“ชวน” เมินดึงตัวแทนม็อบร่วม กก.ปรองดอง ระบุตั้งใจดึงเฉพาะคนประสงค์แก้ไขปัญหาระยะยาว ไม่ใช่เอามาทะเลาะกัน เผยให้แนวเลขาฯ พระปกเกล้าแยกแยะการชุมนุม-อนาคต "วิษณุ" วอนอย่าติเรือทั้งโกลน ให้ประธานรัฐสภาทำไปก่อน "ก้าวไกล" โวยออกร่าง พ.ร.บ.ประชามติเบี่ยงเบนประเด็นตราบใดนายกฯ ชื่อประยุทธ์ก็ไร้ความชอบธรรมอยู่ดี "จตุพร" ฟันธงร่าง รธน.ไอลอว์ไปไม่รอด เป็นโมฆะแน่
ที่รัฐสภา วันที่ 5 พฤศจิกายน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ประกาศไม่เข้าร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า คณะกรรมการดังกล่าวยังไม่ได้มีการตั้งขึ้นมา โดยตอนนี้เป็นการติดต่อกับผู้ใหญ่เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นในฐานะผู้มีประสบการณ์และผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มา หลายท่านให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ และที่มาของคณะกรรมการปรองดองนั้นเป็นการส่งลูกมาจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ถ้าเราปฏิเสธไม่รับมาก็เหมือนกับการมองข้ามความสำคัญของการแก้ไข เราต้องทำการเมืองให้การเมืองในระบอบรัฐสภามีความมั่นคงและไม่มีปัญหามากเกินไปและเกิดความรุนแรงและการประทุษร้าย
"ไม่มีอะไรแก้ได้ร้อยทั้งร้อย แต่ถ้าเราลดลงมาได้ก็เป็นประโยชน์ คนรุ่นก่อนก็มีความขัดแย้ง เช่น มาจากการเลือกปฏิบัติ การแบ่งพรรคแบ่งพวก การใช้สื่อวิทยุชุมชนให้ร้ายไปถึงสถาบันหรือบุคคล หรือขัดแย้งกันถึงที่เข้าจังหวัดไม่ได้ เป็นสิ่งที่เราต้องทบทวนและแก้ไข เพื่อรองรับอนาคตที่เปลี่ยนแปลง" นายชวน กล่าว
นายชวนกล่าวอีกว่า การจะเชิญบุคคลใดมาเป็นกรรมการนั้นไม่ได้ง่าย เพราะผู้ใหญ่ที่ตนคุยด้วยไม่ได้หมายความว่าจะเข้ามาเป็นกรรมการ แต่พวกท่านเห็นด้วยกับการหาแนวทางการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง
เมื่อถามว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่คณะกรรมการชุดนี้จะต้องมีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามานั่งด้วย นายชวนกล่าวว่า ต้องเอาความสมัครใจ ที่ตนเชิญตัวแทนท่านสุทิน คลังแสง มาคุย เพราะตอนนั้นฝ่ายค้านประกาศก่อนว่าจะไม่เข้าร่วมด้วย ตนขอคำยืนยันจากท่านสุทิน แต่ท่านสุทินบอกว่าขอดูแนวทางก่อน แต่วันนั้นเรื่องใหญ่ คือ ความเห็นของประธานวุฒิสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้ความเห็นในทางที่เราไม่เคยมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ความขัดแย้งในเรื่องนี้ลดลงไปมาก
"ใครที่เต็มใจก็จะไปคุยด้วย แต่สมมุติถ้าเรามีคณะกรรมการแล้วจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ผมมีหน้าที่ดูว่าจะเอารูปแบบอะไร จะคัดใครเข้ามา ควรเอาคนประเภทใด มองปัญหาอย่างไร แต่ไม่ถึงขั้นไปเป็นประธานเอง เราตั้งใจเอาคนที่มีความตั้งใจที่จะเห็นการปรองดอง แต่ใครที่ยื่นคำขาดมาก็เป็นเรื่องเขาไป และเราก็จะทำงานในส่วนของเราไป ผมบอกเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าไปแล้วว่าให้แยกระหว่างเรื่องการชุมนุมกับเรื่องอนาคต" นายชวน กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นภาพของประธานสภาฯ ไปพบกับกลุ่มเยาวชน เพื่อให้เข้ามาร่วมกระบวนการสมานฉันท์
ส่วนการหารือกับอดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ได้หารือครบทุกคนหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า "ยังติดต่อท่านสมชาย (วงสวัสดิ์) ไม่ได้ ผมตั้งใจจะพูดกับทุกคนนะครับ แม้แต่ท่านประธานองคมนตรี (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ก็จะไปกราบเรียนในฐานะท่านเป็นผู้ใหญ่และเป็นนายกฯ มาเช่นกัน แต่สำหรับท่านธานินทร์นั้น ต้องดูก่อนว่าสุขภาพท่านไหวหรือไม่ แต่จะลองไปสอบถามดู เพราะผมรู้จักกับครอบครัวท่าน"
ไม่ใช่เอามาทะเลาะกัน
"การเดินสายหารือขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการเมืองนั้น ไม่ได้เจาะจงเฉพาะอดีตนายกฯ เท่านั้น แต่ตั้งใจจะคุยกับอดีตประธานสภาฯ ด้วย การจะมีคู่ขัดแย้งเข้ามานั่งในคณะกรรมการชุดนี้หรือไม่นั้น ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของเรา จึงเป็นที่มาของการกำหนดรูปแบบของคณะกรรมการไว้หลายลักษณะ ซึ่งตอนนี้พยายามประสานงานกับบุคคลหลายฝ่าย เราตั้งใจจะเอาคนที่มีความประสงค์ร่วมมองการแก้ไขในวันข้างหน้าร่วมกัน ไม่ใช่เอามาทะเลาะกัน" นายชวนกล่าว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่กลุ่มราษฎรปฏิเสธเข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ก็ยังต้องเดินหน้ากันต่อไป ไม่เดินหน้าแล้วจะไปไหน เรื่องนี้แล้วแต่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ส่วนผู้ชุมนุมไม่ยอมรับแนวทางดังกล่าว ก็รอเวลา เดี๋ยวต้องยอมรับสักวันหนึ่ง
เมื่อถามถึง 4 รายชื่ออดีตนายกรัฐมนตรีที่มีการทาบทามเข้ามาร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ไม่รู้ ผมไม่รู้ เรื่องนี้ก็แล้วแต่คุณจะคิดอย่างไร มาเกี่ยวอะไรกับผม”
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกลุ่มราษฎรปฏิเสธไม่เข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ เพราะมองว่าเป็นการซื้อเวลาว่า ตนไม่รู้ แต่เอาใจช่วย ถ้าคลอดไม่ได้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ในเมื่อเราทั้งหมดพูดกันว่าเป็นอำนาจของประธานรัฐสภา อย่าเพิ่งไปพูดอะไรในตอนนี้ ปล่อยให้เขาพยายามทำอะไรกันอยู่ เพราะมันอาจจะได้ผลขั้นต้นก็ได้ อย่าลุกขึ้นติเรือทั้งโกลน ลุกขึ้นตีปี๊บ ให้เขาทำไปก่อน ถ้าลุกขึ้นแห่กันหรือโห่กัน หรือกระหึ่มกันว่าไม่สำเร็จหรอก ถ้าตนเป็นนายชวนตนก็ไม่อยากทำเหมือนกัน
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนเรื่องโครงสร้างก็ให้สถาบันพระปกเกล้าเขาออกแบบ ซึ่งมีหลายสูตร ในโลกนี้คนที่เป็นคู่กรณีขัดแย้งกัน มีการคิดและเสนอทางออกอย่างนี้กันมาหลายสูตรแล้ว แต่บังเอิญของไทยเราไม่เหมือนกับปัญหาของอินโดนีเซียกับอาเจะห์ หรืออีกหลายปัญหา ถ้าคนสองกลุ่มขัดแย้งกัน วิธีแก้ปัญหาอาจจะเป็นอย่างหนึ่ง แต่อันนี้จะเอาสองคนมานั่งคุยกันก็กลายเป็นว่าต้องเริ่มต้นว่าใครขัดแย้งกับใคร เหมือนที่นายกรัฐมนตรีบ่นมาก่อนหน้านี้มาตลอดว่าท่านอยากจะเชิญมาคุย แต่ไม่รู้จะเชิญใคร เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง ฉะนั้นจะพูดกับคนที่อยู่เบื้องหน้าหรือคนที่อยู่เบื้องหลังก็ไม่รู้
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสงสัยพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎร 63 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องตื่นรู้ได้แล้วว่าไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากความพยายามทำแบบนี้ของนายสุภรณ์ และไม่มีประชาชนได้ประโยชน์จากความขยันที่ปราศจากความฉลาด ทำไมไม่เอาเวลาไปคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะนำพาประเทศชาติก้าวข้ามความขัดแย้ง จะรับฟังข้อเรียกร้องของนักเรียนนิสิตนักศึกษาด้วยความจริงใจอย่างไร อย่าบอกว่าถอยคนละก้าว แต่ไปไล่จับแกนนำทั้งหมด ปล่อยตัวคดีหนึ่งแล้วบุกรวบอีกคดีหนึ่งไปเรื่อยๆ อย่างนี้ประชาชนตัดสินใจได้ว่ารัฐบาลมีความจริงใจหรือไม่
"พล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรให้รางวัลอะไรกับนายสุภรณ์ที่มาทำอะไรไม่เข้าท่าแบบนี้ นอกจากจะไม่ได้แต้มอะไรเลย ยังเข้าเนื้อติดลบไปเรื่อยๆ ยิ่งทำแบบนี้ยิ่งเป็นใบเสร็จ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการหาแสวงหาทางออกให้บ้านเมืองตราบใดที่ยังด้อยค่าแพร่มลทินตั้งโจทย์ผิดว่านักเรียนนิสิตนักศึกษาถูกชักใย มีคนอยู่ข้างหลัง ดูหมิ่นเยาวชนคนรุ่นใหม่อนาคตของชาติว่าคิดเองไม่ได้จะแก้ปัญหาสำเร็จได้อย่างไร" นายอนุสรณ์กล่าว
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในหนังสือเรื่องร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. .... โดยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว พร้อมด้วยบันทึกหลักการและเหตุผลบันทึกวิเคราะห์ สรุปสาระสำคัญ และเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ถึงประธานรัฐสภาเพื่อให้นำเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาเป็นเรื่องด่วนว่า หากจะมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะรู้สึกตัวและละอายลุกมาเริ่มดำเนินการแก้ปัญหาทางออกประเทศไทยที่เกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่อีกด้านหนึ่งนี่คือการเบี่ยงประเด็นและผ่อนปรนเพื่อลดแรงกระแทกของสังคมในขณะนี้ การทำประชามติโดยที่ยังมีนายกฯ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไร้ความชอบธรรมอยู่ดี
ร่างรธน.ไอลอว์ไปไม่รอด
"ทางออกของประเทศไทยตอนนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกทันที อย่าซื้อเวลา อย่าตบตาประชาชน ถึงเวลาแล้วเริ่มกันใหม่ ใช้สภาเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จากบัญชีของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร หากพรรคใดได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.มากที่สุด พวกเราสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้จะไม่ได้ร่วมรัฐบาลก็ยอมยกมือให้รายชื่อจากบัญชีของพรรคนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อไม่ต้องใช้เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา แต่การที่นายกรัฐมนตรีดึงดันจะทำประชามติแทนการลาออก ถือเป็นการยื้อเวลาเพื่อประโยชน์ของตัวเองทั้งสิ้น" นายณัฐชากล่าว
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภาจะเอาร่างแก้ รธน.ของไอลอว์มาพิจารณาด้วย ซึ่งเชื่อว่า ร่างของประชาชนฉบับนี้คงมีชะตากรรมเหมือนในอดีต ยิ่งถูกกล่าวหาว่ามีความผิดปกติของ 200 ชื่อที่ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่ได้รู้เห็นในการเสนอร่างไอลอว์นั้น จึงทำให้จะมีสภาพโมฆะหรือไม่ และทำให้การเมืองง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องลงมติในสภาด้วย ทั้งหมดนั้น เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะถ้าปล่อยให้ร่างไอลอว์เดินหน้าต่อไป จะยิ่งมีปัญหาเกิดขึ้น ดังนั้นพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าคงไม่รอดจะถูกคว่ำให้มีสภาพเป็นโมฆะ ไม่ให้ไปถึงการโหวตลงมติ
นายจตุพรกล่าวถึงการตั้งกรรมการสมานฉันท์นั้น คณะราษฎร แถลงจุดยืนไม่ร่วมสังฆกรรม เพราะเป็นการเล่นละครซื้อเวลาให้พล.อ.ประยุทธ์ปฏิกิริยาของ ส.ส.รัฐบาลออกมาถล่มยับเช่นนี้ การสมานฉันท์ก็ไปไม่รอด 2 ส.ส.รัฐบาลที่ออกมาแสดงความเห็นนั้น ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่คงมีการหารือกันแล้ว เพราะจะถูกกดดันขั้นสูงสุดจากอดีตนายกฯ พวกนี้จึงต้องออกมาเตะตัดขาคว่ำเลย ซึ่งเป็นความวิตกกังวล ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนายชวน ปรากฏการณ์นี้การสมานฉันท์รับรู้ว่าไม่มีผลทางปฏิบัติ แต่จะเป็นมาตรการบังคับทางสังคม ถ้าอดีตนายกฯ เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก แล้วจะเกิดแรงกดดันมากมายอย่างคาดไม่ถึง บวกกับกระแสคำวินิจฉัย 2 ธ.ค.ด้วย ย่อมทำให้ฝ่ายรัฐบาลจะอยู่ในอาการที่ร่อแร่ที่สุด
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงความเห็นต่อการจัดตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ตามแนวทางของรัฐสภา โดยให้ทางสถาบันพระปกเกล้าศึกษารูปแบบคณะกรรมการว่า เป็นแนวทางหนึ่งที่จะเป็นกลไกในการลดความตึงเครียดและความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจถลำลึกสู่ความรุนแรงได้ ในช่วงที่ผ่านมาได้มีบุคคลและกลุ่มบุคคลยังมีความเห็นต่างในเรื่องแนวทางและรูปแบบ จึงทำให้ไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้ตามกรอบเวลาให้เท่าทันต่อสถานการณ์
"ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ยินดีร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้ง รัฐสภา พรรคการเมืองต่างๆ องค์กรทางการเมือง องค์กรเยาวชน สถาบันพระปกเกล้า องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) รวมทั้งองค์กรสื่อสารมวลชนต่างๆในการพัฒนาและการสร้างเวทีกลางสานเสวนาเพื่อทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง และช่วยประคับประคองไม่ให้สถานการณ์ถลำลึกสู่ความขัดแย้งรุนแรงนองเลือด พัฒนาประเทศไปสู่สันติธรรมประชาธิปไตย โดยจะมีการประสานงานต่างๆ เพื่อให้เกิดเวทีกลางเพื่อให้ทุกขั้วทุกฝ่ายได้มีช่องทางในการเสนอความเห็นอย่างสร้างสรรค์ด้วยความปลอดภัย" นายอนุสรณ์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |