หายใจรดต้นคอของจริง!


เพิ่มเพื่อน    

 

 

วันนี้ทั้งวันผมปักหลักอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เพื่อทำรายการสดผ่าน Suthichai Live เพื่อเกาะติดการนับคะแนนหลังการหย่อนบัตรของคนอเมริกันเพื่อเลือกประธานาธิบดีคนใหม่

            ไม่ว่าคนชนะจะเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ หรือโจ ไบเดน การเมืองสหรัฐฯ และโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไม่ต้องสงสัย

            หากทรัมป์ได้นั่งทำเนียบขาวอีกหนึ่งสมัย การทำงานของเขาในเทอมที่สองก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนสี่ปีแรก เพราะเขาไม่ต้องเอาใจฐานเสียงเดิมอีกต่อไป

            ทรัมป์อาจจะกร้าวขึ้น กดดันคนที่เห็นต่างหนักขึ้น และสร้างความร้าวฉานกับประเทศที่ไม่ยอมตามเงื่อนไขของเขามากขึ้น

            หรือเขาอาจจะมีท่าทีอ่อนลง เพราะไม่ต้องเครียดกับการที่ต้องรักษาคะแนนนิยมเหมือนสมัยแรก

            แต่สำหรับทรัมป์แล้วไม่มีใครสามารถเดาได้ว่าหากเขาชนะอีกรอบ เขาจะปรับเปลี่ยนตัวเองมากน้อยแค่ไหน

            หากเขาแพ้ เขาจะดำรงชีวิตอย่างไร

            นั่นเป็นคำถามใหญ่ที่ทุกคนอยากจะรู้คำตอบ

            เพราะเขาอาจจะเจอกับข้อหาต่างๆ มากมาย ตั้งแต่เรื่องไม่เปิดเผยรายละเอียดการเสียภาษี ไปถึงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในระหว่างดำรงตำแหน่ง ตลอดจนจะมีผู้คนที่พร้อมจับเขาขึ้นศาลด้วยข้อหาต่างๆ หลากหลายมากมาย

            ทรัมป์เป็นคนที่ไม่ยอมแพ้ เขากลัวที่สุดคือคำว่า "loser" ซึ่งหมายถึงการเป็นผู้แพ้ต่อเกมที่เขามั่นใจว่าเขาจะชนะเสมอ

            ทรัมป์เคยประกาศทีเล่นทีจริงว่า "ถ้าผมแพ้เลือกตั้ง พวกคุณอาจจะไม่ได้เห็นผมอีก ผมจะหายไปเลย..."

            ประโยคนี้ทรัมป์อาจจะใช้ในช่วงหาเสียงเพื่ออ้อนกับคนมาฟังเขาปราศรัย

            หรืออาจจะเป็นการสะท้อนถึงความในใจจริงๆ ของเขาก็ได้

            แต่หากไบเดนชนะเลือกตั้ง การเมืองของสหรัฐฯ จะเปลี่ยนไปอย่างมาก

            ไบเดนจะปรับทิศทางของอเมริกาในเวทีระหว่างประเทศในหลายๆ มิติ

            แต่ที่ไม่เปลี่ยนก็คือ การรักษาความเป็นหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ในเวทีสากล

            โดยพยายามจะสกัดการเติบใหญ่ของจีนที่ทำท่าจะแซงหน้าอเมริกาในหลายๆ ด้าน

            เราจึงต้องจับตาดูทุกคะแนนของทุกรัฐในการนับคะแนนวันนี้...หรืออีกหลายๆ วันจากนี้ไป เพราะความยุ่งยากวุ่นวายที่ผมอธิบายในคอลัมน์นี้เมื่อวานนี้

            ที่ผมจับตาพิเศษวันนี้คือ รัฐที่ถูกเรียกว่า battleground states หรือ "รัฐสมรภูมิ" ที่จะเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายสำหรับทั้งสองคน

            ไม่ว่าจะเป็นฟลอริดา, โอไฮโอ, นอร์ทแคโรไลนา, จอร์เจีย, เทกซัส เป็นต้น

            แต่ที่ผมเฝ้ารอคอยคะแนนเป็นพิเศษคือ ฟลอริดา ซึ่งมีประวัติเกี่ยวโยงกับการตัดสินชะตากรรมของผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีมาหลายครั้งหลายหน

            ในช่วงสองสามวันก่อนวันหย่อนบัตร ทรัมป์กับไบเดนมาปักหลักที่ฟลอริดาอย่างคึกคัก

            เพราะใครไม่ชนะรัฐนี้ก็อาจจะแพ้เลือกตั้งไปเลยก็ได้

            ฟลอริดามีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 29 คน แต่มีความสำคัญมากกว่าตัวเลขนี้ในหลายด้าน

            ตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 1996 เป็นต้นมา ผู้สมัครที่ได้รับชัยชนะที่รัฐ คนที่จะได้เป็นประธานาธิบดีต้องชนะเสียงข้างมากในสภา

            ทรัมป์เริ่มการหาเสียงที่ฟลอริดาในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา และรุดไปพบผู้สนับสนุนที่เมืองแทมปาในช่วงเช้า

            แต่ตกเย็นก็วิ่งรอกไปนอร์ทแคโรไลนา เพราะมีความสำคัญพอๆ กัน

            วันเดียวกันนั้น ไบเดนหาเสียงที่เขตบราวาร์ดของรัฐเดียวกันในช่วงบ่าย และไปปราศรัยที่เมืองแทมปาในช่วงเย็น

            สำนักโพลหลายสำนักที่รวบรวมโดย Real Clear Politics บอกว่า ผู้สมัครทั้งสองคนมีคะแนนใกล้เคียงกันมากในสองรัฐนี้

            เข้าขั้น "หายใจรดต้นคอ" จนถึงนาทีสุดท้ายกันเลยทีเดียว

            ไบเดนมีคะแนนนำ 3-4% ในรัฐที่เป็น "รัฐสมรภูมิ" อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมิชิแกน เพนซิลเวเนีย และวิสคอนซิน

            แต่ทรัมป์บอกโพลของเขาเองกลับสะท้อนว่าเขากำลังนำในรัฐชี้ขาดเหล่านี้

            เข้าสูตร "โพลใครโพลมัน"

            ทรัมป์ปราศรัยที่โรงแรมของตัวเองในนครลาสเวกัส อ้างว่าผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าผลงานของเขาอยู่ในเกณฑ์ "ดีเยี่ยม" ในฟลอริดา รัฐนอร์ทแคโรไลนา และรัฐเพนซิลเวเนีย

            และยังนำไบเดนที่มิชิแกนและรัฐวิสคอนซินด้วย

            ทรัมป์บอกอย่าไปเชื่อโพลที่ให้ร้ายเขา ให้ดูแต่โพลที่เชียร์เขา

            ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ คนอเมริกันได้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าแล้วกว่า 76 ล้านคน

            เป็นตัวเลขมากที่สุดในประวัติการณ์

            และมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ทั้งหมดในการเลือกตั้ง 4 ปีที่ผ่านมา

            ปีนั้นมีผู้ลงคะแนน 138.8 ล้านคน

            คาดกันว่าปีนี้จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ประมาณ 150 ล้านคน หรือประมาณ 65% ของคนอเมริกันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด

            ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็จะเป็นสัดส่วนของการใช้สิทธิ์สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1908

            ที่น่าสนใจไม่น้อยคือ 2 ใน 3 ของคนเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นการลงคะแนนทางไปรษณีย์

            เหตุผลหลักคือเพราะกลัวโควิด-19

            ผู้คนต้องการหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนจำนวนมากในวันเลือกตั้งจริง

            และกลัวต้องต่อแถวยาวนานหลายชั่วโมง เพราะมาตรการที่รัฐต่างๆ นำมาใช้ในการควบคุมการระบาดของโควิด

            นักวิเคราะห์บอกว่า ผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่นิยมลงคะแนนล่วงหน้าหรือลงคะแนนทางไปรษณีย์      

            แต่คนที่เชียร์พรรครีพับลิกันจำนวนไม่น้อยยังนิยมไปหย่อนบัตรด้วยตัวเองในวันเลือกตั้งจริง

            เชื่อกันว่าผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่าผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันราวๆ 2 ต่อ 1

            สายๆ วันนี้น่าจะเห็นภาพชัดว่าคนอเมริกันจะเลือกทรัมป์หรือไบเดน

            ผลเป็นอย่างไรจะได้มาวิเคราะห์กันในคอลัมน์นี้ในวันต่อๆ ไป.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"