"โรม" ตั้งกระทู้ซัดรัฐบาลสองมาตรฐาน ทำร้ายม็อบราษฎร แต่อำนวยความสะดวกม็อบเสื้อเหลือง “บิ๊กช้าง” แจง จนท.ปฏิบัติตามกฎหมาย เสื้อเหลืองรับเสด็จร่วมงานพระราชพิธี ไม่ใช่ม็อบ ภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ นัดชุมนุมใหญ่ 9 พ.ย.ที่ลานพ่อขุนฯ ลั่นหากพวกจาบจ้วงมาตั้งเวทีจะไล่รื้อโดยสันติ "ไผ่" นำ "กลุ่มราษฎร" แถลงไม่สังฆกรรม กก.ปรองดอง ยืนยันเพดานเดิม 3 ข้อ จ่อรวบรวมผู้ต่อสู้ทุกภูมิภาคออกแบบชุมนุม จี้ให้ นายกฯ ลาออก "หมอทศ" อ้าง "เพนกวิน-ไมค์" บิดามีปัญญาจ่ายค่า รพ.พระรามเก้า "รุ้ง" มีประกันสุขภาพ
ที่รัฐสภา วันที่ 4 พฤศจิกายน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญนัดแรก มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณาวาระกระทู้ถามสดของนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่ากรณีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพื่อสลายการชุมนุมของประชาชนในพื้นที่ กทม. หลายครั้งที่ไม่ได้ขอหมายจากศาล และการดำเนินคดีของแกนนำผู้ชุมนุมและแนวร่วมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เพราะการชุมนุมทางการเมืองวันนี้มีหลายกลุ่ม ทั้งคนเสื้อเหลืองและกลุ่มราษฎร โดยกลุ่มคนเสื้อเหลืองพบจัดกิจกรรมในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเป็นข้าราชการและบุคลากรท้องถิ่น โดยคำชักชวนของรัฐมนตรีบางพรรคและผู้ว่าราชการจังหวัด อำนวยความสะดวกอย่างดีจากรัฐ ขณะที่กลุ่มราษฎรที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐถูกทำร้ายจากคนอีกกลุ่ม แต่ไม่ได้รับความสะดวก พบการสลายการชุมนุมและนำรถผู้ต้องขังมารอรับ
“ขอตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่สองมาตรฐาน ฝั่งหนึ่งเสิร์ฟน้ำให้ อีกฝั่งฉีดน้ำใส่ ฝั่งหนึ่งมีรถห้องน้ำ อีกฝั่งมีรถผู้ต้องขัง และอยากทราบว่าจนถึงวันนี้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ไปทำร้ายร่างกายนักศึกษาที่ ม.รามคำแหง มีการดำเนินคดีแล้วหรือยัง นี่คือม็อบมีเส้นหรือไม่” นายรังสิมันต์กล่าว
ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ชี้แจงแทนนายกฯว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามกฎหมาย และใช้หลักการสากล อาทิ การชี้แจง การเจรจา และได้เตรียมหมอ พยาบาล เครื่องมือที่ใช้ดำเนินการ รัฐบาลห่วงใยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลตระหนักถึงการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ แต่ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ แม้รับรองสิทธิเสรีภาพ แต่มีเงื่อนไขคือต้องเป็นไปตามกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น โดยเฉพาะพฤติกรรมยั่วยุ ก้าวร้าว ก้าวล่วง เพื่อสร้างความเกลียดชังที่จะเป็นชนวนสร้างความแตกแยกในสังคม
"ส่วนกรณีของคนเสื้อเหลืองที่แสดงความจงรักภักดี เป็นความรู้สึกของประชาชนที่แสดงความเห็นปกป้องสถาบันที่คนไทยทุกคนเชิดชู กรณีที่บอกว่าเมื่อมาแล้วทำไมดูแลอำนวยความสะดวกให้เพราะวันที่ 1 พ.ย. มีพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต ถือว่าประชาชนมาร่วมงานพระราชพิธี ไม่เข้าข่ายการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ทั้งนี้ มีบางกลุ่มแจ้งการชุมนุมและไม่แจ้งการชุมนุม ดังนั้นเจ้าหน้าที่ดูแลตามกรอบกฎหมาย อย่างเท่าเทียมกัน" พล.อ.ชัยชาญกล่าว
ขณะที่นายรังสิมันต์กล่าวว่า ผิดหวังในคำตอบ เพราะต้องการทราบชื่อว่าใครสั่งการ ผิดหวังต่อการสลายการชุมนุม และผิดหวังต่อการไม่ดำเนินคดีคนเสื้อเหลืองที่ถูกมองว่าเป็นม็อบมีเส้น ส่วนการดูแลพื้นที่มีเจ้าหน้าที่จากต่างจังหวัดถูกเกณฑ์เข้ามาดูแลสถานการณ์ 14,000 นาย เชื่อว่าจะใช้งบประมาณต่อวันถึง 8.4 แสนบาท จึงขอทราบถึงงบประมาณที่ดำเนินการ และการร้องเรียนจากตำรวจที่ปฏิบัติงาน ที่ระบุว่าพบการหักหัวคิวเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ โดยตำรวจแต่ละนายได้รับค่าอาหารเป็นจำนวน 60 บาทต่อกล่อง แต่เมื่อเปิดดูหน้าตาอาหารต่อกล่อง มีแค่ปีกไก่ 1 ชิ้น บางกล่องมีแค่ไข่ต้มกับน้ำพริก มีการหักค่าหัวคิว ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าอาหารจริงหรือไม่
พล.อ.ชัยชาญชี้แจงว่า การจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจากต่างจังหวัดนั้น เพราะตำรวจควบคุมฝูงชนมีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติตามแผนจึงต้องผลัดเปลี่ยนกำลังจากต่างจังหวัดมาช่วยปฏิบัติการ ส่วนอาหาร เป็นนโยบายสำคัญของนายกฯ? ที่ให้ดูแลสิทธิ ที่อยู่เบี้ยเลี้ยง และอาหารเต็มที่ ซึ่งหมุนเวียน 15-20 วัน ส่วนการตรวจสอบหักหัวคิวนั้น ผบ.ตร.?ตรวจสอบข้อเท็จจริง บางส่วนเบิกจ่ายงบประมาณโดยไม่ได้เบิกจ่ายตามงบประมาณ แต่เป็นการบริหารงานของหน่วยงาน ทั้งนี้ มีนโยบายให้ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเต็มที่ เพื่อขวัญและกำลังใจในการทำงาน
ก้าวไกลบี้ดีอีเอสปิดกั้นสื่อ
วันเดียวกัน นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน เเละการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นประธานการประชุมวาระพิจารณาศึกษากรณีการสั่งให้ตรวจสอบเเละให้ระงับการออกอากาศรายการเเละสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ วอยซ์ทีวี (Voice TV), ประชาไท (Prachatai), The Reporters และ THE STANDARD โดยเชิญนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (ดีอีเอส), พล.ต.ท. จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และผู้แทนสื่อมวลชนเข้าชี้แจง
โดย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ชี้แจงว่า ทาง ตร.ได้มีการออกคำสั่งที่ 4 เรื่องให้ตรวจสอบและระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะยุยงหรือปลุกปั่นทางการเมือง เนื่องจากมีรายงานจากหน่วยข่าวกรองรายงานว่า สื่อ 5 สำนักเสนอข่าวในแนวทางที่สร้างความแตกแยก ปั่นป่วน 4 กรณีคือ ชักจูง วุ่นวาย แตกเเยก และเป็นข่าวลวง โดย ผบ.ตร.ได้ออกคำสั่งตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล ให้กระทรวงดีอีเอสไปพิจารณาเนื้อหาว่ามีการนำเสนอในช่องและรายการใดที่เป็นการละเมิดกฎหมายหรือไม่ ขอให้ดำเนินการตามกระบวนการศาล กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการออกคำสั่งให้ตรวจสอบ แต่ไม่ใช่คำสั่งปิดสื่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินตามการกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ
ด้านนายพุทธิพงษ์กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นอำนาจควบคุมดูแลการเผยแพร่ข่าวสารของสื่อมวลชนตามข้อ 4 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบ ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจได้ โดยให้ปลัดกระทรวงดีอีเอสทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ ยืนยันว่าเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐบาลใช้อำนาจตาม กระบวนการทางศาล ไม่ได้ใช้อำนาจของกระทรวง กรณีของวอยซ์ทีวี มีหลักฐานยืนยันว่าได้มีการกระทำความผิดที่ละเมิดต่อกฎหมายและก้าวล่วงสถาบัน ส่วนสำนักข่าวอื่นๆ ได้เตือนแล้วและมีการลบเนื้อหาในเบื้องต้นหรือหยุดเผยแพร่ แต่กรณีของ วอยซ์ทีวีไม่ได้หยุดเผยแพร่ ยังคงดำเนินการต่อ ซึ่งขัดต่อคำสั่งภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทุกครั้งที่ส่งเรื่องไปจะประกอบด้วยคำสั่งศาลทุกครั้ง ไม่มีการใช้อำนาจของกระทรวงในการดำเนินการ
ด้าน น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาจะทราบได้อย่างไรว่าดำเนินการอย่างโปร่งใส ยุติธรรม และเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสื่อเนชั่น ก็จะพบการใช้ถ้อยคำที่มีความรุนแรง ยั่วยุ ปลุกปั่น บิดเบือนต่อผู้ชุมนุม เป็นการปฏิบัติ 2 มาตรฐานอย่างชัดเจน รัฐจะใช้ข้ออ้างเพื่อมาบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปิดหูปิดตาประชาชนด้วยการปิดสื่อ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
ต่อกรณีนี้ นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า รัฐจำเป็นต้องปกป้องสถาบัน ส่วนกรณีเนชั่น ไม่ได้มีการนำเสนอพาดพิงให้เกิดความแตกแยกหรือผิดกฎหมาย กรณีวอยซ์ทีวี เมื่อศาลอุทธรณ์สั่งให้ยกคำร้อง เราก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ เราทำตามขั้นตอนของกฎหมาย กรณีที่เกิดขึ้นดำเนินการในช่วงเฉพาะกิจภายใต้การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งของการชี้แจง ตัวแทนจากวอยซ์ทีวีได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อกรรมาธิการว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีลักษณะของการคุกคามสื่อ กรณีวอยซ์ทีวีเป็นการถูกถอดสัญญาณเคเบิล ซึ่งผู้ให้บริการชี้แจงกับช่องว่าได้ถูกกดดันจากผู้อำนาจโดยใช้ถ้อยคำว่า “อย่าไปคบกับโจร” จึงมองว่ากรณีแบบนี้เป็นการคุกคามสื่อ และเป็นสิ่งที่เจอมาโดยตลอด จึงควรหาแนวทางการปฏิบัติเพื่อหาทางออกร่วมกันในอนาคต
ในช่วงท้าย นายปดิพัทธ์สรุปว่า ในกรณีที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในช่วงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือช่วงเวลาปกติ ภาครัฐควรมีการหารือกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ เพื่อวางแนวทางร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชน คณะกรรมาธิการฯ จะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้เวทีนี้เกิดประโยชน์จริงอย่างเป็นรูปธรรม
รามฯนัดปกป้องสถาบัน9พย.
ขณะที่นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือฟอร์ด เสื้อแดง พร้อมคณะเข้ายื่นหนังสือพร้อมคลิปภาพให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีที่มีการจับกุมแกนนำ และมีข่าวว่านายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง ถูกทำร้ายร่างกาย จึงขอให้เชิญ ผบ.ตร., ผบช.น. และเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมมาให้ข้อมูล และหากพบการกระทำผิดขอให้ดำเนินคดีด้วย
นายธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษก กมธ.ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว กมธ.จะตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไปในวันที่ 12 พ.ย. ได้มีการเชิญผู้บัญชาการเรือนจำ ผบ.ตร. และ ผบช.น.มาชี้แจง
ที่ ม.รามคำแหง ภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ นำโดยนายพานสุวรรณ ณ แก้ว, นายทินกร ปลอดภัย, นายทศพล มนูญญรัตน์, นายสมเดช คงวิจิตร์ ชี้แจงเหตุการปะทะกับเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย พร้อมประกาศจุดยืนนัดชุมนุม 9 พ.ย.
โดยนายพานสุวรรณกล่าวว่า พวกเราขอโทษสังคมที่เกิดเหตุความรุนแรงขณะใส่เสื้อเหลือง ยอมรับว่าทำผิดพลาด ตกเป็นเหยื่อของความยั่วยุของอีกฝ่าย เรามีหลักฐานว่าเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย นำบุคคลภายนอกเข้ามาแสดงพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบัน เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ เหตุการณ์วันนั้นทำเพื่อขับไล่ให้ออกมหาวิทยาลัย ไม่ได้มีเจตนาที่จะยั่วยุหรือใช้ความรุนแรงพวก เราพร้อมต่อสู้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ตามกฎหมาย จะไม่ใช้วิธีการแบบกลุ่มคณะราษฎร เอามวลชนไปปิดล้อม สน.ประชาชื่น ในวันที่ 9 พ.ย. ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันจัดชุมนุมใหญ่ที่ลานพ่อขุนรามคำแหง เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะในรัชสมัยปัจจุบัน
นายทินกรกล่าวว่า จากนี้ไปในฐานะศิษย์เก่ารามคำแหงไม่ยอมให้นักการเมืองกลุ่มการเมืองใดๆ มาหลอกใช้ นศ.รามฯ ตั้งเวทีหรือแสดงพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ ไปทำที่อื่นไม่ว่า แต่ถ้ามาใช้ใน ม.รามฯ เราจะสู้ทุกรูปแบบ พร้อมจะเดินไล่รื้อทุกเวที ด้วยวิธีการสันติวิธี ส่วนกรณีแนวร่วมคณะราษฎรบางคนลดเงื่อนไขไม่แตะต้องสถาบัน เรื่องนี้คงเป็นปัญหาแตกแยกภายใน
ส่วนนายทศพลกล่าวว่า ในฐานะศิษย์เก่าอาชีวะ อยากถามกลุ่มฟันเฟืองอาชีวะที่เป็นรุ่นน้องว่า บอกว่าที่ออกมาเพื่อปกป้องประชาชน แต่เมื่อเห็นคนมีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันแล้วยังยืน เฉยๆ ถามว่าเป็นการปกป้องแบบไหน ขอยืนยันว่าม็อบคณะราษฎร พรรคก้าวไกล อยู่เบื้องหลัง ขอถามนายอานนท์ นำภา แค้นอะไรกับสถาบันนักหนา จากนี้หากพบเห็นผู้ที่มีพฤติกรรมจาบจ้วงอีกจะไม่ยอม
ที่ สภ.เมืองขอนแก่น นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ แกนนำกลุ่มขอนแก่นพอกันที เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่าถูกคุกคามและข่มขู่จากผู้ไม่หวังดี โดยนายปติวัฒน์กล่าวว่า เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต หลังออกจากการถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ ได้เพียง 2 วัน คือวันที่ 31 ต.ค. ได้มีโทรศัพท์โทร.เข้ามาที่เบอร์ส่วนตัว แต่ไม่มีเสียงพูดและไม่ได้มีการสนทนา ก่อนที่จะวางสายไป จึงตัดสินใจนำเอกสารหลักฐานต่างๆ เข้าแจ้งความ
นายอานนท์ นำภา แกนนำม็อบคณะราษฎร 63 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า กระแสการต่อสู้ครั้งนี้ต้องเรียกว่า “หลักการนำมวลชน” ไม่ใช่แกนนำนำมวลชน เราตกผลึกร่วมกัน ช่วยกันกลั่นออกมาเป็นข้อเรียกร้อง และแนวทางการต่อสู้ร่วมกัน ข้อเรียกร้องนั้นมันถูกขานรับและขยายแนวร่วมอย่างกว้างขวางแบบไม่เคยมีมาก่อน เข็มนาฬิกามันไม่ได้หยุดนิ่งระหว่างที่คู่ขัดแย้งตัดสินใจหรือเจรจา แต่มันเดินไปข้างหน้าตลอดเวลา
ราษฎรไม่ร่วม กก.ปรองดอง
เวลา 16.00 น. ที่ท้องสนามหลวง กลุ่มราษฎรจัดแถลงข่าวโดยมีบุคคลกว่า 20 รายเป็นตัวแทน อาทิ นายจตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา หรือไผ่ ดาวดิน, นายธัชพงศ์ แกดำ หรือบอย YPD, นายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบร์ท กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี, นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ขอนแก่นพอกันที และ น.ส.สุพิชฌาย์ ชัยลอม หรือเมนู เป็นต้น โดยทั้งหมดร่วมกันอ่านแถลงการณ์จากราษฎรว่า ที่ฝ่ายรัฐบาลได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ขึ้น โดยให้เหตุผลว่าเป็นไปเพื่อลดความตึงเครียดทางการเมืองในสังคมและหาทางแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาตินั้น การจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวไม่อาจนำมาซึ่งหนทางแก้ปัญหาใดๆ ดังที่กล่าวอ้างได้ เพราะแท้จริงแล้วการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอุปสรรคประการใหญ่ที่สุดที่ขัดขวางการแก้ไขปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมทั้งปวงของประเทศชาติ
นอกจากนี้ ยังปราศจากความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าสู่อำนาจโดยมิชอบตั้งแต่แรก จึงนับได้ว่าคณะกรรมการดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงละครทางการเมืองของรัฐบาล เพื่อซื้อเวลาให้ พล.อ.ประยุทธ์เพียงเท่านั้น พวกเราขอประกาศจุดยืนว่า จะไม่ยอมรับ และจะไม่สังฆกรรมกับคณะกรรมการที่ฝ่ายรัฐบาลจะจัดตั้งขึ้น ยืนยันว่าปัญหาทั้งปวงของประเทศชาติจะเริ่มต้นมิได้เลยหาก พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ลาออกพวกเรายืนยันในข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อดังต่อไปนี้ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2.ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 3.ต้องมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
จากนั้น นายจตุภัทร์กล่าวว่า ถ้าจะถอยคนละก้าวต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก โดยตอนนี้ได้รวบรวมผู้ต่อสู้ในทุกภูมิภาคเพื่อออกแบบการชุมนุมหลังข้อเรียกร้องที่เสนอไปนั้นรัฐบาลไม่ทำตาม จึงต้องออกแบบการต่อสู้กันอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์อยู่นานขึ้น ก็ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น โดยจะมีการชุมนุมใหญ่ไปเรื่อยๆ แน่นอน โดยยืนยันแนวทางสันติและสงบ แม้ไม่รู้ว่าครั้งใดจะชนะ แต่เราจะไม่ลดความฝันและหาเพื่อนร่วมทางต่อไป
ด้านนายอรรถพล กล่าวถึงข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันว่า พล.อ.ประยุทธ์ห้อยโหนสถาบันมาเป็นเกราะกำบังตัวเอง ทำให้สถาบันห่างจากประชาชน เฉกเช่นเดียวกัน ถ้า 3 อำนาจอธิปไตยขัดต่อความเป็นประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ทรงยับยั้งได้ ยืนยันว่าข้อเสนอนั้นไม่ได้เป็นการล้มสถาบัน
นายชินวัตรกล่าวว่า จะมีหมัดน็อกหมัดเด็ดอย่างไรที่จะเอาพล.อ.ประยุทธ์ออกไป เรามีแน่นอน เร็วๆ นี้ขอให้ทุกท่านติดตาม เพราะทุกกลุ่ม ทุกแนวร่วม ตอนนี้มารวมเป็น “ราษฎร” ณ ที่แห่งนี้แล้ว และพร้อมที่จะทำให้ประยุทธ์ลาออกอย่างแน่นอน
ด้าน นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่เลือกเข้ารักษาตัวที่ รพ.พระรามเก้า เนื่องจากวันที่ไมค์อาการหนักหมดสติไป ร่างกายขาดน้ำ อาจจะมีปัญหาเรื่องไต อาจไตวายได้ ซึ่งตนมีความคุ้นเคยและสนิทกับผู้ก่อตั้ง จึงเลือกไป รพ.พระรามเก้า ยืนยันว่าทั้ง 3 คนมีสิทธิ์ในการเลือก รพ.
ส่วนที่กล่าวอ้างว่ามีผู้ใหญ่ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องช่วยเหลือและถือหุ้นนั้น นพ.ทศพร กล่าวว่า รพ.พระรามเก้าได้นำเข้าตลาดหลักทรัพย์ ราคาหุ้นออกไปก็มีคนมีชื่อเสียงเข้ามาซื้อหุ้นเหมือน รพ.ทั่วไป ส่วนคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ไม่ได้เจอกันมา 20 ปีแล้ว เคยคุยกับท่านเพียงครั้งเดียวสมัยพรรคไทยรักไทยยังไม่ถูกยุบ
"การที่เลือก รพ.พระรามเก้า เพราะเป็น รพ.ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งและราคายุติธรรม บริการดีเยี่ยม แต่ราคาเข้าถึง เป็นเหตุผลสำคัญที่พาเขาไปที่ รพ.นี้ ผู้ต้องหาสามารถเลือกใช้ รพ.ได้เพราะยังไม่ได้เป็นนักโทษไม่จำเป็นต้องไป รพ.ของเรือนจำ โดยรุ้งปนัสยามีประกันสุขภาพ ส่วนเพนกวิน ไมค์ บิดาและมารดามีปัญญาจ่ายได้ ไม่ได้เอาเงินของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.พลังประชารัฐ หรือ ส.ส.คนไหนมาจ่าย" นพ.ทศพรกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |