เมื่อสัปดาห์ก่อนผมมีโอกาสได้เรียนรู้การใช้ "เคียว" เกี่ยวข้าวจากพี่ๆ น้องๆ ชาวนาที่โคกสะอาด สกลนคร ได้ตั้งวงเสวนาอย่างสนุกสนานและได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากมาย
ที่ผมชื่นชมอย่างยิ่งคือ การรวมตัวของคนชุมชนในการสร้างเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมจนปลดหนี้สินได้
ขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็ใช้ social media ทำการตลาด "ข้าวหอมดอกฮัง" ที่กำหนดราคาเองได้!
ครับ กำหนดราคาได้เองจริง
เพราะชุมชนนี้ไม่ได้หวังพึ่งการขายข้าวที่ต้องผ่านโรงสีและคนกลาง
หากแต่เพาะพันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่มีคุณค่าเพื่อขาย
อีกทั้งยังแปรรูปข้าวเป็นสินค้าอื่นๆ เช่น สบู่, แชมพู และเครื่องสำอางที่ได้ราคา
เมื่อใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างความตระหนัก การตลาด และรับสั่งสินค้าจากผู้บริโภคทั่วประเทศได้ ก็ยิ่งสร้างอาชีพใหม่ๆ ในยุคที่เทคโนโลยีมีส่วนช่วยยกระดับวิถีชีวิตของคนชนบทได้อย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย
ชาวนาที่นี่บอกว่า "เราไม่ต้องให้รัฐบาลประกันราคาข้าว เราไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากทางการ เราเพียงขอโอกาสที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ชุมชนของเราเท่านั้น"
ที่นี่ชาวนาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง ร่วมกันอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวกว่า 300 ชนิดที่มีคุณสมบัติโดดเด่นด้านโภชนาการ
เป็นพันธุ์ข้าวที่แก้โรคต่างๆ ได้ โดยขายพันธุ์ข้าวแทนที่จะขายข้าวผ่านโรงสีและพ่อค้าคนกลางแบบเดิมๆ
เป็นการสร้างองค์กรที่ให้ความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั่วประเทศได้ว่า เป็นเกษตรอินทรีย์ ปลอดภัย กลิ่นหอม อร่อย และป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้
รอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากคนในชุมชนนี้ ทำให้ผมเชื่อว่าวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรอินทรีย์ การใช้งานวิจัยผสมกับภูมิปัญญาชาวบ้าน การแบ่งปันและเอื้ออาทรต่อกันจะเป็นแม่แบบสำหรับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนทั่วประเทศได้อย่างแน่นอน
พิสูจน์ด้วยความจริงที่ว่าโควิด-19 ไม่มีผลกระทบทางลบต่อชุมชนนี้เลย
"ตรงกันข้ามเรากลับขายข้าวได้มากขึ้น เพราะคนในเมืองต้องการอาหารที่มีคุณภาพดีๆ มากกว่าปกติ ชุมชนเรามีอาหารการกินจากผืนนาและป่าธรรมชาติตามปกติ และคนหนุ่มสาวกลับจากเมืองมาสร้างวิถีชีวิตแบบใกล้ธรรมชาติมากขึ้นอีก" ผู้นำชุมชนคนหนึ่งเล่าให้ผมฟังอย่างภาคภูมิใจ!
อีกชุมชนหนึ่งที่มีความริเริ่มที่น่าชื่นชมในจังหวัดเดียวกัน คือคนรุ่นใหม่ที่ตั้งเป็นกลุ่ม "อาสาสอน"
ที่เรียกกิจกรรมนี้ว่าเป็นการ "คืนบัณฑิตให้ชุมชน" โดยไม่ต้องรอวันจบการศึกษา
เป็นการนำเสนอความร่วมมือและรูปธรรมการจัดการตนเอง
และบริการชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมของสถาบันการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ชุมชน ผ่านกิจกรรมอาสาสอนของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
เพราะพวกเขาและเธอมองเห็นโอกาสในวิกฤติ จากช่วงสถานการณ์โควิด-19 อันทำให้เกิดประเด็นนักศึกษาขาดรายได้ นักเรียนในชุมชนก็ไม่ได้ไปโรงเรียน
สองปัจจัยนี้มารวมกัน และแม้จะเปิดเทอมไปเรียนได้ตามปกติแล้ว แต่การทำกิจกรรมช่วงปิดเทอมเป็นต้นทุนให้น้องๆ นักศึกษาเห็นคุณค่าตัวเองที่มีต่อชุมชนและยังทำกิจกรรมต่อเนื่อง
ผมเห็นความพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาที่ชุมชนต้องเผชิญในสภาวการณ์การเรียนการสอนออนไลน์
โดยนักศึกษาจะเป็นผู้คอยจัดกระบวนการเรียนการสอน
ตลอดทั้งเอื้ออำนวยให้เด็กๆ ในชุมชนสามารถเผชิญหน้ากับการเรียนการสอนออนไลน์ที่กำลังเข้ามามีบทบาทในสังคม
ขณะเดียวกัน กิจกรรม "อาสาสอน" ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ยังพยายามสร้างพื้นที่ทางสังคมที่ไปไกลกว่าการเรียนการสอนออนไลน์
ด้วยความเชื่อว่าพื้นที่การรวมกลุ่มเล็กๆ เช่นนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองที่ต้องเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจ
อีกทั้งยังช่วยทำให้ชุมชนมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ขณะที่โรงเรียนปิด
ติดตามใน "ฟังเสียงประเทศไทย คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน" ทุกวันเสาร์ 17.30 น. ทาง Thai PBS.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |