นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยฯ (กลาง) ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือที่ จ.น่าน
จ.น่าน / ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมงาน’วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2563 ภาคเหนือ’ ที่จังหวัดน่าน ชูประเด็น “การจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เพื่อคนทุกคน” ขณะที่เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือกว่า 500 คน ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และยื่นข้อเสนอให้ รมว.แก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในเขตป่าสงวน-อุทยานแห่งชาติ
องค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT) กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’ เริ่มตั้งแต่ปี 2528 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก
ในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย UN – HABITAT มีคำขวัญว่า “Housing for all A better urban future” หรือ “ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม” ขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดมหกรรม ‘บ้านมั่นคง : ที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน เพื่ออนาคตเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิม’ ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ ทั่วภูมิภาค คือ ภาคกลางและตะวันตกที่จังหวัดสุพรรณบุรี ภาคตะวันออกที่ จ.ปราจีนบุรี กรุงเทพฯ ภาคเหนือที่ จ.น่าน ภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น และภาคใต้ที่ จ.ชุมพร
การจัดงานวันที่อยู่อาศัยที่บริเวณหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา
วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ : การจัดการที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกินเพื่อคนทุกคน”
ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม ขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ 17 จังหวัด ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ ปี 2563’ ที่จังหวัดน่าน โดยมีประเด็นสำคัญในการจัดงาน คือ “การจัดการที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เพื่อคนทุกคน” โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดินทางมารับฟังปัญหาและรับมอบข้อเสนอการแก้ไขปัญหาจากประชาชนภาคเหนือในการจัดงานวันนี้ (30 ตุลาคม)
การจัดงานวันนี้ (30 ตุลาคม) ช่วงเวลา 14.00 น. มีการเดินขบวนรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชนในภาคเหนือ โดยขบวนเดินรณรงค์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน มายังข่วงเมืองน่าน ซึ่งเป็นลานวัฒนธรรมและสถานที่สำคัญใจกลางเมืองน่าน (ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร) มีประชาชนเข้าร่วมเดินรณรงค์ประมาณ 500 คน
การเดินรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกที่ จ.น่าน เริ่มจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่านไปยังข่วงเมืองน่าน
นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือว่า 1.เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ให้สังคมได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
2.เพื่อเปิดพื้นที่เรียนรู้ระหว่างขบวนองค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชนเมือง ท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ ทั้งระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ให้รับรู้และเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยที่ต้องสร้างความมั่นคง ตั้งแต่ที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
3.เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงขบวนองค์กรชุมชน ให้ลุกขึ้นมาเป็นแกนหลักร่วมกับขบวนองคาพยพจากทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างมีส่วนร่วม
ร่วมประกาศเจตนารมณ์ แสดงพลังการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน
จากนั้นเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2563 มีเนื้อหาว่า...”พวกเราเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการจัดการที่ดินภาคเหนือ เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ได้มีการจัดการพัฒนาที่อยู่อาศัย ตามนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล ภายใต้การเคลื่อนงานของเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัย และการจัดการที่ดินภาคเหนือ โดยขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชน ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า
ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์
ในท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับชาติ อันเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร และการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ตลอดจนข้อกล่าวอ้างในการพัฒนา การก่อสร้าง และการผลักดันโครงการขนาดใหญ่เพื่อความเจริญของประเทศชาติ ฯลฯ
ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย ทั้งด้านความมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน และการดำรงวิถีชีวิตอย่างปกติสุขของพวกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก สตรี คนชรา คนพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อ่อนไหวเปราะบางต่อการอพยพโยกย้าย อันเนื่องมาจากการไล่รื้อบ้านเรือน และยึดคืนผืนดินที่ทำกินแล้วยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของคนจน รวมทั้งการดำรงอยู่ และการถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรมอีกด้วย
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการที่อยู่อาศัยและการจัดการที่ดินของผู้มีรายได้น้อย ให้เป็นไปตามแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล และเป็นการปกป้องสิทธิของพลเมืองแล้ว ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลและความเชื่อมั่นต่อแนวทางการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่อีกด้วย
และเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ประจำปี 2563 เครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัย และการจัดการที่ดินภาคเหนือ จึงร่วมแสดงพลังในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน สร้างแนวคิด สิทธิ รูปแบบใหม่ ในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วม ด้วยใจจิตอาสา เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และการจัดการที่ดิน อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน”
ยื่น 7 ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อ รมว.กระทรวงทรัพยฯ
นอกจากการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของเครือข่ายภาคประชาชนแล้ว ผู้แทนเครือข่ายฯ ยังได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในระดับจังหวัดให้เกิดรูปธรรมภาคเหนือ โดยมีเนื้อหาว่า
“เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการจัดการที่ดินภาคเหนือ มีเจตนารมณ์ที่จะประกาศต่อสาธารณชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องว่า การพัฒนาที่ดินที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตสำหรับผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ภาคเหนือ และทั่วประเทศ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในรูปแบบกลไกการสนับสนุนระดับจังหวัด และบรรจุเป็นแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม ก่อเกิดความมั่นคงในการอยู่อาศัยของชุมชน มีสภาพแวดล้อมทางกายภาพ สังคม และเศรษฐกิจที่ดี โดยชุมชนผู้มีรายได้น้อยมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาที่ดิน ที่อยู่อาศัย อันจะส่งผลต่อการพัฒนาชุมชนและสังคมโดยรวม ซึ่งมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้
1.หน่วยงานภาครัฐทุกระดับต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างจริงจัง
2.ขอให้หน่วยงานในระดับจังหวัดบรรจุแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัย และการจัดการที่ดินเป็นแผนยุทธศาสตร์จังหวัด โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
3.ให้มีการจัดประชุมคณะทำงานการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยในระดับจังหวัด และ ผลักดันพื้นที่ ที่มีประเด็นปัญหาข้อติดขัดต่อ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทั้งระดับอำเภอ และระดับจังหวัด อย่างสม่ำเสมอ
4.ในเชิงกลไกคณะทำงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ให้มีการทบทวนองค์ประกอบ เพิ่มสัดส่วนสภาองค์กรชุมชน กลุ่มผู้เดือดร้อนเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเสนอแนะ และปัญหาข้อติดขัดที่เกิดขึ้น เพื่อสะท้อนถึงปัญหา ตลอดจนสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรในทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับชาติ
5.ให้มีการจัดตั้งกองทุนกลางสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และคุณภาพชีวิต โดยให้ผู้มีรายได้น้อยมีส่วนร่วมบริหารจัดการ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างเป็นธรรม สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางกายภาพ สังคม และเศรษฐกิจของพื้นที่ เช่น เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง ของ พอช. ซื้อโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ และเอกชน หรือกลับภูมิลำเนา ฯลฯ ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งและยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน
6.การบูรณาการความร่วมมือภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ในการสนับสนุนระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในพื้นที่โครงการการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยอย่างทั่วถึง
7.ให้มีการอำนวยการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและจัดหาที่ดินรองรับให้กับผู้ได้รับผลกระทบที่สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีพ
การผนึกพลังร่วมกันระหว่างชุมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชุมชนได้รับสิทธิ การแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย อย่างมีระบบ และดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี สนับสนุนการพัฒนาตามแผนงานของชุมชน บูรณาการการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า เกิดรูปธรรมการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ที่เห็นผลการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
ทั้งนี้เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนที่ยื่นข้อเสนอครั้งนี้ประกอบด้วย 1.สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติภาคเหนือ (สอช.) 2.เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิชุมชนและการอนุรักษ์ (คสอ.) 3.สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) 4.เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนภาคเหนือ 5.เครือข่ายการจัดการที่ดิน จังหวัดน่าน และ 6. เครือข่ายสวัสดิการชุมชนภาคเหนือ
‘วราวุธ’ พร้อมแก้ปัญหาที่ดินทำกิน-ที่อยู่อาศัยในเขตป่าฯ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวหลังจากรับข้อเสนอของเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มาร่วมงานในวันนี้ และมีโอกาสมาพบปะพี่น้องเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการจัดการที่ดินภาคเหนือ หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายชุมชน และขอแสดงความยินดีที่ประชาชนได้รับการจัดสรรที่อยู่ภายใต้กลไก คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) ผมมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะมาให้กำลังใจพี่น้องเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการจัดการที่ดินภาคเหนือ
รมว.กระทรวงทรัพยฯ รับมอบข้อเสนอจากเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน
“รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชน และเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้พี่น้อง โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่พยายามผลักดันการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนฯ และอุทยานฯ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน และมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีเป้าหมายในการปกป้องดูแลป่าไม้ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจะต้องใช้ระยะเวลาบ้างเพื่อให้เกิดความถูกต้อง ดีกว่าแก้ปัญหาด้วยความรวดเร็วแต่มีปัญหาตามมา” รมว.กระทรวงทรัพยฯ กล่าว
นายวราวุธกล่าวในตอนท้ายว่า ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้ความร่วมมือในการร่วมแสดงพลังองค์กรชุมชนในครั้งนี้ และขอให้พี่น้องประชาชนร่วมกันประชุมระดมความเห็นในการพัฒนาแนวทางการจัดที่อยู่อาศัยให้แก่พี่น้องประชาชน โดยขอให้ผู้จัดงานประสานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอผลการระดมความเห็นให้คณะกรรมการ คทช. พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้พื้นที่ภาคเหนือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีประเด็นปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐ โดยมีชุมชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ผ่านมาพอช. ร่วมกับเครือข่ายการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการจัดการที่ดินภาคเหนือ และหน่วยงานภาคีในระดับจังหวัดสำรวจข้อมูลเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย สนับสนุนงบประมาณในการจัดกระบวนการ นำไปสู่การการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์จังหวัดการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อให้ชุมชนต่างๆ มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินถูกต้องตามกฎหมาย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |