ข่าวฮือฮาในช่วงปลายปี 2563 นอกจากเรื่องม็อบนักเรียนนักศึกษาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังเป็นที่สนอกสนใจของผู้คนเพิ่มมากขึ้นทุกที ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เนื่องจากที่แล้วมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ใช้อำนาจเมื่อกลางปี 2557 ให้งดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น แล้วให้สมาชิกและนายกองค์กรปกครองท้องถิ่นซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่เดิมทำหน้าที่ต่อไปโดยไม่หมดวาระ (แต่หากมีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยเหตุใดก็ตาม ถ้าเป็นสมาชิกท้องถิ่นก็ให้ว่างไว้ ถ้าเป็นผู้บริหารท้องถิ่นก็ให้ตั้งปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นปฏิบัติหน้าที่แทน) ดังนั้น เมื่อรัฐบาลกำลังจะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นกันอีกครั้งหนึ่ง จึงใคร่ขอเชิญชวนท่านทั้งหลายได้มาทบทวนความรู้ความเข้าใจในการปกครองท้องถิ่นไทยกันอีกสักครา
การปกครองท้องถิ่นไทยมีประวัติความเป็นมาจากพระราชดำริของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 โดยทรงตราพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพเมื่อ พ.ศ. 2440 แต่จัดตั้งเป็นรูปเป็นร่าง คือ สุขาภิบาลท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร เมื่อ พ.ศ. 2448 จากนั้นท้องถิ่นไทยก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา จนปัจจุบันการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็น 1 ใน 3 ของระบบราชการบริหารแผ่นดินของไทย นอกเหนือจากราชการบริหารส่วนกลาง (กระทรวงทบวงกรม) และราชการบริหารส่วนภูมิภาค (จังหวัดและอำเภอ) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีจำนวนทั้งสิ้น 7,850 แห่ง แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
(1) รูปแบบทั่วไป ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง เทศบาล 2,472 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 5,300 แห่ง (2) รูปแบบพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา มีงบประมาณปี 2564 ที่ตั้งเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 789,803.3399 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้รัฐบาลร้อยละ 29.43) มีผู้คนที่ปฏิบัติงานรวมกันกว่า 565,000 คน แยกเป็นข้าราชการการเมืองประมาณ 178,000 คน ข้าราชการและพนักงานประจำประมาณ 160,000 คน ลูกจ้างประจำประมาณ 16,000 คน และ พนักงานจ้างประมาณ 211,000 คน (ซึ่งยังไม่นับลูกจ้างชั่วคราวอีกจำนวนไม่น้อย)
อย่างไรก็ตามการปกครองท้องถิ่นไทยซึ่งเป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) อันเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม (Participation) ก็ยังไปไม่ถึงไหน ความใหญ่โตของราชการบริหารส่วนท้องถิ่นข้างต้นเป็นเพียงภาพลวงตา แท้ที่จริงแล้วมีปัญหาสารพัดที่ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะรัฐเลือกใช้หลักการรวมอำนาจ (Centralization) เข้าสู่ศูนย์กลางมากกว่าการกระจายอำนาจให้ประชาชน ที่แล้วมาการรวมศูนย์อำนาจอาจทำให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่น เกิดความเป็นชาติชัดเจนและสามารถพัฒนาสร้างความเจริญให้แก่บ้านเมืองมาแล้วมิใช่น้อย แต่ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติและโรคภัยไข้เจ็บ รวมทั้งปัญหาการแข่งขันกันทางการค้าและความเป็นผู้นำในโลก ส่งผลกระทบถึงปัญหาและความต้องการของประชาชนซึ่งมีอยู่อย่างมากมาย หลากหลาย ยุ่งยากเกี่ยวพันและแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ การกระจายอำนาจเพื่อใช้พลังของทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมมือช่วยเหลือแก้ไขจึงมีความจำเป็น ที่ผ่านมาภาครัฐชี้นำ สั่งการ และเข้าช่วยเหลือประชาชน แม้จะหวังดีแต่ก็ทำให้ประชาชนอ่อนแอพร้อมกันไปด้วย ปัจจุบันมีนักวิชาการและพลเมืองจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่าการกระจายอำนาจและ
การปกครองท้องถิ่น อาจเป็นคำตอบที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญวัฒนา โดยการลดอำนาจรัฐแล้วเพิ่มอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถจัดการชีวิตและชุมชนของตนเองได้มากขึ้น เป็นการลดภาระให้รัฐบาลมีพลังงานและเวลาไปต่อสู้กับสถานการณ์ของโลกที่วุ่นวายสับสนอยู่ในเวลานี้
การเลือกตั้งท้องถิ่นเท่าที่ผ่านมา พบว่ามีสถิติผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย ดังนั้น การเลือกตั้งท้องถิ่นทุกรูปแบบและทุกพื้นที่ที่กำลังทยอยดำเนินการในปีนี้และปีหน้า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงจำเป็นต้องพิสูจน์ความสนใจและการให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ อย่าให้การใช้สิทธิ์ใช้เสียงของเราต้องด้อยค่าและกลายเป็นข้ออ้างของรัฐที่จะรวมศูนย์อำนาจไว้ให้มากกว่าเดิม...
พงศ์โพยม วาศภูติ
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |