การเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ที่กำลังจะตามมาในอนาคต หลายพรรคหลายฝ่ายต่างกำลังทยอยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ. เพราะเป็นสนามการเลือกตั้งหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากส่งผลถึงความได้เปรียบเสียเปรียบในสนามการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แต่ปัญหาที่ว่าใครที่ไม่สามารถช่วยเลือกตั้งหาเสียงได้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีคำตอบว่าห้ามข้าราชการการเมือง ส.ส. ส.ว. เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ไม่สามารถช่วยผู้สมัครหาเสียงได้ ซึ่งแม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพียงสั่งระงับการกระทำนั้น แต่ในส่วนของคดีอาญา ทาง กกต.สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญในการดำเนินการสืบสวน ไต่สวน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยทางคดีอาญา บทบัญญัติมาตรา 34 ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ถูกเขียนไว้ในระเบียบการหาเสียงท้องถิ่นข้อ 18 ที่ออกตามมาตรา 66 ผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษตามมาตรา 129 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งตำแหน่งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กกต.จะยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางบรรทัดฐานไว้ว่า 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด และปฏิบัติหน้าที่ประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ 4.มีเงินเดือนค่าจ้าง ค่าตอบแทนตามกฎหมมาย
โดยจะต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 4 ข้อ หากมีไม่ครบจะไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือกรณีผู้ช่วย ส.ส.ก็เข้าองค์ประกอบทั้งหมด จึงไม่สามารถที่จะไปช่วยหาเสียงหรือลงสมัครได้ ส่วนถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากใช้เวลาราชการไปช่วยหาเสียงจะผิดฐานละทิ้ง หรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ หรือมีความผิดฐานไม่เป็นกลาง ตามมติ ครม. ซึ่งทั้งสองอย่างจะถือเป็นความผิดทางวินัย แต่ถ้าเป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปช่วยก็จะผิดมาตรา 69 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น
สำหรับพรรคการเมืองกฎหมายไม่ได้ห้ามที่จะสนับสนุนหรือส่งผู้สมัคร โดยมาตรา 87 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง กำหนดให้พรรคสามารถใช้จ่ายเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งของสมาชิกพรรคได้ ถ้าหากพรรคส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่นก็สามารถที่จะออกเงินค่าใช้จ่ายให้ได้ รวมทั้งผู้สมัครสามารถใช้โลโก้พรรคหาเสียงได้ ส่วนผู้สมัครบางคนที่เคยเป็นอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรี สามารถนำตำแหน่งดังกล่าวไปหาเสียงได้ ดังนั้นพรรคการเมืองหากจะสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องทำให้ถูกทั้งกฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมืองด้วย
แต่ในส่วนของกรรมการบริหารพรรค ส.ส. หรือสมาชิกพรรคซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 34 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น หรือผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ส. ผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ส. จะไปช่วยถ่ายภาพในแผ่นป้าย เอกสารอื่นใดที่ใช้ในการหาเสียงร่วมกับผู้สมัครท้องถิ่น แจกใบปลิว ขึ้นเวทีปราศรัยกับผู้สมัคร หรือสนับสนุนเงิน ทรัพย์สิน ประโยชน์อื่นใดเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงให้ผู้สมัครท้องถิ่นนั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากถือเป็นบุคคลตามมาตรา 34 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น ห้ามดำเนินการใดๆ ที่เป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครใด
ในกรณีดังกล่าวนี้ยังมีเรื่องที่น่าจับตามคือ กลุ่มคณะก้าวหน้า ที่นำโดย “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ศาลมีคำพิพากษาตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี สามารถช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ.หาเสียงได้หรือไม่ เพราะจากที่เห็นตามหน้าสื่อเกือบหลายวันที่ผ่านมา ที่ฝั่งคณะก้าวหน้าได้ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงในหลายจังหวัด ซึ่งทางฝั่ง กกต.ได้ระบุว่าสามารถทำได้เพราะในกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้ห้ามให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองลงช่วยผู้สมัคร อบจ.หาเสียง
อย่างไรก็ตาม การออกข้อห้ามหาเสียงตามมาตรา 34 เป็นหลักคิดที่มีความพยายามในการสร้างความเสมอภาคระหว่างผู้สมัคร อบจ.แต่ละรายหรือกลุ่มการเมือง ลดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้สมัครด้วยกัน เนื่องจากนักการเมืองระดับชาติจะอยู่เบื้องหลังเพื่อหาเสียงให้นักการเมืองท้องถิ่นที่เป็นเครือข่ายหัวคะแนนในระบบเดิม ขณะที่ข้อดี กกต.อาจจะไม่ต้องการเห็นว่ามีการใช้ทรัพยากรบุคคลหรือเครื่องมือที่เป็นของรัฐเข้าไปสนับสนุนผู้สมัคร หากปล่อยไว้ก็จะมีการนำตัวบุคคลของรัฐและเครื่องมือไปใช้ประโยชน์ในการหาเสียงให้กับพรรคพวกหรือญาติพี่น้องซึ่งจะเป็นผลเสีย ที่สำคัญ กกต.ไม่ต้องการให้นักการเมืองระดับชาติลงมาคลุกฝุ่นในสนามการเมืองท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงคงแบ่งแยกได้ยาก และในทางกลับกันอาจจะมีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในทางการเมืองที่จะทำให้มีการร้องเรียนที่มากขึ้น นำไปสู่ปัญหาที่จะตามมาในอนาคต
แต่การออกข้อห้ามของ กกต.ถูกมองว่าผิดธรรมชาติจากระบบอุปถัมภ์ดั้งเดิม การมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนจากฐานคะแนนเสียงในกลุ่มเดียวกัน และเรื่องนี้ขัดแย้งกันเองในทางปฏิบัติ เพราะ กกต.เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองส่งตัวบุคคลลงรับสมัครแข่งขันได้ ใช้โลโก้หรือภาพหัวหน้าพรรคการเมืองได้แต่ต้องได้รับอนุญาต ทั้งที่พรรคการเมืองไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มการเมืองส่วนหนึ่งอาจจะมีความกังวลบ้าง แต่เชื่อว่าในที่สุดก็คงจะต้องหาวิธีการเพื่อให้การช่วยเหลือในการหาเสียงได้แน่นอน และ กกต.จะต้องพิจารณาว่าหากมีการใช้วิธีการใต้ดินจะน่าวิตกกว่าวิธีการที่เห็นได้บนดินหรือไม่ หากนักการเมืองระดับชาติเปิดหน้าชัดเจนว่าให้การสนับสนุนใครก็คงไม่เป็นปัญหา
สำหรับผู้ที่เป็นญาติพี่น้อง สามีภรรยากับผู้สมัครอาศัยหลับนอนในบ้านหลังเดียวกันกับผู้ที่เข้าหลักเกณฑ์ในลักษณะต้องห้าม เช่น นั่งรับประทานอาหาร ขับรถไปด้วยกัน กกต.จะใช้หลักเกณฑ์ใดพิจารณาตามข้อกฎหมาย จะไปเปิดเผยตัวในที่สาธารณะในทางพฤตินัยได้หรือไม่ หรือถ้าสามีสมัครนายก อบจ. ภรรยาที่เป็นข้าราชการหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะไม่สนับสนุนสามีได้อย่างไร
ทำให้การวินิจฉัยเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก หากมีการร้องเรียนจะต้องคำนึงด้วยว่ากฎหมายที่เป็นข้อห้ามจะใช้บังคับผู้เกี่ยวข้องได้อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ เพื่อไม่ให้ถูกว่าว่ามีการเลือกปฏิบัติจากการวางกรอบหรือบรรทัดฐานในการวินิจฉัยตามข้อกฎหมาย เพราะ กกต.มีกรอบวิธีคิดที่กว้างมาก
ดังนั้น กกต.จะต้องใช้ดุลยพินิจพอสมควรในการตัดสินเรื่องร้องเรียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |