เล็งชง3รูปแบบกก.สมานฉันท์


เพิ่มเพื่อน    


    สวนดุสิตโพลเผยประชาชนมองการเปิดอภิปรายแก้วิกฤติประเทศเป็นเพียงการยื้อเวลา ไร้ประโยชน์ จับตาเคาะรูปแบบ กก.สมานฉันท์ที่มี 3 แบบ อึ้งเด็กเพื่อไทยยุ "ผบ.ทบ.-ผบ.ทสส." หาช่องปฏิรูปหรือปฏิวัติคืนความสุขให้คนไทยเป็นของขวัญปีใหม่ "พุทธะอิสระ" ซัดข้อเสนอ 10 ข้อของม็อบ 3 นิ้วคือล้มล้าง "จตุพร" เตือนนายกฯ ไม่ลาออกจบลงแบบ 6 ตุลา   
    เมื่อวันอาทิตย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศทางออนไลน์ที่สนใจติดตามการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่ออภิปรายแบบไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 26-27  ต.ค. จำนวน 1,035 คน พบว่า 41.94% มองเป็นเพียงการยื้อเวลาของรัฐบาล ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง, 39%  นายกรัฐมนตรียังไม่ลาออก, 32.32% เป็นเกมทางการเมือง,  31.93% เป็นทางออกในการแก้ปัญหาสถานการณ์บ้านเมือง และ 28.49% ส.ส.และ ส.ว.ต้องช่วยกันหาทางแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม 
       เมื่อถามถึงผลบวกที่เกิดจากการอภิปรายครั้งนี้ คือ 57.20% มองว่าได้เห็นท่าทีของแต่ละฝ่ายชัดเจนมากขึ้น,  43.93% เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้อภิปรายและแสดงความคิดเห็น และ 36.52% แสดงให้เห็นถึงท่าทีของรัฐบาลในการแก้ปัญหา   ส่วนผลลบที่เกิดจากการอภิปรายครั้งนี้ คือ 53.18% เสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณ, 53.08% ไม่ได้ประโยชน์อะไรและไม่มีอะไรดีขึ้น, 45.73% แต่ละฝ่ายมีธงของตนเอง/ไม่ยอมกัน 
    โพลยังสอบถามว่า หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายประชาชนคิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะเป็นอย่างไร พบว่า 54.40% ขัดแย้งเหมือนเดิม, 34.78% ขัดแย้งมากขึ้น และ 10.82% ขัดแย้งน้อยลง และเมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญครั้งนี้จะทำให้การเมืองไทยหลังจากนี้เป็นอย่างไร 51.69% เหมือนเดิม, 35.36% แย่ลง และ 12.95% ดีขึ้น
    ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า อยากให้รอเห็นโครงสร้างคณะกรรมการที่สถาบันพระปกเกล้าร่างขึ้นก่อนที่จะส่งให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 2 พ.ย. และจะประชุมพูดคุยในรายละเอียด เพื่อวางหลักแนวทางการดำเนินงาน และจะได้รู้ว่าต้องประสานฝ่ายใดบ้าง รวมถึงตัวประธานจะเป็นใคร ต้องดูที่โครงสร้างด้วย ยังตอบอะไรก่อนไม่ได้ พูดไปก่อนอาจผิดได้ เพราะต้องดูว่าจะเลือกเอาโครงสร้างไหนที่อาจจะมีมาให้เลือก 2-3 โครงสร้าง 
สำหรับรูปแบบของคณะกรรมการสมานฉันท์ที่นายชวนให้ฝ่ายเกี่ยวข้องไปดำเนินการออกแบบ​นั้น เบื้องต้นมี​ 2-3​ รูปแบบ​ รูปแบบในโครงสร้างแรกคือ​ ไม่มี​ ส.ส​-ส.ว.ร่วมในคณะกรรมการ, รูปแบบที่สองคือ​มี​ ส.ส- ส.ว.กับคนนอก​อย่างละครึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์​ และรูปแบบที่​สาม​คือไม่มีคนภายนอกในคณะกรรมการสมานฉันท์เลย​ ซึ่งรูปแบบที่สาม​ เนื่องจากบรรดา​ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเห็นตรงกันว่า หากมีบุคคลใดเสนอให้คณะกรรมการ เริ่มต้นด้วยเรื่องสถาบัน จะไม่มีการหารือใดๆ ต่อทันที​ แต่ถ้าหยิบยกเรื่องการเมืองที่มีปัญหาอยู่​ เช่น​ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ​ก็ดำเนินการต่อไปได้​ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ดำริอะไร​ในเรื่องคณะกรรมการสมานฉันท์​ เพราะต้องการปล่อยให้ดำเนินการอิสระ
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าและประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า สิ่งที่ช่วยทำให้เกิดการยอมรับคณะกรรมการจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน 3 ประการ คือ 1.จริงใจแสวงหาทางออกให้ประเทศ 2.เปิดใจกว้างพร้อมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ควรมีอคติต่อกัน และ 3.สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยหลีกเลี่ยงการโต้วาทีเอาแพ้เอาชนะ เชื่อว่าประเทศเดินหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน  
    ขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ต้องขอดูหน้าตาโครงสร้างของคณะกรรมการที่จะเกิดขึ้นก่อนว่าเป็นอย่างไร แล้วจะพิจารณาว่าเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในวันนี้ คู่ขัดแย้งคือนายกฯ กับผู้ชุมนุม ดังนั้นการจะมาคุยกันโดยการมีคณะกรรมการ เป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหาได้ ซึ่งนายกฯ เองก็ทราบปัญหาเรื่องนี้ เนื่องจากข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมก็ชัดเจน
เมื่อถามถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายประเสริฐกล่าวว่า ดูวาระการประชุมในสัปดาห์หน้าจะเปิดสมัยประชุม เรายังไม่เห็นวาระที่ประธานสภาฯ เรียกประชุมเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเพียงวาระปกติ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงมีร่างของภาคประชาชนรออยู่ ซึ่งควรรอเอาร่างของภาคประชาชนนี้เข้ามาพิจารณาพร้อมกันจะเป็นประโยชน์มากกว่า
    นายประชา ประสพดี อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองปัจจุบันเพียงพอหรือยังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องทบทวนการตัดสินใจเพื่อคนในชาติ ควรรับฟังนักวิชาการ อดีตนายกฯ ที่ออกมาทักท้วง ชี้แนะตักเตือนด้วยความหวังดี เพราะตอนนี้ประเทศชาติแตกความสามัคคี ไม่มีความปรองดองตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ เรื่อยไปจนลูกเล็กเด็กแดงมันส่งผลกระทบทุกด้าน ทั้งความเชื่อมั่น การลงทุน ความมั่นคง เศรษฐกิจ ปากท้อง ระบบการเมืองระบบรัฐสภาก็ไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว สังคมสงสัยทำไม พล.อ.ประยุทธ์ต้องอยู่ต่อไป  
    "ส่วนตัวอยากให้ ผบ.ทบ.หรือ ผบ.ทหารสูงสุดทบทวนความคิดว่าไม่มีเรื่องปฏิวัติอยู่ในหัว หรือเป็นศูนย์ กองทัพควรตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด จะปฏิรูปหรือปฏิวัติเพื่อหาช่องทางคืนประชาธิปไตย และคืนความสามัคคีให้คนหมู่มากก็ต้องตัดสินใจแล้ว เพราะถือเป็นทางด่วนในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าว จากนั้นค่อยมาเยียวยา แชร์ความสุข จะเป็นรูปแบบรัฐบาลเพื่อชาติ หรือเพื่อคนไทย ก็เท่ากับเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 ให้คนทั้งชาติ" นายประชากล่าว   
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า รัฐบาลกำลังพยายามตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการตามรูปแบบต่างๆ หลายชุดหลายครั้ง แต่บทสรุปสุดท้ายคือไม่มีใครต้องการสร้างความสมานฉันท์อย่างแท้จริง เป็นเพียงคำหลอกลวง และตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดนี้มีโอกาสที่สร้างความสมานฉันท์และความปรองดองขึ้นได้หลายครั้ง แต่ไม่เคยดำเนินการจริงๆ ปากบอกว่าปรองดอง แต่การกระทำสวนทางกัน ดังนั้นคณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการที่ไม่มีประโยชน์มากที่สุด
     "หากจะแก้ไขปัญหากันจริงๆ ต้องเริ่มต้นที่นายกฯ เสียสละออกจากตำแหน่ง ขณะเดียวกันต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ดังนั้นหากนายกฯ กล้าเสียสละอย่างที่ชายชาติทหารพึงกระทำ ก็จะช่วยลดอุณหภูมิการเมือง แต่หากยังปล่อยให้เดินไปเช่นนี้ สุดท้ายก็จะจบลงแบบ 6 ตุลาคม 2519" นายจตุพรกล่าว 
      นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่แถลงการณ์กลุ่มไทยภักดี ในหัวข้อเชิญชวนประชาชนที่เป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ร่วมกันปกป้อง คัดค้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยเหตุผลดังนี้ 1.รัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติเสียงข้างมากของประชาชน 16.8 ล้านเสียง 2.ถ้ายอมให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะนำไปสู่การต้องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับ เท่ากับว่าต้องร่างกฎหมายใหม่ 11 ฉบับ ทำให้ง่ายแก่การซุกประโยชน์ของนักการเมือง 3.มีพรรคการเมืองบางพรรคอาศัยการล้มล้างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างใหม่ในครั้งนี้ นำไปสู่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และแบ่งแยกประเทศโดยอาศัยม็อบมาร่วมกดดัน 4.จุดเด่นรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการปราบโกง  5.รธน.ป้องกัน ส.ส.มาผลาญงบประมาณแผ่นดินปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท 6.ใช้ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวที่ทำให้ นักการเมืองเก่าแก่ที่เป็นเจ้าถิ่น เจ้าพ่อ ถูกทำลาย มีโอกาสได้นักการเมืองคนรุ่นใหม่จำนวนมาก    
     7.ช่วยทำลายการตั้งมุ้ง กลุ่มการเมืองเพื่อมาต่อรองตำแหน่งและผลประโยชน์ของตนเอง 8.ทำให้การซื้อตัว ส.ส.ช่วงยุบสภา หรือหมดวาระสภาลดลงไปมาก 9.จะช่วยลดอิทธิพลของนายทุนเจ้าของพรรค ที่จะกำหนดลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามเงินบริจาค หรือแม้แต่การชี้ตัวผู้สมัคร ส.ส.เขต 10.เพิ่มอำนาจการต่อรองให้ประชาชน  11.ถ้า ส.ว.หมดวาระตามบทเฉพาะกาล จะได้ ส.ว.ที่เป็นอิสระ 12.การต้องร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรวม  11 ฉบับ มีโอกาสที่จะถูกยัดไส้ด้วยภาษากฎหมาย นำไปสู่การนิรโทษกรรม 13.ที่ผ่านมาไม่พบว่าปัญหาของรัฐธรรมนูญนี้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน 14.ในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ประชาชนยังยากลำบาก ควรประหยัดงบประมาณ 15,000 ล้านบาทในการแก้รัฐธรรมนูญ 
     "นี่คือเหตุผลสำคัญที่พวกเราประชาชนทุกคนต้องช่วยกันปกป้องรักษารัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับนี้ และหากปล่อยให้มีการแก้ไข จะนำไปสู่ปัญหาเดิมๆ ของประเทศ และเป็นผลเสียต่อประชาชนมากกว่า" แถลงการณ์ระบุ 
    นพ.วรงค์ยังกล่าวถึงการรณรงค์ใส่เสื้อเหลืองเพื่อปกป้องสถาบันว่า มาแสดงออกอย่างสงบ สันติ และอหิงสา ช่วงนี้เราต้องอดทนต่อสิ่งที่ถูกยั่วยุต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะทุกอย่างกำลังใกล้จะจบเรียบร้อย ขอให้ทุกคนสบายใจ เชื่อว่าเรามีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่มีผลต่อประเทศชาติและแผ่นดินของเรา เนื่องจากมีนักการเมืองไม่หวังดีจ้องล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และยังเกี่ยวโยงถึงสถาบันด้วย เกมนี้ก็ใกล้จบ อนาคตที่ดีของลูกหลานจะกลับมา
     ด้านพุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ในฐานะอดีตแกนนำ กปปส. โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า การปฏิรูปที่ใช้กันทั่วโลกไม่มีประเทศใดที่ใช้วิธีตำหนิด่าว่าด้อยค่าใส่ร้าย มีแต่เขาจะพูดคุยบอกกล่าวทำความเข้าใจ ถึงสิ่งที่เขาเห็นว่ามันเป็นปัญหา และก็ยังไม่เคยมีประวัติศาสตร์โลกจารึกเอาไว้เลยว่าประชาชนจะเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พวกม็อบล้มเจ้ากลับไม่สำเหนียก ยังมาดันทุรังเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันถึง 10 ข้อ
     "ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปข้อที่หนึ่งของพวกเขา 1.ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร เช่นนี้หรือเรียกว่าปฏิรูป นี่มันต้องการล้มล้างชัดๆ หากลูกไทยยังมัวนิ่งเฉย ศาสนา และพระมหากษัตริย์คงต้องถูกลูกหลานจังไรทำลายสิ้นเป็นแน่" พุทธะอิสระโพสต์
    ขณะที่นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ อดีตดารานักแสดงชื่อดัง กล่าวว่า อยากฝากถึงคนที่คิดต่างว่า การคิดต่างในเรื่องการเมืองสามารถคิดต่างได้ แต่อย่าคิดต่างในเรื่องของสถาบัน และอยากบอกว่าอย่าทำให้คนไทยรู้สึกโกรธแค้นด้วยการย่ำยีสถาบันที่คนไทยรักและเคารพ ส่วนการที่บอกว่าต้องการปฏิรูปสถาบันไม่ต้องการล้มล้างนั้น มองว่าคำว่าปฏิรูปและคำว่าล้มล้างคือคำเดียวกัน โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ซึ่งเห็นว่าไม่ใช่การปฏิรูปสถาบัน ดังนั้นการปฏิรูปดังกล่าว ท้ายที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่จุดนั้นอยู่ดี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"