ได้มีการกำชับไปยังสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้เร่งติดต่อและหารือกับลูกหนี้แต่ละราย เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือที่สอดรับกับสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละราย (tailor-made) หลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปของ ธปท.
สิ้นสุดไปแล้วสำหรับมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไป ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2563 ซึ่ง ธปท.เองยืนยันว่าไม่มีการต่ออายุมาตรการแน่นอน ด้วยเหตุผลสำคัญคือ อาจส่งผลกระทบทางลบในระยะยาวได้ เนื่องจากลูกหนี้ที่พักหนี้อยู่จะยังคงมีภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตลอดช่วงการพักหนี้ ซึ่งเป็นภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว อีกทั้งยังไม่เป็นการส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงิน (moral hazard) เพราะลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบไม่มาก อาจอาศัยเป็นช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชำระหนี้ อีกทั้งยังจะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เพราะการพักหนี้เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลานาน คาดว่าจะทำให้สภาพคล่องจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยหายไปประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี
แม้ว่าจะไม่มีการต่ออายุมาตรการ แต่ ธปท.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยชี้แจงว่า “ได้ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เป็นการให้ความช่วยเหลือเชิงรุก ตรงจุดและเหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละรายมากขึ้น” โดยแบ่งเป็นกลุ่ม เช่น 1.ลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติ สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดอายุมาตรการ 2.ลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจได้ แต่ยังไม่ฟื้นตัว ตรงนี้จะให้สถาบันการเงินเข้าไปดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ โดยสามารถคงสถานะลูกหนี้ไม่ให้เป็นหนี้เสีย (NPL) ระหว่างการเจรจาจนถึงสิ้นปี 2563 และ 3.ลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ได้ให้สถาบันการเงินพิจารณาขยายระยะเวลาชะลอการชำระหนี้เป็นรายกรณีได้อีกไม่เกิน 6 เดือน นับจากสิ้นปีนี้ 4.คือลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน ให้เร่งติดต่อสถาบันการเงินเพื่อหาแนวทางร่วมกันป้องกันไม่ให้เป็นหนี้เสีย
รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธปท. ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีลูกหนี้ทั้งหมดของระบบสถาบันการเงินที่ขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการผ่อนผันการพักชำระหนี้ดังกล่าว คิดเป็น 6.89 ล้านล้านบาท เป็นเงินที่อยู่ในมาตรการพักหนี้ของลูกหนี้เอสเอ็มอี ประมาณ 1.35 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้แบ่งเป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ จำนวน 4 แสนล้านบาท คิดเป็นลูกหนี้ 7.8 แสนบัญชี และเป็นหนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ จำนวน 9.5 แสนล้านบาท คิดเป็นลูกหนี้ 2.7 แสนบัญชี และจากข้อมูล พบว่ามีลูกหนี้ประมาณ 94% ที่ทั้งสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการช่วยเหลือ และสถาบันการเงินสามารถติดต่อเพื่อดำเนินการช่วยเหลือด้วยวิธีต่างๆ ต่ออีก แต่มีอีก 6% ของยอดหนี้ หรือประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการติดต่อลูกหนี้ เพราะยังติดต่อไม่ได้ โทรศัพท์ไม่รับ จึงยังไม่รู้ว่าจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างไรกับลูกหนี้ในส่วนนี้หลังจากหมดอายุมาตรการช่วยเหลือ
ขณะที่ฝั่งกระทรวงการคลัง โดย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ได้มีการกำชับไปยังสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้เร่งติดต่อและหารือกับลูกหนี้แต่ละราย เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือที่สอดรับกับสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ระราย (tailor-made) หลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปของ ธปท. โดยให้แบ่งลูกหนี้เป็นกลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ยังได้รับผลกระทบสูงจากการระบาดของโควิด-19 และยังไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้หรือมีรายได้ไม่แน่นอน ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถขยายระยะเวลาการชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 6 เดือน นับจากสิ้นปี 2563 เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวมีสถานะเป็นหนี้เสีย
2.ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้ แต่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเร่งปรับโครงสร้างหนี้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2563 เพื่อให้เงื่อนไขการจ่ายหนี้เหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกหนี้ และลดภาระของลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวในระยะยาว และ 3.ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความพร้อมและสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจรับชำระหนี้ตามปกติ เพื่อลดภาระของลูกหนี้ตลอดระยะเวลาสัญญา เนื่องจากลูกหนี้ยังต้องรับภาระดอกเบี้ยในช่วงที่ได้รับการพักชำระหนี้
อีกทั้งได้ให้นโยบายว่าจะต้องช่วยเหลือลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการพักชำระหนี้ภายใต้มาตรการอื่นๆ ตามสถานการณ์ของลูกหนี้แต่ละรายและบริบทของระบบเศรษฐกิจ ผ่านการขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ให้กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้หรือมีรายได้ไม่แน่นอน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และรายย่อย เช่น การลดค่างวด การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เป็นต้น รวมถึงการให้สินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ
และล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบการแก้ไขปัญหาข้อติดขัดและขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึง และมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งมีทั้งการปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อต่อราย Soft loan ท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องของธนาคารออมสิน จากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย เป็นไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตรา 0.01% ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการ ดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564
นอกจากนี้ยังขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภายใต้โครงการ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อซอฟต์โลนท่องเที่ยว แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตามมาตรการดังกล่าว จากเดิมที่ บสย.ค้ำประกันให้เฉพาะกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) ทั้งนี้ บสย.คิดค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดยเริ่มค้ำประกันในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้รับสินเชื่อ และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อซอฟต์โลนออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยว และ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี พร้อมทั้งขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อ Extra cash วงเงิน 10,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี
โดยกระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการด้านการเงินและมาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะทำให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไปอย่างทั่วถึงและเพียงพอ และจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติช่วงนี้ไปได้ โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ดี จากการดำเนินการต่อยอดความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว อาจจะทำให้ลูกหนี้ที่เข้าข่ายคลายความกังวลได้บ้าง ว่าจะยังคงได้รับความช่วยเหลือต่อไป ส่วนความสำเร็จของแนวทางการช่วยเหลือหลังจากนี้คงต้องมาติดตามกันต่อว่าลูกหนี้ในกลุ่มเอสเอ็มอีจะกลับมามีลมหายใจและเดินหน้าธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |