"ทรัมป์" สั่งตัดจีเอสพีไทยมูลค่า 2.5 หมื่นล้าน เริ่ม 30 ธ.ค.นี้ โทษฐานไม่ยอมให้ขายหมูมีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯ ด้าน "พาณิชย์" พร้อมเดินหน้าช่วยภาคเอกชน เผยสินค้าได้รับผลกระทบมีอาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น
รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า สหรัฐอเมริกาตัดสินใจระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าของไทยมูลค่า 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 25,400 ล้านบาท) ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 สืบเนื่องจาก "การขาดความคืบหน้าอย่างเพียงพอที่จะให้สหรัฐฯ เข้าถึงตลาดผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรอย่างเท่าเทียมและสมเหตุสมผล"
แถลงการณ์ของทำเนียบขาวกล่าวว่า ในหนังสือที่ทรัมป์ส่งถึงนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแจ้งการตัดสินใจดังกล่าวหลังจากการเจรจาต่อรองนานกว่า 2 ปี ระบุว่า "ผมตัดสินใจแล้วว่าไทยไม่ได้ให้ความมั่นใจต่อสหรัฐฯ ว่าไทยจะให้สหรัฐฯ เข้าถึงตลาดของไทยอย่างเท่าเทียมและสมเหตุสมผล"
โรเบิร์ต ไลธีเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) กล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ในการติดตามและบังคับใช้โครงการสิทธิพิเศษทางการค้าของสหรัฐฯ อย่างจริงจัง สินค้าของไทยที่สหรัฐฯ ตัดจีเอสพีครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 1 ใน 6 ของประโยชน์ที่ไทยได้จากระบบจีเอสพีของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ สภาผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นพีพีซี) ได้ยื่นคำร้องเมื่อปี 2551 ขอให้ทางการสหรัฐฯ ดำเนินการกับไทย
โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการถูกตัดจีเอสพี ตามแถลงการณ์ของยูเอสทีอาร์ มีอาทิ มะม่วงและสับปะรด, อุปกรณ์ทำเล็บ, ท่อเหล็ก, อัญมณี, ชิ้นส่วนรถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อาหารแห้ง, อุปกรณ์และเครื่องครัวอะลูมิเนียม
ด้านนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับการแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ถึงประกาศประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Presidential Proclamation) เกี่ยวกับผลการพิจารณาตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ ซึ่งครั้งนี้เป็นการทบทวนรายประเทศ (Country Practice) โดยเป็นเรื่องของการเปิดตลาดสินค้าและบริการประเด็นการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่าการเปิดตลาดสินค้าของไทยนั้นไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล แม้ไทยจะได้ชี้แจงอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การตัดสิทธิพิเศษดังกล่าวมีจำนวน 231 รายการ เป็นสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ จริงในปี 2562 จำนวน 147 รายการ มูลค่าการนำเข้าประมาณ 604 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติมูลค่าประมาณ 19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่ได้รับผลกระทบ มีอาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ, พวงมาลัยรถยนต์, ล้อรถยนต์, กระปุกเกียร์, กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก, เคมีภัณฑ์, เกลือฟลูออรีน, ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก, หลอดและท่อทำด้วยยางวัลแคไนซ์, อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น
นายกีรติเผยว่า การให้สิทธิจีเอสพีนั้นเป็นการให้ฝ่ายเดียวโดยสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมาไทยและสหรัฐฯ ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้มาโดยตลอดผ่านเวที TIFA (Trade and Investment Framework Agreement) โดยหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการประสานกับฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ยินดีหากไทยจะหาทางออกร่วมกันในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากสิทธิ GSP จะช่วยทำให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าสหรัฐฯ สามารถลดภาระภาษี ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ
เขาระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมพร้อมมาตรการรองรับผลกระทบจากการระงับสิทธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้ว โดยในเบื้องต้นวางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย อาทิ Online Business Matching สำหรับสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การจัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ และตลาดใหม่ การส่งเสริมสินค้าไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross border e-commerce เข้าสู่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และตลาดใหม่โดยตรง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้หารือและทำความเข้าใจกับภาคเอกชนตลอดมา เพื่อเตรียมการรองรับและเน้นในเรื่องกลยุทธ์การตลาดที่ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพมาตรฐานสินค้ามากกว่าการแข่งขันด้านราคา
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่สหรัฐฯ นำมาใช้เป็นข้ออ้างในการตัดจีเอสพีไทยครั้งนี้ มาจากกรณีที่ไทยไม่ยอมเปิดตลาดเนื้อสุกรและเครื่องในจากหรัฐฯ ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงแรดโตพามีนในการเลี้ยง โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯ กดดันไทยอย่างหนักและขู่ตัดจีเอสพีมาอย่างต่อเนื่อง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |