ผู้ช่วย รมต.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคอีสาน’ ด้านเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นอีสานฯ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”


เพิ่มเพื่อน    

นายสากล  ม่วงศิริ  ผู้ช่วย รมต.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ (ที่ 5 จากซ้าย ) ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

จ.ขอนแก่น /  นายสากล ม่วงศิริ  ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น ขณะที่เครือข่ายชุมชนท้องถิ่นอีสานจัดการตนเองร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ชุมชนท้องถิ่นขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเพื่อ “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม ให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

 

องค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT)   กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’  เริ่มตั้งแต่ปี 2528  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์  ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก

 

ในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา  โดย UN – HABITAT  มีคำขวัญว่า “Housing for all A better urban future” หรือ “ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม”  ขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดมหกรรม ‘บ้านมั่นคง  : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม’ ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้  ทั่วภูมิภาค  คือ  ภาคกลางและตะวันตกที่จังหวัดสุพรรณบุรี    ภาคตะวันออกที่ จ.ปราจีนบุรี  กรุงเทพฯ  ภาคเหนือที่ จ.น่าน  ภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น  และภาคใต้ที่ จ.ชุมพร 

 

ขบวนรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกที่ถนนราชดำเนิน  กรุงเทพฯ  เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

ผช.รมต.กระทรวงการพัฒนาสังคมร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่ขอนแก่น

ระหว่างวันที่ 3-4  พฤศจิกายน  ขบวนองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด  ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2563’  ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น   โดยมีประเด็นสำคัญในการจัดงาน  คือ “การพัฒนาที่อยู่อาศัย สู่แผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยจังหวัด ขอนแก่นโมเดล” 

 

โดยในวันนี้ (4 พฤศจิกายน) เป็นการจัดงานวันสุดท้าย  มีนายสากล  ม่วงศิริ  ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นผู้แทนนายจุติ  ไกรฤกษ์ รมว.พม.เข้าร่วมงาน  พร้อมด้วยนายอนันต์  ดนตรี  ผู้ตรวจราชการกระทรวง พม.  นายจารึก เหล่าประเสริฐ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์  นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น  นายปฏิภาณ  จุมผา  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์ชุมชนฯ  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์จังหวัดขอนแก่น (พมจ.ขอนแก่น)  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน  ภาคกลาง-ตะวันตก  กรุงเทพฯ  ภาคใต้  ฯลฯ  เข้าร่วมงานประมาณ 500 คน

 

 

 

ขอนแก่นแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงแล้ว 10 เมือง  5,700   ครัวเรือน

นายจารึก  เหล่าประเสริฐ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  กล่าว  รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาสในสังคม   โดยกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยแห่งชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ซึ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการทำงานด้านที่อยู่อาศัยทั้งเมืองและชนบท จึงได้กำหนดจัดงานเพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวันที่อยู่อาศัยโลก ปี  2563 ทั้งในส่วนกลางและในทุกภูมิภาค

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเลือกจัดงานในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น  ในหัวข้อ “การพัฒนาที่อยู่อาศัย สู่แผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยจังหวัด” เพื่อนำเสนอรูปธรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนร่วมกับท้องถิ่น  การผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในรูปแบบการแก้ไขปัญหาระดับเมือง/ตำบล และยังถือโอกาสในการทบทวน สรุปบทเรียน จัดการความรู้ สรุปผลการดำเนินงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ซึ่งก่อตั้งและดำเนินงานมาครบรอบปีที่ 20

 

ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยในจังหวัดขอนแก่นนั้น  จังหวัดขอนแก่นร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ฯ  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในจังหวัดขอนแก่นผ่านโครงการบ้านมั่นคงใน  10  เมือง  รวม 59  ชุมชน  จำนวนกว่า 5,700 ครัวเรือน   การแก้ปัญหาที่ดินทำกินใน  36 ตำบล  และดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ครัวเรือนยากจน และกลุ่มคนเปราะบางที่มีปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในชุมชนผ่านโครงการบ้านพอเพียงชนบทมากกว่า 400 ครัวเรือน  ในพื้นที่  60 ตำบล  พร้อมทั้งเกิดการประสานความร่วมมือกับภาคีพัฒนามากกว่า 10 องค์กร

 

บ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพรูปแบบการแก้ไขปัญหาทั้งเมือง  สร้างบ้านไปแล้วใน 13   ชุมชน (โครงการ)  รวม 1,052 ครัวเรือน

 

เสนอสร้างคอนโดฯ รองรับคนจนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟ

 

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์  นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น  กล่าวว่า ในจังหวัดขอนแก่นมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ประมาณ 3,000   ครัวเรือน  เฉพาะในเขตเทศบาลนครขอนแก่นได้รับผลกระทบประมาณ 1,000   ครัวเรือน  ทางเทศบาลฯ จึงมีแนวคิดในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฯ

 

“แต่เนื่องจากที่ดินในเมืองขอนแก่นมีราคาแพง  บางแปลงขายกันในราคาไร่ละ 80 ล้านบาท  ดังนั้นจึงต้องสร้างอาคารสูงรองรับ  ในลักษณะของคอนโดมิเนียมของผู้มีรายได้น้อย  และจะต้องมีราคาถูกกว่าค่าเช่าของการเคะแห่งชาติที่มีราคาเดือนละ 999 บาท  เพราะประชาชนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นคนจน  ผมจึงขอฝากเรื่องให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด  เช่น  การเคหะฯ รับไปดำเนินการเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม  โดยเทศบาลนครขอนแก่นพร้อมที่จะเช่าอาคารจากการเคหะฯ  แล้วนำมาให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยเช่าอยู่อาศัย  โดยจ่ายค่าเช่าเป็นรายวันในราคาถูก”  นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นกล่าว

 

ชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนารถไฟที่ จ.ขอนแก่น

 

กระทรวง พม.ขับเคลื่อนแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี

 

นายสากล  ม่วงศิริ  ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวง พม.กล่าวว่า  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้ร่วมผลักดันให้มีการดําเนินงานในการคลี่คลายปัญหาข้อติดขัด  ระเบียบกฎหมายให้เอื้อต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย การอนุญาตให้ใช้ ให้เช่าที่ดินของรัฐ โดยชุมชนร่วมรับผิดชอบ ในรูปแบบกลุ่มหรือสหกรณ์ ถือเป็นองค์ประกอบสําคัญที่จะทําให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทยบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทการพัฒนาที่ได้ตั้งไว้ นําไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

 

 นายสากล  ม่วงศิริ  (ซ้าย) มอบใบประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรชุมชน 26 องค์กร 

 

“แต่ทั้งนี้พวกเราจะต้องร่วมกันพัฒนาชุมชนและสังคมในมิติอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วย เช่น  การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  การรักษาสุขภาพ  และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมเข้าสู่สังคมสูงวัย  โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสําคัญในการพัฒนาศักยภาพขององค์กรชุมชนและพี่น้องในชุมชน ให้มีความสามารถในการพึ่งพาและดูแลตนเองได้  เปลี่ยนจากผู้รอรับการช่วยเหลือ เป็นกลุ่มที่มีความสําคัญ  เป็นหลักในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  การสร้างให้เกิดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  อาจจะมีปัญหาให้ต้องคิดและแก้ไขตลอดเวลา เช่น  ปัญหาด้านที่ดิน  ปัญหาการจัดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ จะทําให้พี่น้องเกิดการเรียนรู้ และเพิ่มความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยมีกลไกคณะทํางานที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะทํางาน  คอยกํากับดูแล  และคลี่คลายปัญหาข้อติดขัดที่จะเกิดขึ้น รวมถึงบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดในมิติด้านอื่น ๆ ต่อไปด้วย”  นายสากลกล่าว

 

ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  ประมาณ 3 ล้านครัวเรือน  โดยมีวิสัยทัศน์ว่า “คนไทยทุกคนจะมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว  และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579” 

 

โดยการเคหะแห่งชาติจัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยประชาชนในลักษณะเช่า/ซื้อ  ประมาณ 2 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท  รวมทั้งกลุ่มคนไร้บ้าน  ตามโครงการบ้านมั่นคงเมือง  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากร  บ้านมั่นคงชนบท  บ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมสร้างบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน  สภาพทรุดโทรม)  ฯลฯ  รวม 1,050,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ

 

การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี

 

นอกจากนี้นายสากลได้เป็นผู้แทน รมว.พม.มอบงบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านพอเพียงชนบทให้แก่ผู้แทนโครงบ้านพอเพียงชนบท  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด  มอบใบประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรชุมชน 26 องค์กร  และมอบเมล็ดพันธุ์ผักให้กับผู้แทนศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาบุคคล ‘บ้านโฮมแสนสุข’ ซึ่งเป็นที่พักพิงของกลุ่มคนไร้บ้านจังหวัดขอนแก่น

 

เครือข่ายองค์กรชุมชนท้องถิ่นอีสานจัดการตนเองประกาศเจตนารมณ์

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2563 ที่จังหวัดขอนแก่น  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสานได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์  มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า

 

“ในห้วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา  ขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน  มีประวัติศาสตร์และพัฒนาการ  การรวมตัวของคน/กลุ่มคนในชุมชน /หมู่บ้าน /ตำบล และคนจนเมือง  โดยส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญ เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ  ผ่านเครื่องมือและประเด็นงานที่หลากหลาย เช่น  การพัฒนาระบบการออม/กองทุนชุมชน การพัฒนาสวัสดิการชุมชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาเกษตรยั่งยืน การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชน การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ดินทำกินแนวใหม่ โครงการบ้านมั่นคงเมือง  เป็นต้น

 

 

ในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเป็นยุคทองของการพัฒนา โดยภาคประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานการพัฒนาภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมต่างๆ ขับเคลื่อนการทำงานและบูรณาการแผนงานภาคประชาชน  ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคีต่างๆ ร่วมกัน

 

พวกเรามาวันนี้ก็เพื่อความมุ่งหวังที่อยากจะเห็นการพัฒนาประเทศและชุมชนท้องถิ่นขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องและเพื่อ “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม ให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” โดยเครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองและชนบทอีสานจัดการตนเองได้จัดทำยุทธศาสตร์ภาคประชาชน  และนำเสนอเพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐบาล  ดังนี้

ประการแรก  เหตุผลสำคัญที่ต้องให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ได้แก่  การรวมศูนย์อำนาจทำให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับผลกระทบและเกิดความอ่อนแอ การกระจายอำนาจและการจัดการจากส่วนกลางยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนท้องถิ่น   ชุมชน/คนท้องถิ่นต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดอนาคตตนเอง  เตรียมความพร้อมของชุมชนท้องถิ่นเพื่อรองรับแผนพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และชุมชนท้องถิ่นขอมีสิทธิจัดการตนเองด้านการพัฒนาที่ดินและที่อยู่อาศัย

ประการที่สอง  ปัญหาที่สำคัญ ได้แก่  การรวมศูนย์อำนาจการพัฒนา และการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนฐานราก  ระเบียบราชการเป็นอุปสรรคพี่น้องประชาชนเข้าไม่ถึงการแก้ปัญหา  การพัฒนาที่ผ่านมาทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น  คนจนอพยพเข้าเมืองกลายเป็นชุมชนแออัดกว่า 3,600  แห่ง /คนชนบทเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยกว่า 3.9  ล้านคน  สังคมเหลื่อมล้ำ  คนส่วนน้อยครอบครองที่ดิน คนส่วนมากไม่มีที่ทำกิน เป็นต้น

ประการที่สาม  แนวคิด/หลักการการทำงานขบวนองค์กรชุมชน  ยึดหลักการสำคัญ ได้แก่ ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง องค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการดำเนินการ  ให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกฝ่าย  องค์กรชุมชนบริหารจัดการงบประมาณด้วยตนเอง   ประชาชนเจ้าของปัญหาลุกขึ้นมาทำงานแก้ปัญหาของตนเองแบบมีส่วนร่วม และชุมชนท้องถิ่นทำงานพัฒนาแบบองค์รวมทุกเรื่อง  ทุกประเด็น

ประการที่สี่  ประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคประชาชน มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย  การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในระดับตำบล  เมือง  และจังหวัด  โดยมีประเด็นงาน คือ ยกระดับสวัสดิการชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชีวิตสู่การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม  การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง (บ้านมั่นคงเมือง) การแก้ปัญหาที่ดินแนวใหม่ (บ้านมั่นคงชนบท)  ใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานพัฒนาสู่ “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง” การพัฒนาเศรษฐกิจ ฐานรากและทุนชุมชนเพื่อนำไปสู่ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจฐานราก การจัดการทรัพยากร/เกษตร/ภัยพิบัติ/ลุ่มน้ำ/ป่าไม้/สิ่งแวดล้อม/พลังงาน  เป็นต้น”

คำประกาศข้อเสนอต่อรัฐบาล 4 ข้อ

1.สนับสนุนงบประมาณและแผนปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ขอนแก่นโมเดลของขบวนองค์กรชุมชน 

2.พัฒนากลไกและสนับสนุนการทำงาน  บูรณการทุกภาคส่วน  และติดตามร่วมกันในระดับชาติ 

3.ให้ลดผลกระทบและทบทวนโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชุมชนต้องผ่านเวทีประชาพิจารณ์ของชุมชนท้องถิ่น  เช่น  รถไฟความเร็วสูง  ทางด่วน  เพราะอาจทำให้มีคนไร้บ้านจำนวนมาก  และควรมีมาตรการชดเชยและเยียวยาที่สมเหตุสมผล 

4.ปัญหาเฉพาะหน้าให้มีการเปลี่ยนแปลงปรับแก้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาหรือซ้ำซ้อน  ซึ่งเป็นอุปสรรค  ขัดขวางการแก้ปัญหาให้กับชุมชนท้องถิ่น

“เครือข่ายพี่น้องประชาชนชาวขอนแก่น ภาคอีสาน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะเปิดมิติใหม่ รับฟังพี่น้องประชาชน เพื่อลดปัญหาและความเหลื่อมล้ำ อันจะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งออกไปจากสังคมไทย  และเข้าสู่การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง  และพวกเราก็พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติไทย 20 ปีข้างหน้า  เพื่อความผาสุก มั่นคง มั่งคั่งยั่งยืน  สืบไป”  คำประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายภาคประชาชนภาคอีสาน  และเครือข่ายองค์กรชุมชนด้านที่อยู่อาศัยทั่วประเทศกล่าวย้ำในตอนท้าย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"