ช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา การขยับรุกทางการเมืองของ "ม็อบสามนิ้ว" ถูกมองว่าเหมือนอยู่ระหว่างการ "พักรบ" เพื่อรอ "ทำศึกใหญ่" ในยามที่แกนนำเริ่มกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง หลังล่าสุดเมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา มีการปล่อยตัว อานนท์ นำภา หัวขบวนใหญ่ ฝ่ายกฎหมายของม็อบสามนิ้วและกลุ่มคณะราษฎร 63 พร้อมด้วยแนวร่วมบางส่วนอย่าง สมยศ พฤกษาเกษมสุข, เอกชัย หงส์กังวาน, สุรนาถ แป้นประเสริฐ เพียงแต่การทำศึกใหญ่นัดกันแบบเบิ้มๆ จะเกิดขึ้นเมื่อใด เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกำลังเฝ้าติดตาม
มีการคาดหมายกันว่า แกนนำและแนวร่วมของม็อบสามนิ้วคงกำลังรอหยั่งสถานการณ์เรื่องการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ที่จะมีการ "โหวตรับ-ไม่รับร่างแก้ไข รธน.” ทั้งหมดที่เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยหากแกนนำประเมินแล้วว่ามีแนวโน้มที่ร่างแก้ไข รธน.บางร่างที่เชียร์อยู่ เช่น ร่างของไอลอว์ หรือร่างแก้ไข รธน.มาตรา 272 ของฝ่ายค้าน เพื่อปิดสวิตช์อำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ อาจถูกตีตก หรือท่าทีของสมาชิกวุฒิสภาไม่ชัดว่าจะเอาอย่างไรกับการโหวตแก้ไข รธน. ก็อาจทำให้แกนนำม็อบเตรียมระดมพลไปรวมตัวกันหน้ารัฐสภาอีกครั้งในวันโหวตร่างแก้ไข รธน. 17-18 พ.ย.นี้
หลังก่อนหน้านี้เคยทำมาแล้วเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตอนที่รัฐสภาไม่ลงมติรับร่างแก้ไข รธน. แต่ใช้วิธีการตั้งกรรมาธิการร่วมฯ ยื้อมาหนึ่งเดือน ที่มวลชนจำนวนหนึ่งก็มารวมตัวกันหน้ารัฐสภาได้ในเวลาอันรวดเร็ว จน ส.ส.-ส.ว.บางส่วนต้องเดินทางออกจากรัฐสภาทางเรือเพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้า หลังมวลชนม็อบสามนิ้วพร้อมใจตะโกน "ไอ้..." ดังลั่นกลางหน้ารัฐสภา เกียกกาย
ท่าทีล่าสุดของแกนนำม็อบสามนิ้ว ทางแกนนำบางส่วน เช่น อรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ "ไผ่ ดาวดิน" ได้เปิดแถลงข่าวแสดงท่าทีการเคลื่อนไหวทางการเมืองไว้เมื่อวันพุธที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่บริเวณสนามหลวง
อันเป็นท่าทีที่สรุปทิศทางได้ว่า ทางแกนนำยังคงยืนยันในข้อเรียกร้องสามข้อก่อนหน้านี้คือ
1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
2.ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
3.ต้องมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่นเ รื่องความพยายามของชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและผู้บริหารสถาบันพระปกเกล้า ที่ต้องการตั้ง "คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อแสวงหาทางออกทางการเมือง" ท่าทีของกลุ่มแกนนำม็อบย้ำประเด็นนี้ไว้ระหว่างแถลงข่าว ด้วยการยืนยันไม่ร่วมสังฆกรรม
"พวกเราเห็นว่าการจัดตั้งคณะกรรมการดังกล่าวไม่อาจนำมาซึ่งหนทางแก้ปัญหาใดๆ ดังที่กล่าวอ้างได้ เพราะแท้จริงแล้วการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอุปสรรคประการใหญ่ที่สุดที่ขัดขวางการแก้ไขปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จึงนับได้ว่าคณะกรรมการดังกล่าวเป็นเพียงการซื้อเวลาให้ พล.อ.ประยุทธ์เพียงเท่านั้น จึงขอประกาศจุดยืนว่าจะไม่ยอมรับ และจะไม่สังฆกรรมกับคณะกรรมการที่ฝ่ายรัฐบาลจะจัดตั้งขึ้น และขอยืนยันว่าปัญหาทั้งปวงของประเทศชาติจะเริ่มตันมิได้เลย หาก พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี"
"ไผ่ ดาวดิน" ระบุไว้ว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์และ ส.ว. 250 คนยังอยู่ การแก้ไขปัญหาก็ไม่เข้าสู่ขั้นตอนของรัฐสภา ไม่จำเป็นต้องตั้งอำนาจขึ้นมาใหม่ ให้ใช้ในกระบวนการปกติ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์และองคาพยพยังอยู่ การเจรจาจะไม่เกิดขึ้น รัฐสภาจะไม่มีความหมาย ซึ่งส่วนหนึ่งของสภาไม่ได้ปกป้องประชาชน แต่ปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าจะถอยคนละก้าวต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก โดยตอนนี้ได้รวบรวมผู้ต่อสู้ในทุกภูมิภาคเพื่อออกแบบการชุมนุม หลังข้อเรียกร้องที่เสนอไปนั้น รัฐบาลไม่ทำตาม จึงต้องออกแบบการต่อสู้กันอีกครั้ง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์อยู่นานขึ้น ก็ทำให้ฝ่ายผู้ชุมนุมเข้มแข็งขึ้น โดยจะมีการชุมนุมใหญ่ไปเรื่อยๆ แน่นอน ภายใต้แนวทางสันติและสงบ
ส่วนรูปแบบการเคลื่อนไหวนั้น "ไผ่ ดาวดิน" บอกว่า การเคลื่อนไหวเป็นแบบออร์แกนิกเป็นแกนนอน ไม่มีแกนนำ เพราะกลุ่มคนที่ไม่พอใจรัฐบาลมีหลากหลายขึ้น โดยกลุ่มราษฎรเป็นเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แม้การต่อสู้ของเรายังไม่ได้รับการตอบสนองทั้ง 3 ข้อเรียกร้อง แต่การเก็บเกี่ยวระหว่างทาง เช่น การที่รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การเรียกร้องความยุติธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็ซึ่งสะท้อนเสียงเราดังขึ้นและมีเพื่อนมากขึ้น
ส่วน "อรรถพล บัวพัฒน์-ครูใหญ่" บอกเช่นกันว่าจะไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ยาวตามต้องการ หาก พล.อ.ประยุทธ์ลาออกก็ยังมีแคนดิเดตนายกฯ ที่อยู่ในบัญชี โดยเรื่องนี้จะต้องจบที่รัฐสภา ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่มีภารกิจในการมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยจะเป็นฉบับสุดท้ายและใช้กันไปอีก 100-200 ปี ส่วน 250 ส.ว. ต้องยุติบทบาทเพื่อให้สภาทำหน้าที่แก้ไขปัญหา
ขณะที่ก่อนหน้านี้ "อานนท์ นำภา" พี่ใหญ่ของกลุ่มแกนนำ แสดงท่าทีเอาไว้ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อตอนที่ออกมาจากเรือนจำ โดยระบุว่า ขบวนการต่อสู้มันเดินทางมาไกลมาก ไกลจนใกล้จะถึงเส้นชัย ก็เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมาย ทุกคนคือแกนนำในการต่อสู้อย่างแท้จริงในครั้งนี้
"หลังจากนี้หากมีการชุมนุมจะไปร่วมแน่นอน หัวใจมันร้อนรนที่จะออกมาต่อสู้ เคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่น้องอีกครั้งหนึ่ง" อานนท์ย้ำไว้
การเคลื่อนไหวของม็อบสามนิ้วต่อจากนี้ยังคงต้องติดตามกันต่อไป โดยพบว่านักวิเคราะห์การเมืองหลายสายเห็นไปในทางเดียวกันว่า ศึกนี้คงสู้กันอีกยาว ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนจะอึดกว่ากันระหว่างบิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและองคาพยพทางการเมืองในปีกรัฐบาล กับฝ่ายม็อบสามนิ้วและผู้ให้การสนับสนุนอยู่ข้างหลัง ที่คงต้องดูกันไปยกๆ ไปว่าใครจะเพลี่ยงพล้ำมาก เพลี่ยงพล้ำน้อย, ใครชิงทำแต้มได้ดีกว่ากันในศึกยืดเยื้อครั้งนี้
เพราะอย่างความพยายามจะให้มีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภารับเป็นโต้โผใหญ่ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า โดยชวนต่อสายทาบทามสี่อดีตนายกฯ ทั้งอานันท์ ปันยารชุน, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาร่วมเป็นกรรมการด้วย
แต่เมื่อดูท่าทีจากฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ยืนกระต่ายขาเดียวไม่ยอมร่วมด้วย หากพลเอกประยุทธ์ไม่ยอมแก้ไข รธน. ส่วนพรรคก้าวไกลก็ยื่นเงื่อนไข กรรมการชุดดังกล่าวหากตั้งขึ้นมาต้องนำเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไปหารือด้วย และล่าสุดท่าทีของแกนนำม็อบที่ย้ำไม่ร่วมสังฆกรรมกับการส่งคนไปร่วมเป็นกรรมการด้วย เพราะมองว่าเป็นการซื้อเวลาให้พลเอกประยุทธ์
เลยทำให้แนวทางการพูดคุยเจรจาผ่านโมเดลการตั้งกรรมการสมานฉันท์ฯ คงยากจะเกิดขึ้นได้ หรือหากเกิดขึ้น แต่เมื่อไม่มีตัวแทนของฝ่ายค้านและแกนนำม็อบมาร่วมด้วย การทำงานของกรรมการสมานฉันท์ฯ ก็อาจเสียเวลาเปล่า ถ้าทำงานแล้วปราศจากการยอมรับทางการเมืองจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
สถานการณ์ในลำดับต่อจากนี้ เมื่อความพยายามหาทางบรรจบให้แต่ละฝ่ายได้มาร่วมหารือพูดคุยกันน่าจะเป็นไปได้ยาก การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างพลเอกประยุทธ์กับเครือข่ายม็อบสามนิ้ว เลยต้องสู้แบบยืดเยื้อไปอีกสักพักใหญ่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |