ไฟเขียวแผนอุ้ม ธุรกิจท่องเที่ยว หวังกระตุ้นศก.


เพิ่มเพื่อน    

 

ครม.เคาะขยายเวลามาตรการด้านการเงิน บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง พร้อมไฟเขียวหั่นภาษีน้ำมันเครื่องบินเหลือ 0.20 บาทต่อลิตร ยาวถึง 30 เม.ย.2564 อุ้มต้นทุนสายการบิน หวังช่วยลดค่าโดยสารหนุนประชาชนเดินทางท่องเที่ยวเพิ่ม

    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งที่ 3/2563 ที่จังหวัดภูเก็ต ว่า วันนี้ได้มีการอนุมัติแผนงานโครงการในเรื่องการใช้งบฟื้นฟูไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เราใช้งบประมาณการฟื้นฟูลงไปครบทุกจังหวัดแล้ว ต่อไปก็จะลงไปถึงพื้นที่ข้างล่าง ในระดับอำเภอ ตำบล เป็นโครงการที่จะมีมูลค่าขึ้นในการพยุงเศรษฐกิจของประชาชน โดยเฉพาะเศรษฐกิจระดับฐานรากให้มากขึ้น บางโครงการที่เสนอขึ้นมา บางครั้งก็อนุมัติไม่ได้เพราะไม่ถูกต้องตามหลักการ ก็ให้ส่งย้อนกลับไปให้ทางพื้นที่ ทางจังหวัดได้ทบทวนขึ้นมา เพื่อให้เราสามารถอนุมัติงบประมาณได้อย่างถูกต้อง
    "นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดความทั่วถึง เป็นธรรมเท่าเทียมตามศักยภาพที่มีอยู่ หลายจังหวัดไม่ตรงกัน บางจังหวัดในเรื่องเศรษฐกิจ บางจังหวัดในเรื่องการท่องเที่ยว มันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ดีที่สุด"
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือมาตรการทางด้านการเงินการคลัง เรื่องภาษี ต่อเวลาอะไรต่างๆ เราต้องทยอยดำเนินการให้ บางอย่างต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับรายได้ของรัฐ เพราะจำเป็นต้องนำเงินเหล่านั้นมาพัฒนาประเทศไทยเหมือนกัน ฉะนั้นงบประมาณในการแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำปี งบฟื้นฟู ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปีถ้าเก็บภาษีไม่ได้มาก ลดไปเรื่อยๆ รายได้ลดลงแน่นอน มันก็ทำให้โครงการอาจมีความล่าช้า แต่รัฐบาลจะต้องหาวิถีทางในการที่จะดำเนินการได้ในสิ่งที่เร่งด่วน
    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 เห็นชอบการแก้ไขปัญหาติดขัดและขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึง และมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้
    โดยปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อต่อราย ซอฟต์โลนท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องของธนาคารออมสิน จากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย เป็นไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตรา 0.01% ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการ ดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564
    นอกจากนี้ ยังขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภายใต้โครงการ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อซอฟต์โลนท่องเที่ยว แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตามมาตรการดังกล่าว จากเดิมที่ บสย.ค้ำประกันให้เฉพาะกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563  (พ.ร.ก.ซอฟต์โลน) โดย บสย.คิดค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดยเริ่มค้ำประกันในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้รับสินเชื่อ
    พร้อมทั้งขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อซอฟต์โลนออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและซัพพลายเชน วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อ Extra cash วงเงิน 10,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี
    นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น จาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร โดยให้มีผลหลังเวลา 24.00 น. ขอวันที่ 3 พ.ย.2563 ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2564 เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการสายการบิน และส่งผลให้สายการบินสามารถปรับลดค่าโดยสาร ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลงและตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น
    "คลังมั่นใจว่ามาตรการด้านการเงินและมาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะทำให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไปอย่างทั่วถึงและเพียงพอ และจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตช่วงนี้ไปได้ โดยคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที" นายอาคมกล่าว.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"