ดินแดนประนีประนอม ในหลวงตรัสตอบสื่อนอก'เรารักทุกคนเหมือนๆกัน'


เพิ่มเพื่อน    


    ซีเอ็นเอ็นและแชนเนล 4 เผยแพร่ข่าวกราบบังคมทูลถามพระเจ้าอยู่หัว กรณีผู้ชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน มีพระราชดำรัสตอบ "เรารักทุกคนเหมือนๆ กัน...ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม" สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ มีพระดำรัส "เรารักคนไทยไม่ว่าจะเป็นอย่างไร" สถาบันพระปกเกล้าชง 2 รูปแบบตั้ง กก.ปรองดองสมานฉันท์ "ชวน" รับลูกนัด "ผู้นำฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล" หารือ 3 พ.ย. พร้อมเชิญ 3 อดีตนายกฯ และผู้ใหญ่ในบ้านเมืองร่วมถก "ฝ่ายค้าน" ยี้ชูธง "บิ๊กตู่" ต้องลาออกสถานเดียว "วิรัช" ขออย่าตั้งเงื่อนไข "ไพบูลย์" หนุนออกเสียงประชามติแล้วห้ามชุมนุม 2 ปี 
    ภายหลังการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร  เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงพระดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อมีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกรที่มาเฝ้าฯ และเปล่งเสียงทรงพระเจริญนั้น 
    มีช่วงหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวของสถานีแชนเนล 4 ของอังกฤษและสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นของสหรัฐอเมริกาที่แทรกตัวอยู่ในกลุ่มประชาชน ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานสัมภาษณ์แบบทะลุกลางปล้อง โดยได้ยื่นไมค์กราบบังคมทูลถามพระเจ้าอยู่หัวหลายประโยค
    วิดีโอที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของซีเอ็นเอ็นและแชนเนล 4 เป็นภาพเหตุการณ์ที่ผู้สื่อข่าวต่างชาติกราบบังคมทูลถามพระเจ้าอยู่หัวเป็นภาษาอังกฤษว่า "ประชาชน ณ ที่นี้ต่างรักพระองค์ แต่พระองค์จะมีรับสั่งอย่างไรกับผู้ประท้วงที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนเรียกร้องการปฏิรูป" ในหลวงมีพระราชดำรัสตอบว่า "ไม่มีความเห็น" จากนั้นพระองค์มีพระราชดำรัสว่า "เรารักทุกคนเหมือนๆ กัน เรารักทุกคนเหมือนๆ กัน เรารักทุกคนเหมือนๆ กัน"
    ผู้สื่อข่าวต่างชาติกราบบังคมทูลถามอีกว่า "มีที่ว่างสำหรับการประนีประนอมหรือไม่" พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบว่า "ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม" 
    หลังจากนั้นพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีทรงพระดำเนินจากไป ขณะเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงพระดำเนินกลับมาหาผู้สื่อข่าวของซีเอ็นเอ็นอีกครั้ง และมีพระดำรัสตอบว่า "ไทยเป็นประเทศที่สงบ เรารักคนไทยไม่ว่าจะเป็นอย่างไร" 
    ที่สถาบันพระปกเกล้า วันที่ 2 พ.ย. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร หารือร่วมกับนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าและผู้บริหารสถาบันพระปกเกล้า เพื่อออกแบบโครงสร้างและวิธีการทำงานของคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ 
    นายชวนแถลงภายหลังการหารือว่า จากที่ได้ให้เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าไปศึกษารูปแบบองค์ประกอบของงานที่จะต้องทำในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ขอให้สถาบันติดตามงานจากนายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายวิรัช รัตนเศรษฐ ว่ารูปแบบที่เสนอมานั้นเป็นอย่างไร  เลขาฯ ได้เสนอรูปแบบการแก้ไขปัญหาเป็น 2 รูปแบบ 
    โดยรูปแบบที่ 1 เป็นไปตามที่นายจุรินทร์เสนอคือ มีผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ รวม 7 ฝ่าย เช่น ส.ส.  ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนของวุฒิสภา และตัวแทนขององค์กรอื่น แต่ก็มีจุดอ่อนคือ หากฝ่ายใดปฏิเสธไม่ร่วมองค์ประชุม ก็จะไม่ครบองค์ประชุม หรือการหารือพูดคุยกันไม่นานก็อาจจะล่มได้ หรืออาจจะเสร็จเร็วได้ รวมทั้งถ้ามองผิวเผินจะมีแค่ฝ่ายรัฐบาลกับวุฒิสภา ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ถือว่าน่ากังวล  
    ส่วนรูปแบบที่ 2 มีคนกลางที่มาจากการเสนอของฝ่ายต่างๆ หรือประธานรัฐสภาเป็นผู้สรรหา หรือแต่งตั้งคณะกรรมการ ยังไม่แน่ใจว่ากรรมการที่เราไปทาบทามจะรับหรือไม่ ด้วยเป้าหมายของงานเขาก็ต้องดูปัญหาที่เขาจะเข้ามาดูนั้นคือเรื่องอะไร 
    "จะเอา 2 รูปแบบนี้ไปประสานกับฝ่ายต่างๆ หรือดึงรูปแบบที่ 1 กับ 2 มาประสานกัน ในเชิงของตัวบุคคลอาจต้องไปถามตัวแทนของฝ่ายต่างๆ ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ หรือคนนอกจะมาร่วมด้วยหรือไม่  เพราะต้องไปคัดคนให้ได้จำนวนไม่มาก แต่มีประสิทธิภาพเข้าใจปัญหา ในวันที่ 3 พ.ย.เป็นไปได้จะไปพูดคุยกับผู้นำฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเป็นการภายใน โดยได้ประสานกับอดีตผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคน อดีตนายกรัฐมนตรี 3 คน อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งเสียงส่วนใหญ่พร้อมจะร่วมด้วยถ้ามีโอกาส ไม่อยากให้สื่อไปคิดว่าจะมีประโยชน์หรือไม่สำเร็จ ทุกอย่างมันเริ่มต้นจากการที่คนส่วนใหญ่ในประเทศอยากเห็นบ้านเมืองสงบ วิธีไหนทำให้บ้านเมืองสงบได้เราจะพยายาม" นายชวนกล่าว
    ถามว่าจะเป็นประธานคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเองหรือไม่ นายชวนกล่าวว่าจะหารือกับอดีตนายกฯ และประธานสภา รวมถึงบุคคลต่างๆ เพื่อดูว่าจะมีใครสนใจในเรื่องนี้บ้าง จะเชิญมาร่วม ซึ่งอดีตนายกฯ  3 คนที่ได้พูดคุยต่างก็ห่วงบ้านเมืองและพร้อมให้ความเห็น แต่อย่าเพิ่งกำหนดเวลาเพราะต้องใช้เวลาในการประสานในแต่ละคน ซึ่งตนจะพยายามไปคุยส่วนตัว และหลายท่านก็ยังบอกว่าไม่สะดวก ส่วนตัวแทนของผู้ชุมนุมถ้าเข้าร่วมด้วยก็จะเป็นประโยชน์มาก จึงให้เลขาฯ สถาบันพระปกเกล้าไปประสาน ไม่อยากให้สื่อตั้งเงื่อนไขว่าผู้ชุมนุมจะเข้าร่วมหรือไม่ เอาเป็นว่าเราเป็นฝ่ายยื่นมือเข้าไปเชิญชวนให้เขามาร่วมแก้ไขปัญหาส่วนรวม 
    "การหารือวันนี้พูดคุยกันเฉพาะเรื่องของโครงสร้างคณะกรรมการ ไม่ได้มีการพูดคุยถึงข้อเรียกร้องต่างๆ รวมถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อของผู้ชุมนุม หรือที่พรรคก้าวไกลระบุว่าต้องมีการคุยในประเด็นปฏิรูปสถาบันจึงจะเข้าร่วม เพราะเห็นว่าใครจะตั้งธงอย่างไรก็ได้ แต่ขึ้นอยู่กับมติของคณะกรรมการว่าจะหารือพูดคุยในเรื่องอะไรบ้าง" ประธานสภากล่าว  
ชง 2 รูปแบบสมานฉันท์
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันพระปกเกล้าได้เผยแพร่เอกสารระบุถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการสมานฉันท์ มีรายละเอียดตอนหนึ่งว่า จำนวนกรรมการที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 7-9 คน โดยรูปแบบที่ 1  ผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งในรูปแบบนี้มีข้อห่วงกังวล คือ 1.ตัวแทน 7 ฝ่ายอาจมีองค์ประกอบที่ไม่สมดุล  น้ำหนักเอนเอียงเข้าข้างรัฐบาล ทำให้มีกรรมการจะไม่ได้รับความไว้วางใจ 2.ต้องระมัดระวังในการจัดหาผู้เอื้อกระบวนการ ซึ่งควรเป็นคณะทำงานจากหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วน ไม่ควรผูกขาด การจัดวาระการประชุมและการยอมรับในตัวประธานคณะกรรมการ 3.โอกาสที่พรรคฝ่ายค้านไม่ร่วมมีสูง  และ 4.การหาตัวแทนฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นไปได้ยาก ในส่วนรูปแบบที่ 2 การมีคนกลางนั้นมีข้อดีคือ ทำให้รัฐสภาเป็นพื้นที่ของการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติ ส่วนข้อห่วงกังวลคือ การยอมรับในตัวประธานคณะกรรมการและกรรมการ 
    ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน (ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน) ได้ประชุมหารือถึงสถานการณ์การเมือง และท่าทีของพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อการเข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ และการหาทางออกให้ประเทศ  
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นร่วมกันว่าปัญหาสำคัญของประเทศในขณะนี้ เกิดจากตัวนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศมา 5-6  ปี แต่ความขัดแย้งกลับเพิ่มขึ้น ไม่ได้มีความปรองดอง เศรษฐกิจยังล้มเหลว การตั้งกรรมการอะไรขึ้นมาคงเปล่าประโยชน์ เรามองว่าคงต้องถอดสลักสำคัญของประเทศออกเสียก่อน ยืนยันสิ่งที่ได้มีการอภิปรายไปในสภาว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกไปเสียก่อน 
    "เรามีประสบการณ์ว่ากรรมการแต่ละชุดที่เคยตั้งมาก่อนหน้านี้ ในลักษณะนี้ไม่มีอำนาจในตัวเองในการดำเนินการใดๆ แค่ให้ข้อแนะนำ รัฐบาลไม่ได้เอาไปดำเนินการ และการที่จะมีกรรมการชุดนี้ขึ้นมา  สิ่งสำคัญที่สุดต้องตีโจทย์ให้แตกว่าปัญหาของประเทศที่เกิดขึ้นขณะนี้คืออะไร แล้วแก้ปัญหาที่โจทย์นั้น  อยากตรวจสอบดูก่อนว่าตั้งกรรมการชุดนี้มีโจทย์อย่างไร ถ้าอยากคลี่คลายปัญหาประเทศ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดอันดับแรก คือการหยุดคุกคามนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนก่อน หากยังมีการคุกคามอยู่ โอกาสที่จะคลี่คลายปัญหาโดยคณะกรรมการอะไรก็แล้วแต่คงจะไม่มีประโยชน์และสำเร็จได้ยาก" รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าว 
    เช่นเดียวกับนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ถ้าวันนี้พวกเรามองว่า พล.อ.ประยุทธ์คือปัญหา หาก พล.อ.ประยุทธ์ออกไป การพูดคุยหรือการคลี่คลายปัญหาคงจะง่ายขึ้น หากจะมีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาจะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาสามารถมาเสนอข้อเรียกร้องสู่สาธารณะได้ แล้วหาทางออกรวมกันอย่างสันติ และกรรมการชุดนี้ต้องสรุปจุดร่วมและจุดต่างเพื่อนำมาหาช่องทางในการทำงานร่วมกัน 
    ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดขึ้นอยู่กับนายกฯ ก่อนหน้านี้ฝ่ายค้านได้อภิปรายชี้แจงให้นายกฯ เห็นแล้วว่านายกฯ ล้มเหลว ไร้ความสามารถทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคม ทำให้เกิดการชุมนุมของกลุ่มนิสิต นักศึกษา นายกฯ ต้องตัดสินใจเสียสละลาออกและหยุดคุกคามประชาชน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุยหาทางออกให้ประเทศได้ 
อย่าตั้งเงื่อนไขปรองดอง
    ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระรับหลักการ หากพิจารณาโดยไม่รอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน หรือไอลอว์ สามารถบรรจุได้เลย เพราะรายงานของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการเสร็จเรียบร้อยแล้ว  หากรอร่างของไอลอว์จะบรรจุในวาระการประชุมได้หลังวันที่ 12 พ.ย. คาดว่าประมาณวันที่ 17 พ.ย. หรือ 18 พ.ย. ถ้ามีปัญหาก็อาจจะล่าช้าออกไปได้เล็กน้อย และเมื่อพิจารณาแล้วอาจจะใช้เวลาครึ่งวันในการรับทราบรายงานของ กมธ. จากนั้นสามารถโหวตได้เลย หากเสียเวลารอร่างของไอลอว์จะเสียเวลาเพียงแค่อีก 1 สัปดาห์ก็จะมีโอกาสพิจารณาพร้อมกันทั้ง 3 ร่างที่มีเนื้อหาคล้ายกัน คือร่างของรัฐบาล  ฝ่ายค้าน และร่างของไอลอว์ที่ให้แก้ไข ม.256 และให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) โดยใช้ร่างของรัฐบาลเป็นหลัก
    "เราไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่เป็นไปตามระบบขั้นตอนที่เราได้กำหนดไว้ ซึ่งรูปแบบ ส.ส.ร.ในรายงานของ กมธ.ได้มีการพูดคุยกันมากว่าควรเอาร่างของรัฐบาลเป็นหลัก โดยให้มาจากการเลือกตั้ง ใช้เขตจังหวัดจำนวน 150 คน และส่วนอื่นเป็นองค์ประกอบตามที่กำหนดไว้" นายวิรัชกล่าว 
    ซักว่าท่าทีของฝ่ายค้านดูเหมือนจะไม่ตอบรับกับคณะกรรมการชุดนี้ ประธานวิปรัฐบาลกล่าวว่า ยิ่งตั้งเงื่อนไขว่านายกฯ ต้องลาออก หาก ส.ส.เขาย้อนกลับไปว่าฝ่ายค้านก็ลาออกด้วยก่อนหรือไม่ จะทำให้ยุ่งไปใหญ่ อะไรที่เป็นเงื่อนไขที่เป็นไปได้ก็ควรจะทำ และอะไรที่เป็นเงื่อนไขเป็นความขัดแย้งก็อย่าไปทำ เมื่อเขาเสนอให้นายกฯ ลาออก ผมก็เสนอไปแล้วว่านายกฯ ต้องอยู่ต่อเพื่อแก้ไขปัญหา นายกฯ ยังเป็นผู้มีเสียงสนับสนุนจากสภามากที่สุด ส่วนผู้ชุมนุมก็เป็นผู้ชุมนุม วันนี้เราต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของประเทศทั้ง 67 ล้านคน หากให้นายกฯ ลาออกแล้วสภาเลือกกลับเข้ามาใหม่จะทำอย่างไร มีอะไรตรงไหนที่ไม่ให้นายกฯ มาลงสมัครรับเลือกตั้ง
    วันเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงทางออกเพื่อแก้ปัญหาประเทศว่า ได้เสนอทางออกของประเทศในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองขั้นรุนแรงของไทยไปแล้ว โดยให้ใช้การออกเสียงประชามติถามประชาชนทั้งประเทศ แทนการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ แต่ยังมีปัญหาข้อกฎหมายว่าจะตั้งคำถามอย่างไรจึงจะไม่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 
    "ทางออกของประเทศโดยการให้ประชาชนที่มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งประเทศ 52 ล้านคนออกเสียงประชามติ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำถามประชามตินั้นให้มีผลเป็นข้อยุติ หากผลการออกเสียงประชามติเสียงข้างมากเห็นด้วยกับรัฐบาล เมื่อเป็นมติของประชาชนเสียงข้างมากทั้งประเทศ ให้รัฐบาลสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด ห้ามชุมนุมการเมืองดังกล่าวเป็นระยะเวลา 2 ปีนับจากวันออกเสียงประชามติ จะทำให้ยุติปัญหาที่เกิดจากการชุมนุมการเมืองไประยะเวลาหนึ่ง เพียงพอที่รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้พ้นวิกฤติจากผลกระทบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19" นายไพบูลย์กล่าว
    อย่างไรก็ดี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอดังกล่าวของนายไพบูลย์ว่า  ตนไม่ทราบ แต่มีความเป็นไปได้ เนื่องจากมีการพูดในสภาก่อนหน้านี้ให้ตั้งคำถามไปพร้อมกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ส่วนคำถามจะเป็นอย่างไรนั้นไม่ทราบ เพราะเขาจะให้คณะกรรมการสมานฉันท์เป็นผู้ตั้ง และถ้าทำพร้อมกับเลือกตั้ง อบจ.ก็จะทำให้ประหยัด แต่ไม่ทราบว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทำหรือไม่ 
    ถามว่าหากจะมีคำถามพ่วงจะทันวันที่ 20 ธ.ค.นี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คิดว่า กกต.คงไม่น่าจะแฮปปี้ แต่ถ้าไม่ทันวันที่ 20 ธ.ค.ก็จะต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนมาก 2-3 พันล้านบาท
    ซักว่าแนวคำถามที่เป็นข้อเสนอของนายไพบูลย์นั้นจะสามารถทำได้หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นที่จะไม่ให้มีการชุมนุม 2 ปีเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ นายวิษณุกล่าวว่า "ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน"
    ย้ำว่าแล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "พิลึก".  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"