"วิษณุ" เผย "นายกฯ" เซ็นรับรองร่าง พ.ร.บ.ประชามติแล้ว ห่วงจัดคำถามพ่วง ร่วมเลือกตั้งท้องถิ่นยังไม่มีวี่แวว ชี้จัดแยกไม่คุ้ม เปลืองงบ 3 พันล้าน ด้าน "สิระ" ป่วนไม่เอากก.สมานฉันท์ของ "ชวน" เพราะมีคนไม่ชอบ เหน็บรายชื่ออดีตนายกฯ แก่ทั้งนั้น เอาไปดองดีกว่า
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เซ็นรับรอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และส่งไปยังรัฐสภาแล้ว ซึ่งมีเนื้อหาตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่างมา และเมื่อกฎหมายนี้ออกมาเมื่อไหร่ ก็สามารถไปลงประชามติได้
โดยประเด็นหลักคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ขณะนี้คำถามจึงมีข้อเดียวคือ ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขผ่านวาระ 3 แล้วนี้หรือไม่ นี่คือคำถามที่ กกต.ตั้ง ส่วนจะมีคำถามพ่วงอะไรนั้น ใครจะเป็นคนตั้งก็แล้วแต่ ไม่ใช่เรื่องของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นมติ ครม. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 116 โดย ครม.เป็นคนขอให้มีการลงประชามติ ยกเว้นประชามติว่าเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ อันนี้เป็นภาคบังคับ ครม.ไม่เกี่ยว
เมื่อถามว่า คำถามพ่วงในการทำประชามติ จะเป็นข้อเสนอจากคณะกรรมการชุดนี้ได้หรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า ถ้าไม่ใช่ข้อเสนอจากคณะกรรมการชุดนี้ มันจะกลายเป็นว่ารัฐบาลเป็นคนตั้งคำถามพ่วง ซึ่งจะดูไม่ดี แต่ถ้าเป็นคณะกรรมการชุดนี้ ก็จะเป็นการสิ้นข้อสงสัย เพราะอำนาจในการตั้งคำถามประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 116 เป็นอำนาจของ ครม. แต่ห้ามอยู่ 2 อย่าง คือการตั้งคำถามที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และการตั้งคำถามที่เกี่ยวกับตัวบุคคล
ถามว่าโอกาสที่จะตั้งคำถามพ่วงไปพร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายก อบจ. เป็นไปได้หรือไม่ นายวิษณุเผยว่า เราเคยพูดกันมาก่อนหน้านี้ แต่ถึงวันนี้ยังห่วง เพราะเหลือเวลาอีก 50 วันก็ถึงวันเลือกตั้ง อบจ. แต่ยังไม่เห็นวี่แววลู่ทาง ถ้าเร่งก็อาจจะได้ แต่ถ้าช้าก็อาจจะไม่ทัน เพราะเริ่มต้นต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในการตั้งคำถามก่อน
"ไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนกับการลงประชามติเมื่อครั้งที่ผ่านมา ที่พูดกันว่า ประชาชนยังไม่มีการอ่านรัฐธรรมนูญกันเลย ยังไม่เข้าใจอะไร แล้วไปให้เขาออกเสียงกันได้อย่างไร ซึ่งถ้าหากจัดพร้อมกับการเลือกตั้ง อบจ. มันก็จะคุ้ม แต่ถ้าไปจัดแยกอีก มันก็จะเสียงบประมาณอีก 3,000 ล้านบาท ซึ่งไม่คุ้ม ยืนยันว่าถ้าเร่งกันก็อาจจะได้ แต่ตนไม่กล้าบอกว่าจะทันหรือไม่ทัน ซึ่งถ้าวันนี้มีคำถามแล้วก็อาจจะทัน แต่คณะกรรมการยังไม่มีเลย"
ส่วนที่มีคนเสนอให้ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เฉพาะกิจ 1 ฉบับ ใช้เฉพาะคราวนี้ นายวิษณุบอกว่า ยังเป็นไปได้ แต่ใครจะเป็นคนร่าง ตนก็ร่างได้ แต่เดี๋ยวจะเป็นที่ไม่ยอมรับ เพราะถ้าหากออกเป็น พ.ร.ก.กำหนดแล้ว ใครจะไม่มีโอกาสแก้สักคำ เพราะฉะนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์นั่นแหละที่ควรจะทำ เสนอมาแล้วรัฐบาลก็รับ แล้วจะไปออกให้ ส่วนข้อจำกัดที่การออก พ.ร.ก. ต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนนั้น ก็พอหาทางที่จะปรับให้เข้ากับเหตุได้ เพราะเป็นเรื่องที่คนทั้งประเทศเขาเรียกร้อง ก็พอจะไปได้
นายวิษณุยังกล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ว่า เป็นเรื่องของรัฐสภา ที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภารับไปดำเนินการ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ส่วนกรณีที่จะดึงอดีตนายกรัฐมนตรีมาร่วมในคณะกรรมการชุดนี้นั้น ตนไม่มีความเห็น ทั้งในฐานะส่วนตัวและรัฐบาล ไม่พึงออกความเห็นใดๆ ทั้งนั้น
ด้านนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีนายชวนเตรียมทาบทามนายอานันท์ ปันยารชุน, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี มาร่วมเป็นกรรมการปรองดองสมานฉันท์ว่า ไม่เห็นด้วยที่จะเชิญบุคคลเหล่านี้เข้ามาร่วมอยู่ในคณะกรรมการปรองดองฯ เพราะนายอานันท์บอกว่าอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ถามว่าใครจะมาเป็นนายกฯ แทน หรือว่าท่านหวังจะเป็นนายกฯ ส้มหล่นเหมือนที่ผ่านมา
ส่วนนายอภิสิทธิ์ที่บอกว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ แล้วพอ พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ นายอภิสิทธิ์ก็เข้ามาเป็น ส.ส.ระยะหนึ่งแล้วลาออก หมายความว่าท่านไม่ยอมรับระบบรัฐสภาหรือไม่ ขณะที่นายสมชายนั้นสังคมรู้ว่าฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นคนของใคร จึงไม่มีความน่าเชื่อถือ
“ผมอยากถามไปถึงท่านชวนว่าใช้อำนาจอะไรเพียงคนเดียวในการตั้งคณะกรรมการปรองดองฯ ทั้งที่เรามีสภา เหตุใดจึงไม่ขอความเห็นจากสภาว่าจะออกแบบคณะกรรมการชุดนี้อย่างไร ท่านคิดว่าบ้านเมืองนี้เป็นระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และยังมีสภาหรือไม่ ผมเห็นว่าบุคคลที่เตรียมเชิญเข้ามาล้าสมัย เก่าแก่ หมดสภาพที่จะมาทำงานในจุดนี้ ผมจึงไม่เห็นด้วย ไม่เหมาะสม ที่จะเป็นกรรมการปรองดองฯ แต่ถ้าเอาไปดองเค็มใส่เกลือจะเหมาะกว่า” นายสิระกล่าว
นายสิระกล่าวว่า เด็กที่มาชุมนุมต้องการอนาคต แต่กลับเอาคนอายุ 80-90 ปี เดินไม่ไหว เก่าแก่เกินไปมาใช้ในยุคนี้ หากเอาไปดองเค็ม ตนจะเห็นด้วย วันนี้เรามีสภาควรให้ ส.ส.เป็นคนออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวกรรมการหรือจำนวน เพื่อหาทางออกประเทศ ไม่ใช่คนโบราณ เราต้องดูผู้ชุมนุมว่าเขาเรียกร้องอนาคต ไม่ใช่เอาเรื่องอดีตมาคุยกัน ท่านประธานรัฐสภาทำไมตัดสินคนเดียว ท่านต้องพิจารณาว่าคิดถูกหรือคิดผิด อยากให้ตัดสินใจโดยผู้แทนฯ ไม่ใช่บุคคลเพียงคนเดียวที่เสนอชื่อใครเป็นกรรมการก็ได้
ขณะที่นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ตอบโต้ว่า น่าเสียดาย ไม่น่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เพราะแค่เริ่มต้นของการทาบทามเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ และอดีตนายกรัฐมนตรีก็ถูกใส่ร้ายป้ายสีพาดพิงให้เสียหาย
“การที่คุณสิระตั้งใจจะปกป้องรัฐบาล หรือปกป้องบุคคลใดบุคคลหนึ่งในลักษณะไม่มีสัมมาคารวะ จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้บ้านเมืองมีความสงบและเกิดการปรองดองสมานฉันท์ มีแต่จะเป็นการซ้ำเติมเหตุการณ์บ้านเมือง ต่อไปผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายก็ไม่อยากเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เพราะแค่การติดต่อประสานงานก็ถูกใส่ร้าย กล่าวหาบิดเบือนให้ได้รับความเสียหายเช่นนี้แล้ว อย่าคิดว่าแค่ได้ออกสื่อเป็นข่าว แต่กลับไม่มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ เพราะการไม่เคารพผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชนและสังคม อีกทั้งไม่เหมาะที่จะเป็นพฤติกรรมของผู้ทรงเกียรติ” นายสมบูรณ์กล่าว
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ peace talk ช่วงหนึ่งว่า การตั้งกรรมการสมานฉันท์ มองเห็นถึงความไม่สำเร็จ เพราะที่ผ่านมาสมานฉันท์กันไม่กี่รอบก็เอาใส่ไว้ในลิ้นชัก เนื่องจากความเชื่อของคนกลุ่มหนึ่งว่าแบ่งแยกแล้วปกครอง และถ้าความแตกแยกยังอยู่ผู้ปกครองก็ยังปกครองกันได้ ถ้าประชาชนสามัคคีก็ปกครองยาก ตรรกะแบบนี้อยู่ในสังคมมายาวนาน
"ถ้ายักษ์ไม่มีกระบองก็ไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น คนเหล่านี้ต้องการแก้ปัญหาชาติ แต่ตราบใดไม่มีอำนาจก็ไม่มีผลอะไร ทั้งที่อดีตนายกฯ เหล่านี้ยังมีความคิดที่ทันสมัยอยู่ และความคิดคงดีกว่าอีกหลายคนด้วยซ้ำไป” นายจตุพรกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |