แนวโน้มการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนใหญ่ค่อนไปในทางจะรอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับไอลอว์ร่วมพิจารณาในวาระหนึ่ง รับหลักการด้วย ภายหลังจากเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมรัฐสภายังไม่ได้ลงมติทั้ง 6 ญัตติที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เป็นผู้เสนอ
เนื่องจากเหตุว่าพรรคแกนนำรัฐบาล คือ พลังประชารัฐ และ ส.ว. เสนอให้ตั้งคณะ กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมาเสียก่อน เพราะมีหลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าสามารถกระทำได้หรือไม่ และจะต้องทำประชามติเมื่อใด กี่ครั้ง
ฉะนั้น เมื่อสมัยประชุมสามัญครั้งที่สองได้เปิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงต้องเดินหน้าต่อ โดยนำรายงานของคณะ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญที่ได้ศึกษาดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภา เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาของ ส.ส.และ ส.ว.ว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อในรายงานของ กมธ.ไม่ได้ชี้ชัดว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป แต่เป็นการรวบรวมเสียงของ ส.ส.และ ส.ว.ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจ อาทิ ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ไม่มีผู้ใดขัดข้อง เพราะตามรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้
แต่หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อีกฉบับ สมาชิกรัฐสภาบางส่วนท้วงติงว่าไม่สามารถกระทำได้ เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 60 ให้แก้ไขเป็นรายมาตราเท่านั้น อีกทั้งยังจะเป็นการขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 55
อย่างเช่น สมชาย แสวงการ ส.ว. ระบุว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ คืออำนาจของประชาชนในการลงประชามติ และเป็นผู้ให้กำเนิดองค์กร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงไม่เหมือนกับการแก้ไขกฎหมายธรรมดา แต่เป็นลักษณะพิเศษ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 จึงมีความเห็นว่า หากจะให้มี ส.ส.ร.ขึ้น ร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นต้องมีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามประชาชนว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยร่างใหม่ทั้งฉบับก่อน
เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ตั้ง ส.ส.ร.ฉบับฝ่ายรัฐบาล ว่า ร่างนี้มีความสับสนในตัวเอง เนื่องจากมีข้อเสนอให้ ส.ส.ร.ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมบางมาตรา บางหมวด บางมาตรายังคงไว้อย่างเดิมไม่แตะต้อง ดังเช่น เสนอไม่ให้มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 แต่ทั้งหลักการ เหตุผล และในเนื้อหาของร่างที่เสนอมากลับเป็นเรื่องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้มี ส.ส.ร.เป็นผู้ดำเนินการ และเมื่อได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้ส่งกลับมาให้รัฐสภาพิจารณาก่อนขั้นตอนการทำประชามติ จึงทำให้สับสนว่าร่างดังกล่าวนี้เป็นการเสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หรือเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อันอาจทำให้รัฐสภาไม่สามารถพิจารณาลงมติได้ เว้นแต่จะได้มีการแก้ไขญัตติให้ถูกต้องเสียก่อน
ขณะที่ กล้านรงค์ จันทิก ส.ว.และอดีต ป.ป.ช. ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยที่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะหลายเรื่องที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีปัญหา และไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติ หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางการเมืองของประเทศไทย ความเห็นต่อญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ ไม่ขัดข้องที่จะรับหลักการให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตรา
แต่ในร่างของฝ่ายรัฐบาลที่จะให้ตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างใหม่นั้น มีประเด็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่ารัฐสภาสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพราะได้เพิ่มเติมกำหนดเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ถึงแม้จะกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 ว่า ต้องยกเว้นหมวดหนึ่งและหมวดสองไว้ก็ตาม แต่การยกเว้นดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็เท่ากับว่านำข้อความในหมวดหนึ่ง หมวดสอง มาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้นเอง ซึ่งในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญที่ได้มีการร่างใหม่ก็จะนำข้อความในหมวดหนึ่ง หมวดสอง มาลอกใส่ไว้ หรืออาจจะมีอีกบางหมวดที่ยังคงไว้เดิม แต่ก็ต้องถือว่าเป็นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่นั่นเอง
นอกจากนี้ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงในรายงานของคณะ กมธ.ได้ระบุความเห็นเกี่ยวกับการทำประชามติว่า ไม่สามารถทำประชามติได้ เพราะในมาตรา 166 บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” หมายความว่า ห้ามจัดทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
ตามรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับการใช้อำนาจและหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น การที่รัฐสภาจะมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาญัตติที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่มีอำนาจวินิจฉัย จึงเห็นควรให้รัฐสภาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ควบคู่กับให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อไปในวาระที่หนึ่ง และวาระที่สอง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ก็ดำเนินการลงมติในวาระที่สามต่อไป
แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเท่านั้น ก็สามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ให้ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐสภาขึ้นมา เพื่อดำเนินการจัดทำญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป
เบื้องต้นคือความเห็นในรายงาน กมธ. ส่วนจะได้นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจมากน้อยเพียงใด สมาชิกรัฐสภาคงต้องคำนึงถึงสถานการณ์ทางการเมืองด้วย ถ้าสมาชิกรัฐสภาโหวตคว่ำทั้ง 7 ฉบับ อุณหภูมิทางการเมืองอาจ ระอุ!!!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |