2 พ.ย.63 - ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำสั่งศาลฎีกาชั้นตรวจคำฟ้อง ว่าจะรับฟ้องคดีไว้ไต่สวนพยานหลักฐานหรือไม่ ในคดีที่นายประชา ประสพดี อดีต รมช.มหาดไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมกรรมการ ป.ป.ช. กับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นจำเลยรวม 187 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83, 86
สำหรับการฟ้องคดีนี้ของนายประชา เป็นการฟ้องกลับ ป.ป.ช. และ สนช. ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้องนายประชา เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2562 กรณีถูกกล่าวหาใช้สถานะหรือตำแหน่งรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การดำเนินงานขององค์การตลาด (อ.ต.ก.) กระทรวงมหาดไทย ที่กำลังพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตของนายธีธัช สุขสะอาด ผอ.อ.ต.ก. (ขณะนั้น)
คำฟ้องโจทก์ระบุพฤติการณ์สรุปได้ว่า โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็น รมช.มหาดไทย เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2555 พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 จากการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำเลยที่ 1-6 เป็นประธานและกรรมการ ป.ป.ช. จำเลยที่ 7-9 เป็นประธานและรองประธาน สนช. จำเลยที่ 10-187 เป็นสมาชิก สนช. เมื่อครั้งโจทก์ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ได้รับมอบหมายให้มีอำนาจหน้าที่กำกับ ควบคุม ดูแล เกี่ยวกับกิจการขององค์การตลาด ไม่ได้เข้าแทรกแซงหรือเอื้อประโยชน์หรือช่วยเหลือบุคคลอื่นใด
กรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและไม่มีอำนาจชี้มูลความผิด รวมทั้งไม่มีอำนาจส่งรายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงให้แก่ สนช. ดำเนินกระบวนการถอดถอน ตามที่ผู้อ้างว่าเป็นผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องกล่าวหาโจทก์ เนื่องจากไม่ใช่ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องถอดถอนโจทก์ต่อจำเลยที่ 1-6 ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอดถอนโจทก์จะต้องเข้าชื่อร้องต่อประธานวุฒิสภา เมื่อประธานวุฒิสภาตรวจแล้วเห็นว่าถูกต้อง ก็จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน หากมีมูลต้องส่งรายงานพร้อมความเห็นไปยังวุฒิสภาเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนต่อไป
แต่จำเลยที่ 1-6 ยังรับคำร้อง และประชุมมีมติให้ตั้งอนุกรรมการไต่สวน ชี้มูลความผิดโจทก์โดยอาศัยเสียงข้างมาก การไต่สวนของจำเลยที่ 1-6 ไม่ชอบ ส่วนจำเลยที่ 7-184 รับรายงานและสำนวนการไต่สวนจัดเข้าวาระการประชุม สนช. และดำเนินกระบวนการถอดถอนโจทก์โดยไม่มีอำนาจ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ถูกห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
คดีนี้ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว พิพากษาไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1-6 ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 7-187 ต่อมาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิจารณาพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 7-187 และเพิกถอนกระบวนพิจารณาในส่วนของจำเลยที่ 7 -187 นับแต่วันที่ 7 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันยื่นฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิ์คู่ความที่จะดำเนินคดีในศาลที่มีอำนาจ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จากนั้นโจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-6 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 125 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83,86 จำเลย 7-9 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83, 86 จำเลยที่ 10-187 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 83, 86 ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 7-187 และศาลฎีกาไม่อนุญาตให้โจทก์ฎีกา คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 7-187 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1-6 ต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง ที่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ที่บัญญัติว่า "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภา มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่ากรรมการผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ" นั้น เป็นเพียงบทบัญญัติที่เพิ่มช่องทางในการดำเนินคดีแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของกรรมการ ป.ป.ช.ยังคงมีอำนาจฟ้องกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (2) โดยยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 3 วรรคหนึ่ง (1) คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1-6 ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ศาลชั้นต้นในคดีนี้ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 1- 6 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ที่พากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1-6 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
อย่างไรก็ตาม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1-6 ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและไม่มีอำนาจชี้มูลความผิด รวมทั้งไม่มีอำนาจส่งรายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงให้แก่ สนช. ดำเนินกระบวนการถอดถอนโจทก์ตามที่ผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องกล่าวหาโจทก์ไว้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 271 กำหนดให้ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอดถอนคือ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนเข้าชื่อรับรองขอให้ถอดถอน ทั้งนี้ จำเลยที่ 1-6 ทราบดีว่าผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอดถอนโจทก์จะต้องเข้าชื่อร้องต่อประธานวุฒิสภา เมื่อประธานวุฒิสภาตรวจแล้วเห็นว่าถูกต้อง ก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวน
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องกล่าวหาโจทก์ต่อจำเลยที่ 1-6 ว่า เมื่อครั้งที่โจทก์ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ได้ปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 และยังเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 123/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยใช้สถานะหรือตำแหน่งรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการดำเนินงานของคณะกรรมการองค์การตลาด ที่กำลังพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตของ นายธีธัช สุขสะอาด ผอ.องค์การตลาดในขณะนั้น เพื่อช่วยเหลือนายธีธัช ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้มีการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในหมวด 6 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงตามที่ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องมาให้ อันสืบเนื่องมาจากที่มีการดำเนินกระบวนการถอดถอนโจทก์จากตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 271-272 และในหมวด 5 ตาม พ.ร.บ.ประกอบฐธรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แต่อย่างใด
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ย่อมมีอำนาจดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ ตามมาตรา 19 (2) และ 43 (2) พร้อมทั้งพิจารณาข้อกล่าวหาและมีมติวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหามีมูลหรือไม่ ตามมาตรา 53 และเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูล ประธานกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่ต้องส่งรายงานและเอกสารพร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภา และส่งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 56 (1) และ มาตรา 70 ซึ่งจำเลยที่ 1-6 ได้มีหนังสือแจ้งไปยังประธาน สนช. หรือประธานวุฒิสภาแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่ จำเลยที่ 1-6 ดำเนินการไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดไว้ ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อได้รับข้อมูลตามที่แจ้งแล้ว จะดำเนินการถอดถอนโจทก์จากตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ตามกฎหมายต่อไปหรือไม่ อย่างไรเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
การที่จำเลยที่ 1-6 ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง แล้วมีมติวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูล และส่งรายงานและเอกสารพร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภา จึงเป็นการกระทำโดยมีอำนาจและชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามที่โจทก์ฟ้องแต่อย่างใด
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 286 ประกอบมาตรา 266 ซึ่งเป็นมูลฐานความผิดที่จำเลยที่ 1-6 ใช้ไต่สวนถูกยกเลิก โดยประกาศ คสช. ฉบับที่ 11/2557 ลงวันที่ 22 พ.ค. 2557 การไต่สวนของจำเลยที่ 1-6 จึงไม่ชอบ และมติชี้มูลความผิดว่าโจทก์กระทำความผิดดังกล่าวไม่ชอบเช่นกันนั้น เห็นว่า นอกจากผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1-6 กล่าวหาว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 แล้ว ยังกล่าวหาว่า การกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 123/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 อีกด้วย ซึ่งตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 5/2557 และ 11/2557 เรื่องการสิ้นสุดชั่วคราวและสิ้นสุดลงของรัฐธรรมนูญ ยังคงให้องค์การอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และประกาศ คสช. ฉบับที่ 24/2557 กำหนดให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับต่อไป
จำเลยที่ 1-6 ในฐานะคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จึงยังคงมีอำนาจที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง แล้วมีมติวินิจฉัยว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูล และส่งรายงานและเอกสารพร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภา ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ได้โดยชอบ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานในคดีนี้ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1-6 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |