วาระร้อนการเมืองหลังเปิดสภา 7พ.ย.โหวตรธน.-เล็งซักฟอกบิ๊กตู่


เพิ่มเพื่อน    

            หลังเริ่มเปิดสมัยประชุมรัฐสภามาตั้งแต่เมื่อ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา วุฒิสภาก็ประชุมกันไปแล้วเมื่อต้นสัปดาห์ ขณะที่กลางสัปดาห์นี้ สภาผู้แทนราษฎรก็กลับมาประชุมกันตามปกติ พุธ-พฤหัสบดี

            ซึ่งวงรอบสมัยประชุมรัฐสภารอบนี้ วาระร้อนที่หลายคนสนใจก็คือ "การโหวตเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงร่างแก้ไข รธน.ที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อ ที่เรียกกันว่าร่างฉบับประชาชนโดยไอลอว์ รวมเบ็ดเสร็จเป็น 7 ร่าง

            เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การขยายตัวของม็อบสามนิ้วตั้งแต่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ถึงตอนนี้จะเริ่มซาลงไปบ้าง แต่ก็ยังมีอยู่ ประเด็นหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเห็นด้วยและออกมาร่วมเคลื่อนไหว ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยิ่งเมื่อที่ประชุมรัฐสภา ตอนปิดสมัยประชุมวันสุดท้ายเมื่อปลายเดือนกันยายน ไม่ยอมตัดสินใจลงมติโหวตร่างแก้ไข รธน. โดยใช้วิธีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ จำนวน 6 ฉบับ จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นการซื้อเวลา แม้วิปรัฐบาลและ ส.ว.บอกว่าเป็นวิธีการเพื่อประนีประนอม เพราะหากมีการโหวตกันตอนนั้น แนวโน้มที่ ส.ว.จะออกเสียงเห็นชอบไม่ถึง 84 เสียง จนทำให้ร่างแก้ไข รธน.ทุกร่างตกไป จะยิ่งนำมาซึ่งสถานการณ์ที่ร้อนแรงมากกว่า

            มาตอนนี้ วาระร้อนเรื่องการโหวตแก้ไข รธน.ก็ถูกกางออกมาแล้ว ตามคำเปิดเผยของ "ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา" ว่าจะมีการนัดประชุมร่วมรัฐสภา ส.ส.และ ส.ว.ในวันอังคารที่ 17 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาญัตติขอแก้ไข รธน. โดยจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์เข้าพิจารณาด้วย เบื้องต้นประธานรัฐสภาบอกว่าจะให้มีการโหวตร่างแก้ไข รธน. 17 พ.ย.นี้ และหากไม่ทันก็จะประชุมลงมติในวันถัดไป 18 พ.ย.ต่อไป

            มีการมองกันว่า จากสถานการณ์การเมืองนอกรัฐสภาที่เปลี่ยนแปลงไปจากตอนปลายเดือนกันยายน ทำให้มีแนวโน้มที่ ส.ว.บางส่วนที่เคยลังเลจะลงมติไม่ให้ความเห็นชอบการแก้ไข รธน. โดยเฉพาะ ส.ว.ที่แนบแน่นกับคนในรัฐบาลอาจตัดสินใจได้เด็ดขาดมากขึ้นว่าอาจลงมติ "เห็นชอบ" ด้วยกับการแก้ไข รธน. หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณสนับสนุนการแก้ไข รธน.กลางที่ประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพียงแต่เสียงเห็นชอบที่ต้องได้เสียงจาก ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง จะมาทางไหน จะเห็นชอบหมดทั้ง 7 ร่าง หรือจะเห็นชอบเฉพาะแค่ร่างแก้ไข รธน.ที่แก้มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่าง รธน. ของพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่ ส.ไม่เอาด้วยกับร่างแก้ไข รธน.รายมาตราทั้งหมด หรือจะแค่เห็นชอบบางร่าง เช่น ร่างแก้ไขมาตรา 272 ที่ให้ปิดสวิตช์อำนาจ ส.ว.ในการโหวตเห็นชอบนายกฯ

            เพราะเนื้อหาในบางร่างจะพบว่าคงยากที่ ส.ว.และรัฐบาลจะเอาด้วย เช่น ร่างแก้ไข รธน.ของไอลอว์ ที่มีการเสนอบางประเด็นที่คงยากจะทำให้ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.เอาด้วย เช่น การแก้ไขเรื่องคุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ที่ร่างของไอลอว์ให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ที่หากดันออกมาแล้วมีการประกาศใช้ ก็จะทำให้พลเอกประยุทธ์หลุดจากนายกฯ ทันที เพราะบิ๊กตู่ไม่ได้เป็น ส.ส. หรือการให้ยกเลิก ส.ว.ชุดปัจจุบันทั้งหมดหลังการแก้ไข รธน.สำเร็จลง ซึ่งคงยากที่ ส.ว.ชุดปัจจุบันจะมาโหวตให้ตัวเองพ้นสภาพยกแผงเร็วกว่ากำหนดร่วมกว่า 3 ปี

            ขณะเดียวกัน ในส่วนของร่างแก้ไขมาตรา 256 ที่จะให้มีสภาร่าง รธน. เส้นทางก็อาจมีปัญหาอยู่ เพราะก็มีข่าวว่า ส.ว.บางส่วนก็เล็งไว้ว่าหากสุดท้ายที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตเห็นชอบ ก็อาจมีการเข้าชื่อกันเพื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะมองว่าการตั้งสภาร่าง รธน. เท่ากับเป็นการยกเลิก รธน.ฉบับปัจจุบันเพื่อไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่ไม่น่าจะทำได้ หากจะทำต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ หากยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

            ซึ่ง ส.ว.ที่มีแนวคิดดังกล่าว หัวหอกหลักๆ นำโดย สมชาย แสวงการ และพลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ที่พยายามอิงคำวินิจฉัยของศาล รธน. ที่ 18-22/2555 ที่มีผู้ร้องตอนนั้นก็คือ พลเอกสมเจตน์และนายสมชาย รวมถึง ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้อง ในช่วงยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ ส.ส.เพื่อไทยมีการยื่นขอแก้ไข รธน.ปี 2550 มาตรา 291 ที่เป็นมาตราเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไข รธน. ใน รธน.ปี 2550 เหมือนเช่น มาตรา 256 ใน รธน.ฉบับปัจจุบัน โดยตอนนั้นก็เป็นการแก้ไข รธน.เพื่อให้ตั้ง ส.ส.ร.เหมือนตอนนี้ และต่อมาศาล รธน.มีคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า อำนาจสถาปนาให้เกิด รธน.มาจากประชาชนที่ลงประชามติให้ความเห็นชอบ รธน.ปี 2550 องค์กรการเมืองการปกครองหรือกฎหมายใดที่อยู่ภายใต้องค์สถาปนานั้น เมื่อจะรื้อหรือร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ จำเป็นต้องกลับไปถามประชาชนที่ให้ความเห็นชอบตอนประชามติมาเสียก่อนว่าจะเห็นชอบหรือไม่ จนทำให้การแก้ไข รธน.เวลานั้นสะดุดลงทันที

            มาตอนนี้ทั้งพลเอกสมเจตน์และสมชาย แสวงการ ก็พยายามชูประเด็นนี้เพื่อคัดค้านการแก้ 256 เพื่อตั้งสภาร่าง รธน. แม้จะมีเสียงทัดทานว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวเกิดจาก รธน.ปี 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว เพราะเวลานี้ใช้ รธน.2560 รวมถึง รธน.ฉบับปัจจุบันก็ไม่มีมาตราใดห้ามไม่ให้แก้ 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.

            ข้อถกเถียงข้างต้นตลอดจนท่าทีของ ส.ว.ต่อการลงมติแก้ไข รธน.จะเป็นอย่างไร ยังไง ก็รอดูกันกลางเดือนนี้ ผลจะออกมาแบบไหน แล้วผลโหวตจะทำให้กระแสม็อบสามนิ้วจางลงไปได้หรือไม่

            ท่ามกลางการมองกันว่า ม็อบสามนิ้วเวลานี้ ข้อเรียกร้อง-ประเด็นการเคลื่อนไหวไต่เพดานเกินเรื่องแก้ไข รธน. เพราะกลายเป็นเรื่องการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นธงหลักไปแล้ว

            และอีกเรื่องหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในการประชุมสภารอบนี้ ก็คือ การตั้งแท่นของฝ่ายค้านในการเตรียม "ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี

            ที่มีการมองกันว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเฉพาะสองพรรคแกนนำ "เพื่อไทย-ก้าวไกล" คงใช้จังหวะที่กระแสม็อบยังร้อนๆ เร่งยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมทางการเมือง ให้การเคลื่อนไหวของม็อบร้อนแรงยิ่งขึ้น โดยมีข่าวว่าเดิมน่าจะไม่เกินเดือน พ.ย.นี้ ฝ่ายค้านอาจยื่นญัตติ แต่เมื่อมีจังหวะคั่นเรื่องการโหวตแก้ไข รธน.เข้ามาแทรกกลางเดือน ก็ทำให้ฝ่ายค้านอาจกำลังดูทิศทางลมอยู่ว่าจะยื่นช่วงไหน ส่วนหนึ่งฝ่ายค้านอาจรอดูผลการโหวตแก้ไข รธน.ของ ส.ส.รัฐบาลและ ส.ว.ด้วยว่าจะออกมาอย่างไร หากผลโหวตทำให้ม็อบไม่พอใจ ก็อาจทำให้ฝ่ายค้านไม่รอช้าในการเร่งยื่นญัตติซักฟอกนายกฯ เพื่อขยายผลการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาต่อตัวพลเอกประยุทธ์

            การลงมติร่างแก้ไข รธน.และการยื่นญัตติซักฟอกนายกฯ เป็นสองปมร้อนที่จะเกิดขึ้นในการประชุมรัฐสภา-สภาผู้แทนราษฎรรอบนี้.

 

   

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"