระลอก 2 ต้องปิดเมืองปิดประเทศอีกครั้ง บางประเทศนับจากเริ่มระบาดจนบัดนี้ยังควบคุมไม่ได้ มีไม่กี่ประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี

        ดังที่เคยนำเสนอว่ายุคโควิด-19 แบ่งเป็น 3 ระยะ ณ ขณะนี้ยังอยู่ระยะแรก กำลังระบาดหนัก บางเมืองเปิด บางเมืองปิด เปิดๆ ปิดๆ เริ่มทดลองใช้ยากับวัคซีน วิธีการรักษาแบบต่างๆ

        บทความนี้สรุปปัจจัยที่ทำให้ยุคโควิด-19 อาจกินเวลา 10 ปีหรือนานกว่านั้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับบุคคล กลุ่มเฉพาะ ระดับประเทศ และระดับโลก ตามบริบทล่าสุดดังนี้

        ประการแรก ระดับบุคคล กลุ่มเฉพาะ

        ในขณะที่คนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือป้องกันโรคระบาด แต่บางคนบางกลุ่มทำสิ่งตรงข้าม แบ่งเป็น 2 ประเภทย่อย

        1.1 พวกไม่เห็นด้วย ต่อต้าน

        กลุ่มนี้คือพวกที่ต่อต้านการล็อกดาวน์ การปิดเมืองปิดประเทศ ชุมนุมประท้วงรัฐบาล ไม่ยอมทำตามมาตรการของรัฐ เช่น ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามไปเที่ยวชายหาด จัดงานเลี้ยง หลายประเทศมีคนประเภทนี้ไม่มากก็น้อย

      1.2 ไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร

        กลุ่มนี้ไม่ถึงกับต่อต้าน แต่ไม่ให้ความร่วมมือป้องกันการแพร่ระบาดเท่าที่ควร เช่น การรักษาระยะห่างอยู่เสมอ การสวมใส่หน้ากากอนามัย ผลคือมาตรการปกติไม่ได้ผล ไม่อาจควบคุมการระบาดได้ดี บางประเทศต้องประกาศล็อกดาวน์ ปิดเมืองปิดประเทศอีกครั้ง เช่น หลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางกับยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย

        กรณียุโรป ในเวลา 5 สัปดาห์ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเป็น 2 เท่า แม้การแพร่ระบาดมาจากหลายปัจจัย แต่สะท้อนว่ามาตรการปกติไม่ได้ผล ต่างจากบางประเทศที่ได้ผล เช่น ไต้หวัน เวียดนาม จีน ไทย

      ประการที่ 2 ระดับประเทศ

        แยกโดยหลักคิดหรือนโยบายของรัฐบาล แบ่งเป็น 2 ประเภท พวกเห็นด้วยกับการล็อกดาวน์กับไม่สนับสนุนการล็อกดาวน์

      2.1 ไม่เห็นด้วยกับการล็อกดาวน์

        รัฐบาลทรัมป์เป็นกรณีตัวอย่าง หลักคิดคือเศรษฐกิจสำคัญกว่าโรคระบาด ประธานาธิบดีทรัมป์พูดซ้ำหลายครั้งว่าขอให้ฟังตนมากกว่าเชื่อข้อมูลวิทยาศาสตร์ ให้เหตุผลว่าพวกนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ตกอยู่ใต้อำนาจการเมืองไปแล้ว

        สตีเวน มนูชิน (Steven Mnuchin) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังประกาศจะไม่ใช้มาตรการปิดเมืองอีกแล้ว เพราะสร้างความเสียหายมากกว่า เรื่องที่ต้องทำคือ “ทุกคนต้องกลับไปทำงาน” แม้เสี่ยงติดเชื้อก็ตาม

      2.2 เห็นด้วยกับการล็อกดาวน์

        กลุ่มนี้รู้ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม แต่เห็นว่าจำต้องล็อกดาวน์ เพราะเป็นวิธีที่ก่อประโยชน์มากกว่า เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับความรู้ระบาดวิทยา จีนเป็นตัวอย่างแรก รัฐบาลสั่งปิดเมืองอย่างรวดเร็วและเข้มงวด ให้ประชาชนทุกคนอยู่แต่ในบ้าน รัฐบาลส่งกองทัพเข้าไปส่งน้ำส่งอาหาร วิธีการนี้ได้ผล สามารถควบคุมการแพร่ระบาด

        เมื่อต้นพฤศจิกายนที่ผ่านมา นายกฯ อังกฤษ บอริส จอห์นสัน กล่าวว่า ในสถานการณ์ตอนนี้ที่กำลังระบาดหนักไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปิดเมืองอีกรอบ เตือนว่าหากโควิด-19 แพร่ระบาดหนักจนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือแพทย์พยาบาลมีสิทธิเลือกว่าควรรักษาใครก่อนหรือทิ้งใครไว้

        เรื่องที่ต้องเข้าใจคือ การล็อกดาวน์ให้อยู่แต่ในบ้านเป็นมาตรการแยกผู้ติดเชื้อออกจากคนปกติ ไม่ว่าผู้ติดเชื้อแสดงอาการหรือไม่ เพราะหลังจาก 14 วัน (หรือมากกว่า) ผู้ป่วยโควิด-19 จะแสดงตัวให้รู้หรือไม่ก็หายเอง รัฐบาลที่ไม่สนับสนุนการปิดเมืองเท่ากับปล่อยให้โรคระบาดหนักต่อไปเรื่อยๆ

        ประการที่ 3 ระดับโลก

      3.1 การแพร่ระบาดแบบไม่รู้ตัว

      ตั้งแต่แรกระบาด กระทรวงสาธารณสุขจีนเผยว่า มีกรณีเชื้อแพร่ระบาด “ก่อนผู้ป่วยมีอาการ” ก่อนผู้ป่วยจะรู้ตัว การแพร่เชื้อขณะไม่แสดงอาการมีความชัดเจน และดูเหมือนจะมากกว่าที่เข้าใจตอนแรก งานวิจัยของสำนักสถิติแห่งชาติสหราชอาณาจักร (ONS) พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ร้อยละ 86.1 (ช่วงเดือนเมษา.ถึงมิถุนา.) ไม่แสดงอาการ (ไข้ ไอ เสียการรับกลิ่นรส)

        งานวิจัยที่เผยแพร่ปลายเดือนตุลาคม พบว่าร้อยละ 20 ของพนักงานร้านขายของชำสหรัฐติดโรคโควิด-19 และส่วนใหญ่เป็นพวกไม่แสดงอาการ

        ข้อมูลหลายชิ้นบ่งชี้ว่าผู้ป่วยโควิด-19 ชนิดไม่แสดงอาการมีมากขึ้น

      3.2 ประสิทธิภาพวัคซีน

        หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าทันทีที่โลกมีวัคซีนปัญหาโควิด-19 จะหมดไป ความจริงซับซ้อนกว่านั้น ปลายเดือนกันยายน คริส วิทตี้ (Chris Whitty) หัวหน้าทีมแพทย์อังกฤษเตือนอย่าคาดหวังวัคซีนรุ่นแรกมากนัก เพราะวัคซีนรุ่นแรกอาจมีประสิทธิภาพป้องกันโรคเพียง 40-60% (ครึ่งหนึ่งของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อได้) ประโยชน์ของวัคซีนรุ่นแรกคือลดอาการเจ็บป่วย

        ก่อนหน้านั้น แอนโทนี เฟาซี (Anthony Fauci) พูดทำนองเดียวกันว่า ในระยะแรกถ้าได้ผลสัก 75% ถือว่าดีแล้วหรือถ้าได้ผล 50-60% ก็ยอมรับได้

        ต้องรอพัฒนาวัคซีนรุ่นต่อไปที่ปรับปรุงจากรุ่นแรก (ตรงกับระยะที่ 3 ของยุคโควิด-19)

      3.3 การกระจายวัคซีน

        ประเทศเศรษฐกิจดีประชาชนย่อมได้วัคซีนอย่างทั่วถึงก่อน ตรงข้ามกับประเทศยากจนที่ต้องรอความช่วยเหลือ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกชี้ว่า หลักการให้วัคซีนที่ถูกต้องคือ ให้บางคนแก่ทุกประเทศ “ดีกว่า” ให้ทุกคนในประเทศตัวเองก่อน หากไม่ช่วยประเทศอื่นจะทำให้การระบาดยืดเยื้อ

        เป็นที่มาของโครงการวัคซีนโลก COVAX เพื่อกระจายวัคซีนแก่ทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศยากจน ความคืบหน้าโครงการเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นโครงการระดับโลกที่ต้องเห็นผลเร็ว ยิ่งช้ายิ่งเสียหาย

      3.4 เชื้อกลายพันธุ์

        โดยธรรมชาติเชื้อไวรัสกลายพันธุ์อยู่เสมอ บางครั้งก่อโรครุนแรงขึ้น บางครั้งลดความรุนแรง ล่าสุดพบคนติดเชื้อโรคโควิด-19 จากสัตว์จำพวกมิงค์ (mink) ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่าอาจเป็นต้นเหตุระบาดรอบใหม่จากเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่น่ากังวลกว่านั้นคือสายพันธุ์นี้ต่างจากสายพันธุ์ปัจจุบันมาก เกรงว่าวัคซีนที่กำลังวิจัยอยู่อาจใช้ไม่ค่อยได้ผล ต้องวิจัยใหม่หมด

        การที่มิงค์ติดโควิด-19 มาจากการกลายพันธุ์เช่นกัน

        เชื้อกลายพันธุ์เป็นเหตุที่ต้องวิจัยและปรับปรุงวัคซีนเป็นระยะ ให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากพอ และต้องวิจัยให้เร็วมากพอด้วย

      3.5 ทฤษฎีสมคบคิด

        ในขณะที่หลายคนพูดว่าวัคซีนคือทางออก แต่อีกด้านเกิดคำถามว่าควรรับวัคซีนหรือไม่

        ผลโพลจาก Pew Research Center ที่นำเสนอกลางเดือนกันยายน พบว่าคนอเมริกันร้อยละ 51 เท่านั้นที่อยากฉีดวัคซีน ที่เหลือกังวลว่าวัคซีนไม่ปลอดภัย

        ก่อนหน้านั้น 1 เดือน ผลสำรวจของ Gallup พบว่าคนอเมริกันร้อยละ 65 เท่านั้นที่ยอมฉีดวัคซีน ร้อยละ 35 บอกว่าจะไม่ฉีดแม้ อย.สหรัฐรับรองและฉีดให้ฟรี

        มีหลายเหตุผลที่ไม่ยอมฉีด ที่พูดกันมากคือ “ทฤษฎีสมคบคิด” (conspiracy theory) หนึ่งในทฤษฎีที่คนเชื่อกันมากคือมนุษย์เป็นผู้สร้างโควิด-19 เป็นแผนการที่วางไว้หลายปีแล้ว บิล เกตส์ (Bill Gates) แห่งไมโครซอฟต์ร่วมกับชนชั้นปกครองโลกต้องการลดประชากรโลก หวังใช้เหตุการณ์นี้ควบคุมโลกด้วยการสร้างวัคซีนที่ใส่ไมโครชิปควบคุมมนุษย์

        คนที่เชื่อว่าวัคซีนใส่ไมโครชิปอาจไม่ใช้วัคซีนตัวใดๆ  เลย เพราะไม่รู้ว่ามีไมโครชิปอยู่ในหลอดยาของตนหรือไม่  คนเหล่านี้จะคิดว่าสถาบันการแพทย์ องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ไม่น่าเชื่อถือเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองโลก นี่คือการอธิบายตามแนวทฤษฎีสมคบคิด

        มีปัจจัยลบหลายข้อที่ส่งผลให้การแพร่ระบาดยืดเยื้อ  บทความนี้นำเสนอภาพโดยสังเขป สรุปว่าความเห็นต่างทั้งระดับปัจเจกกับระดับรัฐ ความรู้ความเข้าใจต่อโรค การพัฒนาวัคซีนกับยา เหล่านี้เป็นปัจจัยชี้ว่ายุคโควิด-19 จะกินเวลายาวนานเพียงไร จะถึง 10 ปีหรือเกินกว่านั้นหรือไม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"