ซีไอเอ็มบีแนะไทยงัดกลยุทธ์'เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ' ไม่เลือกข้าง


เพิ่มเพื่อน    

 

3 พ.ย. 2563 นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับลิกัน กับ โจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต มีนัยต่อการวางยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ต่อการวางตัวทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก การวางตัวระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และจะมีผลต่ออนาคตเศรษฐกิจไทย เพราะทั้งคู่มีมุมมอง และนโยบายแตกต่างกัน

โดยสำนักวิจัยฯ ประเมินผลกระทบต่อไทยหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หากทรัมป์ชนะ น่าจะเป็นผลบวกต่อประเทศไทย เนื่องจาก 1.สงครามการค้าใกล้จบ 2. นโยบายของทรัมป์ส่งผลให้บริษัทจีนย้ายฐานซึ่งทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ 3. ไทยยังเป็นห่วงโซ่อุปทานกับจีนจึงยังต้องสานต่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP ) แต่หากไบเดนชนะ ไทยจะได้ประโยชน์หากเข้าร่วม CPTPP เนื่องจาก 1. ไบเดนจะอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรในการโอบล้อมจีน 2. การเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่ได้ลดทอนความเข้มข้นลง และ 3. ไทยอาจไม่ได้ประโยชน์จากย้ายฐานการผลิตหากไม่ร่วม CPTPP 

"ไม่ว่าผู้นำสหรัฐฯ คนต่อไปจะเป็นใคร สหรัฐฯจะกลายเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 (America Second) และจีนจะขึ้นเป็นผู้นำโลกแทนสหรัฐฯ (China Number One) เพราะทั้งทรัมป์และไบเดนไม่ใช่ผู้นำโลกการค้าเสรี ทั้งคู่ไม่ได้สนับสนุนโลกาภิวัตน์ แต่จะผลักดันกระแสชาตินิยม เน้นการสร้างงานให้สหรัฐฯ Made in USA เกิดการทวนกระแสโลกาภิวัตน์หรือกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ (Deglobalization) ทั้งนี้ กระแสชาตินิยมในสหรัฐฯ กำลังผลักดันให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกการค้าเสรีแทน" นายอมรเทพ กล่าว

สำนักวิจัยฯ คาดว่าภายในปี 2573 หรืออีกไม่เกิน 10 ปี จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าสหรัฐฯ แม้จีดีพีของจีนยังมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ภาคการค้าระหว่างประเทศในปี 2563 พบว่า จีนแซงหน้าสหรัฐฯขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 ของโลกแล้ว และคาดว่าจะชัดเจนมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะที่สหรัฐฯ ยังเผชิญความเสี่ยงในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากไม่มีวัคซีนเศรษฐกิจสหรัฐฯจะโตช้ากว่าที่คาดการณ์ ดังนั้น จึงน่าจับตาว่า สหรัฐฯภายใต้ผู้นำคนใหม่จะยอมอยู่ร่วมกับจีนได้หรือไม่ อย่างไร

นายอมรเทพ กล่าวว่า ในส่วนของไทยต้องเปิดรับทั้งคู่และอยู่ร่วมกับสหรัฐฯและจีนให้ได้ ไม่ควรเลือกข้าง เพราะวันนี้ไทยต้องค้าขายกับจีน แม้จีนยังเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 แต่เรื่องการค้าจีนเป็นเบอร์ 1 ของโลก ไทยจึงต้องเพิ่มการเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตกับจีนให้มากขึ้น เปิดรับการย้ายฐานจากจีนให้เข้ามาไทยให้มากขึ้น เพื่อหาทางส่งออกไปสหรัฐฯ และส่งออกไปประเทศอื่น ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยเช่นนี้เรียกว่า ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ’ คือ เปิดรับทั้งสองด้าน เดินหน้า RCEP และร่วม CPTPP แม้ว่าความขัดแย้งของจีนและสหรัฐฯจะยังมีอยู่ภายใต้ผู้นำสหรัฐฯคนต่อไป 

"ไทยไม่สามารถหนีกระแสโลกาภิวัตน์ ผมเชื่อว่าไทยและอาเซียนยังสามารถอยู่รอดได้ภายใต้ความขัดแย้งตรงนี้ แต่หากบริหารไม่ดี กระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ จะมีผลให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพได้ และไทยต้องเน้นเรื่องการเป็นหุ้นส่วนกับจีน ผ่านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร ขณะเดียวกันต้องเน้นอุปสงค์ในประเทศจีนคือ อาหาร ยาง สินค้าเกษตร และเปิดรับทั้งสองประเทศผ่านกลุ่มอาหาร เกษตร การแพทย์สุขภาพ เป็นซัพพลายเชน กลุ่มยานยนต์ชิ้นส่วน กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเดินหน้าเน้นเรื่องการท่องเที่ยวต่อไป" นายอมรเทพ ระบุ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"