อีก 2 วันเราก็จะรู้ว่าคนชื่อ "โจ ไบเดน" จะได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ หรือไม่
ถ้าเชื่อตามโพลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการถามไถ่ความเห็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือลงไปเจาะในรัฐที่เป็น "สมรภูมิรบ" battleground states แนวโน้มก็น่าจะให้อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนนี้มานั่งในทำเนียบขาวแทนโดนัลด์ ทรัมป์ได้
แต่ก็มีปัจจัยหลายข้อที่ทำให้สถานการณ์พลิกได้ในนาทีสุดท้าย ทำให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งก็ได้
ประวัติของไบเดนน่าสนใจ เพราะอยู่ในแวดวงการเมืองมา 47 ปีเต็มๆ โดยเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเดลาแวร์ระหว่าง 1973-2009
ในวัย 77 (เกิด 20 พฤศจิกายน 1942) หากเขาชนะเลือกตั้งและอยู่ครบเทอมก็จะทำหน้าที่ในฐานะผู้นำประเทศสหรัฐฯ ด้วยวัย 81
ถือว่าเป็นผู้นำอเมริกาอายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์
เพราะตอนที่อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนก้าวลงจากตำแหน่งในปี 1989 นั้น เขาอายุ 78
ชื่อเต็มของไบเดนคือ Joseph Robinette Biden, Jr. เคยเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ระหว่าง 2009-2017
ความ "เก๋า" ทางการเมืองของเขามาจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐเดลาแวร์ 7 สมัยติดต่อกัน โดยสังกัดพรรคเดโมแครตมาตลอด
ไบเดนเกิดที่เมืองสแครนตัน ในรัฐเพนซิลเวเนีย
โตที่นี่จนอายุได้ 10 ขวบจึงได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองเดลาแวร์จนถึงวันนี้
อาชีพของไบเดนเป็นทนายความตั้งแต่จบมหาวิทยาลัย และได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะลูกขุน ก่อนสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรกในปี 1972
พอก้าวเข้าวุฒิสภาก็ได้ชื่อว่าเป็นสมาชิกอายุน้อยที่สุดเป็นอันดับ 5 ที่ได้เข้ามารับตำแหน่งในประวัติศาสตร์การเมืองของอเมริกา
ชนะเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา 7 ครั้ง นับเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ครองตำแหน่งมานานที่สุดเป็นอันดับ 6 ในประวัติศาสตร์
ประสบการณ์ในสภาก็หลากหลาย เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ต่างประเทศมายาวนานจนเป็นประธานของคณะกรรมการชุดนี้
ดังนั้นเขามีความรู้ความเข้าใจเรื่องต่างประเทศพอสมควร แต่ยังไม่แน่ใจว่าเรื่องเอเชีย, อาเซียน และประเทศไทย เขาจะมีความเข้าใจลึกซึ้งเพียงใด
แต่หากเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคงจะมีทีมงานรอบตัวที่มีความสันทัดเรื่องเอเชียอยู่ไม่น้อย
ว่ากันว่าระหว่างเป็นสมาชิกวุฒิสภาและรองประธานาธิบดี ไบเดนมีบทบาทในการเจรจาเพื่อส่งความช่วยเหลือทางการทหารของสหรัฐฯ และให้วอชิงตันเข้าแทรกแซงในสงครามบอสเนีย
ย้อนไปดูจุดยืนเรื่องระหว่างประเทศของไบเดน เขาออกเสียงสนับสนุนนโยบายการแก้ปัญหาสงครามอิรัก แต่ต่อมาก็ปรับท่าทีขอให้มีการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ของอเมริกาเรื่องนี้ ไม่ถึงกับกลับหลังหัน เพียงแต่ปรับจุดยืนใหม่ เพราะมีข้อมูลที่ทำให้เขาไม่เชื่อในแนวทางการแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯ ในอิรักขณะนั้น
ไบเดนยังเคยเป็นประธานของคณะกรรมาธิการยุติธรรมสำหรับสมาชิกวุฒิสภาอีกด้วย
เขาบอกว่าระหว่างนั้นเขาทำเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติด อาชญากรรม การป้องกันภัย และสิทธิพลเมือง
และยังอ้างว่าเป็นแกนนำในการเสนอกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาชญากรรม การใช้ความรุนแรง และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการคุกคามสตรี
ความจริงไบเดนเคยลงชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างน้อยสองครั้ง คือเมื่อ 1988 และ 2008
แต่ก็พ่ายแพ้ทั้งสองครั้ง ทำให้เขาคุ้นเคยกับความพ่ายแพ้ทางการเมืองไม่น้อย
แต่แล้วในปี 2008 นั้นเอง บารัก โอบามา ผู้สมัครที่ได้ตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตก็เลือกไบเดนเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเป็นคู่สมัครในการเลือกตั้ง ค.ศ.2551
นั่นคือชัยชนะครั้งใหญ่สำหรับไบเดน
ครั้งนี้คือเดิมพันครั้งใหญ่ที่สุดของชีวิต หากชนะก็จะได้ชื่อว่าสามารถ "ชำระสะสาง" การเมืองอเมริกันด้วยการโค่นทรัมป์
หากแพ้ก็จะตอกย้ำว่า "ความเก๋า" ทางการเมืองไม่สามารถทำให้คนอเมริกันเชื่อว่าเขาสามารถก้าวขึ้นมา "กู้ชาติ" จากน้ำมือของ "นักสร้างปาฏิหาริย์" ทางการเมืองอย่างทรัมป์ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |