"ชวน" เร่งเครื่องตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์หาทางออกให้ประเทศ เผยเบื้องต้นทุกฝ่ายขานรับ แต่ฝ่ายค้านยังลังเล อ้างขอดูรูปแบบและรอการตัดสินใจจากฝ่ายม็อบก่อน ด้าน 3 อดีตนายกฯ พร้อมเข้าร่วมเป็นกรรมการ ฮือฮา "โซ่ข้อกลาง" คืนชีพ ฟุ้งวันเดียวก็เสร็จ ถ้าไม่เสร็จก็ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์
ตลอดวันอังคารที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยช่วงเช้าที่รัฐสภา เกียกกาย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา หารือร่วมกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา, นายสุชาติ ตันเจริญ นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร, นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เพื่อหารือถึงรูปแบบโครงสร้างกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ที่สถาบันพระปกเกล้านำเสนอมา 2 รูปแบบ
นายชวนเปิดเผยภายหลังการหารือว่า ได้รับคำชี้แจงจากนายสุทิน ว่าฝ่ายค้านไม่ถึงขนาดที่จะไม่เข้าร่วมในโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่ขอรอดูแนวทางรูปแบบคณะกรรมการก่อน ถือว่าไม่ปฏิเสธการเข้าร่วม แต่ยังไม่ได้หารือว่าจะใช้รูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์ในรูปแบบใด จากนี้จะนำความเห็นที่ได้หารือกันส่งให้เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ารับทราบอีกครั้ง
นายชวนกล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น ไม่เหมาะ ควรรับภาระการประสานเพื่อให้ทุกฝ่ายมาทำงานร่วมกัน แต่กรณีใดที่ตนเป็นประโยชน์ก็ยินดีทำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข่าวว่าเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีมาร่วมวงสมานฉันท์ นายชวนบอกว่า ได้ติดต่อทางโทรศัพท์ไปยังอดีตนายกรัฐมนตรี 4 คน ประกอบด้วย นายอานันท์ ปันยารชุน, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งนายอานันท์ พล.อ.ชวลิต และนายอภิสิทธิ์ ยินดีและพร้อมจะสนับสนุนให้ความร่วมมือ แต่จะขอไปพบเป็นการส่วนตัวอีกครั้ง
ส่วนนายสมชายยังติดต่อไม่ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสุขภาพ ขอให้รอสักระยะ ขอเรียนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยาว แต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นอีกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการชุมนุมเป็นอีกประเด็น ต้องดูพิเศษต่างหาก
ขณะที่นายสุทินกล่าวว่า ฝ่ายค้านจะเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการหารือในสเต็ปแรกที่เชิญทุกฝ่ายมาหารือกัน ถ้าทุกฝ่ายยอมรับการมีคณะกรรมการสมานฉันท์จะไปสู่สเต็ปสองคือโครงสร้างคณะกรรมการ ถ้าในสเต็ปแรกทุกฝ่ายยอมรับกัน พร้อมให้มีคณะกรรมการชุดนี้ ฝ่ายค้านก็พร้อมเข้าด้วย แต่ถ้าทุกฝ่ายไม่ยอมรับ ฝ่ายค้านก็คิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะร่วม
"โดยเฉพาะความเห็นจากฝ่ายผู้ชุมนุม ถ้าไม่ยอมรับคณะ กรรมการสมานฉันท์ ฝ่ายค้านก็คงไม่เข้าร่วมด้วย เพราะการแก้ปัญหาครั้งนี้ต้องเอาผู้ชุมนุมและประชาชนเป็นตัวตั้ง ปลูกเรือนต้องตามใจผู้อยู่ เชื่อว่าการหารือสเต็ปแรกน่าจะเกิดขึ้น ไม่น่าจะเกินสัปดาห์หน้า คงเป็นการหารือไม่กี่คน น่าจะมีฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. ผู้ชุมนุม นักวิชาการ และสถาบันพระปกเกล้า ส่วนรูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น ยังไม่ได้คิด ต้องดูในสเต็ปแรกที่จะประชุมโต๊ะกลม เพื่อนำตุ๊กตาของสถาบันพระปกเกล้ามาพิจารณาในรูปแบบที่ 1 และ 2 หรืออาจสร้างรูปแบบที่สามขึ้นมาเอง ก็รอฟังก่อน" นายสุทินกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้านต้องการให้นายกฯลาออกด้วย ประธานวิปฝ่ายค้านตอบว่า ต้องดูว่ากรรมการชุดนี้ ผู้ชุมนุมหรือประชาชนคิดว่ากรรมการชุดนี้จะเป็นทางออก เขาก็จะรอว่าจะลาออกไม่ลาออก ถ้ากรรมการชุดนี้ครอบคลุมเงื่อนไข ฝ่ายค้านก็ต้องพิจารณาไปตามข้อตกลงของโต๊ะกลมที่แต่ละฝ่ายพิจารณาร่วมกัน
ด้านความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ หรือ "ครม.สัญจร" ที่โรงแรมสแปลช บีช รีสอร์ท ไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ช่วงหนึ่งว่าเราต้องฟังความเห็นของทุกคน ทุกพวก ทุกฝ่าย แต่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้กลไกในการบริหารปกติของรัฐบาล กลไกของรัฐสภาในการแก้ปัญหา นั่นคือสิ่งที่ทุกรัฐบาลจำเป็นต้องยึดมั่น และอาศัยกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก้าวล่วงซึ่งกันและกันมิได้ ก็ขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนในประเทศนี้ด้วย
"ขอขอบคุณในการต้อนรับของประชาชนภาคใต้ โดยเฉพาะสมุยและภูเก็ต ที่ถือเป็นตัวแทนของประชาชนในภาคใต้ ซึ่งผมเห็นถึงความรัก ความสามัคคี ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ได้แสดงออกมา ผมก็ตื้นตันกับประชาชนของเรา แม้กระทั่งในกรุงเทพฯ ทุกคนก็ได้แสดงถึงเจตนา ปรารถนาอันบริสุทธิ์ ที่จะทำให้ประเทศชาตินั้นมีความปลอดภัย แล้วทุกอย่างมันก็จะดีขึ้นเองนั่นแหละ ทุกอย่างมันต้องเริ่มต้นด้วยความสงบเรียบร้อย เริ่มต้นด้วยสิ่งที่มันถูกต้อง มีวัฒนธรรม มีอัตลักษณ์ มีประเพณี สิ่งเหล่านี้มันจะทำให้ประเทศชาติเราเข้มแข็ง ต่อไปในอนาคต ก็ขอฝากทุกคนไว้ด้วย" นายกฯกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อน พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้กล่าวกับประชาชนที่มารุมล้อมให้กำลังใจว่า “หัวใจฉันยิ่งใหญ่อยู่แล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหัวใจของฉันคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สู้สู้” พร้อมชูมือทำสัญลักษณ์ไอเลิฟยู และชูกำปั้นในลักษณะของการสู้และนำกำปั้นมาทุบที่หัวใจ
มีรายงานว่า ในที่ประชุม ครม.นอกสถานที่ดังกล่าว เหตุผลหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์อารมณ์ดีนั้น เนื่องจากประเมินสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มราษฎรแล้วเห็นว่ากระแสกดดัน รวมถึงความตึงเครียดต่างๆ มีแนวโน้มลดลง สถานการณ์น่าจะกลับสู่ปกติในอีกไม่นานนี้
ช่วงหนึ่งของการประชุม ครม. ก็มีการหารือถึงประเด็นนี้ โดยครม.หลายคนเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่าสถานการณ์ทางการเมืองมีแนวโน้มจะดีขึ้น เพราะบางข้อเรียกร้องที่เป็นไปได้ รัฐบาลก็เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเตรียมตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่บางข้อเรียกร้องก็ต้องยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ว่า ตนเคยเสนอตั้งคณะกรรมการที่มาจาก 7 ฝ่าย ไม่ได้แปลว่าฝ่ายใดจะมีมากหรือน้อยกว่า เพราะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องมาแสวงหาความเห็นให้เป็นฉันทามติที่ตรงกัน ไม่ใช่ยกมือแข่งกัน แล้วเอาเสียงข้างมากไปบังคับเสียงข้างน้อย
"เพราะการหาทางออกบางเรื่องใช้วิธีโหวตไม่ได้ ต้องพูดคุยเจรจา ทำความเข้าใจร่วมกัน อะไรที่เห็นตรงกันทั้งหมดก็จะมีคำตอบ ว่าควรให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติ อะไรที่ขัดแย้งกันอยู่ก็ต้องคุยกันต่อ แต่เมื่อประธานรัฐสภาได้หารือกับทุกฝ่ายแล้วเห็นว่าอะไรเหมาะสมที่สุด ผมและพรรคประชาธิปัตย์พร้อมให้การสนับสนุน เพราะอยากเห็นประเทศมีทางออกในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทุกคนมีความเป็นห่วง" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องรายละเอียดการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นหัวข้อหนึ่งที่จะหยิบยกมาคุยกันได้ หรือกรณีที่มีผู้เสนอให้ทำประชามติ ก็อาจเป็นหัวข้อที่จะหยิบยกมาพูดคุยกันได้ แต่ไม่ได้แปลว่าตนสนับสนุน รวมทั้งอีกหลายเรื่องที่มีผู้เสนอ ควรมีข้อสรุปและทางออก
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมด้วย คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า คิดว่าทางที่ดีที่สุดคือทุกฝ่ายควรจะเข้าร่วมเพื่อให้เป็นความเห็นพ้องต้องกัน
ซักว่าถ้าไม่เข้าร่วมกรรมการชุดนี้จะเดินต่อไปหรือ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ตอบล่วงหน้าไม่ได้ และไม่อยากให้ด่วนสรุปว่าฝ่ายใดจะไม่เข้า เพราะตอนนี้ยังมองในแง่บวกว่าฝ่ายที่ยังตัดสินใจจะร่วมหรือไม่ร่วม เพราะยังขอดูรูปแบบของคณะกรรมการปรองดองก่อน มีองค์ประกอบเป็นใครและฝ่ายใดบ้าง รวมทั้งกฎกติกา การดำเนินการจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องขอดูก่อน
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสถานเดียว นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นความเห็นของฝ่ายหนึ่ง ก็ต้องไปคุยว่าเห็นพ้องหรือเห็นต่างอย่างไร รวมถึงบางข้อเสนอที่ให้นายกฯ อยู่ต่อหรือลาออก ก็เป็นหนึ่งข้อเสนอที่ต้องไปดูในคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีนายชวนเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีมาร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่าถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีบารมีมาช่วยกัน มวลชนมาช่วยกัน เพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมือง ให้คนมีความรักมีความสามัคคี ก็เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพราะมันควรต้องรักกัน คนประเทศเดียวกัน
ส่วนจะได้รับความร่วมมือจากอดีตนายกฯ หรือไม่นั้น ไม่ทราบ ไม่กล้าไปพูดถึงความคิดของแต่ละท่าน แต่คนที่เป็นอดีตนายกฯต้องมีความหวังดีกับบ้านเมือง
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เรียกร้องให้แต่ละฝ่ายถอยคนละก้าว และคิดว่าการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ และเชิญอดีตนายกฯ หลายคนมาเข้าร่วมนั้น เป็นเรื่องที่ดี
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่าเรื่องการตั้งกรรมการปรองดองฯ ยังไม่มีใครมาหารือกับพรรคชาติไทยพัฒนา แม้แต่ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังไม่ได้คุยเช่นกัน ขณะเดียวกันภายในพรรคเรายังไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องดังกล่าว ดังนั้นเราจึงขอรับฟังความคิดเห็นส่วนรวมต่อเรื่องนี้ก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ชทพ.จะส่งคนเข้าร่วมหรือไม่ นายวราวุธบอกว่า ต้องดูองค์ประกอบและเป้าหมายว่าคณะกรรมการชุดนี้ก่อน เพราะการทำงานของ ชทพ.มีความชัดเจนมาตลอดในการทำงานเพื่อประชาชน และเพื่อสนองเบื้องพระยุคลบาท
มีความเห็นจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต่อประเด็นการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนให้ใช้รูปแบบที่ 1 คือคณะกรรมการที่ประกอบด้วยทุกฝ่ายรวม 7 ฝ่าย เพื่อเปิดให้ทุกฝ่ายพูดคุยกันได้ รวมถึงตัวแทนผู้ชุมนุม ฝ่ายเห็นต่างกับผู้ชุมนุม และนักวิชาการทุกแนวคิด ซึ่งบางเรื่องต้องเป็นการพูดคุยกันภายใน เพราะการเจรจากันผ่านการถ่ายทอดสดเหมือนปี 2553 ไม่สำเร็จ
ส่วนรูปแบบที่ 2 คือรูปแบบคณะกรรมการจากคนนอก ก็เป็นอีกรูปแบบที่มีความเป็นไปได้ แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการชุดนายคณิต ณ นคร หรือชุดนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ที่เป็นคณะกรรมการจากคนนอกทั้งหมด แม้มีรายงานผลสรุปที่ดี แต่ถูกเลือกใช้แค่บางประเด็นเท่านั้น เพราะไม่สามารถผูกมัดเป็นฉันทามติให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามได้
นายสมชายกล่าวถึงบางฝ่ายที่ระบุว่า จะต้องมีการหารือกันเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในคณะกรรมการชุดนี้ ว่าหากจะพูดในเวทีวิชาการสามารถทำได้ แต่ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วย เพราะหลายเรื่องที่จำเป็นต้องปฏิรูป ทั้งการเมือง การยุติธรรม การศึกษา ก็ยังไม่มีการปฏิรูป อย่างไรก็ตาม เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หากจะมีการพูดคุยกันหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า สนับสนุนนายชวนให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์เพื่อหาทางออกสถานการณ์การเมืองและการชุมนุม เนื่องจากมีประสบการณ์เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และอดีตประธานรัฐสภา 2 สมัย มีความเข้าใจทางการเมืองและเป็น ส.ส.หลายสมัย เป็นผู้มีบารมีที่ทุกคนเคารพนับถือ รวมทั้งตำแหน่งประธานรัฐสภาถือว่ามีกลไกอยู่ในมือ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย นายชวนจึงเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุด
"บ้านเมืองเราโชคดี มีจังหวะดี ที่ได้ท่านมาเป็นประธานรัฐสภาในขณะนี้ เข้าใจว่าเป็นภารกิจที่ยากลำบาก แต่เชื่อว่าถ้าไม่ใช่ท่านชวน คนอื่นก็ยากที่จะปฏิบัติภารกิจนี้ได้" นายคำนูณกล่าว
นายคำนูณกล่าวต่อว่า ส่วนในแง่การยอมรับจากทุกฝ่าย หากดูตัวบุคคล ขณะนี้คงไม่มีใคร ได้รับการยอมรับไปมากกว่ากัน หลายคนถูกกล่าวหาว่าเป็นคู่กรณีโดยตรง ทุกคนล้วนแต่มีข้อตำหนิ นายชวนก็เช่นกัน แต่นาทีนี้บ้านเมืองต้องการความกล้าหาญ แม้นายชวนเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ หรือสังกัดอยู่พรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็มองว่าเหมาะสมที่สุด มั่นใจว่าถ้ารับหน้าที่ จะสามารถตัดผลประโยชน์ของพรรคและอื่นๆ ได้ เป็นคนที่ยังคงความน่าเชื่อถือ เหมาะสมที่สุดเท่าที่มีอยู่
วันเดียวกัน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นหนึ่งในอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เชิญเข้าร่วมคณะกรรมการปรองดองฯ เปิดเผยว่า ได้รับการติดต่อมาแล้ว แต่บอกไม่ได้ว่าใครติดต่อมา ซึ่งก็รับปากไปว่าจะไปเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย ส่วนจะตั้งให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้มีการประชุมพูดคุยอะไรกัน
พล.อ.ชวลิตกล่าวต่อว่า เบื้องต้นเมื่อมีการนัดประชุมกันครั้งแรก ก็จะต้องหยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้นมาพูดคุยหารือกันถึงทางออกประเทศ และแนวทางการแก้ไขซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเรารู้ปัญหาอยู่แล้ว เพียงแต่จะแก้ไขกันอย่างไร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะพูดคุยกันเรื่องอะไร ตนตอบไม่ได้ว่าจะยึดแนวทางใดในการแก้ปัญหาฉะนั้นต้องให้คณะกรรมการมาพูดคุยกันก่อนถึงจะรู้แนวทาง
"วันเดียวก็เสร็จ ถ้าไม่เสร็จก็ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ ปัญหาต่างๆ ทุกคนต่างทราบดีว่ามันคืออะไร เพียงแต่เราหันหน้ามาร่วมกันหาทางออกให้ประเทศชาติ เพื่อจะได้เดินหน้ากันไปมันไม่มีอะไรยากเกินกว่า ที่พวกเราจะร่วมใจกันแก้ไข" อดีตนายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พล.อ.ชวลิต เคยเสนอทางออกประเทศด้วยแนวทาง "โซ่ข้อกลาง" เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ แต่ไม่ได้รับการสนองจากรัฐบาลหรือฝ่ายที่มีอำนาจ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |