ขยะที่ถูกทิ้งลงคลองลาดพร้าว หนึ่งในคลองสายหลักที่วิกฤติจากขยะ
เราอยากเที่ยวในกรุงเทพฯ เดินถ่ายรูปสวยๆ ริมแม่น้ำ เช็กอินเก๋ๆ ริมคลอง ล่องเรือเที่ยวชมสองฝั่งคลอง ช็อปปิ้งตลาดน้ำกลางเมือง ให้สมกับที่กรุงเทพฯ ได้รับการเปรียบเปรยว่าเป็นเวนิสแห่งตะวันออก แต่กลับมีขยะลอยเป็นแพในคูคลอง ไปจนถึงมักง่ายทิ้งทุกอย่างลงแม่น้ำลำคลอง เป็นภาพที่สะท้อนถึงคนเมืองไม่ตระหนักว่า วิกฤติขยะในคลองจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง
ลองย้อนไปในอดีต คลองมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนไทยอย่างมาก โดยเฉพาะชุมชนริมคลองพึ่งพาน้ำจากคลองใสในการอุปโภคบริโภค คูคลองมากมายเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคม เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีคลองล้อมรอบจำนวนมาก ต่างจากปัจจุบัน มหานครแห่งนี้มีความเจริญเติบโต คลองถูกลดความสำคัญ มีการถมคลองสร้างถนนหนทาง หรือเป็นพื้นที่ตั้งของอาคารบ้านเรือนจากประชากรที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งพื้นที่ริมคลองอย่างคลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ หรือคลองเปรมประชากร มีชุมชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีการปล่อยน้ำเสีย ทิ้งขยะลงคลอง ทำให้ตื้นเขิน และไม่ใสสะอาดเหมือนก่อน ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนจำนวนมากนึกถึงคลองเป็นเพียงทางระบายน้ำหรือถังขยะ
แม้ชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำจะไม่ได้เหมือนเดิม แต่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็มีแนวทางแก้ปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลองเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น ฟื้นเสน่ห์ความเป็นเวนิสตะวันออก
คลองเปรมประชากร คลองใจกลางเมืองที่พบปริมาณขยะมาก
ประเด็นนี้ "สมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์" รองผู้อำนวยการสำนักงานระบายน้ำ กทม. บอกว่า หลังจากได้สำรวจคลองกรุงเทพฯ ที่ตกหล่นร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่ทั้ง 50 เขต จากเดิม 1,682 คลอง ปัจจุบันรวบรวมได้กว่า 1,980 คลอง คิดเป็นระยะทางประมาณ 2,700 กิโลเมตร ในอดีตคลองจะเป็นเส้นทางสัญจรและใช้ในการทำเกษตร ชุมชนตั้งรกรากอยู่ริมคลอง เมื่อมีการพัฒนาเมือง ก็เปลี่ยนจากคลองเป็นถนน บริเวณริมคลองก็ถูกถมสร้างตึก อาคาร บ้าน บ้านริมฝั่งคลองยังมี แต่ส่วนใหญ่เริ่มเป็นคนต่างถิ่นที่เข้ามาเช่าอยู่ พบปัญหาขนาดของคลองที่แคบลงจากการรุกล้ำเข้ามาสร้างบ้านเรือนริมคลอง จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพคลอง ยังไม่กล่าวถึงปัญหาขยะและน้ำเน่าเสีย
“ คลองเต็มไปด้วยขยะ มีรายงานตั้งแต่ปี 2559 มีขยะประมาณ 69,726 ตัน ปี 2560 มีขยะ 132,374 ตัน ปี 2561 มีขยะประมาณ 41,601 ตัน ปี 2562 มีขยะ 34,640.22 ตัน ส่วนปี 2563 ข้อมูลถึงเดือนตุลาคมนี้ ปริมาณขยะมีแนวโน้มลดลงเหลือ 27,816 ตัน“
ถ้าเจาะลึกเข้าไปในปัญหาขยะในคลอง รอง ผอ.สำนักงานระบายน้ำบอกว่า ปัญหาของขยะในคลองนับว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อน อดีตเราก็มีชุมชนริมคลองมา อาบน้ำ ซักผ้า ล้างจานน้ำก็ไหลลงคลอง แต่ด้วยประชากรยังไม่หนาแน่น น้ำก็ยังสามารถที่จะบำบัดฟื้นตัวเองได้ในธรรมชาติ แต่เมื่อมีการขยายของชุมชน บ้านเรือนหนาแน่นมากขึ้น ทำให้น้ำเริ่มบำบัดไม่ทัน กลายเป็นน้ำสีดำ มีกลิ่นรบกวน ขณะที่ผู้คนไม่ตระหนัก แล้วยังทิ้งขยะลงมาเพิ่มความสกปรกอีก
สำหรับคลองสายหลักใจกลางเมือง อย่างคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองแสนแสบ คลองสอง คลองบางนา คลองทวีวัฒนา เป็นต้น ที่มีอีกหน้าที่ในการระบายน้ำช่วงฝนตก ดังนั้นน้ำฝนจะชะล้างขยะไหลมายังคลองเป็นจำนวนที่มากกว่าปกติอีก เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการระบายน้ำอย่างมาก ไม่เพียงแค่นั้น ขยะจำพวกเชือก ด้าย หรือยาง ที่สามารถเข้าไปพันกับใบพัดเครื่องระบายน้ำ ส่งผลให้เกิดอุปกรณ์มีความชำรุดเสียหายอีกด้วย ดังนั้นการแก้ปัญหาขยะคนจึงเป็นตัวแปรสำคัญช่วยให้ขยะในคลองลดลง ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ดั้งเดิมหรือคนต่างถิ่น คลองสายหลักมีขยะเยอะเพราะชุมชนหนาแน่น
สมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานระบายน้ำ กทม.
"สมศักดิ์" เล่าว่า แม้ว่าทาง กทม.จะจัดที่ให้ทิ้งขยะบนบกและตามท่าบ้านริมน้ำ แต่ด้วยเส้นทางสัญจรในชุมชนที่เป็นตรอกแคบ ชาวบ้านอาจจะไม่สะดวกเดินนำขยะมาทิ้ง อย่างคลองลาดพร้าวที่มีระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร มีปัญหาชุมชนรุกล้ำเข้ามาสร้างบ้าน ทำให้คลองมีความแคบ และคนทิ้งขยะลงแม่น้ำ ทำให้เราเก็บขยะได้ถึงวันละ 3-5 ตัน ช่วงฝนตกบางวันเก็บได้ถึง 10 ตัน แต่หลังจากที่จัดสร้างบ้านมั่นคง สถานการณ์ดีขึ้น ปริมาณขยะในคลองลดลงไปได้ถึง 30% คลองที่แคบลง 15-20 เมตร จากที่บ้านรุกล้ำ กลับมากว้างประมาณ 35-38 เมตร การขุดลอกคลองทำได้ง่าย และการสร้างเขื่อน ทำให้การระบายน้ำดีขึ้น
เช่นเดียวกับคลองเปรมประชากร เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ความยาวคลอง 22 กิโลเมตร ชุมชนริมคลองทิ้งขยะ เก็บได้วันละ 7-8 ตัน ส่วนคลองบางเขน ยาว 10 กิโลเมตร มีขยะที่เก็บได้วันละ 1-2 ตัน ก็กำลังดำเนินการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาต่อไป "นอกจากเก็บขยะ ประเด็นสำคัญคือ การรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชนริมคลอง มุ่งส่งเสริมผู้นำชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อนำไปพัฒนาในพื้นที่ชุมชนของตนเอง"
ทุกวัน จนท.กทม.ลงเรือเก็บขยะใต้ถุนบ้านริมคลอง จากการทิ้งขยะไม่เป็นที่
เก็บขยะในคูคลองกรุงเทพฯ งานหนัก "สมศักดิ์" ให้ภาพว่า กทม.แบ่งระดับความสำคัญของคลอง โดยเฉพาะคลองสายหลักระบายน้ำจะต้องมีเจ้าหน้าที่ลงไปเก็บวันละ 2-3 รอบ 4-5 คนต่อเรือหนึ่งลำ แบ่งเป็นโซนละ 5-10 กิโลเมตร ส่วนคลองที่รองลงมาจัดเก็บเป็นรอบประมาณเดือนละครั้ง นอกจากนี้มีแพไม้ไผ่ไว้ดักขยะลอยน้ำประจำคลองต่างๆ ซึ่งมีมากกว่า 100 แพทั่วคลองกรุงเทพฯ ที่มีปัญหาขยะ ช่วยแบ่งเบาการเก็บขยะได้เยอะ พนักงานเราไม่พอ ที่ผ่านมาพยายามรณรงค์เรื่องการทิ้งขยะให้ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบ บ้านริมคลองก็แขวนขยะไว้ที่บ้าน เพราะต้องเข้าไปเก็บขยะทุกวัน หรือพัฒนาเป็นไลน์กลุ่มแจ้งว่า ช่วงเวลาจัดเก็บขยะ แต่ยังไม่ครอบคลุม
“ ปัจจุบันมีชุมชนตัวอย่างที่รักษาคลองให้สะอาด อย่างชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย ที่มีบ้านเรือนประมาณ 30 หลัง เพราะผู้นำที่มีความเข้มแข็ง ทำให้ไม่มีขยะลงมาในแม่น้ำ 100% สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำชุมชนเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเชื่อใจ เมื่อมีกิจกรรมจะได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่ ส่วนนี้ต้องสนับสนุนขับเคลื่อนต่อไป“ สมศักดิ์ กล่าว
คนกรุงเทพฯ เป็นฟันเฟืองสำคัญลดขยะในคลอง วรรณา แจ้งหิรัญ ประธานชุมชนร่วมใจพิบูล 2 เล่าว่า พื้นที่ชุมชนทอดยาวริมฝั่งคลองลาดพร้าวประมาณ 1 กิโลเมตร มี 245 ครัวเรือน จำนวนประชากรกว่า 1,200 คน ครอบครัวตนอาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า สมัยเด็กจำได้ว่าตอนนั้นยังไม่มีน้ำประปา ก็ใช้น้ำในคลองลาดพร้าว ซึ่งใสสะอาดจนเราสามารถเล่นน้ำ อาบน้ำได้เลย เมื่อโตขึ้นเมืองก็ขยายขึ้นด้วย เริ่มมีคนเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านเรามากขึ้น มีการปลูกสร้างโรงแรม โรงงานต่างๆ บ้านบางหลังที่อยู่ริมคลองขายต่อให้คนอื่นทำบ้านเช่า สร้างบ้านใหม่บ้าง แม้จะมีข้อกำหนดให้สร้างบ้านได้ โดยวัดจากชายคลองเข้ามา 6 เมตร แต่ก็มีการสร้างล้ำเข้าไปในคลอง คลองแคบลง ขยะเริ่มถูกทิ้งลงคลองมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงฝนตก ขยะใต้ถุนบ้านลอยออกมา ขวางการระบายน้ำ
จากปัญหานี้ เราทำงานรณรงค์หยุดทิ้งขยะลงคลอง จัดที่ทิ้งตามท่าทุกบ้าน เพราะจะมีเรือเก็บขยะมารับทุกวัน และจัดตั้งขยะบนบกด้วย เพิ่มจุดทิ้งให้มากขึ้น ส่งผลให้ขยะน้อยลง ทุกคนหวังให้คลองลาดพร้าวกลับมาใสกว่านี้ แม้จะไม่สามารถกลับไปใสสะอาดเหมือนเมื่อก่อนได้
แพไม้ไผ่ติดตั้งตามคลองต่างๆ ใน กทม. ช่วยดักขยะ จนท.จัดเก็บง่าย
อีกต้นแบบเป็นชุมชนริมคลองเปรมประชากร บุญศรี สุวรรณดี ประธานชุมชนสตรีเหล็กพัฒนา บอกว่า เราเป็นชุมชนแออัดริมคลองเปรมฯ ทั้งสองฝั่งคลองมี 115 หลังคาเรือน ประชากร 470 คน แต่มีประชากรแฝงอยู่มาก ด้วยพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับดอนเมือง สภาพบ้านเปลี่ยนเป็นบ้านเช่า คนที่มาอยู่ขาดความตระหนักและรักในชุมชน มีการทิ้งขยะลงคลอง อีกทั้งขยะที่ลอยมาจากทิศทางอื่นด้วย ทำให้ขยะในคลองมีเยอะมาก น้ำมีสีดำ และมีกลิ่น ทุกวันนี้คนในชุมชนพยายามเป็นหูเป็นตา พบก็ตักเตือน ถ้าไม่ปรับปรุงก็แจ้งกับเจ้าหน้าที่เขตให้ดำเนินการทางกฎหมาย รณรงค์ให้ช่วยกันแยกขยะ และนำขยะไปทิ้งไว้ยังจุดที่จัดให้ ขยะน้อยลงกว่าเดิมมาก การทำงานในชุมชนทุกวันนี้อยากให้คลองเปรมฯ สะอาดขึ้น คนกลับมาใช้ชีวิตกับคลอง อาจจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว จัดตลาดน้ำ เพราะชุมชนในเขตดอนเมืองมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจมากมาย
หากคูคลองในเมืองกรุงเกือบ 2,000 แห่ง ขยะลดลง กลับมาสะอาดกว่าเดิม นอกจากลดมลพิษทางน้ำและอากาศแล้ว ยังทำให้กรุงเทพฯ เมืองน้ำ กลับมามีชีวิตอีกครั้ง แต่สิ่งสำคัญทุกคนต้องมีจิตสำนึก ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลอง ถ้าไม่ช่วยกันก็คงต้องเจอน้ำเน่า น้ำท่วม วนเวียนตลอดไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |