"พุทธิพงษ์" เตือนอย่าใช้โซเชียลโพสต์ละเมิดสิทธิ์หรือจาบจ้วง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สั่ง จนท.ติดตามเอาผิดผู้โพสต์คนแรกและผู้แชร์ส่งต่อข้อความด้วย "ชวน" เผยยังไม่รู้ฝ่ายใดปฏิเสธหรือไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ เนื่องจากยังไม่ได้เชิญใคร "ภูมิธรรม" ชี้แค่ซื้อเวลา ไร้ประโยชน์ เพราะ "บิ๊กตู่" คือปัญหา ฝ่ายค้านจ่อหารือกัน 2 พ.ย.
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า จากที่ได้ติดตามการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชนและกลุ่มต่างๆ ในช่วงนี้ พบว่ายังคงมีการโพสต์ภาพและเนื้อหาที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมาก จึงขอแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้โซเชียลมีเดียโปรดระมัดระวังเรื่องการโพสต์ภาพและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ทั้งในลักษณะจาบจ้วงหรือละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น ไม่ว่าจะผ่านแพลตฟอร์มใดก็ตามถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
เขาบอกว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด เมื่อพบผู้ที่กระทำความผิดก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายกับทุกคนที่กระทำผิดอย่างจริงจัง ทั้งผู้ที่โพสต์คนแรก รวมถึงผู้ที่แชร์ ส่งต่อข้อความที่ผิดกฎหมายด้วยตามลำดับ
"ขอแจ้งเตือนมาอีกครั้งด้วยความห่วงใยและปรารถนาดี ขอให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์ใช้สิทธิและเสรีภาพในขอบเขตของกฎหมาย และต้องเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นด้วย" นายพุทธิพงษ์กล่าว
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการพิจารณาตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ขณะนี้ยังต้องรอรับทราบรายละเอียดจากสถาบันพระปกเกล้า ที่ได้มอบหมายให้ไปพิจารณารายละเอียดและโครงสร้างของคณะกรรมการ โดยวันจันทร์ที่ 2 พ.ย.นี้จะมีการประชุมของสภาสถาบันพระปกเกล้า และจะร่วมพิจารณารายละเอียด รวมถึงความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์จากสถาบันพระปกเกล้า จึงไม่สามารถที่จะตอบได้ว่าจะมีฝ่ายใดปฏิเสธหรือไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ เนื่องจากยังไม่ได้มีการเรียนเชิญฝ่ายหรือเทียบเชิญฝ่ายใดเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในขณะนี้
ด้านนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า สันติภาพทุกอย่างมาจากการเจรจา และบทบาทเรื่องนี้ถ้าสภาได้เป็นผู้เริ่มต้นเพื่อมาหาทางออก เป็นเรื่องที่ดีไม่มีอะไรขาดทุน และไม่มีอะไรเสีย ไม่ประสบความสำเร็จก็เท่าทุน แต่ถ้าเกิดประสบความสำเร็จสักเรื่องหรือสองเรื่อง มันก็ลดความขัดแย้งลงมาได้
อดีตรองนายกฯ กล่าวต่อว่า เราเคยมีคณะกรรมการในลักษณะนี้มา 3-4 ชุดแล้วในอดีต แต่ว่าไม่ค่อยมีการนำผลของข้อสรุปมาใช้หรือมาปฏิบัติให้เกิดความสำเร็จ ตนว่าวันนี้วิกฤติของบ้านเมืองเรามีวิกฤติเศรษฐกิจและยังมีวิกฤติความเห็นที่ต่างกัน ฉะนั้นการมีความคิดเห็นดีๆ ช่วยออกมาให้ข้อคิดเห็นจากประสบการณ์ของแต่ละคน ใจกว้างพอที่จะรับฟัง ใจกว้างพอที่ช่วยกันรับฟังข้อคิดเห็นและเสียสละ
"ผมคิดว่าจะทำให้สังคมค่อยๆ ปรับตัวไปสู่ความเรียบร้อย ความขัดแย้งก็ลดลงไป ฉะนั้นถ้าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการก็ไม่ได้มีอะไรเสียหายและเป็นเรื่องที่ดี แต่ขอว่ามีไทม์ไลน์ให้ชัดเจน ดึงตัวละครที่เกี่ยวข้องมาให้มากที่สุด อย่ามีทิฐิกัน และมาคิดหาทางออกถอยกันคนละก้าว ให้ได้ข้อสรุปแนวทางและมีแผนปฏิบัติที่ชัดเจน และเชื่อว่าจะช่วยลดความขัดแย้งได้ อย่างน้อยก็สบายใจว่านี่คือหลักการในระบอบประชาธิปไตย โดยสภาเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา"
เลื่อนลอย ไร้ประโยชน์
นายสุวัจน์กล่าวว่า ต้องมาช่วยกันพูดมาช่วยกันคุย มีเวทีอย่างนี้เป็นการหาทางออกในการคลายวิกฤติให้ประเทศได้ หรืออย่างรัฐธรรมนูญที่จะลงมติกันในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้ามีความชัดเจนว่าจะได้ข้อสรุปอย่างนี้จะแก้ไขอย่างไร และการแก้ไขจะอยู่บนพื้นฐานของความชอบธรรม ซึ่งตนเชื่อว่าการที่สภาให้ความเห็นชอบเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็มาคลายวิกฤติลดความขัดแย้งในสังคมได้ ฉะนั้นอะไรที่เราสามารถสร้างความชัดเจนให้เร็วที่สุดเป็นเรื่องที่ดี อย่าช้าและต้องชัดเจน เพื่อให้เหมือนว่าเราทำกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เป็นแต่ว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่มีความตั้งใจที่จะทำให้ปัญหาของประเทศจบลงด้วยดี
นายภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 พฤศจิกายน แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านจะหารือกันถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ของรัฐบาล โดยเบื้องต้นฝ่ายค้านรู้สึกคล้ายๆ กันว่าเป็นเพียงการซื้อเวลายืดอายุรัฐบาลออกไปเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการสมานฉันท์ปรองดองเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้ง ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ และไม่มีผลในทางปฏิบัติ เลื่อนลอย ไร้ประโยชน์
เขายืนยันว่า ฝ่ายค้านไม่ได้ปฏิเสธกระบวนการเข้าสู่การปรองดอง แต่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นตัวปัญหา และไม่ได้พิสูจน์ตัวเองเลยว่าต้องการถอยออกจากอำนาจ หรือทำอะไรให้เห็นว่าท่านต้องการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เช่นเหตุการณ์ที่ไปจับกุมแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมอีกภายหลังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะมาจับแล้วปล่อยแบบนี้ไม่ได้ หรือกรณีของผู้ชุมนุมที่ยังติดคุกจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงก่อนหน้านี้ ท่านต้องพิสูจน์ความจริงใจโดยการปล่อยหรือไม่เอาผิดทั้งหมด หรือทำให้อัยการไม่สั่งฟ้อง ซึ่งแตกต่างจากคดีของกลุ่ม กปปส.ที่ทั้งยึดสนามบิน ปิดทำเนียบฯ แต่คดียังไปไม่ถึงไหน จึงไม่แปลกที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะตั้งคำถามและไม่ไว้วางใจท่าน
นายภูมิธรรมกล่าวถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องพูดออกมาให้ชัดเจน กำหนดวันออกมาว่าจะแก้เสร็จเมื่อใด ไม่ใช่พูดแต่ว่ากำลังดำเนินการ ซึ่งก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่มีทิศทางที่จะยุติปัญหาได้ ทั้งนี้หาก พล.อ.ประยุทธ์พูดออกมาให้ชัดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเสร็จเมื่อใด พร้อมจัดการเลือกตั้ง และท่านประกาศลาออก แบบนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความจริงใจมากกว่า ทั้งนี้ที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีความปรารถนาดีที่อยากเห็นทุกฝ่ายเข้ามาร่วมแก้ปัญหา แต่ท้ายที่สุดถามว่าใครเป็นผู้มีอำนาจแก้ ซึ่งวิกฤติทั้งหมดอยู่ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
"สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำเป็นเพียงการสร้างเงื่อนไข ปากบอกว่าอยากปรองดอง แต่สิ่งที่ทำเป็นการโถมไฟยั่วยุ สุดท้ายก็ใช้อำนาจเข้าจัดการปัญหา แบบนี้ก็ไม่จบ กลับสร้างความคับแค้นในใจของผู้ชุมนุมมากขึ้น ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องมีหลักประกัน อยู่ที่ว่าท่านจะเสียสละหรือจะถอยอย่างไร" นายภูมิธรรมกล่าว
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ไม่รับประกันจะไม่มีการปฏิวัติว่า นายกรัฐมนตรีอ้างว่าตัวเองอยู่ในระบอบประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจด้วยประการทั้งปวง โดยไม่มีเหตุผลอื่นประกอบ อย่าใช้ความรู้สึกเคยชินมาพูด เพราะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองแล้วต้องมีหลักมีเกณฑ์ ต้องสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเมือง เพราะไม่มีนักลงทุนคนไหนจะกล้าเข้ามาเสี่ยงกับประเทศที่ไม่มีความมั่นคงทางการเมือง
"อยากให้นายกฯ ระวังการออกความเห็นเรื่องนี้ ท่านอย่าพูดคลุมเครือแบบมีการชี้นำ เพราะการแก้ปัญหาด้วยการยึดอำนาจไม่ใช่ทางออกของประเทศ ที่ผ่านมาที่มีการยึดอำนาจทุกครั้งก็เป็นบทเรียนว่าประเทศถอยหลังทุกครั้ง ทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมือง" นายสมคิดกล่าว
ปฏิรูปไม่ใช่ต่อสู้เอาแพ้ชนะ
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตประธานรัฐสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "การปฏิรูปประเทศเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงคงอยู่อย่างราบรื่นและมั่นคง การปฏิรูปไม่ใช่การต่อสู้เพื่อเอาแพ้ชนะ แต่ต้องเป็นความร่วมกันจรรโลง สรรสร้างอย่างเป็นธรรมเพื่อความเจริญรุ่งเรือง"
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่องความต้องการแท้ หลังม็อบ 3 นิ้ว กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,293 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25-30 ตุลาคม 2563
เมื่อถามถึงความต้องการของม็อบเยาวชน พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.6 ระบุมีความหลากหลายของความต้องการในกลุ่มม็อบ มากกว่าแค่ชู 3 นิ้ว และร้อยละ 16.4 ระบุความต้องการไม่ได้หลากหลายในกลุ่มม็อบ และเมื่อแบ่งออกเป็นกลุ่มช่วงอายุ พบว่ากลุ่มเยาวชนที่อายุไม่เกิน 24 ปี มีสัดส่วนมากกว่าทุกกลุ่มอายุ หรือร้อยละ 88.1 ระบุว่ามีความหลากหลายของความต้องการในกลุ่มม็อบ มากกว่าแค่ชู 3 นิ้ว ในขณะที่ร้อยละ 11.9 ระบุว่าความต้องการไม่ได้หลากหลายในกลุ่มม็อบ
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.6 ระบุความต้องการแท้ หลังม็อบ 3 นิ้ว คือต้องการสิทธิชอบธรรมตามกฎหมายและสังคม เปิดรับและคุ้มครองความหลากหลายของเพศสถานะ (LGBTQ) ต้องการความเสมอภาคการศึกษา ต้องการอิสระทางความคิดของเด็กและเยาวชน ต้องการมีความหวัง มีชีวิตที่ดี มีงานทำ มีรายได้ดี มีอนาคตที่ดี ต้องการเสรีภาพแต่งกายของนักเรียนนักศึกษา ทรงผม และอื่นๆ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 9.4 ระบุต้องการแค่ตามแกนนำม็อบ 3 นิ้ว 3 ประการ เท่านั้น
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความต้องการระหว่างปฏิรูปการศึกษา หรือปฏิรูปสถาบัน พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.1 ต้องการปฏิรูปการศึกษามากกว่าปฏิรูปสถาบัน ในขณะที่ร้อยละ 5.9 ต้องการปฏิรูปสถาบันมากกว่าปฏิรูปการศึกษา
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลโพลครั้งนี้ชี้ชัดว่าคนส่วนใหญ่ต้องการปฏิรูปการศึกษามากกว่าปฏิรูปสถาบัน สะท้อนให้เห็นว่าม็อบคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยแตกต่างจากม็อบคนรุ่นใหม่ฮ่องกง ในส่วนของความต้องการของม็อบประเทศไทยที่มารวมตัวกันมีความหลากหลาย แต่เมื่อมารวมตัวกันเป็นม็อบทำให้ต้องแสดงพลังให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน กลายเป็นม็อบ 3 นิ้ว จึงเข้าทางเป้าหมายของขบวนการที่อยู่เบื้องหลังม็อบ โดยความต้องการแท้หลังม็อบ 3 นิ้วคือ ความหลากหลายของกลุ่มต่างๆ ที่มารวมตัวกันเป็นแผงม็อบ ดังนั้นถ้ากลุ่มความต้องการต่างๆ ได้รับการตอบสนอง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้ม็อบอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เช่นกลุ่มความหลากหลายของเพศสถานะ (LGBTQ) กลุ่มที่ต้องการความเสมอภาคทางการศึกษา กลุ่มที่ต้องการอิสระ กลุ่มที่ต้องการชีวิตที่ดี มีงานทำ มีรายได้ดี มีอนาคตที่ดี เป็นต้น
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวต่อว่า ถ้ารัฐบาลและผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทำงาน ตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของแต่ละกลุ่มได้จริง และควบคู่ไปกับการเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่น ความพอใจ ก็จะทำให้เกิดการสนับสนุนของกลุ่มม็อบ เปลี่ยนวิถีมาสนับสนุนรัฐบาลได้ไม่ยากนัก จึงมีความจำเป็นต้องเร่งตอบโจทย์ให้ตรงเป้าความต้องการของกลุ่มม็อบกลุ่มย่อยๆ ภายในกลุ่มม็อบกลุ่มใหญ่ ที่ตอนนี้กำลังแยกตัวกันออกไปช่วงเวลาสั้นๆ จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะรีบดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนที่จะสายเกินไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |