ขบวนเครือข่ายชุมชนร่วมงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ’ ที่ จ.น่าน ชูประเด็นขับเคลื่อน “การจัดการที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกินเพื่อคนทุกคน”


เพิ่มเพื่อน    

ขบวนรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือที่ จ.น่าน  เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม

 

จ.น่าน /  ขบวนเครือข่ายชุมชน 17 จังหวัดภาคเหนือ ขอนแก่นและสุพรรณบุรี ประมาณ 600 คน  ร่วมงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ’ ที่ จ.น่าน   ชูประเด็นการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา “การจัดการที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกินเพื่อคนทุกคน” 

 

องค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT)   กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’  เริ่มตั้งแต่ปี 2528  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์  ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก

 

ในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา  โดย UN – HABITAT  มีคำขวัญว่า “Housing for all A better urban future” หรือ “ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม”  ขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดมหกรรม ‘บ้านมั่นคง  : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม’ ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้  ทั่วภูมิภาค  คือ  ภาคกลางและตะวันตกที่จังหวัดสุพรรณบุรี    ภาคตะวันออกที่ จ.ปราจีนบุรี  กรุงเทพฯ  ภาคเหนือที่ จ.น่าน  ภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น  และภาคใต้ที่ จ.ชุมพร 

 

ขบวนรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกที่ จ.น่าน

 

วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ :  “ฮ่วมแฮง  ฮ่วมใจ๋ แป๋งบ้าน  แป็งเมือง กู่คน  เพื่อชุมชนหมู่เฮา”

 

ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม  ขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ 17 จังหวัด  ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ ปี 2563’  ที่จังหวัดน่าน   โดยมีประเด็นสำคัญในการจัดงาน  คือ การจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เพื่อคนทุกคน หรือ “ฮ่วมแฮง  ฮ่วมใจ๋ แป๋งบ้าน  แป็งเมือง กู่คน  เพื่อชุมชนหมู่เฮา” 

 

การจัดงานวันแรก (30 ตุลาคม)  นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ได้เดินทางมารับฟังปัญหาและรับมอบข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยจากประชาชน

 

นายวราวุธ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ(ยืนกลางใส่หมวก) ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกเมื่อ 31 ตุลาคม

 

ส่วนการจัดงานวันนี้ (31 ตุลาคม)  จัดขึ้นที่วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน  อ.ภูเพียง  จ.น่าน  มีการจัดเวทีเสวนา  นิทรรศการการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่างๆ  การออกร้านจำหน่ายสินค้าชุมชน  ฯลฯ  โดยมีนายวิบูรณ์  แววบัณฑิต  รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน  นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา  ที่ปรึกษาประธานอนุกรรมการโครงการบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ   ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ  ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ 17 จังหวัด  ผู้แทนเครือข่ายชุมชนจังหวัดขอนแก่นและสุพรรณบุรี   เข้าร่วมงานประมาณ  600 คน

 

ทั้งนี้พื้นที่ภาคเหนือ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชน  ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐ   เช่น  มีชุมชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์   โดยที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ร่วมกับเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการจัดการที่ดินภาคเหนือ   และหน่วยงานภาคีในระดับจังหวัด  ร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา 

 

เช่น  สำรวจข้อมูลปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกินของผู้มีรายได้น้อย  สนับสนุนงบประมาณในการจัดกระบวนการ  นำไปสู่การการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม  โดยกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์จังหวัด ‘การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน’  ที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน  มีความมั่นคงในการอยู่อาศัย และถูกต้องตามกฎหมาย

 

เวทีเสวนา “รูปธรรมการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินชนบท”

 

ช่วงเช้าวันที่ 31 ตุลาคม  มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “รูปธรรมการจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินชนบท” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย  ผู้แทนชุมชนพื้นที่รูปธรรม  ผู้แทนหน่วยงานต่าง  และผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ

 

นายกระมล  อุประรัตน์  ผู้แทนชุมชนตำบลเวียงสรวย  อ.แม่สรวย  จ.เชียงราย  กล่าวว่า  ตำบลเวียงสรวยเป็นพื้นที่ชนบทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  สวนป่าของกรมป่าไม้  และเขตอุทยานแห่งชาติ  มีทั้งหมด 17 ตำบล  ประชากรมีชาติพันธุ์อาข่า  ม้ง  และคนเมือง  ประมาณ 4,000 คน  ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร  ปลูกข้าวไร่  ข้าวโพด  ลำใย  กาแฟ  ฯลฯ

 

“ที่ผ่านมา  ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าไม้  ชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดี  เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน  แต่เมื่อมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลในปี 2559   ชาวบ้านจึงได้ใช้สภาองค์กรชุมชนฯ เป็นเวทีแก้ไขปัญหา  มีการเจรจากับป่าไม้และอุทยานฯ นำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา  ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ” ผู้แทนตำบลเวียงสรวยกล่าว

 

เวทีการเสวนา

 

กระบวนการที่ชาวบ้านตำบลเวียงสรวยลุกขึ้นมาจัดการแก้ไขปัญหาที่ดินด้วยตนเอง  โดยการเตรียมความพร้อม  สร้างความเข้าใจกันทั้งชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดิน  มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ชุมชน  คือ  บ้านโป่งปูเฟือง บ้านริมทาง  และบ้านห้วยน้ำมา  โดยร่วมกันสำรวจข้อมูลการถือครองที่ดิน จัดทำขอบเขตที่ดิน  รังวัดพื้นที่  จัดทำผังชุมชน  โดยใช้เครื่องมือ GPS ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล

 

ต่อมาจึงได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่ดินโดยใช้กลไกคณะกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด  มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานฯ)  เพื่อรองรับสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่หลายฝ่าย  เช่น  สภาองค์กรชุมชนตำบล  เทศบาลตำบลเวียงสรวย  คทช.อำเภอ  คทช.จังหวัด ป่าไม้ อุทยานและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

 

จากกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ให้การสนับสนุน  เริ่มจากการสำรวจข้อมูลชุมชน  ครัวเรือนที่มีฐานะยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  ฯลฯ  เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดทำโครงการบ้านมั่น  โดยทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมสร้างบ้านเรือนที่ทรุดโทรมให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง  เหมาะสมกับการอยู่อาศัย

 

ในปี 2561 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงชนบทเทศบาลตำบลเวียงสรวย  จำนวน 227 ครัวเรือน  รวม  11,029,000 บาท  (เฉลี่ยครัวเรือนละ 40,000 บาท) โดยมีทีมงานช่างชุมชนจากทั่วประเทศมาร่วมซ่อมสร้างบ้าน  และซ่อมสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดในช่วงปลายปี 2562

 

ผู้แทนตำบลเวียงสรวยบอกด้วยว่า  นอกจากการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนแล้ว  หน่วยงานต่างๆ ยังร่วมสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ส่งเสริมเรื่องอาชีพ  และรายได้  เช่น  ศูนย์พัฒนาสังคมบนพื้นที่สูง  สนับสนุนให้เอาอัตลักษณ์  เอกลักษณ์  ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์มาทำผ้าปักมือ  สนับสนุนกลุ่มผู้สูงอายุผลิตสินค้า  การท่องเที่ยวชุมชน  อนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้  สร้างแหล่งอาหารในป่า  มีหน่อไม้  เห็ด  ผักต่างๆ  เป็น ‘ซุปเปอร์มาเก็ต’ ของชุมชน

 

เครือข่ายคนน่านจัดการตนเอง

นางฑิฆัมพร  กองสอน  ผู้นำตำบลบัวใหญ่  อ.นาน้อย  จ.น่าน  กล่าวว่า  ‘เครือข่ายคนน่านจัดการตนเอง’ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มต่างๆ ที่ทำงานในทุกประเด็นงาน  เช่น  มูลนิธิฮักเมืองน่าน  ฯลฯ มาทำงานร่วมกัน  โดยมีที่มาจากปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยในจังหวัดน่าน  เพราะในจังหวัดน่านมีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจำนวน 17 ป่า  และเขตอุทยานอีกหลายแห่ง  ทำให้คนน่านอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีความมั่นคง  หรือตกอยู่ในสภาพ “เกิดมาก็ผิดกฎหมายแล้ว  เพราะอยู่ในพื้นที่ป่า”

 

 

เฉพาะพื้นที่ตำบลบัวใหญ่เริ่มรวมตัวกันแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2547-2548  โดยร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชน  ครัวเรือนที่อยู่ในเขตป่าฯ  พื้นที่ทับซ้อน  เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะหน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เพื่อพูดคุยหาทางออก  และขยับจากการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย  โดยเสนอข้อมูลปัญหาและแนวทางการแก้ไขให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ นำไปพิจารณา 

 

“นอกจากนี้เครือข่ายคนน่านจัดการตนเองยังร่วมกับพี่น้องที่มีความเดือดร้อนร่วมกันจัดทำกระบวนการการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ให้การสนับสนุน  เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา  ไม่ให้ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไล่จับกุมอีก”  นางฑิฆัมพรกล่าว

 

ข้อเสนอเชิงนโยบายแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกิน

 

ทั้งนี้ในการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือปี 2563 ที่จังหวัดน่าน  เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา   เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนได้ยื่นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยให้แก่นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ที่เดินทางมาร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกฯ  โดยมีข้อเสนอ 7 ข้อ คือ

 

นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รมว.กระทรวงทรัพยฯ รับมอบข้อเสนอจากผู้แทนประชาชน

 

 1.หน่วยงานภาครัฐทุกระดับต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างจริงจัง

2.ขอให้หน่วยงานในระดับจังหวัดบรรจุแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัย และการจัดการที่ดินเป็นแผนยุทธศาสตร์จังหวัด โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

3.ให้มีการจัดประชุมคณะทำงานการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยในระดับจังหวัด และ ผลักดันพื้นที่  ที่มีประเด็นปัญหาข้อติดขัดต่อ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทั้งระดับอำเภอ และระดับจังหวัด อย่างสม่ำเสมอ

4.ในเชิงกลไกคณะทำงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ให้มีการทบทวนองค์ประกอบ เพิ่มสัดส่วนสภาองค์กรชุมชน กลุ่มผู้เดือดร้อนเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเสนอแนะ และปัญหาข้อติดขัดที่เกิดขึ้น เพื่อสะท้อนถึงปัญหา ตลอดจนสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับชาติ

5.ให้มีการจัดตั้งกองทุนกลางสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และคุณภาพชีวิต โดยให้ผู้มีรายได้น้อยมีส่วนร่วมบริหารจัดการ  เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นธรรม สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางกายภาพ สังคม และเศรษฐกิจของพื้นที่ เช่น เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง ของ พอช. ซื้อโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ และเอกชน หรือกลับภูมิลำเนา ฯลฯ ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งและยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน

6.การบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ  รัฐวิสาหกิจ เอกชน ในการสนับสนุนระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในพื้นที่โครงการการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยอย่างทั่วถึง

7.ให้มีการอำนวยการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและจัดหาที่ดินรองรับให้กับผู้ได้รับผลกระทบที่สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีพ

 

รูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่จังหวัดน่าน

 

ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน  กล่าวในเวทีเสวนาว่า  จังหวัดน่านมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 7.5 ล้านไร่  มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 16 ป่า  สามารถออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ประชาชนได้เพียง 12 % ของพื้นที่  ส่วนที่เหลือหรือที่อยู่ในเขตป่าสงวนฯ  และอุทยานฯ  จะดำเนินงานตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)  เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกับป่าได้  ส่วนจังหวัดอื่นๆ  ในภาคเหนือรวมทั้งหมด 17 จังหวัดก็จะใช้แนวทางของ คทช.เช่นเดียวกัน   แต่ความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่างๆ จะไม่เหมือนกัน  ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของแต่ละพื้นที่

 

ส่วนในจังหวัดน่าน  มีเป้าหมายจะกันพื้นที่ที่ประชาชนเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น  3-4-5  มีเป้าหมายประมาณ 270,000 ไร่  โดยจะนำข้อมูลจากการสำรวจพื้นที่ที่ประชาชนเข้าครอบครองทำประโยชน์เสนอต่อ คทช. จังหวัด (คณะกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด  มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน)  แต่ดำเนินการได้ปีหนึ่งไม่กี่พันไร่  ทางผู้ว่าฯ  จ.น่าน   เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหา  จึงสนับสนุนงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัด  เพื่อให้เร่งรัดการสำรวจข้อมูล  การรังวัดพื้นที่  เพื่อนำเสนอข้อมูลต่อ คทช.จังหวัด จนสำรวจได้ครบ 270,000 ไร่  ภายในปีงบประมาณ 2563 (กันยายน) ที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม  ยังมีกระบวนการในการดำเนินการต่อไป  โดยพื้นที่ที่กันเอาไว้ให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเสนอเรื่องการขอใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าสงวนฯ  (พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3-4-5) ไปยังกรมป่าไม้เพื่อพิจารณาอนุญาต   โดยขณะนี้ส่งเรื่องเข้าไปแล้วประมาณ 90,000 ไร่   ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 100,000 ไร่ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง  เพื่อเสนอกรมป่าไม้ต่อไป   ทั้งนี้คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2565

 

“พอช. เป็นกลไกรัฐ   แต่เป็นเครื่องมือของประชาชน”

นายปฏิภาณ  จุมผา  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวในเวทีเสวนาว่า   ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินและเรื่องที่อยู่อาศัยเป็นโจทย์ของแผ่นดิน  เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ  ไม่เป็นธรรมในสังคม  ซึ่งภาคประชาชนทั้งในเมืองและชนบทได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามาก่อนหน้านี้แล้ว  ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีแผนงานในการแก้ไขปัญหา  เพราะในประเทศไทยมีครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 21   ล้านครัวเรือน  แต่มีปัญหาที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงหรือไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองรวมทั้งหมดประมาณ  5,870,000  ครัวเรือน

 

นายปฏิภาณ  รอง ผอ.พอช. (ยืนขวาสุด)

 

“วันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้  องค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติมีคำขวัญว่า   ‘ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม’  คือมีความหมายว่า  มวลมนุษยชาติควรจะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ซึ่งพี่น้องขบวนชุมชนได้ทำเรื่องนี้กันมาแล้วหลายปี  และรัฐบาลมีแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยระยะ 20 ปี  (พ.ศ.2560-2579) โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  เป็นเจ้าภาพ  ร่วมกับกระทรวงต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน  มีเป้าหมายภายในปี 2579  ให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยกันถ้วนทั่ว”  นายปฏิภาณกล่าว

 

นายปฏิภาณกล่าวต่อไปว่า  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยนี้จะต้องแก้ไขปัญหากันทั้งตำบล  ทั้งเมือง  และแก้ไขปัญหาทุกมิติ  โดยมีระบบการสำรวจและจัดเก็บข้อมูล  โดยชุมชนท้องถิ่นต้องเป็นเจ้าภาพ  เป็นเจ้าของเรื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง  สร้างความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานภาคีต่างๆ  ทั้งภาครัฐ  เอกชน  และสภาองค์กรชุมชนตำบลควรจะเป็นกลไกกลางในการเชื่อมต่อกับหน่วยงานและภาคีต่างๆ

 

“ด้วยแนวทางนี้จะทำให้การแก้ไขปัญหาโดยมีพี่น้องประชาชนเป็นกำลังสำคัญ  ใช้เรื่องบ้านเป็นเครื่องมือ  นำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาทุกปัญหา ทุกมิติ  ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ เป็นกลไกของรัฐ  แต่เป็นเครื่องมือของประชาชน  พอช.จะเป็นเพื่อนร่วมทางของประชาชนและหน่วยงานภาคีต่างๆ  เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ร่วมกัน”  นายปฏิภาณกล่าว

 

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา

 

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา  ที่ปรึกษาประธานอนุกรรมการโครงการบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า   ความร่วมมือเป็นวาระใหม่ในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมืองและชนบท   อยากให้การจัดงานเป็นจุดมุ่งหมายใหม่  ให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน   อยากให้นำทิศทางการทำงานนี้ไปดำเนินการ       เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความมั่นคงสำคัญของชีวิตมนุษย์   ใช้คำว่า   การมีอยู่อาศัยที่มั่นคง   สร้างระบบการจัดการ  การเชื่อมโยงเพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็งเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี     เมืองและชนบทเป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลง        

 

“การสร้างบ้านแปงเมือง   ต้องมีที่ดิน  ปัจจัยสาธารณูปโภค   มีระบบที่ประสานความร่วมมือ โดยชุมชนเป็นตัวตั้ง     แต่ต้องมีตัวบ้านที่ต้องทำให้เป็นรูปธรรม     ชุมชนต้องเป็นผู้ทำ  ไม่ต้องการให้คนอื่นทำให้     ให้เริ่มต้นจัดการแก้ไขปัญหาที่ไม่มั่นคงทั้งหลาย   การสร้างระบบที่ทำให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันได้     ควรใช้โครงการที่มีอยู่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง  เพื่อสร้างความมั่นคง      การออกแบบวิถีชีวิตและความมั่นคงสมัยใหม่ให้เท่าเทียมกัน   อาจต้องคิดค้น  สร้างสรรค์ระบบที่เป็น ปัจจุบัน” นางสาวสมสุขให้ความคิดเห็นในตอนท้าย

 

นายวิบูรณ์  แววบัณฑิต  รองผู้ว่าฯ จ.น่าน  มอบใบประกาศเกียรติคุณให้แก่ชุมชนที่มีการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยดีเด่น

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"