ประยุทธ์:ได้ยินเสียงทุกอย่าง


เพิ่มเพื่อน    


    "บิ๊กตู่" ตอบ "อานันท์" รับฟังข้อเสนอผู้ชุมนุมมาตลอด ย้ำต้องยึดกฎหมายและ รธน. ไม่มีใครอยากทำปฏิวัติ ลั่นเรามีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องสืบสาน รักษา และต่อยอด​ไม่ใช่ทำลายทุกอย่าง "องครักษ์พิทักษ์ลุงตู่" เรียงหน้าโต้ "อานันท์" ชี้ข้อเสนอม็อบทะลุเพดาน นายกฯ ลาออกก็ไม่จบ เหน็บหวังตำแหน่งนายกฯ จะหล่นใส่เหมือนในอดีต "จตุพร" ฟันธงคำว่าสมานฉันท์เป็นคำล้มละลาย ศึกษาแล้วไม่มีใครเอามาทำ เลขาฯ สถาบันพระปกเกล้าเรียกนักวิชาการถกออกแบบ กก.สมานฉันท์ยอมรับกดดันทำให้เกิดความเชื่อมั่นได้   
    เมื่อวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอให้รับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ด้วยความเคาพเป็นการส่วนตัว นายอานันท์เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ตนก็รับฟังข้อเสนอมาโดยตลอด ทั้งทางสื่อโซเชียลและจากคำพูดที่ออกมา ตนได้ยินทุกอย่าง ขอให้เข้าใจซึ่งกันและกันด้วย โดยการเปิดรัฐสภาประชุมสมัยวิสามัญที่ผ่านมา ตนก็รับฟังความคิดเห็นเรื่องความต้องการของกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่แล้ว ถือว่าจบ ส่วนขั้นตอนต่อไปก็เป็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาว่ามีประเด็นไหนที่เป็นไปได้ และประเด็นไหนที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งต้องยึดหลักการกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้อยู่ถึงปัจจุบัน ส่วนวันหน้าจะแก้ไขอย่างไรก็ค่อยว่ากันอีกครั้ง
    เมื่อถามถึงกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เสนอให้ทำการปฏิวัติแล้วตั้งรัฐบาลแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องไปถามคนพูด เราไม่เคยคิดเรื่องเหล่านี้ ต้องระมัดระวังสถานการณ์ไม่ให้บานปลายไปเรื่อยๆ ตนไม่ได้หมายความว่าจะมีการปฏิวัติหรือไม่มี เพียงแต่ไม่มีใครอยากทำ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีก็ตอบไปแล้วว่าไม่ทำปฏิวัติ
    ส่วนกรณีที่พรรคฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติเป็นการซื้อเวลา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นี่คือกลไกของรัฐสภาในการแก้ไขปัญหา เมื่อเราปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องเคารพ ระบบรัฐสภา และคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของคนทั้งประเทศ อยากให้ไปทบทวนตรงนี้ว่าควรเป็นอย่างไรต่อไป ยังมีอีก 2 พรรคฝ่ายค้านที่ไม่ได้เข้าร่วม ตนถามว่าแล้วจะเข้าร่วมประชุมรัฐสภาทำไม ในเมื่อเป็น ส.ส.ที่เป็นผู้แทนสะท้อนความคิดเห็นจากประชาชนทุกคนและทุกฝ่าย ไม่ใช่นำความคิดเห็นของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาเสนอกดดันและเร่งรัด ตนคิดว่าไม่ถูกต้อง นี่หรือประชาธิปไตยไทย เป็นเช่นนี้ใช่หรือไม่ ตนคงพูดได้แค่นี้ ไม่มีความคิดเห็นใดเพิ่มเติม ต้องดูที่เจตนา
    ช่วงเย็นวันเดียวกัน เวลา 16.00 น. ที่ถนนข้าวสาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานพิธีเปิดงาน “สวัสดีข้าวสาร” เพื่อเปิดตัวถนนข้าวสารโฉมใหม่ และส่งเสริมการท่องเที่ยวพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามนโยบายของรัฐบาล โดยทันทีที่​ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางมาถึงได้เดินทักทายประชาชนและพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งมีประชาชนบางส่วนให้กำลังใจ รวมถึงนายกฯ ได้ทักทายนักศึกษาที่มาเดินภายในงาน โดยได้เข้าไปสอบถามว่าเรียนที่ไหน พร้อมกล่าวว่า "ช่วยๆ กันนะ" จากนั้นได้ ชมการแสดงดนตรีสดจากวงคันทรีที่ขอมอบบทเพลง "You are my  sunshine" ให้กับนายกฯ 
    จากนั้น​ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า วันนี้มีหลายส่วนมาร่วมกัน ทั้งในส่วนของรัฐบาล พรรคการเมือง และตัวแทนหลายภาคส่วน ซึ่งทุกคนคือคนไทย มีอะไรดีๆ เรามาร่วมกันได้ จึงขอขอบคุณที่ร่วมกันทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิดนี้ ที่เราต้องมองหาศักยภาพมาขับเคลื่อนก่อน เหมือนถนนข้าวสาร รวมทั้งเรามีมาตรการผ่อนคลายเรื่อยๆ 
    "ไม่รู้จะพูดอะไร มันตื้นตัน​ พอมาเจอสิ่งดีๆ ผมมีความสุข มีความสุขได้พบปะพวกเรา ได้ส่งรอยยิ้มให้กัน​ นี่คือประเทศไทย นี่คือศักยภาพของประเทศไทย มีรอยยิ้ม มีอาหารอร่อยและ ธรรมชาติที่สวยงาม เราอย่าทำลายสามสิ่งนี้ เราแตกแยกกันไม่ได้แตกต่างกันได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
อย่าตัดทอนประวัติศาสตร์
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญเราต้องสร้างสตอรี เรื่องราว ซึ่งเรามีประวัติศาสตร์ โดยเอาสิ่งดีๆ ให้จดจำ เรามีประวัติศาสตร์เป็นเล่มๆ แต่ก็พยายามตัดทอนออกไป​ ผมว่ามันไม่ใช่ ต้องร่วมกันเดินหน้าต่อไปในสิ่งที่ดีๆ ส่วนสิ่งที่ไม่ดีอย่าทำ เพื่อเดินหน้ากันต่อไป 
    "เราเกิดที่นี่และตายไปตามวัฏจักรชีวิต เกิดและตายกันแบบนี้ และมีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งสถาบันไม่ใช่แค่วันนี้ แต่สถาบันมียาวนานจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น​ต้องสืบสาน รักษา และต่อยอด​ ไม่ใช่ทำลายทุกอย่าง" 
    จากนั้นภายหลังเปิดงานเสร็จ​ พล.อ.ประยุทธ์ได้เดินทักทายและเยี่ยมชมร้านค้าต่างๆ​ โดยมีกลุ่มผู้สนับสนุนตะโกนให้ "นายกฯ สู้ๆ" ตลอดเส้นทาง​ ซึ่งนายกฯ ได้กล่าวขอบใจพร้อมชูนิ้วโป้งมือให้เป็นการขอบคุณ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายอานันท์ ปันยารชุน ให้รัฐบาลควรฟังเสียงกลุ่มผู้ชุมนุมน่าจะเป็นทางออกหนึ่งของประเทศในขณะนี้หรือไม่ ว่าก็ดีแล้ว ถ้าตั้ง กก.สมานฉันท์ทุกอย่างควรไปสู่ที่ตรงนั้น และสามารถรับเอาความคิดเห็นของใครต่อใครมา แล้วมาคิดดูว่าจะหาทางออกอย่างไร ส่วนที่ฝ่ายค้านรู้สึกว่าเขายังไม่ปฏิเสธการเข้าร่วม เพราะเขาเองยังไม่เห็นรูปแบบว่าเป็นอย่างไร ตอนนี้ทุกคนยังไม่รู้ว่าหน้าตาของคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นอย่างไร อย่าว่าแต่ฝ่ายค้านเลย ฝ่ายไหนก็ยังไม่เห็นรูปแบบ เพราะฉะนั้นคงจะลังเลอยู่ เท่าที่ฟังในการประชุมรัฐสภา ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมีความเห็นตรงกันให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูในเรื่องเหล่านี้ เอาปัญหาขึ้นมาพูด ทุกอย่างต้องใช้เวลาทั้งนั้น เพียงแต่ว่าถ้าใช้เวลานานเกินไปมันก็ซื้อ ถ้าใช้เวลาไม่นานมันก็ไม่ได้ซื้อ แต่อย่าไปหวังว่าทุกอย่างจะจบที่คณะกรรมการชุดนี้แล้วเลิก แฮปปี้แล้ว มันคงไม่ใช่แบบนั้นแน่ การเสนอทางออกอาจจะเป็นหลายทางก็ได้ 
    นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า นายกฯ มีความตั้งใจและจริงใจที่จะเดินหน้าแก้ไขบ้านเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น นายอานันท์เองก็เคยเป็นถึงอดีตนายกฯ มาก่อน ย่อมเข้าใจเป็นอย่างดีในการทำงานในตำแหน่งนายกฯ รวมถึงกฎกติกาของบ้านเมือง และที่ผ่านมานายกฯ รับฟังเสียงประชาชนทุกคน แต่เสียงของผู้ชุมนุมนั้นไม่เป็นไปตามกฎกติกา เพราะการที่นายกฯ จะลาออก นายอานันท์ช่วยบอกว่าจะให้ใครมาทำงานเสียสละทุ่มเทดังเช่น พล.อ.ประยุทธ์ หรือนายอานันท์อยากเข้ามาเป็นเองในรอบที่สองหรือไม่
         "ขอตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดนายอานันท์ถึงต้องออกมาพูดในลักษณะนี้ หรืออาจเป็นเพราะหวังว่าหากนายกฯ ลาออกจริง ตำแหน่งนายกฯ จะหล่นใส่ท่านอานันท์เหมือนในอดีต ท่านยังหลงใหลอยากกลับมาสู่อำนาจแบบเดิมเช่นนั้นหรือไม่" นายสุภรณ์กล่าว
    นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวเช่นกันว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ยินเสียงของผู้ชุมนุมและติดตามรับฟังมาโดยตลอด มีการถอยให้ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯ เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อหาทางออกประเทศ หรือการสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จากข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ ของผู้ชุมนุม จะพบว่ามีบางข้อเสนอที่ทะลุเพดาน โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน ที่ไม่สามารถกระทำให้ได้ โดยเป้าหมายที่แท้จริงของผู้ชุมนุมไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรี แต่ต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่สูงกว่าเหนือกว่านายกฯ ดังนั้น การลาออกของนายกฯ จึงไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะการชุมนุมเรียกร้องจะยังคงมีต่อไป เพราะยังไม่สำเร็จตามเป้าหมาย  
     “ท่านอานันท์เป็นอดีตนายกฯ น่าจะมีความเข้าใจสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันได้ดีกว่านี้ และมาช่วยกันแก้ไขปัญหาด้วยความจริงใจ ไม่ควรโยนปัญหาไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่กล่าวถึงรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง” นายชัยวุฒิกล่าว 
"อานันท์"ได้ยินเสียงม็อบด่าไหม
    นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานกลุ่มไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เห็นต่างจากท่านนายกฯ อานันท์ ท่านพูดอยู่บริบทเดียว นั่นคือเด็กมองว่านายกฯ เป็นตัวปัญหา เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เลยไม่มั่นใจว่าเสียงม็อบที่เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก ท่านได้ยิน แต่ท่านได้เห็นเสียงที่ม็อบพูดหรือกระทำเรื่องอื่นอีกหรือไม่ เช่น ท่านได้ยินเสียงม็อบด่าพระเจ้าอยู่หัวหรือไม่ ท่านเห็นม็อบล้อมรถขบวนเสด็จฯ ของพระราชินีและพระองค์ทีหรือไม่ ท่านเห็นม็อบชูนิ้วกลางใส่ขบวนเสด็จฯ หรือไม่ เห็นม็อบเชิญชวนไปคุกคามพระมหากษัตริย์ที่ธรรมศาสตร์หรือไม่ เห็นม็อบกุเรื่องใส่ร้ายพระเจ้าอยู่หัวที่สถานทูตเยอรมนีไหม เห็นม็อบโบกธงชาติอุยกูร์ ทิเบต ไต้หวัน และฮ่องกงไหม 
    "ท่านคิดอย่างไรผมต้องขอโทษท่านด้วย และขออนุญาตเห็นต่างจากท่านครับ เพราะถ้าไม่นำเสนอ เกรงว่าจะมีผู้ไม่หวังดีนำเรื่องที่ท่านพูดไปขยายผลเพื่อหวังผลประโยชน์ หลังจากนั้นก็จะรุกคืบเรื่องอื่นๆ จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่ยากแก่การควบคุม" นพ.วรงค์ระบุ
    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวปฏิวัติในช่วงนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดชัดเจนไปแล้วในช่วงระหว่างประชุมรัฐสภาสมัยประชุมวิสามัญที่ผ่านมา ในการสนับสนุนที่จะให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งที่มาจากหลายฝ่ายทั้ง ส.ส., ส.ว., รัฐบาล, ฝ่ายค้าน และผู้ที่มีความคิดเห็นต่างกันจากหลายกลุ่มที่นำมาซึ่งการเจรจาหาทางออกของประเทศ มาสรุปกันว่าประเทศชาติจะเดินหน้าไปทางไหน อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาสถาบันพระปกเกล้ามีส่วนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และเคยมีข้อเสนอแนะที่ดีในเรื่องต่างๆ แต่ไม่ใช่แค่สถาบันพระปกเกล้าอย่างเดียว ยังมีอีกหลายองค์กรที่จะมาช่วยกันออกความคิดเห็น ขณะนี้มีทูตานุทูตและองค์กรระหว่างประเทศก็มีคำถามเข้ามาเช่นเดียวกัน ให้สนับสนุนให้มีการเจรจา นายกฯ เองต้องการให้เกิดบรรยากาศของการพูดคุยกัน ไม่อยากให้กลุ่มต่างๆ ที่มีความเห็นต่างกันมาเผชิญหน้ากัน 
     นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ฝากสถาบันพระปกเกล้าให้เร่งพิจารณาหาข้อสรุปส่งให้ประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปให้ทันสถานการณ์ที่มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่เร็วและแรงมากขึ้นทุกวัน ส่วนที่วิตกกังวลว่าเป็นการซื้อเวลานั้น ก็พอจะเข้าใจได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้ไม่ได้เสนอโดยรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี จึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลมาซื้อเวลาแต่อย่างใด การมีเวทีให้พูดคุยกันน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าไม่มี เชื่อมั่นว่าจะเป็นส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้บ้าง
    นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ข้อเสนอของท่านอานันท์เป็นเรื่องที่ควรจะต้องรับฟังและนำไปไตร่ตรองให้ถ่องแท้ โบราณเคยกล่าวว่า จิ้งจกทักก็ยังต้องหยุด แต่นี้เป็นการเตือนสติในลักษณะการให้ข้อคิดที่สำคัญในยามบ้านเมืองมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ผู้ถูกเตือนก็พึงรับฟังเป็นอย่างยิ่ง ไม่ควรปล่อยให้ลิ่วล้อหรือกองเชียร์ออกมาตอบโต้การแสดงความเห็นของนายอานันท์ ที่ไม่มีส่วนได้เสียทางการเมือง มีแต่เจตนาดีและความหวังดีต่อประเทศชาติเท่านั้น
    นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงแนวทางการตั้ง กก.สมานฉันท์ว่า สนับสนุนและเห็นว่าเวทีของรัฐสภานั้นจะคลี่คลายปัญหาได้ แต่การดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงถึงคนทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลและฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ส่วนกรณีฝ่ายค้านจะไม่เข้าร่วมนั้น อาจทำให้การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ทำได้ยากขึ้น คนที่จะเข้าร่วมต้องพิจารณาด้วยความอดทน มีเหตุผล และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก มากกว่ายึดความต้องการในทางการเมือง การพูดคุยที่จะเกิดขึ้น สนับสนุนให้ใช้การถ้อยทีถ้อยอาศัย และลดราวาศอกกัน ไม่ใช่คุยกันบนฐานข้อเรียกร้องของม็อบเยาวชนเป็นหลัก
    นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า กรณีกลุ่มม็อบออกมาชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ มองว่าโดนกดทับมานาน โดนอำนาจนิยมมานาน โดยเฉพาะน้องนิสิตนักศึกษาที่มองไม่เห็นอนาคตตัวเอง เขาคงออกมาสู้จนกว่าจะเห็นอนาคตตัวเอง  อยากถาม พล.อ.ประยุทธ์ว่า ที่บอกว่าถอยกันคนละก้าว เพราะสถานการณ์ในขณะนี้เปรียบเหมือนกาต้มน้ำที่กำลังเดือด และไม่มีรูระบายให้อากาศมันจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นคงไม่มีความจำเป็นที่จะให้ประเทศไทยจะต้องไปอยู่ในลักษณะนั้น ต้องถอยคนละก้าวกันจริงๆ
สมานฉันท์เป็นคำล้มละลาย
    น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์จะตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า เป็นเพียงการยอมรับแบบเสียไม่ได้ ทั้งนี้ ประชาชนหวั่นใจว่าจะเป็นมวยล้มต้มคนดูเหมือนคณะกรรมการปรองดอง แห่งชาติหลายชุดที่มีการตั้งมาก่อนหน้านี้ มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะใช้ชุดคณะกรรมการดังกล่าวซื้อเวลาและหวังหลอกประชาชนว่ารัฐบาลตั้งใจ 
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า บทเรียนตั้ง คกก.สมานฉันท์นั้น ตลอดเวลากว่า 10 ปีมานี้ คำว่าสมานฉันท์เป็นคำล้มละลาย คำว่าปรองดอง แปลความว่าเป็นเรื่องหลอกลวงกัน เพราะไม่เคยมีอยู่จริง ปัญหาของชาติที่ผ่านมา การตั้ง คกก.สมานฉันท์กี่ยุคสมัยนั้น ไม่เคยนำมาแก้ไขปัญหาชาติได้แม้แต่เพียงครั้งเดียว หากการตั้ง คกก.สมานฉันท์มีผลรูปธรรมแล้ว ประเทศนี้สมานฉันท์กันมานานแล้ว แต่ตลอดเวลาประเทศไทยกลับอยู่ในวังวน อยู่กับการตั้งกรรมการสมานฉันท์ เมื่อศึกษาครบถ้วนแล้วไม่มีใครเอามาทำแม้แต่รายเดียว 
     นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวเช่นกันว่า เชื่อว่าจะเป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น เพราะหากมีการประมวลข้อเสนอแนะจากพรรคฝ่ายค้านที่มีการนำเสนอในการอภิปรายในสภาจากการเปิดประชุมสมัยวิสามัญที่ผ่านมา เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้
    ทางด้านนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันพระปกเกล้า เพื่อออกแบบโครงสร้างและรูปแบบวิธีการทำงานของคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ว่า สถาบันพระปกเกล้าในฐานะเป็นหน่วยงานกำกับของประธานรัฐสภา มีหน้าที่หาคำตอบให้กับสภาเท่านั้น ไม่ได้เป็นฝ่ายดำเนินการเองทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างคิดค้นโครงสร้างที่เหมาะสม โดยเฉพาะโครงสร้างกรรมการปรองดองในอดีต และข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากการอภิปรายหาทางออกร่วมกันของรัฐสภาเมื่อ 26-27 ต.ค.ที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้าง ก่อนจะรวบรวมเสนอต่อประธานรัฐสภาอย่างเร็วสุด 2 พ.ย.นี้ 
    "โดยจะเสนอให้เห็นว่าโครงสร้างแต่ละโครงสร้างมีข้อดีข้อเสีย และข้อจำกัดอย่างไรบ้าง รวมถึงข้อห่วงใยของสถาบัน แต่ยอมรับว่ายังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการไปถึงจุดไหนอย่างไร ดังนั้นสถาบันออกแบบได้เพียงโครงสร้างและวิธีการทำงานในเชิงหลักการวิชาการเท่านั้น รวมถึงรวบรวมประสบการณ์จากต่างประเทศมานำเสนอด้วย ส่วนโครงสร้างกรรมการชุดนี้จะมีองค์ประกอบใดบ้าง เป็นเรื่องที่ประธานรัฐสภาต้องกลับไปหารือผู้เกี่ยวข้อง สถาบันพระปกเกล้ามีหน้าที่เสนอทางเลือกต่างๆ ให้เท่านั้น"  
     ส่วนที่นายชวนเสนอให้มีทุกฝ่ายเข้าร่วมเป็น กก.ปรองดอง นายวุฒิสารเห็นว่า โดยหลักการแล้วสถานการณ์ตอนนี้สิ่งสำคัญคือต้องมีพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายได้รับฟังกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เงื่อนไขสำคัญของการออกแบบโครงสร้างคือ ทำแล้วต้องให้มีความเชื่อมั่นว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง สถาบันพระปกเกล้ามีความพยายาม ตั้งใจดำเนินการตามที่จะได้รับมอบหมายให้รอบคอบที่สุด ไม่ใช่หน่วยงานที่ไปซื้อเวลา ยอมรับว่ามีความกดดัน แต่คิดว่าเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในสังคมที่จะต้องทำให้เกิดอนาคตที่ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ ให้ความขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติ และทุกฝ่ายต้องใช้ความอดทน สติ ระงับตัวเองไม่ให้สร้างความรุนแรง เพื่อปกป้องไม่ซ้ำรอยเหมือนในอดีต ยอมรับว่าคือการสร้างความมั่นใจกับทุกฝ่ายว่าจะให้เกิดความเชื่อมั่นได้อย่างไร.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"